‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

‘เที่ยวขอนแก่น’ ครั้งนี้ พื้นที่เล็กๆ แต่เผ็ดจี๊ดจ๊าดถึงใจ ที่ ‘วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ’ มี ‘ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัตศาสตร์’ หลายภาพ อยู่บนเพดานเพิงหิน ที่สะดุดตา โดยเฉพาะภาพที่คล้ายตะขาบ 2 ตัว อายุราว 3,000-4,000 ปี

ขนาดว่าผมเป็นคนเดินทางมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าๆ ตั้งแต่เริ่มทำงาน   ผ่านมาหลายสิบปี   ก็ยังคงเดินทาง เพื่อเสาะหาสถานที่ใหม่ๆ มาบอกเล่าแก่ท่านผู้อ่านให้ได้มีข้อมูล  และยิ่งเดินทางก็เหมือนยิ่งรู้จักที่ใหม่ๆไปเรื่อย 

อย่างเช่น แต่ก่อนผมเคยเข้าใจว่าคำว่า ‘ภูเขา’ มันก็ควรที่จะเป็นเนินสูง แตกต่างจากระดับพื้นดินปกติใช่ไหม   จะสูงมากหรือสูงน้อยก็แล้วแต่ แต่มันก็ควรจะแตกต่างหน่อย   แล้วใครจะไปคิดว่า มันจะมีพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่สูงจากระดับพื้นดินปกติแค่ไม่กี่ฟุต   ชนิดที่แทบจะสังเกตไม่รู้เลยว่ามันคือภูเขา   เช่นที่พื้นที่ของ วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ แห่งนี้    ตามผมมาครับ ผมจะพาไป

อย่างที่ผมบอกครับว่าผมเป็นคนเดินทาง สมัยหนุ่มๆนี่เที่ยวแบบเดินป่า ‘ภูเขา’ ที่ไหนไปเดินมาหมด ผมถึงรู้จักแนวเขา ทิวเขาเกือบทุกภูมิภาคในบ้านเรา เขาสูง เขาเตี้ย ถึงไม่เคยไปก็ต้องเคยรู้ข้อมูลมาบ้าง  แต่ไม่เคยคิดเลยว่าอำเภอชนบทของ จังหวัดขอนแก่น  จะมีพื้นที่ที่จะเป็นลักษณะแบบ ‘ภูเขาหินทราย’ จนกระทั่งผมได้ข่าวว่า ที่ ‘วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ’ มีภาพวาดเขียนสี สมัยก่อนประวัตศาสตร์ เป็นรูป ตะขาบ  ซึ่งไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอที่ไหนที่เป็นรูปแบบนี้   ด้วยความที่ผมสนใจในเรื่องภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ ผมถึงได้ดั้นด้นไป และไปเห็นสภาพภูมิประเทศ อย่างที่ผมเกริ่นมาแต่ต้น

ใครที่จะไปให้ไปเริ่มที่อำเภอชนบทของ จังหวัดขอนแก่น แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 2199 มุ่งหน้าไปทางอำเภอแวงใหญ่ ไปราว 10 กิโลเมตร   ยังไม่ถึงแวงใหญ่จะถึงบ้านโซ่งก่อน   จะมีทางเยื้องๆกันเลี้ยวขวาเข้าไป เข้าไปตามทางอีกเป็นสิบกิโล ก็จะเห็นทางเข้าวัดป่าภูหันบรรพต ท่านผู้ชมก็เลี้ยวเข้าไป แล้วมันจะมีทางแยกขวาเลียบแนวรั้ววัดไปออกอีกด้าน ไม่ถึง 100 เมตร ก็ถึง วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ พอดี รถยนต์ทุกประเภทเข้าถึงโดยง่ายครับ

สิ่งแรกที่สะดุดตาก็คือลานหินทราย แบบที่เราเจอที่ทางภาคอีสานทั่วไป หินทรายที่มีต้นมะค่า ต้นตะแบกขึ้นแทรกตามรอยแตกของหินและสระน้ำตรงกลาง ด้านหลังคือเนินเขาเตี้ยๆ  ที่เชื่อมต่อกับที่ตั้งของวัด แต่ก็เป็นเนินเขาเตี้ยๆชนิดที่ถ้าไม่มาเองก็จะไม่รู้เลยว่ามันเป็นภูเขา ยิ่งมาดูแผนที่ที่แสดงลักษณะภูมิประเทศ ก็แทบแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนพื้นดินปกติ อันไหนพื้นที่ที่เป็นภูเขา ที่อยู่ในความดูแลของวนอุทยาน

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

รายชื่อแหล่งท่องเที่ยวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลังที่ทำการ

วนอุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ในการดูแลราว 5,000 ไร่  แค่นั้นเองครับ มาดูพื้นที่ป่าที่อยู่บนภูเขาเตี้ยๆ ที่เป็นลานหิน ที่ชาวบ้านเขาทำกินไม่ได้   ตรงไหนที่ชาวบ้านพอหักร้างถางพงพอทำนา ทำไร่ได้เขาก็ถางเอา จับจองเอามาแต่อดีต  ตรงไหนที่เป็นลานหินกว้าง ปลูกอะไรไม่ได้ เขาก็ถึงปล่อย   พื้นที่ที่ชาวบ้านปล่อยนี่แหละจึงมาถูกรวบรวมเป็นพื้นที่ของ วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

หินพญานาค ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

ในย่านที่ทำการของวนอุทยานนั้น  เหมาะมากกับสายกางเต็นท์ หรือบรรดารถบ้าน รถนอนที่กำลังฮิตทั้งหลายเพราะพื้นที่มีป่าล้อมรอบ ป่าไม่ทึบนักเพราะเป็นลักษณะป่าบนลานหิน มีลานหินทรายโล่งๆ ที่น่ามานั่งโอบไหล่แฟนดูดาวกันตอนกลางคืน    ข้างๆ มีสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะสระน้ำนี้แม้จะอยู่บนลานหิน แต่น้ำไม่เคยแห้ง (มีบัวหลวงขึ้นในสระด้วย)   มีการนำน้ำในสระนี้ไปร่วมในพระราชพิธีต่างๆในบางโอกาสมาแล้ว ส่วนด้านหน้าที่ทำการก็มีสระน้ำที่ขุดขึ้นมาอีกสระ   อากาศดี ลมเย็นสบาย    เหมาะกับการไปตั้งแคมป์นอนหลายๆวันแบบไม่รีบไปไหน

อีกทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติของเขาก็ไม่ควรพลาด   เส้นทางนี้ จริงๆ ก็อยู่บนเนินเขาย่านที่ทำการนั่นละครับ ทางวนอุทยานเขาจะทำเส้นทางเดินลัดเลาะไปมา จุดที่น่าสนใจจะเป็นสวนหินที่เป็นรูปทรงต่างๆ  หลืบถ้ำ และเพิงถ้ำ ซึ่งแต่ละจุดอยู่ไม่ไกลกัน เดินๆ เดี๋ยวถึงอีกๆที่  เดินๆ ถึงอีกที่ คือไม่เดินนาน  และอย่างที่บอก เส้นทางร่มรื่นด้วยเงาไม้  เหมาะกับการพาเด็กๆมาเดินเล่น มาเรียนรู้ธรรมชาติ   ขนาดผมพบเส้นทางแบบนี้มามาก ผมยังว่ามันสนุก มันน่าเดินเลยครับ เขาก็จะมี หินหงอนนาค  หินตั้งหม้อ หินเกลียวคลื่น ถ้ำพระ จุดชมวิว ฯลฯ   ไปเดินเถอะ สนุกดี

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

หินตั้งหม้อ 

ส่วนภาพเขียนสีที่ว่า จะมีสองจุดครับ   จะอยู่ห่างจากที่ทำการออกไปไม่ไกลนัก    ก็จะเป็นหย่อมป่า ก็อีกแหละ คือเป็นลานหิน ส่วนที่เป็นหิน เป็นเนินบ้างเล็กน้อย แต่ชาวบ้านขุดหิน ทำเป็นไร่นาไม่ไหว เขาก็ปล่อย ดังนั้นสภาพพื้นที่จึงอยู่ติดกับไร่ชาวบ้านบ้าง คิดกับนาชาวบ้านบ้าง

สองจุดที่ว่าคือ เพิงหินเกิ้งขาม  ที่นี่จะติดกับสวนยูคาลิปตัส รถจอดแล้วเดินไม่ถึง 100 เมตร    ที่นี่จะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ มีภาพวาดเป็นรูปคล้ายหม้อ   รูปสัญลักษณ์ทรงเรขาคณิต  และรูปคนอย่างในรูปประกอบเรื่อง

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

รอยแตกของหินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

ส่วนอีกจุด ก็จะเป็นอีกหย่อมป่าหนึ่ง  ที่นี่รถเข้าได้ แต่ควรเป็นรถปิคอัพเป็นอย่างน้อย  เพราะจะมีบางช่วงต้องวิ่งไปบนลานหิน รถเก๋งไปไม่ได้แน่ ในเส้นทางนี้ จะมี 3 จุดที่น่าสนใจ คือ เกิ้งจ้อง  จะมีป้ายบอกจุดจอดรถ รถจอดแล้วเดินตามทางเข้าไปในป่าราว 200 เมตร จะเป็นกลุ่มสวนหินที่มีรูปลักษณ์คล้ายเสาเฉลียง แต่มีขนาดใหญ่กว่า และอยู่ในป่าที่มีต้นไม้ร่มครึ้ม ไม่ร้อนแดดแบบเสาเฉลียงที่ผาแต้ม    

