‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

พูดคุยกับนักเขียน ‘ซีไรต์’ ปี 66 ‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ จากผลงานรวมเรื่องสั้น ‘ด้วยรักและผุพัง’ ถึงที่มาที่ไปของการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่ได้รับรางวัล และสิ่งที่ต้องการสื่อสารมากที่สุด

นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ นักเขียน ซีไรต์ ประจำปี 2566 จากผลงานรวมเรื่องสั้น ด้วยรักและผุพัง Family Comes First ปัจจุบันทำงานเป็นล่ามอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

บินกลับมาประเทศไทยเพื่อมาเปิดตัวหนังสือ ด้วยรักและผุพัง เป็นครั้งแรก หลังจาก Salmon Books ตีพิมพ์เล่มนี้ออกมาในปี 2021 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1567 ณ ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ เซ็นทรัลเวิลด์

เปิดการสนทนาอย่างเป็นกันเอง ด้วยการแนะนำตัว 

“เราเกิดที่ไทย พ่อมาจากจีน แม่มาจากฮ่องกง เราเรียนมัณฑนศิลป์ ด้านออกแบบ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ถนัดทำงานด้วยภาพ แต่ถนัดทำงานด้วยคำมากกว่า พอเรียนจบก็ไปทำงานโฆษณา เป็น Copy Writer

เริ่มต้นการอ่านเล่มแรกชื่อว่า บันทึกนกไขลาน ของ ฮารูกิ มูราคามิ พออ่านจบก็มีความสนใจเรื่องการเล่าเรื่อง หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็เขียนมาเรื่อย ๆ อยากเป็นนักเขียนที่มีเรื่องสั้นตีพิมพ์

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขียนคือ 4 นาฬิกา 30 นาที เขียนลงในแพลตฟอร์ม StoryLog เป็นเว็บไซต์ให้คนไปโพสต์เรื่องที่ตัวเองเขียนลงไป

ได้รับฟีดแบคโอเค เพื่อนอ่านแล้วบอกว่าโอเคนะ เพิ่มความมั่นใจมีกำลังใจขึ้นมาว่าเราน่าจะเขียนได้ งานช่วงแรกได้รับอิทธิพลมาจากมูราคามิเยอะ เป็นความรู้สึกของช่วงวัย พูดถึงการหลงทางไปในตัวตน หรือความสัมพันธ์"

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’ Cr. Kanok Shokjaratkul

ด้วยรักและผุพัง เป็นการรวมเล่มครั้งแรกในชีวิตของ มิน-นริศพงศ์ บนปกจะมี 3 ภาษาคือ ไทย ด้วยรักและผุพัง ต่อด้วยสุภาษิตจีน เจี้ยถิงตี้ยี ครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง และภาษาอังกฤษ Family Comes First

จากชีวิตจริงที่เป็นลูกชายคนเล็ก หลานชายคนเล็ก ของเจนเนอเรชั่น

"ทำให้ความรักและความคาดหวังทั้งหมดพุ่งมาที่เรา เพราะเราเป็นเด็กที่ทำได้ดี เรียนเก่ง สุภาพ เรียบร้อย ความรักที่จะไปที่คนอื่นมันถูกลดทอนมาอยู่ที่เราหมด ที่ใกล้ที่สุดคือพี่สาวเรา นำมาซึ่งความเจ็บปวดของทั้งคู่

กลับมาไทยรอบนี้เรารู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง มันโหดร้ายกว่าเรื่องที่เราเขียนอีก เรื่องเราเบาไปเลย มันกระทบใจเรามาก ที่ว่า คนเรารักกัน ในนามของความรัก ครอบครัวทำร้ายกันได้ขนาดนี้เลย"

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

สำหรับข้อมูลในการเขียน มินเล่าว่า ตั้ง Status เฟซบุ๊ค พูดถึงความเป็นไทยเชื้อสายจีน หรือความเป็นจีน แล้วก็มีคนเข้ามาตอบๆๆๆๆ

