ครบรอบ “240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” กว่าจะเป็น “กรุงเทพมหานคร”

ครบรอบ “240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” กว่าจะเป็น “กรุงเทพมหานคร”

21 เม.ย. 2565 ครบรอบวันสถาปนา “กรุงรัตนโกสินทร์” ก่อนที่จะเริ่มมีการพัฒนาในมุมต่าง ๆ จนกลายเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยที่เป็น “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบัน

“กรุงเทพมหานคร” คือ ราชธานี หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า เมืองหลวง ของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อปี 2325 พร้อมกับให้มีพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325 เวลาย่ำรุ่ง 45 นาที (06.45 น.)

จากนั้น รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" แปลว่า "เมืองของเทวดา มหานครอันเป็นอมตะ สง่างามด้วยแก้ว 9 ประการ และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เมืองที่มีพระราชวังหลายแห่ง ดุจเป็นวิมานของเทวดา ซึ่งมีพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามบัญชาของพระอินทร์" ต่อมาเมื่อถึงยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ฯลฯ")

จากหลักฐานตามประวัติศาสตร์พบว่า ในช่วงแรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้นอาณาเขตของกรุงเทพมหานคร ยังไม่ได้กว้างขวางเหมือนในปัจจุบัน มีแค่พื้นที่บริเวณในเขตกำแพงเมืองเท่านั้น เนื่องจากมีกำแพงเมืองยาวประมาณ 7 กิโลมตร ทางด้านทิศตะวันออกเลียบตามแนวคูเมือง แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางลำพูมาทะลุออกแม่น้ำเจ้าพระยา

ทางด้านทิศใต้ตรงปากคลองใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเรียกว่า คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่าง สำหรับด้านตะวันตกนั้น จะใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมือง แต่ไม่ได้สร้างกำแพงเมืองเหมือนกับทางด้านตะวันออก

รายรอบบริเวณกำแพงเมือง และริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีป้อมอยู่ถึง 24 ป้อม เพื่อป้องกันข้าศึก พร้อมทั้งมีประตูเมืองขนาดใหญ่รวม 16 ประตู และประตูเมืองขนาดเล็กสำหรับเป็นทางผ่านเข้าออกของประชาชนที่เรียกกันว่า ช่องกุด อีก 47 ประตู แต่ในปัจจุบัน ป้อมและแนวกำแพงเมืองถูกรื้อไปเกือบหมดแล้ว คงเหลือแต่เฉพาะป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ กับแนวกำแพงเมืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นับถึงปี 2565 กรุงรัตนโกสินทร์จึงมีอายุครบ 240 ปี

กว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร

การบริหารนครกรุงเทพธนบุรี ในรูปแบบ “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และเทศบาลนครหลวง ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25 ดำเนินมาได้เพียง 1 ปีก็สิ้นสุด และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 จัดรูปการปกครองใหม่เป็น “กรุงเทพมหานคร” โดยรวมกิจการของนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาลในเขตนครหลวง (ประกอบด้วย สุขาภิบาลมีนบุรี สุขาภิบาลหนองจอก สุขาภิบาลบางแค สุขาภิบาลลาดกระบัง สุขาภิบาลราษฎร์บูรณะ สุขาภิบาลบางกะปิ สุขาภิบาลหนองแขม และสุขาภิบาลอนุสาวรีย์) มาเป็น “กรุงเทพมหานคร”

รัฐบาลสมัยนั้นยังได้จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครใหม่ เป็นลักษณะผสมระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ให้มีฐานะเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ

ด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ทำให้เกิดองค์การบริหารใหม่ขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” ชื่อขององค์การบริหารนี้เป็นชื่อที่พ้องกับชื่อของนครหลวงของประเทศ และถือเป็นการสิ้นสุดของยุคการปกครองท้องถิ่นนครหลวงในระบบที่เรียกว่า “เทศบาล” ตั้งแต่นั้นมา

รวมเรื่องน่ารู้ของกรุงเทพมหานคร

  • การเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจาก 18 ก.ค. 2528 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ลงมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขต ภายใน 90 วัน ซึ่งวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดในวันที่ 14 พ.ย. 2528 สำหรับสมาชิกสภาเขตให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 21 พ.ย. 2528 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่กฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาเขต
  • ตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร ที่มาของสัญลักษณ์นั้นคือ  เมื่อ "กรุงเทพมหานคร" ถูกตั้งขึ้นโดยเปลี่ยนแปลงจาก "เทศบาลนครหลวง" เดิม ให้มีการปกครองและการบริหารรูปแบบพิเศษ โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 พ.ศ. 2515 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น (นายชำนาญ ยุวบูรณ์) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการออกแบบเครื่องหมายของเทศบาลนครหลวง เพื่อขอใช้เครื่องหมายเทศบาลนครหลวง รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณทรงเครื่องด้านหน้า ซึ่งออกแบบโดยพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ภาพพื้นเป็นภาพลายเส้น "ก้อนเมฆ" ให้เห็นชัดว่าอยู่บนสวรรค์ มีเส้นรัศมีห่างรอบ ๆ ทั้งซ้ายชวาของภาพพระอินทร์ นอกจากนี้ ได้เปลี่ยนตัวอักษรกำกับภาพจาก "เทศบาลนครหลวง" เป็น "กรุงเทพมหานคร" ด้วย รูป “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนก้อนเมฆ” มีความหมายในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา เหตุผลเพราะพิจารณาเห็นว่าความหมายของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณนั้น หมายถึงการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ท้องถิ่น เป็นความหมายที่ดี เหมาะสมกับการนำมาเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร
  • อาณาเขตของกรุงเทพมหานคร อาณาเขตติดต่อทางบกกับจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอาณาเขตทางทะเล อ่าวไทยตอนใน ติดต่อจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรี มีอาณาเขตทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร 
  • ประชากรในกรุงเทพมหานคร วันที่ 19 ม.ค. 2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักทะเบียนกลาง ระบุ จำนวนประชากรไทย อยู่ที่ 66,171,439 คน โดยกรุงเทพมหานครมีประชากรมากที่สุด อยู่ที่ 5.5 ล้านคน

รวมชื่อกรุงเทพมหานคร

  1. กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
  2. กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศนมหาสถานอมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
  3. บางกอก
  4. กรุงเทพฯ
  5. ล่าสุดจากกรณีจากกรณีที่ประชุม ครม. เห็นชอบในเรื่องที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เสนอให้มีการแก้ไขชื่อเมืองหลวงของไทยในภาษาอังกฤษ จากเดิมคือ Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon พร้อมกับเอาชื่อเดิมไปไว้ในวงเล็บด้านหลังแทนว่า (Bangkok) แทน ซึ่งชื่อ Krung Thep Maha Nakhon ใช้สำหรับราชการเท่านั้นส่วนประชาชนจะใช้แบบไหนก็ได้

คำขวัญกรุงเทพมหานคร “กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย" แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร" 

 

อ้างอิง :

กว่าจะมาเป็นกรุงเทพฯ

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒ / เรื่องที่ ๙ กรุงเทพมหานคร / บทนำ

ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของประเทศไทย Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon

ประวัติกรุงเทพมหานคร