อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

เชียงใหม่ เป็นจังหวัดซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเยือนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวระหว่างมกราคมถึงกรกฎาคม 2566

ในจังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 4.1 ล้านคนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.1 ล้านคน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 63,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเชียงใหม่ สูงสุดคือนักท่องเที่ยวชาวจีน รองลงมาคือเกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย และอเมริกา

ในปีนี้ คาดว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่จะฟื้นกลับมาร้อยละ 80 ของระดับก่อนโควิด นอกจากการท่องเที่ยวของเชียงใหม่จะเผชิญผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างมากแล้ว เชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาเรื้อรังจากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดขึ้นรุนแรงเป็นประจำทุกปี

จนส่งผลกระทบทั้งต่อประชาชนผู้อยู่อาศัยในจังหวัดและนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ตัดสินใจไม่ไปท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ในช่วงฤดูที่เกิดฝุ่น

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (2023) ได้จัดระดมสมองผู้บริหารในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวในภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจหลายประการในการท่องเที่ยวของเชียงใหม่

ทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของโรงแรม จนทำให้มีมากเกินกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว หรืออุปทานโรงแรมที่พักล้นเกิน (Oversupply) การจองห้องพักของนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Online Travel Agency (OTA) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่อง

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

การท่องเที่ยวแบบ Nomad ที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกระแสการท่องเที่ยวแบบ Eco-tourism

อนาคตของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ จึงสามารถเป็นไปได้หลายแนวทาง โดยฉากทัศน์ที่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน คือ ฉากทัศน์การท่องเที่ยวท่ามกลางข้อจำกัด (Constraint Scenario)

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำ 3 เดือนต่อปีในเชียงใหม่  ระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ครอบคลุม ปริมาณนักท่องเที่ยวจึงลดลงเรื่อยๆ เชียงใหม่ขาดจุดหมายทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ นักท่องเที่ยวเริ่มไม่มาซ้ำ การอยู่โดยเฉลี่ย (Average stay) สั้นลงเรื่อย ๆ

ปริมาณอุปทานโรงแรมล้นเกิน ราคาขายห้องพักจึงต่ำลง เพื่อแข่งขันตัดราคา กำไรของกิจการลดลง ทัศนคติของเจ้าของโรงแรมที่ไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงยากต่อการพัฒนาสิ่งต่างๆ

โรงแรมขาดเงินทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ และเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานสูง กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโรงแรมมีความยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม  ภายใต้ฉากทัศน์นี้อนาคตของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ไม่ได้สดใสนัก

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

หากลองฉายภาพอนาคตไปสุดโต่งในทางเลวร้าย ฉากทัศน์อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหมที่ไปในทิศทางพังทลาย (Collapse Scenario) จะพบว่าภายใต้ฉากทัศน์นี้ เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่ไม่น่าท่องเที่ยวอีกต่อไป

มีขยะล้นเมือง ขาดป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อากาศไม่ดีเพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงรุนแรงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี  เชียงใหม่ถูกขนานนามเป็น “จังหวัดมลพิษ” อาจถึงขั้นที่โรงแรมต้องปิดกิจการทุก 3 เดือน

การเดินทางภายในเชียงใหม่มีความจำกัด ทั้งขาดไฟลท์บิน ขนส่งสาธารณะมีจำกัดและการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ทำให้เดินทางลำบาก ระบบไฟฟ้าและประปาไม่เพียงพอต่อการใช้งาน มีธุรกิจจีนสีเทาเข้ามาทำธุรกิจแบบผิดกฎหมาย ภายใต้ฉากทัศน์นี้อนาคตของเชียงใหม่ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอีกต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง หากสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวเชียงใหม่ให้เติบโตมากขึ้นกลายเป็น ฉากทัศน์อนาคตของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่เจริญก้าวหน้า (Growth Scenario)

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ เศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาสำคัญเช่นฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ทำให้สภาพอากาศดีขึ้น พร้อมกับเกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในเชียงใหม่ มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มมากขึ้นและนักท่องเที่ยวที่มาก็มีคุณภาพและอยู่ในประเทศนานขึ้น

นอกจากนี้ สมาคมโรงแรมมีความเข้มแข็งสามารถผลักดันมาตรการต่างๆ ได้ โรงแรมได้รับรางวัลเป็นที่ยอมรับทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและบริการ สนใจเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น ลูกค้ากลับมาพักซ้ำ

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ ผลตอบแทนของค่าแรงเพิ่มขึ้น แรงงานย้ายกลับเข้ามา และเกิดเป็นอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างจริงจังจากภาครัฐ

ภาพอนาคตอีกภาพที่เป็นไปได้ของการท่องเที่ยวเชียงใหม่คือ ฉากทัศน์อนาคตเชียงใหม่ที่ เปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปอีกทาง (Transformation Scenario)

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ ซึ่งเป็นอนาคตที่พึงปรารถนา (Desired Future) เชียงใหม่กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทุกช่วงวัย เพราะมีจุดหมายการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม มีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น สวนน้ำ หรือในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น Wellness, Gastronomy

เชียงใหม่มีระบบขนส่งมวลชนพัฒนา เช่น Monorail Network Travel Link รถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ราคาเข้าถึงได้ เป็นทางเลือกการเดินทางออกจากสนามบิน นำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานที่ท่องเที่ยว การนำ AI เข้ามาใช้ช่วยบริการโรงแรมตั้งแต่ที่สนามบิน เช่น ผู้โดยสารสามารถเช็คสถานะของห้องพักได้ตั้งแต่ที่สนามบิน

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

ภายใต้ฉากทัศน์นี้ โรงแรมพัฒนาโมเดลธุรกิจที่แบ่งส่วนออกมาสำหรับทั้งประชุมสัมมนาและเป็นที่พักสำหรับระยะยาว (long stay) เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสถิติความปลอดภัยสูงที่สุด ไม่มีคอร์รัปชั่น และเปิดให้สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ เช่น การเปิดโมเดลพิเศษให้สามารถเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดได้ เป็นต้น

อนาคตท่องเที่ยวของเชียงใหม่ในสถานการณ์ปัจจุบันกำลังอยู่บนทางแพร่งที่อาจเดินทางสู่เส้นทางที่เติบโตและเปลี่ยนแปลง หรือเส้นทางไปสู่การล่มสลายก็ได้

การท่องเที่ยวเชียงใหม่ เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญถึงผลกระทบของปัญหาด้านอุปทาน (supply side) ทั้งในด้านอุปทานที่ล้นเกินของโรงแรมที่เปิดใหม่ขึ้นมามากมาย โครงสร้างพื้นฐานที่จำกัดทั้งสนามบินและการคมนาคมในจังหวัด ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เป็นปัญหาใหญ่มากทั้งสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยว

อนาคตท่องเที่ยวเชียงใหม่: โอกาสบนความเสี่ยง

ดังนั้น เมื่อรัฐพยายามแก้ปัญหาด้านอุปสงค์ (demand side) โดยพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศและเชียงใหม่แล้ว ก็จะต้องพยายามแก้ปัญหาในด้านอุปทาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากกว่าด้วยเช่นกัน จึงจะทำให้การท่องเที่ยวเชียงใหม่เติบโตได้อย่างยั่งยืน.