ท่องเที่ยวกับ “กลัวโควิด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ท่องเที่ยวกับ “กลัวโควิด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

หลังจากอัดอั้นตันใจไม่ได้ไปเที่ยวไกล ๆ มาเกือบ 3 ปี และการเดินทางไปต่างประเทศสะดวกขึ้น การท่องเที่ยวแบบล้างแค้น (Revenge Tourism) จึงพอเข้าใจได้ อย่างไร ก็ดีมีคนจำนวนมากที่ยังเกรง ๆ กับการติดเชื้อโควิด-19 อยู่เพราะได้ยินว่ามีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่น่าหวาดอยู่  

ผู้เขียนได้รับฟังประสบการณ์จากเพื่อน ๆ ทั้งจากการท่องเที่ยวและดูงานแบบล้างแค้นหลายคน และอ่านข่าวสารเพิ่มเติม จึงขอประมวลมาเป็นข้อแนะนำการท่องเที่ยวต่างประเทศบางประการบนอาหารสมองจานนี้

ข้อแรก ต้องเตรียมตัวเดินทางมากกว่าปกติ เพราะไม่รู้ว่าจะเผชิญกับอะไรบ้าง ไม่ว่าในเรื่องกฎในการเดินทางเข้าประเทศของบางประเทศที่ยังล้าหลังอยู่ เช่น ในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก หรือเอเชียบางประเทศ

ดังนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่ฉีดไปแล้วกี่เข็มเมื่อใดควรมีไว้ให้พร้อม ถ่ายสำเนาไว้เป็นชุดเลยจะสะดวก เช็คกฎระเบียบก่อนเดินทางอย่างระมัดระวังเพราะมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอภายใต้สถานการณ์เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ และความตื่นเต้นของประเทศผู้ออกกฎ

ท่องเที่ยวกับ “กลัวโควิด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

เมื่อสองวันก่อนมีข้อเขียนล่าสุดเกี่ยวกับการระบาดของโควิดที่น่าสนใจ Lias Jarvis แห่ง Bloomberg โดยบอกว่าถึงแม้จะมีข่าวพาดหัวในหลายประเทศอย่างเขย่าขวัญ เช่น สายพันธุ์ BQ.1 และ BQ.1.1 (ลูกหลานของ BA.5) ที่ระบาดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกาในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดในเอเชีย 

แต่งานศึกษาที่ตามการระบาดนี้พบว่าวัคซีนโควิด-19 ยัง “เอาอยู่” หากได้ฉีดวัคซีนมาเป็นระยะโดยเฉพาะเข็มที่สี่เข็มกระตุ้น บางข่าวระบุว่าสายพันธุ์ใหม่หนีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ซึ่งไม่เป็นความจริง

เพราะด่านสุดท้ายของภูมิคุ้มกัน คือ T-cells และ B-cells ของคนที่เคยเป็นและคนที่ฉีดวัคซีนมาพอเพียงยังสามารถจัดการกับสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ได้อยู่กล่าวคือไม่ทำให้ป่วยมากหรือต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต (ที่ต้องระวังคือยา Evusheld และ Bebtelovimab อาจรับมือไม่ได้ดีนัก)

กล่าวโดยสรุปก็คือ หากฉีดวัคซีนจนถึงเข้มที่สี่หรือกว่านั้นโดยเข็มสุดท้ายไม่ห่างมากเกิน 6 เดือนแล้ว ก็น่าจะรับมือกับโควิด-19 ยามไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ก็อาจป่วยในระดับรุนแรงที่แตกต่างกันเพราะแต่ละคนมีความเข้มแข็งของระบบภูมิคุ้มกัน 

ความแข็งแรงโดยธรรมชาติและความป่วยไข้ที่เป็นพื้นฐานอยู่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ไม่เป็นเสียเลยจะดีกว่าเพราะเรื่อง Long Covid หรือผลกระทบในระยะยาวจากโควิด-19 ซึ่งจะกล่าวถึงจากงานวิจัยล่าสุดอีกชิ้นต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ต้องจับตา

ท่องเที่ยวกับ “กลัวโควิด” | วรากรณ์ สามโกเศศ

ข้อที่สอง การติดต่อเชื้อกันนั้น ผู้มีประสบการณ์บอกว่าเชื่อว่ามาจากตอนกินอาหาร เพราะต้องถอดแมสก์ (ยังไม่มีคนหัวแหลมคนใดให้คำแนะนำในการทำทั้งสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้) การนั่งบนเครื่องบินนาน ๆ และนั่งใกล้ผู้โดยสารคนอื่น ๆ โดยเฉพาะการเลิกใส่แมสก์ของคนอเมริกัน และคนยุโรปอย่างกล้าหาญ (บูชาสิทธิส่วนตัว แต่ไม่สนใจสิทธิของคนอื่นที่อาจติดเชื้อจากตนเองได้) ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น     

สภาวะจิตใจที่ถูกบีบคั้นให้ไม่ใส่แมสด์เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ใส่กันนั้นเป็นเรื่องน่าหวั่นเกรงเพราะเป็นจุดเปราะบางที่สุด (มีคำพูดว่าถ้าลิง 100 ตัว พากันโดดข้ามรั้ว ลิงตัวที่ 101 ย่อมโดดข้ามด้วยเสมอ) 