จากเกิ้งจ้อง  ขับรถเข้าไปตามทางแคบๆ ที่มีนาแปลงเล็กๆ ริมทาง เข้าไปก็จะพบลานหินทรายกว้าง  มีร่องน้ำปลายลานหิน ถ้าเราไปหน้าฝน ร่องน้ำนี้จะเป็นแก่งน้ำเล็กๆ  ไปโดยปริยาย ชายลานหินจะมีเพิงหินขนาดใหญ่ ด้านใต้เป็นเหมือนถ้ำเล็กๆ   ที่นี่คือ  เกิ้งย่ามา

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

เพิงหินที่เกิ้งขาม

ต่อจากเกิ้งย่ามาไปอีกไม่ถึง100  เมตร จะพบเพิงหินขนาดใหญ่ สูงเด่น  มีเพิงสูง   ที่นี่ละครับที่เรียกว่า  เกิ้งตะขาบ   เพราะมี ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัตศาสตร์  หลายภาพ อยู่บนเพดานเพิงหิน  ที่สะดุดตา และที่ผมอยากมาดูมากคือ  เป็นรูปคล้ายตะขาบ 2 ตัว ชัดเจนมาก   ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าคนวาดเขาตั้งใจวาดให้เป็นตัวตะขาบหรือเปล่า  แต่เรามาดูในยุคนี้ เห็นมันเหมือนตะขาบ เราก็เรียก ‘เกิ้งตะขาบ’  ซึ่งผมยังไม่เคยเห็นรูปแบบนี้มาก่อน    อันนี้บอกเลย ส่วนใหญ่ที่เจอจะเป็นรูปฝ่ามือ รูปสัญลักษณ์ทรงเรขาคณิต รูปคน รูปสัตว์ รูปเครื่องมือทำกิน    เพิ่งเคยเห็นรูปตะขาบนี้ ก็ที่นี่

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

ตะขาบโบราณที่เกิ้งตะขาบ

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

เพิงภาพเขียนสีที่เกิ้งขาม

ภาพเขียนสีเหล่านี้  เราอนุมานกับภาพเขียนสีที่ผาแต้ม   ก็จะอายุราว 3,000-4,000  ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์แน่นอน     เขียนเพราะมีการอยู่อาศัยในถ้ำหรือเปล่า   ตามตำราก็ว่ากันแบบนั้น   พออยู่ในถ้ำ แล้วคงเพียนเพื่อนบันทึก  เพื่อการแสดงตัวตน เพื่อบอกอาณาเขต   ฯลฯ วัสดุที่เขียนซึ่งเรามักพบสีคล้ายๆกันคือสีเลือดนก ซึ่งนักโบราณคดีเขาบอกว่าเป็นยางไม้บางประเภทผสมกับสารบางชนิดที่ก็คงหาได้ในพื้นที่     แต่ที่น่าทึ่งคือ เมื่อก่อนสมัยประวัตศาสตร์   องค์ความรู้การเขียนสีนี้ เผยแพร่ได้อย่างไร เพราะคล้ายกันแทบทุกมุมโลก  สมัยนั้นก็คงมีวิทยาการของเขานะแหละ

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

หินสองขาที่เกิ้งขาม

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

ภาพคน ที่เกิ้งขาม

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

ลานหินทรายบริเวณที่ทำการวนอุทยาน

‘เที่ยวขอนแก่น’ ไปดูตะขาบโบราณ..ที่ ‘ภูหัน-ภูระงำ’

ลักษณะเพิงหินของเกิ้งตะขาบ

พื้นที่แค่ 5,000 ไร่ ทั้งยังกระจายกันเป็นเกาะ เป็นหย่อม  แต่ยังมีจุดที่น่าสนใจได้แบบนี้ ผมว่าก็เกินที่คาดแล้วละครับ

เมื่อนำเรื่องราว สถานที่ที่ใหม่ๆ มาบอกมากล่าวกันแล้ว   ท่านผู้อ่านก็ลองหาโอกาสไปดูกับตาเลยครับ  แล้วจะรู้ว่า ที่นี่มันเล็กพริกขี้หนูนี่นา

...พื้นที่เล็กๆ แต่เผ็ดจี๊ดจ๊าดถึงใจ

....เชิญชวนกันเลยครับ ของดีที่ขอนแก่น