"บางเรื่องน่าสนใจเราก็ทักไปคุยต่อ มีพี่คนหนึ่งบ้านอยู่เยาวราช เราก็ไปนั่งคุย เราได้มาจากการคุยกับคน ครอบครัวเราไม่ใหญ่มาก ถ้ามีครอบครัวที่แตกต่างก็จะได้เรื่องหรือมุมมองที่ต่างออกไป

ในเล่มนี้มีสองเรื่องที่อยากพูดถึง หนึ่ง เรื่องหลานชายคนโปรด ที่แบกรับความคาดหวังมหาศาลจากญาติทุกคนที่รุมให้ความรัก ผลสุดท้ายความรักที่มากเกิน มันก็พังลงมา เกิดเหตุการณ์หรือสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ได้

สอง เรื่องพี่สาวของผม จริง ๆ มันคือตัวเรา แต่เราต้องบิดไปนิดหนึ่ง เพราะเดี๋ยวพี่สาวมาฟ้อง แกนมันคือความรักที่ได้รับไม่เท่ากัน มันทำลายทั้งคนที่ได้รับความรักมากกว่าและคนที่ได้รับความรักน้อยกว่า

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเราถูกรักมากกว่า แต่นั่นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีนะ เพราะเรารู้ว่าคนอีกคนได้รับความรักน้อยกว่า แล้วคน ๆ นั้นก็เป็นคนที่เรารัก คนที่ได้รับความรักมากกว่าอย่างเรายังเจ็บปวด แล้วคนที่ได้รับความรักน้อยกว่าจะไม่เจ็บปวดหรือ

เราอยากให้คนอ่านรู้สึก จะโกรธก็ได้ จะเสียใจ จะร้องไห้ ก็ได้ เพราะถ้าเราไม่รู้สึกกับอะไรสักอย่าง เราก็จะไม่คิดถึงมันต่อ

เป้าหมายหนึ่งในการเขียนเล่มนี้คือการขอบคุณทุกสิ่งที่สร้างให้เราเป็นเรา ไม่ว่าด้านที่น่าเกลียดหรือด้านที่สวยงาม ถ้าคนอ่านได้กลับไปรู้จักตัวเองมากขึ้น โอบรับด้านที่ผุพังของตัวเองได้ สำหรับเรา ถือว่ามันเป็นรางวัลสำหรับคนเขียนที่ดีมาก"

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’ Cr. Kanok Shokjaratkul

จุดเด่นของเล่มนี้คือแต่ละเรื่องมีกลวิธีการเขียนที่หลากหลาย มินอธิบายว่า

"เราคาดหวังให้ทุกเรื่องในเล่มมีวิธีการเล่าที่แตกต่างกันอยู่แล้ว หนังสือบางเล่มที่เคยอ่าน เราแยกเรื่องที่หนึ่งที่สองที่สามจากกันไม่ออกเลย หรืออ่านเรื่องที่สี่ก็ลืมเรื่องที่สองแล้ว ทุกเรื่องเหมือนร้อยเนื้อทำนองเดียว

เราไม่อยากเขียนงานแบบนั้น เลยซีเรียสกับวิธีเล่ามาก ทุกเรื่องต้องไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเรื่องนี้เล่าแบบนี้มันน่าจะเน้น Message (สาร) ขึ้นมาชัดขึ้น หรือบางเรื่องมันจริงมาก ก็ส่งแรงกระเพื่อมได้แรงกว่า หรือต้องทำให้เส้นระหว่างความจริงกับเรื่องแต่งมันเบลอ มันน่าจะทำงานกับคนอ่านมากกว่า

เวลาเราทำงาน เราจะเขียนสิ่งที่เกิดขึ้นคร่าว ๆ ไว้ก่อน เช่น เรื่องนี้พูดเรื่องผู้หญิงที่เป็นสะใภ้ต้องมีลูกชายให้ที่บ้านเท่านั้น เราอยากพูดเรื่องนี้ หัวมันเกิดอะไร หางมันเกิดอะไร ระหว่างทางมันเป็นยังไง แล้วก็ค่อย ๆ เชื่อมมัน 

