รำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผ่านบทเพลง “Candle in the Wind”

รำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผ่านบทเพลง “Candle in the Wind”

ครบรอบ 25 ปี กับการจากไปของ “เจ้าหญิงไดอานา” ที่คนทั้งโลกต่างตกหลุมรัก และบทเพลง “Candle in the Wind” ที่ “เอลตัน จอห์น” แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงเจ้าหญิง ได้กลายเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

วันที่ 31 ส.ค. 2540 โลกได้สูญเสีย “เจ้าหญิงไดอานา” ผู้ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนทั่วทั้งโลก จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ภายในอุโมงค์ทางลอดสะพานปองต์ เดอ อัลมา ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยจากการไต่สวนคดีการสิ้นพระชนม์ในปี 2551 นั้น คณะลูกขุนได้อ่านคำพิพากษาว่า เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่โดยประมาทของ อองรี ปอล และยานพาหนะของเหล่าปาปารัสซี่ที่ไล่ตามรถยนต์ที่เกิดเหตุ

ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ “เจ้าหญิงไดอานา” เป็นที่รู้จักในฐานะอดีตพระชายาของ “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายแห่งเวลส์” และเป็นพระชนนีของ “เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์” และ “เจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์” แต่เหตุผลที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกตกหลุมรักเจ้าหญิงไดอานาก็ด้วยความติดดิน ความสดใส และความรักของพระองค์ที่มีต่อพระโอรมทั้งสอง 

รวมไปถึงทรงเป็นแฟชั่นไอคอน โดยนิตยสาร People ยกย่องให้พระองค์เป็นหนึ่งในสตรีที่งดงามที่สุดตลอดกาล หลายชุดที่เจ้าหญิงไดอานาเคยสวมใส่นั้นยังคงเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น Travolta Dress ชุดราตรีกำมะหยี่สีน้ำเงินที่เจ้าหญิงไดอานาใส่เต้นรำกับ “จอห์น ทราโวตา” 

รำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผ่านบทเพลง “Candle in the Wind”

เจ้าหญิงไดอานาในชุด Travolta Dress

อีกทั้งยังเป็นสมาชิกคนแรกของราชวงศ์อังกฤษที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าจากแบรนด์ดัง ๆ เสมือนหลุดออกมาจากรันเวย์ และสวมใส่กระโปรงสั้น (เหนือเข่า) เป็นการฉีกขนบธรรมเนียมในอดีตที่เคยมีมา และได้ส่งอิทธิพลนี้มายังสมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่โดยเฉพาะ “แคเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์” พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม

นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชกรณียกิจในการช่วยเหลือสังคมมากมาย ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก  พระองค์ได้เป็นประธานสมาคมการกุศลเกือบ 100 องค์กร ทั้งด้านการช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 2525 ทั้งที่ในขณะนั้นผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและรังเกียจโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี 

รวมถึงเดินทางไปยังโรงพยาบาลโรคเรื้อนหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล ซิมบับเว และไนจีเรีย และทรงสัมผัสผู้ป่วยโรคเรื้อน ทั้งที่ ณ เวลานั้นผู้คนไม่กล้าแตะต้องตัวผู้ป่วยเพราะความเข้าใจผิดที่ว่าโรคเรื้อนสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส พระองค์ทรงตรัสถึงการเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อนว่า 

“ฉันคิดคำนึงอยู่ตลอดในเรื่องการสัมผัสตัวผู้ป่วยโรคเรื้อน จึงได้พยายามใช้วิธีอย่างง่าย ๆ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังโดนหยามเหยียดหรือเป็นที่รังเกียจ"

ผู้จัดการกองทุนโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดนกล่าวถึงเจ้าหญิงไดอานาว่า “เจ้าหญิงทรงขจัดอคติและทัศนคติที่ไม่ดีของโรคร้าย เช่น โรคเอดส์ เชื้อเอชไอวี และโรคเรื้อน"

แม้หลังจากหย่ากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลสแล้ว พระองค์ยังคงดำเนินพระราชกรณียกิจต่อไป จนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนทั้งโลกถึงตกหลุมรักเจ้าหญิง และทำให้ในงานพระราชพิธีพระศพมีผู้คนเดินทางมาร่วมถวายความอาลัยอย่างล้นหลามและติดตามการถ่ายทอดสดเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหราชอาณาจักร

ในงานพระราชพิธีพระศพของเจ้าหญิงไดอานา “เอลตัน จอห์น” พระสหายสนิทของเจ้าหญิง ได้ร่วมร้องเพลง “Candle in the Wind” เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่เจ้าหญิง

 

จอห์นและเจ้าหญิงรู้จักกันเมื่อครั้งที่ จอห์นได้ไปร่วมแสดงในงานเลี้ยงฉลองวันพระราชสมภพของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งมีพระชนมายุครบ 21 พรรษา ณ พระราชวังวินด์เซอร์ โดยเขาได้รับจดหมายขอบคุณจากเจ้าหญิงไดอานาที่มีพระชนมายุ 19 ปีในขณะนั้น และนับตั้งแต่นั้นทั้ง 2 ได้กลายเป็นเพื่อนกันเรื่อยมา

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา ทางครอบครัวขอให้จอห์นเขียนคำไว้อาลัยให้แก่เจ้าหญิง ที่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2540 โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน รวมทั้งสมาชิกของราชวงศ์ทั้งหมด อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีชีวิตอยู่ และพระสหายผู้มีชื่อเสียงหลายสิบคน จอห์นเปิดเผยว่าการเล่น Candle in the Wind ในงานศพของเจ้าหญิงนั้น "เป็นเรื่องที่เหนือจริง"

รำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผ่านบทเพลง “Candle in the Wind”

เอลตัน จอห์น และ เจ้าหญิงไดอานา

 

"สิ่งที่อยู่ในใจของฉันคือ จงอย่าร้องเพี้ยน อดทนเอาไว้ อย่าทำมันพัง อย่าแสดงอารมณ์ออกมา และทำออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนนั้นหัวใจของฉันเต้นแรงมาก”

ขณะที่เจ้าชายแฮร์รี่ พระโอรสองค์เล็กของเจ้าหญิงไดอานาได้ให้สัมภาษณ์ในสารคดีรำลึกถึงเจ้าหญิงไดอานา Diana, 7 Days (2560) ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ BBC1 ว่า “ผมตั้งใจว่าจะไม่ร้องไห้ในที่สาธารณะให้ใครได้เห็น แต่เพลงของเอลตัน ที่ร้องให้แม่นั้นสะเทือนอารมณ์เป็นอย่างมาก จนผมแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
 

รำลึก “เจ้าหญิงไดอานา” ผ่านบทเพลง “Candle in the Wind”
เจ้าหญิงไดอานา และพระโอรสทั้งสอง

 

ในวันนั้นใช้เวลาเคลื่อนย้ายหีบพระศพของเจ้าหญิงไดอานาจากพระราชวังเค็นซิงตัน ไปยังโบสถ์เวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ กว่า 1 ชั่วโมง 47 นาที โดยมีเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่เสด็จพระราชดำเนินตามหลัง พร้อมกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และเอิร์ลชาร์ลส สเปนเซอร์ ผู้เป็นน้องชายของเจ้าหญิงไดอานา โดยตลอดเส้นทางเคลื่อนขบวนมีประชาชนกว่า 1 ล้านคนร่วมส่งเจ้าหญิงเป็นครั้งสุดท้าย หลายคนนำดอกไม้มาวางไว้หน้าพระราชวังบักกิงแฮม และมีผู้ชมการถ่ายทอดสดพิธีดังกล่าวผ่านทางโทรทัศน์ 30 ล้านคนทั่วสหราชอาณาจักร 

แต่เดิมแล้ว เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งเพื่อระลึกถึงการจากไปของนักแสดงโลกไม่ลืมอย่าง “มารีลิน มอนโร” โดยจอห์น และ เบอร์นี เทาพิน นักแต่งเพลงคู่บุญของเขา ได้เปลี่ยนเนื้อร้องบางส่วนเพื่อให้เข้ากับชีวิตเจ้าหญิงไดอานา เช่น ท่อนแรกของเพลง จาก “Goodbye Norma Jeane though I never knew you at all” เป็น “Goodbye England’s Rose may you ever grow in our hearts.”

รวมถึงท่อนฮุคของเพลงที่เปลี่ยนเป็น “Your footsteps will always fall here, along England’s greenest hills.” เพื่อสะท้อนถึงชื่อเสียงของเจ้าหญิงไดอานาที่แผ่ขยายไปทั่วอังกฤษ

Candle in the Wind เวอร์ชันต้นฉบับรวมอยู่ในอัลบั้ม “Goodbye Yellow Brick Road” ที่วางจำหน่ายในปี 2516 ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดและได้บรรจุอยู่ในหอเกียรติยศของ Grammy Hall of Fame

 

ส่วน Candle in the Wind เวอร์ชันที่แต่งให้เจ้าหญิงไดอานานั้น วางจำหน่ายเป็นซิงเกิลรวมกับ “Something the Way You Look Tonight” ในชื่อว่า “Something the Way You Look Tonight/ Candle in the Wind 1997” สามารถทำยอดขายได้กว่า 33 ล้านชุดทั่วโลก กลายเป็นซิงเกิลที่ขายดีที่สุดในสหรัฐและสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่เริ่มทำชาร์ตซิงเกิลในทศวรรษ 1950 และเป็นซิงเกิลที่ขายดีที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 รองจากเพลงประจำเทศกาลคริสต์มาสอย่าง “White Christmas” ของ “บิง ครอสบี” ที่ทำยอดขายไปถึง 50 ล้านชุด

นอกจากนี้ Candle in the Wind เวอร์ชันปี 2540 ยังสามารถคว้าอันดับ 1 บน “BillBoard Hot 100” ติดต่อกัน 14 สัปดาห์ รวมถึงชาร์ตทั่วโลก และนิตยสาร “BillBoard” ยังจัดอันดับให้เพลงนี้อยู่ในอันดับที่ 5 ของ “Hot BillBoard 100 of 90’s” เพลงที่โด่งดังที่สุดในยุค 1990 

รายได้ทั้งหมดจากการขายซิงเกิล Candle in the Wind 1997 ราว 150 ล้านดอลลาร์ได้สมทบเข้าสู่ “กองทุนอนุสรณ์เจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์” (The Diana, Princess of Wales Memorial Fund) เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกด้วยเงินช่วยเหลือและความช่วยเหลืออื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เอลตัน จอห์น ได้ปฏิญาณว่าเขาจะไม่ร้องสดเพลง Candle of the wind 1997 อีกเป็นอันขาดนอกจากจะเป็นพระประสงค์ของพระโอรสของเจ้าหญิงไดอานา


ที่มา: BBCEntertainment WeeklyGuinness World RecordsLeprosy MissionPop History DigThe GuardianThe Sun