ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน

สถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนของไต้หวัน ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเดิน มีของกิน ของใช้ ของฝาก มากมาย ที่ต้องห้ามพลาดคืออะไร มาดูกัน

ไต้หวัน วันที่เราเดินทางมาถึง อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส และฝนตก ช่างแตกต่างจากเมืองไทยอย่างมากที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิ 38 องศา

เครื่องบินของเราลงจอดที่สนามบินเถาหยวน ทางภาคเหนือของประเทศไต้หวัน เถาหยวนตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองหลวงไทเป

 

เราแบกกระเป๋าเดินตรงไปขึ้นรถเพื่อเดินทางเข้าเมืองหลวงไทเปและไปท่องเที่ยวที่แรกยามค่ำคืนที่ ‘ซีเหมินติง’ ( Ximenting)

ที่ ๆ นักท่องเที่ยวขนานนามว่า ‘สยาม’ ของไต้หวัน เราจะไปสัมผัสกับวิถีชีวิตวัยรุ่นไต้หวัน และหาของอร่อย ๆ กินกัน

เหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องปรับนาฬิกา เนื่องจากเวลาที่นี่เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง เพื่อความตรงกันของการนัดหมาย 

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

รถวิ่งขึ้นทางด่วน เราต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะที่นี้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย รถทัวร์รถบัสอาจจะไม่โดน แต่รถเก๋งคนนั่งหน้าอาจจะถูกเพ่งเล็งถ้าไม่คาดเข้มขัดนิรภัยอาจโดนตำรวจเรียกปรับได้

สภาพอากาศของประเทศไต้หวันตอนนี้อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ บรรยากาศครึ้ม ๆ ฝนตกปรอย ๆ อากาศเย็น ๆ เวลาทุ่มกว่า ๆ ประเทศไทยก็ 6 โมงกว่า ห่างกัน 1 ชั่วโมง

สกุลเงินไต้หวันใกล้เคียงประเทศไทย คิดง่าย ๆ 1ต่อ1 กับส่วนต่างอีกนิดหน่อย 

ส่วนระบบไฟฟ้า ของไทย 220 โวลต์ ของไต้หวัน 110 ถ้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยมาเสียบเข้าไปได้เลย แต่ถ้าเป็นของไต้หวันเอากลับไปเสียบเมืองไทย ระเบิดแน่นอนเลย เพราะแรงดันไฟฟ้าต่างกัน

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

'ซีเหมินติง' ถนนคนเดิน จะเดินอย่างไรดี 

ที่นี่นักท่องเที่ยวจะเดินกันจนถึงเที่ยงคืน ร้านส่วนใหญ่ปิดห้าทุ่ม บางร้านสี่ทุ่ม ถนนหลักเป็นถนนคนเดินในช่วงสุดสัปดาห์ รถไม่ค่อยเข้ามา แต่อาจจะมีบ้าง ก็ต้องระมัดระวัง

มีถนนเส้น 3 เส้น คือ เหลือง, แดง, เขียว มีเสาไฟฟ้าโลหะ เพ้นท์สี ทุกต้นมีตัวอักษรภาษาอังกฤษและหมายเลขกำกับไว้ เช่น W05 ไล่เรียงกันไป เพื่อบอกพิกัดว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหน

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ถนนเส้นสีเหลือง

เป็นถนนเส้นหลัก ตัดกับเส้นสีแดง และเส้นสีเขียว มีจุดรวมพล เรานัดหมายกันที่นี่คือหน้าร้านน้ำมะระ ที่มีจุดสังเกตเป็นมะระลูกใหญ่ ๆ แขวนอยู่หน้าร้าน

เดินตรงเข้าไปทางด้านขวามือเป็นร้านอาหารนั่งกิน คึกคักมาก ผัดอาหารโชว์กันหน้าร้านเลย มีคนมากมายยืนออต่อแถว