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

ทั้งเล่ม 12 เรื่อง มีเรื่องหนึ่งที่โดนฆ่าทิ้ง (แต่มันจะกลับมา ในการพิมพ์ครั้งต่อไป) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือนในการเขียน ส่งไปให้บก.พิจารณา ใช้เวลา 3 เดือน รวมทั้งหมดปีกว่าถึงสองปี

ช่วงที่เขียน ก็เขียนทุกวัน ตั้งใจเขียนวันละ 1 หน้ากระดาษ A4 / Font 12 ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม กลับบ้านมากี่โมง มาสภาพไหน เหนื่อยมาก เมามาก ก็ต้องเปิดคอมเขียน

เราอ่านหนังสือ On Writing ของ สตี เฟนคิง พูดเรื่องการเขียนว่า ไม่ว่าคุณจะเขียนดีหรือไม่ดีคุณก็ต้องเขียน ไม่ว่าคุณจะรู้สึกว่าเหมือนคุณไม่ไปไหนเลย พายเรือวนอยู่ในอ่าง คุณก็ต้องเขียนต่อไป

เพราะว่าการเขียนออกมา มันดีกว่าการไม่เขียน เราเลยเลิกกลัวการเขียนไม่ดีไปเลย เพราะการเขียนไม่ดี มันกลับมาแก้ไขให้ดีได้ แต่ถ้าเราไม่เขียน มันก็ไม่มีอะไรออกมาทั้งนั้น"

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ความรู้สึกกับรางวัลซีไรต์

จนถึงวันนี้ มินก็ยังรู้สึกว่า ซีไรต์ เป็นเรื่องไกลตัว

"ตอนที่รู้ว่าเราเข้า Short List เพื่อนถามว่า คิดไหมว่าตัวเองจะได้ ตอบว่า ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดว่ามันเป็นของคนอื่น มันไม่ใช่ของเรา แล้ววันที่รู้ ตอนนั้นอยู่ญี่ปุ่น ทำงานอยู่ ในที่ทำงานไม่ให้เอามือถือเข้าไป

มีช่วงแอบอู้งาน ก็ไปหยิบมือถือออกมา รุ่นน้องส่ง Message มาว่า ยินดีด้วย เราก็อ๋อ น้องคงยินดีที่เราได้งานใหม่

พอเข้าเฟซบุ๊คก็มีคนแอดเข้ามาเยอะมาก ก็คิดว่าใครเอาเราไปแขวนที่ไหนหรือเปล่า พอเห็น tag ก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เราก็ ฮะ ดังมาก จนคนข้าง ๆ หันมามองว่าเป็นอะไร

เรายังไม่ตอบใคร นั่งรถไฟกลับบ้าน VDO Call ไปหาที่บ้าน ที่บ้านรู้แล้ว ตอนกินข้าว สั่งไวน์มากินแก้วหนึ่ง ให้มัน Cool Down อ๋อ เกิดสิ่งนี้ขึ้น แล้วค่อยกลับมาตอบข้อความ มันอ๊องน่ะ เหมือนซีนหนัง ที่ตัวละครทำหน้าเบ๊อะ ๆ อยู่บนรถไฟ กินข้าว ทุกอย่างยังไม่ประมวลผล ยังไม่ย่อย รู้สึกงง

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

พอถึงตอนนี้ เราต้องยอมรับว่า มันส่งผลกับ Division (การแบ่งแยก) จริง มันจะมีคนให้ความสนใจเพราะซีไรต์ อยากจะอ่าน สำหรับเราดีใจมาก เราเขียนมันออกมาแล้วก็อยากให้มีคนอ่านเยอะ ๆ พอมีคนสนใจมากขึ้น อยากอ่าน เราก็ดีใจ

รู้สึกว่า Self esteem (ความภูมิใจในตัวเอง) มันฟูขึ้นมา มีหลักให้ยึดว่าฉันทำสิ่งนี้ได้ ความมั่นใจในการส่งตัวอักษรลงไปบนหน้ากระดาษแต่ละตัวมันมาด้วยความมั่นใจมากขึ้น กล้าที่จะเขียนงานมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาคือ การเขียนงานต่อไป การได้ซีไรต์เล่มนี้แล้วไม่ได้หมายความว่า จบแล้ว เราก็ต้องเขียนงานต่อไป

