“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “อำเภอฮอด” เที่ยวชมสองผาดิน “ผาสิงห์เหลียว” และ “ผาวิ่งชู้” ความงามตามธรรมชาติสร้างสรรค์ ปรากฏการณ์ "เสาดิน" แม้ที่เที่ยวไม่เยอะ แต่เป็นสถานที่ชั้นดีที่น่ามาดู เข้าทำนองมีน้อยแต่มีดี

เที่ยวเชียงใหม่ ไป "อำเภอฮอดจังหวัดเชียงใหม่ ชม “ผาดินงาม” ผมว่าหลายคนรู้จัก อำเภอฮอด ของเชียงใหม่  ทั้งในฐานะของประตูที่จะเริ่มเดินทางไปสู่แม่ฮ่องสอน ทางแม่สะเรียง  หรือประตูที่จะเข้าสู่เชียงใหม่

เมื่อมาจากทางเถินเข้าสู่ลี้ แล้วมาดอยเต่า  แต่ถ้าถามว่า แล้วนักเดินทางคนไหน เคยปักหมุดให้ฮอดเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทาง ท่องเที่ยว บ้าง แม้กระทั่งคนที่แวะออบหลวง ก็ยังถือเอาเป็นแค่ทางผ่าน ก่อนจะไปแม่สะเรียงทั้งนั้น 

ฮอดจึงออกจะอาภัพไม่ได้เป็นปลายทางของนักเดินทางนัก   แต่....ในความที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญในการท่องเที่ยว ฮอดกลับมีของดี ที่แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 30 ปี ที่ผมแรกรู้จัก มาจนบัดนี้ ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ ก็พัฒนาไปอย่างเชื่องช้า ผิดกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ นั่นจึงเหมือนว่าสองที่นี้หลุดยุคหลุดสมัย

มันจึงเป็นธรรมชาติที่หลงยุคมา  ผมกำลังจะเอ่ยถึงสองผาดินที่เมืองฮอด ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก  ผาสิงห์เหลียว และ ผาวิ่งชู้

ทั้งสองแห่งนี้อยู่ไม่ห่างจากตัว อำเภอฮอด มากนัก คือถ้ามาจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามถนนหมายเลข 108  (ก็ถนนที่จะไปแม่สะเรียงไปแม่ฮ่องสอนนี่แหละ) ถึงวงเวียนฮอดแล้วให้ตรงไป เลยวงเวียนไปราว 300  เมตร จะมีทางแยกซ้ายมือ ไปทาง อ.ดอยเต่า

ข้ามสะพานแม่น้ำปิง แล้วไปอีกราว 10 กม. จะถึงบ้านตาล เลี้ยวซ้ายเข้าไป ซึ่งจะมีป้ายบอกไป ผาสิงห์เหลียว ก็เข้าไปตามทางเขาได้เลยมีป้ายบอกตลอด จะไปสิ้นสุดที่ศาลาเหลือหน้าผาพอดี

ผาสิงห์เหลียว  เป็นปรากฏการณ์เสาดิน  แบบที่ผมเรียกว่าแบบมีหมวก คือเสาดินในบ้านเราเท่าที่ผมสังเกตจะมีสองแบบคือแบบมีหมวกและแบบหัวแหลม  เสาดินแบบมีหมวกนี้ พื้นดินจะเป็นการทับถมกัน 

โดยนักธรณีเคยบอกทริกผมว่า  ถ้าเห็นมีหินกรวดปะปนมา แสดงว่าที่นั่นอาจจะเคยเป็นธารน้ำไหลมาก่อน  และขนาดของกรวด ก็จะบอกความแรงของน้ำที่พัดพาในอดีตได้ด้วย  เนื้อดินจึงมีลักษณะคล้ายดินเหนียวปนทราย บางทีก็เป็นกรวดมน บางทีก็เป็นกรวดเหลี่ยมปนอยู่ในตัวเนื้อดิน

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

ส่วนด้านบน มีสารอย่างเหล็ก มาเคลือบประสานผลึกแน่นจนเป็นหินแข็ง แต่พื้นดินพวกนี้มันไม่ได้ถูกเหล็กมาเคลือบประสานทั้งหมด ตรงไหนที่มีเหล็กมาเคลือบแข็ง มันก็จะแข็งแรง ทนทาน ตรงไหนที่ไม่มีมันก็จะพังทลายง่าย เมื่อเจอน้ำไหลมากัดเซาะ

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม "ผาสิงห์เหลียว"

ความทนทานแข็งแรงที่ไม่เท่ากัน ตรงไหนที่ไม่มีหินแข็งบนยอดก็จะทรุด พังทลายลงไปเรื่อยๆ  ตรงไหนมีหินแข็งคลุมบนหัว ก็จะรักษารูปทรงเป็นเสาไว้ ด้านข้างๆ ก็พังทลายไป 

สังเกตว่าตามเสาพวกนี้จะเป็นริ้วรอยตามแนวดิ่ง อันเป็นไปตามการหยดไหลลงของน้ำ ที่เป็นตัวกระทำหลักนั่นเอง เสาดินพวกนี้โอกาสที่จะลดขนาดลงยากมาก

เพราะบนหัวเสามีหมวกแข็งกันไว้ แต่โอกาสที่ตัวเสาจะถูกน้ำกัดเซาะให้ผุพังทลายลงก็มี แต่ไม่รู้เมื่อไหร่  เสาประเภทนี้จะมีขนาดเสาเท่ากันทั้งต้น  ขนาดเสาสูงเท่าไหร่ นั่นคือระดับพื้นดินในอดีต

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม "ผาสิงห์เหลียว"

