เที่ยว "สงกรานต์สยาม" ที่เดียวจบครบ "สงกรานต์ 5 ภาค"

เที่ยว "สงกรานต์สยาม" ที่เดียวจบครบ "สงกรานต์ 5 ภาค"

ททท. ชวนเที่ยว "งานสงกรานต์ ๕ ภาค" พบกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สะท้อนถึงรากเหง้าความเป็นไทย พร้อมสัมผัสกับประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างมีคุณค่าและความหมาย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ เป็นประเพณีไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบาย Soft Power (5F : Food Festival Film Fight Fashion) ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย ๒๕๖๖ และ Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters ก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism และสร้าง Meaningful Travel ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและมีความหมาย

และในปีนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ในโอกาสที่ประเทศไทยจะเสนอประเพณีสงกรานต์เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก การกิจกรรมในปีนี้จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Defining Your Thainess” ที่แสดงถึงอัตลักษณ์งานประเพณีสงกรานต์ของไทย สะท้อนถึงความเป็นมา คุณค่า และรากเหง้าวิถีชีวิตความเป็นไทยนักท่องเที่ยวจะได้พบกับประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ จากการมาร่วมกิจกรรมสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยมุมมองที่แตกต่าง เป็นการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่จริง จนเกิดการกระจายการเดินทางและสร้างรายได้ไปสู่ท้องถิ่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ไทยและสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยววิถีไทยไปพร้อมกัน

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดจัดกิจกรรมเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ประจำปี 2566ในวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100​ ปี) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครโดยนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไปทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ภาคเหนือ

นำเสนอการทำตุงและน้ำส้มป่อย โดย “ตุง” ทำมาจากกระดาษสีที่นำมาตัดเป็นธงในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปปักที่เจดีย์ทรายเรียกว่า “การตานตุง” โดยจะนิยมกระทำในวันพญาวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ นอกจากจะถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกสิ่งที่จะมีคู่กันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็คือ “น้ำส้มป่อย” โดยใช้ฝักแห้งมาแช่น้ำและใช้ในพิธีรดน้ำดำหัว เพราะเชื่อว่าส้มป่อยจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและชำระสิ่งอัปมงคลได้

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

ภาคกลาง

นำเสนอ “ข้าวแช่” เมนูดับร้อนที่มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ก่อนจะมีการพัฒนาสูตรจนมีหลายตำรับ ทั้งตำรับทั่วไปและตำรับชาววังที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไมในการรังสรรค์เครื่องเคียง โดยเจ้าจอมมารดากลิ่น สตรีเชื้อสายมอญผู้ปฏิบัติราชการในราชสำนัก ได้ถ่ายทอดความรู้ การทำข้าวแช่ให้แก่ห้องเครื่องและประชาชน ระหว่างติดตามไปถวายราชการที่จังหวัดเพชรบุรี ในสมับโบราณนิยมรับประทานข้าวแช่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

ภาคอีสาน

นำเสนอประเพณีเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) พิธีกรรมที่เกิดจากความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ภูตผี ปีศาจ เทวดา ว่าสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิตได้ เป็นความเชื่อที่ผสมผสานอย่างกลมกลืนระหว่างพุทธศาสนากับพราหมณ์ โดยเชื่อกันว่าผู้ที่เข้าร่วมประเพณีเสียเคราะห์จะทำให้คลายความกังวล แข็งแรง หายจากโรคภัยต่างๆ เมื่อรวมกับกำลังจากพี่น้องที่เข้าร่วมในพิธีเสมือนได้รับกำลังใจ ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และจะได้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิต พ้นเคราะห์พ้นโศก

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

ภาคตะวันออก

นำเสนอประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายข้าวเปลือก ประเพณีของชาวไผ่ดำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่สืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน การก่อพระทรายข้าวเปลือกเป็นการทำบุญของชาวไผ่ดำที่นำเอาผลผลิตจากการทำนามาถวายเป็นพุทธบูชา แทนการก่อเจดีย์ทราย เนื่องจากพื้นที่ในแถบนั้นไม่มีทรายที่จะสามารถนำมาที่วัดได้ เมื่อถึงวันที่วัดกำหนดชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกใส่กระบุงไปเทกองรวมกันที่วัดเป็นพระเจดีย์ข้าวเปลือกที่ได้ทางวัดจะนำไปขาย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยมาใช้จ่ายในการทำนุบำรุงศาสนสถานต่อไป

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

ภาคใต้

นำเสนอพิธีแห่นางดาน ตามความเชื่อของคนในพื้นที่ภาคใต้ สงกรานต์เป็นช่วงเวลา แห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง จึงถือฤกษ์วันแรกของสงกรานต์ 13 เมษายน เป็นวันส่งเจ้าเมืองเก่า หรือวันเจ้าเมืองเก่า เพราะเชื่อกันว่าวันนี้เจ้าเมืองหรือเทพยดาประจำปีผู้ทำหน้าที่รักษาดวงชะตาของบ้านเมือง จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเมืองที่รักษาไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน เครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและร่างกาย โดยพิธีแห่นางดานเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของสงกรานต์ภาคใต้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากเคยมีชุมชนพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช เมื่อราวปี พ.ศ.1200 เป็นประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเพื่อบูชาเทพบริวารในคติพราหมณ์ “นางดาน” หรือ “นางกระดาน” เป็นแผ่นไม้กว้างหนึ่งศอกสูงสี่ศอก 3 แผ่น แกะสลักรูปเทพบริวารในคติความเชื่อของพราหมณ์ ได้แก่ พระอาทิตย์และพระจันทร์ พระแม่ธรณีและพระนางคงคา โดยจะนำแผ่นไม้ทั้งสามมาร่วมขบวนแห่เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรที่เสด็จมาเยี่ยมมนุษย์โลก ณ เสาชิงช้า โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี

เที่ยว \"สงกรานต์สยาม\" ที่เดียวจบครบ \"สงกรานต์ 5 ภาค\"

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมที่ร่วมส่งเสริมประเพณีไทยต่างๆ ได้แก่ ประเพณีสรงน้ำพระเพื่อขอพรเสริมสิริมงคลในช่วงวันปีใหม่ไทย ชมการแสดงทางวัฒนธรรมจาก 5 ภูมิภาค ร่วมกิจกรรม DIY อิ่มอร่อยกับอาหารจากหลากหลายชุมชนพร้อมเลือกซื้อสินค้าจากผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น

งานในครั้งนี้ ททท. ได้บูรณาการความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในการออกมาตรการพิเศษ เพื่อดูแลความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ที่เข้าร่วมงานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ด้านความมั่นคงและความปลอดภัย (Safety and Security) ในวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

พิเศษสำหรับผู้เข้าร่วมงานที่สะสมตราประทับจากกิจกรรมครบ 5 ภูมิภาค แลกของที่ระลึกสุดพิเศษจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TAT Call Center 1672 เพื่อนร่วมทาง หรือ  Facebook Page : Thailand Festival