นิทรรศการ Nature of Work ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี

นิทรรศการ Nature of Work ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี

งานศิลปะ Nature of Work เพื่อให้ระลึกถึงธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ป่าที่ไม่มีความปลอดภัย ฝุ่นหินที่ติดอยู่บนใบหน้าของคนงานในเหมือง

นิทรรศการNature of Work ผลงานเกเบรียลล่า เฮิร์ส, ฮู ยุน และนานา บูซานี โดยภัณฑารักษ์ แพทริค ฟลอเรส จัดแสดงที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี วันที่ 3 กันยายน – 30 ตุลาคม 2565

ผลงานศิลปะครั้งนี้ เป็นการแกะรอยการทำงานในสถานการณ์ต่างๆ ที่มีทั้งความหยาบกระด้างและความละเอียดอ่อน คำว่างาน สื่อถึงการลงแรงและวัตถุดิบประเภทต่างๆ ซึ่งงานในทุกรูปแบบเป็นทั้งเครื่องพิสูจน์ และเงาสะท้อนให้เห็นภาพของระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานมนุษย์ พลังธรรมชาติ 

และความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ด้วยสัมพันธภาพระหว่างงานกับระบบนิเวศด้านแรงงาน รวมทั้งการกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และการสมรู้ร่วมคิด 

เหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการที่แกะรอยสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อธรรมชาติ รวมทั้งสำรวจผลที่ตามมาทั้งแก่ผู้รอดชีวิตและผู้สูญหาย

ผลงานของนานา บูซานี เป็นการสำรวจชีวิตของแรงงานในเหมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดรอมบลอน ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีชื่อเสียงในการผลิตหินอ่อน ซึ่งเป็นมวลของแข็งที่ยากต่อการจัดการ ขั้นตอนการสกัด การเจียร และการขัดแต่งหินที่มีความงดงามน่าดึงดูดนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังแรงงาน และความยากลำบากในการสร้างสรรค์ความงาม

นิทรรศการ Nature of Work ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี (เกเบรียลล่า เฮิร์ส เล่าถึงพื้นที่ซึ่งจิตรกรในยุคโรแมนติค แคสปาร์ เดวิด ฟรีดริช เคยวาดภาพพายุในอดีต)

นิทรรศการ Nature of Work ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี (อีกผลงานของเกเบรียลล่า เฮิร์ส )

นานา บูซานี เกิดบนดินแดนแห่งความขัดแย้งในแถบมินดาเนาว์ ประเทศฟิลิปปินส์ เธอทำงานด้านภาพนิ่งแนวสารคดี ภาพยนตร์ และงานจิตรกรรม โดยทำงานในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานเด็ก, เด็กและผู้หญิงในสถานการณ์ยากลำบาก, เด็กที่ถูกกักขัง และกลุ่มผู้อาศัยในอาคารสหกรณ์การเคหะ  

ส่วน เกเบรียลล่า เฮิร์ส เล่าถึงพื้นที่ซึ่งจิตรกรในยุคโรแมนติค แคสปาร์ เดวิด ฟรีดริช เคยวาดภาพพายุในอดีต ศิลปินเฝ้ารอจนพายุมาถึงเพื่อบันทึกภาพพายุในช่วงเวลานั้น โดยต้องต่อสู้กับลมที่พัดแรงในสภาพอากาศที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ และด้วยความพยายามที่เกือบจะสูญเปล่า 

ส่วนผลงานอีกชิ้นนั้น ศิลปินเก็บภาพเมืองแวร์เดิง ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสนามรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเวลาผ่านไปได้ถูกครอบคลุมด้วยผืนป่า และต่อมาได้ถูกทำลายด้วยพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง ทิ้งไว้ให้เห็นถึงความราบคาบอันเกิดจากความรุนแรงที่ซ้อนทับบนผืนแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฮู ยุน สำรวจเรื่องราวของแรงงานจีนอพยพจากคลังเก็บเอกสารสำคัญที่ระบุรายชื่อแรงงานชาวจีนในเหมืองขุดทองประเทศออสเตรเลียในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยศิลปินให้ช่างฝืมือชาวจีนสลักรายชื่อแรงงานเหล่านั้นลงบนเมล็ดข้าวอย่างประณีต ก่อนที่จะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ซึ่งข้าวเป็นอาหารจำเป็นที่หล่อเลี้ยงชีวิตแรงงานเหล่านั้น

งานศิลปะทั้งหมดนี้ปลุกให้ระลึกถึงธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ป่าที่ไม่มีความปลอดภัย ฝุ่นหินที่ติดอยู่บนใบหน้าของคนงานในเหมือง และการบันทึกชื่อขนาดเล็กจิ๋วบนอาหารสุดสำคัญของมนุษย์

นิทรรศการ Nature of Work ที่วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี

(ผลงานของนานา บูซานี ชีวิตแรงงานในเหมืองแห่งหนึ่งในจังหวัดรอมบลอน ประเทศฟิลิปปินส์ ในการผลิตหินอ่อน)