สิ่งที่มีความหมายสำหรับเรามากกว่าซีไรต์คือ การที่มีคนในชีวิตยินดีกับเราอย่างจริงใจ ดีใจกับเรา มันยืนยันได้ว่า เรามีชีวิตที่ดี สิ่งนี้มีความหมายกับเรามากกว่าซีไรต์หลายเท่า

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’ Cr. Kanok Shokjaratkul

ด้วยรักและผุพัง Center (จุดศูนย์กลาง) ของมันคือ ครอบครัว ความสัมพันธ์ สิ่งที่กระทำต่อเรา Base (พื้นฐาน) มันคือความรัก พอความรักมันล้นหรือมันมากเกิน มันนำมาซึ่งบาดแผล พอรู้แล้วเราจะจัดการกับตัวเองและคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวยังไง ให้ความรักมันไม่ทำร้ายกัน

เรารักพ่อแม่เรามาก แต่ถ้าอยู่ด้วยกันมาก ๆ ก็ประสาทจะกินเหมือนกัน คนที่เรารักมากคือแม่ แต่บางทีแม่ก็พูดอะไรที่จี๊ดขึ้นหัวเหมือนกันนะ เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกใจสิ่งที่พ่อแม่เราทำได้ เพราะสุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

เราไม่มีทางที่จะรับทุกเรื่องของทุกคนได้ เพราะว่าขนาดเรายังไม่ได้รักตัวเราเองร้อยเปอร์เซนต์ในทุกโมงยามเลย ก็ไม่เป็นไรหรอกนะถ้าเราจะไม่ชอบกันบ้าง ไม่ถูกใจกันบ้าง ถ้าเรายังยืนพื้นกันอยู่ด้วยความรักกัน เราจะอยู่ด้วยกันได้

แล้วในชีวิตที่สั้นบ้างยาวบ้างของมนุษย์ จริง ๆ แล้วเราอาจจะทำร้ายคนที่เรารักมากกว่าคนที่เราเกลียดก็ได้ ตลอดชีวิตของเรา

ด้วยรักและผุพัง มันอาจจะทำให้เราร้าวรานเจ็บปวด แต่มันจะเยียวยาคุณ การที่มีใครเจ็บปวดด้วยเรื่องเดียวกัน หรือเจ็บปวดไปพร้อมกัน ก็ดีกว่าเราเจ็บปวดอยู่คนเดียว หนังสือเล่มนี้มันจะเป็นสิ่งนั้นให้คุณ"

‘นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์’ สิ่งที่สำคัญมากกว่ารางวัล ‘ซีไรต์’ Cr. Kanok Shokjaratkul

กับการได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมงานไทเปบุ๊คแฟร์รู้สึกอย่างไร ?

"ทั่วโลกเป็นยังไงไม่รู้ แต่อย่างน้อย ไทเป ไต้หวัน พร้อมที่จะเปิดรับงานของไทย มันก็มีความเป็นไปได้ที่งานไทยทุกอย่างจะไปถึงฝั่งนั้นได้ เราอาจต้องการลงแรงอีกสักนิดหนึ่ง ถ้ามันถูกผลักดัน งานไทยก็ไปไต้หวันได้ เพราะเขายอมรับแล้ว เราเป็นนักเขียน ก็อยากให้งานของเราเผยแพร่ไปไกล"

กับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ของภาครัฐที่กำลังทำ ?

ผมรู้สึกว่ามันต้องการแรงดันมากจากฝั่งนี้ แล้วถ้ามันเป็นงานที่ได้ซีไรต์ มันก็ควรได้รับแรงดันที่มากกว่านี้ เพราะการมีรางวัลประดับมันก็ง่ายประมาณหนึ่งแล้วนะ

ถ้าภาครัฐตั้งใจจะมีซอฟต์พาวเวอร์หนังสือ ก็น่าจะใส่แรงลงไป ถ้ามันมีแรงส่งมาจากฝั่งนั้นมาถึงผมได้ ก็จะรู้สึกว่า ก็ดีนะ"