ส่องของขวัญ สุดหรู ถึง สุดแปลก! ที่ผู้นำสหรัฐเคยได้รับจากต่างชาติ

ชวนย้อนดูของขวัญสุดหรู จนถึง สุดแปลก ที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้รับ หลังมีข่าวว่า ราชวงศ์กาตาร์เตรียมจะมอบเครื่องบินเจ็ตสุดหรู มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท ให้โดนัลด์ ทรัมป์
วงการการเมืองสหรัฐอเมริกา กำลังเผชิญกับพายุแห่งการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวว่า ราชวงศ์กาตาร์เตรียมจะมอบเครื่องบินเจ็ตสุดหรู โบอิ้ง 747-8 มูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.3 หมื่นล้านบาทให้แก่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ทำเอาผู้เชี่ยวชาญออกมาถกกันอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะในมุม “จริยธรรม” ว่า ของขวัญมูลค่าสูงขนาดนี้ สมควรที่จะรับไว้หรือไม่ และเข้าข่าย “รับสินบน” หรือเปล่า เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถือเป็นการละเมิดกฎตามรัฐธรรมนูญที่มุ่งป้องกันการติดสินบนและการทุจริต
แม้จะถูกจับจ้องอย่างมาก แต่ก็ดูจะไม่สะเทือนเจ้าตัวเท่าไหร่ เพราะล่าสุดทรัมป์ได้ออกมาบอกว่า ของขวัญขนาดนี้.. “ถ้าไม่รับก็โง่”
แถมยังวางแผนไว้ด้วยว่า จะเอามาใช้เป็น Air Force One ลำใหม่
กฎกติกาการรับของขวัญของผู้นำสหรัฐ
เรื่องราวของประธานาธิบดีสหรัฐ กับ “ของขวัญ” ที่ได้รับจากต่างชาตินั้นมีมายาวนานแล้ว ซึ่งก็มีทั้งสิ่งของที่ระลึกทั่วไป ของขวัญสุดหรู จนถึงของขวัญสุดแปลก
อย่างโต๊ะทำงาน Resolute Desk ในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) นั่นก็เป็นของขวัญที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร มอบให้แก่ประธานาธิบดีรัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮย์ส เมื่อปี 1880
โดยมีการตั้งกฎกติกาอย่างชัดเจนในการรับของขวัญเหล่านี้ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ กฎเหล็กว่าด้วย "ของขวัญ" สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ รับของขวัญจาก "พระมหากษัตริย์ เจ้าชาย หรือรัฐต่างชาติ" โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา
รายละเอียดที่ระบุไว้ มีอาทิ
- ของขวัญจากต่างประเทศที่มีมูลค่า น้อยกว่า 480 ดอลลาร์สหรัฐ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเก็บไว้ได้
- สำหรับสิ่งที่มีมูลค่าเกินกว่า 480 ดอลลาร์ จะถูกจัดให้เป็นของขวัญสำหรับ "ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา"
- ของขวัญเหล่านี้จะต้องถูกบันทึกและจัดการโดย หน่วยงานของขวัญประจำทำเนียบขาว (White House Gift Unit)
- เมื่อประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ของขวัญ(ส่วนใหญ่)จะถูกส่งต่อไปยัง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (National Archives) หรือ ห้องสมุดประธานาธิบดี ที่จะก่อตั้งขึ้นประจำผู้นำแต่ละคนเมื่อพ้นวาระ เพื่อเป็นคลังเก็บเอกสารและสิ่งของจากการบริหารงาน
โต๊ะทำงาน Resolute Desk ในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office)
อย่างไรก็ตาม หากประธานาธิบดี สนใจของขวัญชิ้นใดเป็นพิเศษ พวกเขาสามารถ เก็บไว้ได้ ตราบใดที่พวกเขาจ่ายมูลค่ายุติธรรมตามราคาตลาด
กระเป๋าย่านลิเภาประดับทองคำและเพชร ของขวัญจากประเทศไทย แด่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ลอร่า บุช (พ.ศ.2545)
ของขวัญสุดแปลกที่ประธานาธิบดีเคยได้รับ
ในบรรดาสารพัดของขวัญจำนวนมหาศาลที่ประธานาธิบดีสหรัฐได้รับมาตลอดนั้น มีหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เคยได้รับ ม้าลายและสิงโต จากเอธิโอเปีย และ ริชาร์ด นิกสัน ได้รับ หมีแพนด้า จากจีน ส่วนประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยได้รับ ลูกสุนัข จากผู้นำบัลแกเรีย ซึ่งถูกส่งไปยังหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก่อนจะถูกส่งต่อไปให้ครอบครัวอุปถัมภ์
นอกจากนี้ บุชยังเคยได้รับจักรยานจากนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เอฮุด โอลเมิร์ต และของขวัญที่น่าจะทำให้หน่วยอารักขาพิเศษต้องปวดหัวที่สุดในปี 2005 คือ เนื้อแกะดิบหนัก 300 ปอนด์ จากอาร์เจนตินา ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกทำลายไปแล้ว