เดินตรงไปนิดหนึ่งจะเป็นวงเวียน บางครั้งมีสตรีทอาร์ทิตส์มาแสดง กายกรรมบ้าง มายากลบ้าง ไม่แน่นอน เพราะเขามาโดยไม่ได้นัดหมาย แต่วันนี้โชคดีมีมาโชว์หนึ่งราย

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ถนนเส้นสีแดง

ถนนเส้นนี้จะมีร้านรองเท้ากีฬา สนีกเกอร์ ราคาถูกกว่าประเทศไทย ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาท เป็นของแท้ 100 % ไม่มีของก็อป และมีร้านของแต่ละยี่ห้อ เช่น อดิดาส แล้วในร้านก็แยกย่อยออกไปอีกเป็นอดิดาสออริจินอล หรือบางร้านก็เป็นรองเท้าจ็อกกิ้ง

หากซื้อของแล้วต้องการรีฟันด์  (refund) ก่อนซื้อให้สังเกตดูก่อนว่าร้านนั้นมีป้ายติดไว้หรือไม่ เพราะที่นี่ยังไม่รีฟันด์ทุกร้าน เมื่อซื้อของแล้วเขาจะให้เอกสารมาให้เราไปยื่นที่สนามบินเพื่อรับเงินสดไป

ที่ไต้หวันไม่ต้องโชว์ของเหมือนบางประเทศต้องเอาของมาโชว์ ที่นี่เขาเชื่อใจ แค่เอาเอกสารไปยื่น

บนถนนเส้นสีแดง มีห้าง Eslite ที่มีกระเป๋าญี่ปุ่นยี่ห้อ Potter ที่คนไต้หวันฮิตมาก ๆ ในช่วงหนึ่ง 

ส่วนชั้นใต้ดินจะมีของสะสมพวกโมเดลจากญี่ปุ่นและก็มาเวล

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ถนนเส้นสีเขียว

ช่วงถนนเส้นสีเขียวตัดกับเส้นสีเหลือง จะมีร้านชานมไข่มุกบราวน์ชูการ์ ที่มีคนต่อแถวกันเยอะ ๆ ชื่อว่า ซินฝูถัง แปลว่า ศาลาแห่งความสุข ตัวหนังสือสีแดง มีคนตักไข่มุก เทชานม อยู่ตลอดเวลา เป็นร้านที่ต้องลอง สำหรับคนที่อยากลองชานมไข่มุกไต้หวัน ว่าเหมือนหรือต่างจากที่เมืองไทย 

ตามถนนต่างๆ จะมีอาหารรถเข็นมาขายหลากหลายพอสมควร เวลาเราซื้อของจากรถเข็น แล้วอยู่ ๆ เขาเข็นรถหนีไป ก็ไม่ต้องตกใจ นั่นเพราะมีเทศกิจมา

ถ้าเรายังซื้อไม่เสร็จก็เดินตามเข้าไปในซอย เขาจะเข็นรถหนีไม่ไปไกลมากนัก เพราะเทศกิจไม่ดุ เขาแค่ทำตามกฎ ไม่ได้มีไม้กระบองไล่ตี

แล้วตามตรอกซอกซอยของที่นี่ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย มี CCTV กล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง ค่อนข้างปลอดภัย

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

  • อาหารแนะนำ มาถึงแล้วต้องลอง

ไต้หวันโด่งดังในเรื่องของทานเล่น บางทีเขาก็ให้มามาก จนคนไทยถ้าทานหมดต้องอิ่มแน่นอน ให้ใช้วิธีแบ่ง ๆ กันทาน แล้วทุกคนก็จะได้กินได้หลาย ๆ อย่าง

1. แพนเค้กไต้หวัน หรือ โรตีไต้หวัน มีรสเค็ม ต่างจากโรตีไทยที่มีรสหวาน แล้วก็ใส่ไข่ ใส่โหระพา หรือใส่อย่างอื่นด้วยก็ได้ เขาจะม้วน ๆ ส่งให้ จะถือไปกินไปเดินไปก็ได้

