ถอดบทเรียน กว่าจะเป็น 'พื้นที่สร้างสรรค์' ฉบับโคราช

ถอดบทเรียน กว่าจะเป็น 'พื้นที่สร้างสรรค์' ฉบับโคราช

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าอยากทำพื้นที่สร้างสรรค์ควรเริ่มต้นอย่างไร? บทความนี้ชวนมาวิเคราะห์สูตรความสำเร็จของโคราชกับการลุกขึ้นมาทำพื้นที่สร้างสรรค์ และต่อยอดสู่การเป็นเมืองการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

เชื่อว่าเด็กยุคใหม่หลายคนไม่รู้จัก "กระต่ายบนดวงจันทร์" ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ อนันต์พล สุดทรัพย์ หัวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในโคราช

อนันต์พล กล่าวว่า ดาราศาสตร์ เป็นวิชาที่เรียนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง เด็กต้องได้เห็นของจริงด้วยตาตัวเอง ต้องได้สัมผัส แล้วจะเริ่มมีกระบวนการความคิดทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น 

"อะไรที่อยู่บนฟ้าคือเรื่องจินตนาการทั้งหมด ตั้งแต่พันปีที่แล้ว คนก็มองท้องฟ้าเห็นเป็นรูปสิ่งต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นพื้นที่เล่นของผมในวัยเด็กเช่นกัน" 

ปัจจุบันที่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อเป็นประตูสู่โลกการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ๆ โดยในทุกคืนวันเสาร์จะเปิดกิจกรรมดูดาวเพื่อให้น้อง ๆ และผู้สนใจมาเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น

โคราชฟอสซิลมิวเซียม เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคต

ผศ.ดร.ณัฎฐินี ทองดี หรือป้าโอ๋ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดประเด็นว่า พื้นที่การเรียนรู้ของเธอนั้นอยู่ตรงข้ามกับท้องฟ้าเลย

"เราขุดของจากใต้ดินมาเรียนรู้ ทั้งฟอสซิล สิ่งที่เราดำเนินการคือ เราได้ขุดค้นเจอซากฟอสซิลในพื้นที่โคราช ซึ่งมีความหลากหลายที่จะทำให้เด็กและคนโคราชได้จินตนาการว่า ในอดีตโคราชเราเคยมีไดโนเสาร์ตัวใหญ่ ๆ ยีราฟคอสั้น หมูป่าโบราณ บริเวณนี้อยู่นะ ซึ่งปัจจุบันทุกอย่างสูญพันธุ์หมดแล้ว การได้เรียนรู้อดีตเหล่านี้ ก็เพื่อให้เรากลับมามองปัจจุบันว่า สภาพแวดล้อมที่ดำเนินอยู่มีส่วนสำคัญ ว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร แล้วอนาคตข้างหน้าเราจะไปต่ออย่างไร หรือเราจะสูญพันธุ์หรือไม่"

"เสมาลัย" แล็บโรงละครเพื่อคนโคราช

นิมิต พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงและผู้อำนวยการมูลนิธิหุ่นสายเสมมา ศิลปะเพื่อสังคม ปรับบ้านที่พักตนเองเป็นโรงละครสายเสมาที่ทุกคนรู้จักในวงกว้าง

"อยู่มาวันหนึ่งเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมเป็นคนโคราช อยากมาทำให้พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับบ้านเกิดตัวเองด้วย เราน่าจะมีพื้นที่เล็ก ๆ ที่นี่ เลยเปิดโรงละครอีกแห่งที่โคราชในชื่อเสมาลัยขึ้น จึงเสมือนเป็นแล็บหรือห้องทดลองเล็ก ๆ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ชาวโคราชทุกคนร่วมต่อเติมสรรค์สร้างไอเดีย" 

เรียนรู้ "ราก" โคราช อย่างสร้างสรรค์

ชุตินันท์ ทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เล่าถึงพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาว่า ปัจจุบันคนโคราชมักรู้จักภาษาตัวเองแบบเป็นท่อน ๆ เราเลยอยากเป็นต้นทุนเป็นพื้นที่คลังความรู้ที่ทุกคนจะมาหาเมื่อต้องการเรียนรู้เรื่องโคราช 

อีกหนึ่งพื้นที่เรียนรู้สำคัญของโคราชคือ อุทยานการเรียนรู้สิรินธร ดร.สุพรรณี จันทร์ภิรมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเทคโนโลยีฝ่ายบริการวิชาการและพันธกิจสำคัญกับสังคม สังกัดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เล่าว่า ที่อุทยานการเรียนรู้สิรินธรนี้ มี 3 พิพิธภัณฑ์ 1 สวนพฤกษศาสตร์ และ 1 อุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อให้คนโคราชได้เรียนรู้เรื่องของการ "สร้าง" และ "สรรค์"

หากวิเคราะห์สูตรความสำเร็จของ โคราช ครั้งนี้ จะพบว่า เกิดได้เพราะการรวมพลังของคนโคราชที่ได้นำเอาความหลากหลายที่ตนเองมี มาเป็นประโยชน์และต่อยอดสู่การเป็นเมืองการเรียนรู้ที่ยั่งยืน