พรมทอที่มีภาพของบิล คลินตัน และฮิลลารี คลินตัน
ในปี 1997 ประธานาธิบดีเฮย์ดาร์ อาลีเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน มอบ พรมขนาด 6x5 ฟุต ที่มีภาพของบิล คลินตัน และฮิลลารี ภริยาของเขา ซึ่งใช้ผู้หญิง 12 คนทออย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันมอบหลังตอบรับคำเชิญมาทำเนียบขาว
กบเหลาดินสอรูปรถเมล์สองชั้น ของขวัญจากสหราชอาณาจักร แก่ บารัค โอบามา
ส่วนห้องสมุดประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา มีของขวัญหลายพันชิ้น ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่าง กระดุมข้อมือเงิน เครื่องประดับคริสต์มาส กบเหลาดินสอรถเมล์สองชั้น ชุดของขวัญจากสหราชอาณาจักรที่มีเกลือทะเล สมุดบันทึก และชุดรองแก้ว ไปจนถึงของมีค่าอย่าง ดาบเหล็กยาว 20 นิ้วในฝักประดับอัญมณี จากสุลต่านมาเลเซีย และ มีดสั้นประดับปะการังและเครื่องเงินจากนายกรัฐมนตรีแอลจีเรีย
แต่ที่แปลกยิ่งกว่าคือ “กรมธรรม์ประกันภัยจระเข้” จากหัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีของออสเตรเลีย
ของขวัญที่สูญหาย
ทั้งนี้ แม้จะมีความพยายามที่จะเก็บบันทึกของขวัญนับหมื่นชิ้นอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังมีที่หลุดรอดสูญหายไป โดยที่เคยเป็นประเด็น ก็คือการหายไปของสิ่งของ 100 รายการ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับจากต่างประเทศในช่วงวาระแรกของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงภาพวาดขนาดเท่าตัวจริงที่ได้รับจากประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ และ ไม้กอล์ฟจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มูลค่ารวมกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ในภายหลังโฆษกของทรัมป์ชี้แจงว่า สิ่งของหลายรายการนั้น “ได้รับมาก่อนหรือหลังการบริหารงาน"
ประเด็นร้อนเครื่องบินเจ็ต 400 ล้านดอลลาร์จากกาตาร์
สำหรับ เครื่องบินโบอิ้งเจ็ตที่กาตาร์เสนอให้นั้น ด้วยมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นของขวัญจากรัฐบาลต่างประเทศที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ อย่างไม่ต้องสงสัย มีรายงานว่าประธานาธิบดีจะใช้เครื่องบินลำนี้เป็น Air Force One ลำใหม่ จนกระทั่งใกล้สิ้นสุดวาระที่สอง หลังจากนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะ โอนไปยังมูลนิธิห้องสมุดประธานาธิบดีของเขา ซึ่งอาจทำให้ทรัมป์ สามารถใช้เครื่องบินได้แม้หลังจากพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้ว
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมยังคงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความเหมาะสมทางกฎหมายและจริยธรรมของของขวัญชิ้นนี้ เลขานุการสื่อมวลชนทำเนียบขาว คาโรไลน์ ลีวิตต์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า "ของขวัญใดๆ ที่รัฐบาลต่างประเทศมอบให้ จะได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสมอ" เธอยังยืนยันว่า "คณะบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์มุ่งมั่นที่จะโปร่งใสอย่างเต็มที่"
แม้จะมีข้อกังวลด้านจริยธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ผู้นำต่างประเทศยังคงใช้ ของขวัญเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และเปิดทางทางการทูต และในขณะที่ประธานาธิบดีเป็นผู้รับ ก็ต้องไม่ลืมว่าพวกเขาก็มีภารกิจในการ มอบของขวัญตอบแทน เช่นกัน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายไม่แพ้กัน ดังเช่นกรณีที่โอบามามอบดีวีดีภาพยนตร์คลาสสิกของอเมริกาให้แก่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ ซึ่งถูกสื่ออังกฤษเย้ยหยันว่าน่าเบื่อและขาดจินตนาการ
เรื่องราวของของขวัญจากต่างแดนถึงผู้นำสหรัฐฯ จึงไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนสิ่งของ แต่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายที่เคร่งครัด และความท้าทายในการปฏิบัติตามกฎเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อของขวัญชิ้นล่าสุดที่กำลังเป็นข่าว มีมูลค่ามหาศาลและจุดคำถามสำคัญด้านจริยธรรมขึ้นมาอีกครั้ง
อ้างอิง : theguardian , theatlantic