2. ชานมไข่มุก ที่นี่เป็นต้นตำรับ โด่งดังขึ้นมาเมื่อ 5 ปีก่อน จากนั้นเมืองไทยก็มีร้านชานมไข่มุกกันมากมาย รสชาติที่ต้องลองคือ ชานมไข่มุกบราวน์ชูการ์ เอาบราวน์ชูการ์ปาดรอบ ๆ แก้ว แล้วเทชานมเข้าไป มันจะลอยขึ้นมาคล้ายลายเสือ บางคนเรียก ชานมไข่มุกลายเสือ

3. ไก่ทอด Hot Star ไก่ทอดแผ่นใหญ่กว่าฝ่ามือผู้ใหญ่ เขาเอาอกไก่มาตบให้แบน แล้วหมัก ชุบแป้ง ทอดสด ๆ ถ้าชอบรสเผ็ดก็บอกเขาโรยพริกเยอะ ๆ แล้วก็มีขายเป็นเซ็ท กินกับเต้าหูทอด หรือเห็ดออรินจิ จ่ายเงินแล้วเขาจะให้บัตรคิว รอเรียก เขาจะทอดให้สด ๆ คนต่อแถวยาวมาก

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

4. มะระน้ำผึ้ง เป็นเครื่องดื่มที่น่าสนใจ เมืองไทยยังไม่มี หน้าร้านจะมีโมเดลมะระลูกใหญ่ ๆ แขวนอยู่หน้าร้าน รสชาติมีผู้กล้าลองแล้วบอกว่า ไม่แย่อย่างที่คิด  

5. เต้าหู้เหม็น เป็นรถเข็นขาย เขาจะเอาเต้าหู้ไปหมัก แล้วเอาไปทอด กินกับกิมจิไต้หวัน ที่มีสีขาว

6. บะหมี่อาจง เป็นร้านชื่อดังเก่าแก่มีอายุยาวนาน รสชาติกลมกล่อม สำหรับคนที่ชอบรสเข้มข้น มีซอสให้ปรุงเพิ่ม 2 แบบ

7. ก๋วยเตี๋ยวน้ำข้นปลาหมึกกรอบ บนถนนสีเหลืองด้านขวามือจะมีสามร้านตั้งอยู่ติด ๆ กัน ร้านตรงกลางคนจะต่อแถวยาวมาก เพราะอร่อยสุด

8. ข้าวพะโล้หมูสับไต้หวัน เขาจะราดซอสลงบนข้าวเปล่า ถ้าเราชอบไข่ดาวก็เพิ่มไข่ดาวโปะลงไป

9. ออส่วนทอด ขนมผักกาดทอด ที่นี่ไม่มีหอยทอด มีแต่ออส่วน เวลากินก็ราดซอสลงไปนิดหนึ่ง

ชวนเที่ยว ‘ซีเหมินติง’ ถนนคนเดิน สยามของไต้หวัน Cr. Kanok Shokjaratkul

สำหรับคนที่ชอบดื่มเบียร์ มาถึงไต้หวันแล้วต้องลองเบียร์ที่ชื่อว่า 18 วัน แล้วก็ น้ำอัดลมแอปเปิ้ล ของที่นี่ เพราะที่เมืองไทยไม่มี

ส่วนคนที่ชอบฟังเพลง ที่ 'ซีเหมินติง' ยังมีร้านขาย CD เพลงและแผ่นเสียงอยู่ด้วยนะ ใครที่ชอบสะสมมาหาซื้อไปได้  

  • ห้องน้ำ ที่ซีเหมินติง

บนถนนเส้นสีเหลืองจะมีร้านสตาร์บัค บนชั้น2-3จะมีห้องน้ำอยู่ แต่บางทีคนจะเยอะนิดหนึ่ง ต้องต่อคิว

ถ้าอยากได้ห้องน้ำเยอะหน่อยแล้วสะอาดกว่า ให้ไปเข้าที่ห้าง Eslite บนถนนเส้นสีแดง ข้ามไฟแดงไป จะมีห้องน้ำอยู่ที่ชั้นใต้ดินและชั้นสองขึ้นไป

.................

อ้างอิง : เฉินไป่หัว, Mahasamut Chen (JC John Chen)