ซึ่งเสาดินประเภทนี้มักมีขนาดสูง เสาดินหรือหน้าผาดินแบบนี้ ก็อย่างเช่น แพะเมืองผี กาดเมืองผี ผาสิงห์เลียว ผาวิ่งชู้ 

ป่าของเสาดินประเภทนี้มักเป็นป่าเต็งรังก็จะมี เสาดิน อีกประเภทที่ไม่มีหินเข็งบนยอด เนื้อดินเป็นดินเหนียวปนทราย

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

ไม่ค่อยมีกรวดปน  เสาดินแบบนี้จะไม่สูง และมียอดแหลม   เสาดินแบบนี้จึงถูกน้ำทำลายลงไปทุกปี  เสาดินกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น เสาดินนาน้อย เสาดินที่ละลุ เป็นต้น ป่าของเสาดินแบบนี้มักเป็นป่าแพะ ต้นไม้ขึ้นห่างๆกัน ที่ว่ามานี่เป็นการสังเกตของผมเอง

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

ซึ่งเมื่อเอามาอนุมานกับเนื้อหาที่ผาช่อ ซึ่งมีป้ายจากนักธรณีที่ มช.มาทำให้นั้น โดยป้ายอธิบายความว่า ที่ผาช่อเคยเป็นบริเวณที่แม่น้ำปิงไหลมาก่อน

ก่อนที่แม่น้ำจะเปลี่ยนแนวไป ก็เข้าเค้า เพราะมีหินกรวดมนอยู่เต็มพื้นที่  เหมือนกับที่ ผาสิงห์เหลียว แห่งนี้เช่นกัน  ที่มีหินกรวดมนอยู่ทั่วทั้งบริเวณ แต่ผมไม่กล้าฟันธงว่าแม่น้ำปิงเคยไหลผ่านตรงนี้มาก่อนหรือไม่ แม้ว่าไม่ไกลกันกับแม่น้ำปิงในปัจจุบันก็ตาม

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

ที่ผาสิงห์เหลียวนี้ เราจะเห็นการพังทลายของดินและเห็นเสาดินขนาดใหญ่อย่างชัดเจนจากจุดชมวิว   หน้าผาดินที่เห็นนั้น ยังมีโอกาสพังทลายได้ทุกเมื่อ ดังนั้น แม้จะมีเส้นทางเดินเที่ยวเลียบเลาะหน้าผาและมีแนวรั้วกั้นก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัย

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

"ผาวิ่งชู้"

ก็อย่าไปใกล้รั้วมากนัก เพราะมันจะทรุดหลุดลงไปตอนไหนก็ไม่รู้     ส่วนรูปทรงของหน้าผาและเสาดิน ก็แล้วแต่เราจะจินตนาการกันไป

อีกหน้าผาหนึ่งคือ ผาวิ่งชู้ ซึ่งออกมาจากบ้านตาลแล้วเลี้ยวซ้ายมาไม่ถึง 3 กม. จะมีศาลาขวามือ เลี้ยวเข้าไปตามทางราว 7 กม.จะมีป้ายขวามือเข้าไปผาวิ่งชู้ เข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตรกว่าๆ ก็จะถึงผาวิ่งชู้

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม "เสาดินผาวิ่งชู้"

ผาวิ่งชู้ก็เป็นปรากฏการณ์เสาดินแบบมีหมวกเช่นกัน มีหินกรวดมน เช่นเดียวกับที่ผาสิงห์เหลียว เพียงแต่ ผาวิ่งชู้ จะอยู่ริมแม่น้ำปิง แล้วหน้าผาส่วนหนึ่งเป็นหินทราย เกิดการพังทลายของพื้นดินเช่นกัน  เพียงแต่หน้าผาที่ตั้งฉากนั้น ด้านล่างคือแม่น้ำปิง ไม่ใช่เป็นพื้นดิน

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม "ผาวิ่งชู้"

แบบผาสิงห์เหลียว แต่เป็นหินทราย  มันจึงแข็งแรง ทนทานกับแม่น้ำปิงที่ตีวงโค้งตรงบริเวณนี้พอดี  คือสายน้ำปิงไหลมา ชนเข้ากับผาหินของผาวิ่งชู้ แล้วจึงโค้งตระหวัดไปอีกด้าน ทำให้พื้นดินระหว่างริมสายน้ำที่การโค้งตระหวัดเป็นกระเพาะหมูนั้น

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

อีกมุมหนึ่งของ "ผาวิ่งชู้"

สามารถทำการเกษตร เพาะปลูกได้  แต่นานๆ ทีจึงจะมีน้ำท่วม อย่างเช่นปี  65 นี้ น้ำเยอะจึงท่วมพื้นดินตรงกระเพาะหมูเสียหมด

ผาวิ่งชู้มีเสาดินน้อยกว่าผาสิงห์เหลียว แต่ได้แม่น้ำปิงมาช่วยเสริมทิวทัศน์ทำให้สวยงามมาก ยิ่งมาในช่วงเช้าตรู่ที่พระอาทิตย์ขึ้นด้วยแล้ว ที่นี่จะสวยมากๆ

“เที่ยวเชียงใหม่” ไป “ฮอด”...ผาดินงาม

โค้งแม่น้ำปิงหน้าผาวิ่งชู้ ที่ตระหวัดเป็นกระเพาะหมู

ที่ อำเภอฮอด นั้น มีแหล่งท่องเที่ยวไม่มาก  ฮอดจึงไม่เป็นจุดหมายปลายทางดังที่บอก 

แต่สำหรับผม เสาดินสองแห่งนี้นั้น ถือเป็นความมหัศจรรย์และแหล่งท่องเที่ยวที่ดีสำหรับฮอดทีเดียว