การรักษาระยะห่างและฝืนใส่แมสก์ในต่างแดนแถบอเมริกาเหนือและยุโรป เป็นเรื่องที่กระทำได้ยากในความเป็นจริง แต่ถ้าท่านกลัว Long Covid แล้ว ต้องเป็นตัวของตัวเองให้ได้

ข้อที่สาม เตรียมตัววางแผนอย่างดีว่าหากเป็นขึ้นมาจะทำอย่างใด ต้องเอายาที่รักษาตามอาการไปด้วย เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ เจ็บคอ ยาสมุนไพร ฯลฯ ตลอดจนยารักษาโควิดโดยตรง (หากหาได้แต่ต้องระวังการใช้อย่างมาก) อย่าไปหวังพึ่งร้านขายยา หรือบริการแพทย์ในต่างแดนเพราะเราไม่รู้เหตุการณ์ข้างหน้าว่าจะมีหรือไม่อย่างไร     

ต้องเตรียมให้พร้อมทุกอย่างแม้แต่ถุงพลาสติก หนังยาง เข็มเย็บผ้า แผ่นพลาสติก ฯลฯ เพราะในยามที่ต้องการนั้นจะหาได้ลำบากมากในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่คุ้นเคย ผู้เขียนได้ยินว่ามีคนติดโควิด-19 กันกลับมาแทบทุกเที่ยวและอาจมีหลายคนด้วย

แต่ไม่มีกรณีที่หนักหนาสาหัสถึงกับเข้าโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ต้องระวังคือผลพวงจากการเป็นโควิดในระยะยาว อาการ Long Covid เหล่านี้เป็นเรื่องที่กำลังศึกษากันอยู่ในหลายประเทศแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แพทย์เห็นตรงกันหมด อีกสักพักคงจะได้ข้อสรุปจากหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น

หนังสือพิมพ์ Washnation Post ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม ได้ลงข่าวรายงานการศึกษา Long Covid ล่าสุดโดยเก็บข้อมูลจาก 100,000 คนของโครงการ Long-CISS (Covid In Scotland Study) ข้อสรุปใหญ่มีดังนี้  

  • ในจำนวน 100,000 นี้มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากความป่วยไข้อันเป็นผลจากการติดเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะผ่านไปแล้วหลายเดือนก็ตาม    
  • ประมาณ 6 ถึง 18 เดือนหลังติดเชื้อแล้ว 1 ใน 20 คน ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ 42% ฟื้นตัวบางส่วน   
  • คนที่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการมีทางโน้มที่จะไม่ถูกกระทบจาก Long Covid มากกว่าพวกมีอาการ     
  • การฉีดวัคซีนช่วยป้องกัน Long Covid ได้ดี  
  • Long Coivd มีผลกระทบกว้างขวางในหลายลักษณะต่อชีวิตคนมากกว่าเรื่องสุขภาพ เช่น คุณภาพชีวิต การจ้างงาน การเรียนหนังสือ ความสามารถในการดูแลตนเอง
  • Long Covid มีโอกาสเกิดขึ้นกับหญิงมากกว่าชาย ในกลุ่มคนสูงอายุและในคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนยากไร้   
  • คนที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและโรคซึมเศร้าอยู่แล้วมีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิด Long Covid 

ข้อสรุปบางส่วนที่นำมาเสนอนี้ เป็นผลการศึกษารอบแรกของงานวิจัยที่ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ งานศึกษาอื่น ๆ มักใช้ข้อมูลขนาดเล็กกว่า ซึ่งพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย

ซึ่งหากมีมากและยาวนานอาจมีผลต่อคุณภาพของหลอดเลือดทางเดินหัวใจอันนำไปสู่โรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ก็พบว่าการติดเชื้อทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีไข้อยู่เสมอ ฯลฯ อย่างยาวนาน

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า Long Covid จะเกิดกับใครบ้างในลักษณะใด รุนแรงเพียงใด และจะแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ได้อย่างไร อย่างไรก็ดี ที่แน่นอนก็คือไม่เกิดกับทุกคนอย่างรุนแรงแต่ที่ดีที่สุดก็คือไม่ติดเชื้อโควิด-19 เลยไม่ว่าติดจากคนในประเทศด้วยกันเองหรือจากคนต่างประเทศ เมื่อคำนึงถึงว่ามันกำลังใกล้ถึงจุดจบแล้ว และถ้าไม่เคยเป็นเลย  การระแวดระวังรักษาตัวเองให้อยู่รอดเป็นกลุ่มรอดสุดท้าย         

จึงเป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญขอให้ท่านผู้ต้องการ “ล้างแค้น” ทั้งหลายเที่ยวให้สนุก มีความสุขกายสบายใจ รอดพ้นจากโควิด-19 ทั้งปวงโดยไม่พยายามเป็นลิงตัวที่ 101 มุ่งมั่นเป็นตัวของตัวเองโดยใส่แมสก์ไว้เสมอน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะรอดจาก Long Covid