นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น

นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น

ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านวาระหนึ่ง เมื่อเดือนธ.ค. 66 นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดว่า ปี 67 น่าจะผ่านฉลุย ส่วนร่างกฎหมาย เพื่อสิทธิความเท่าเทียม ยังต้องลุ้น...

กว่า 20 ปีในการต่อสู้ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ(LGBTQ) เพื่อนำร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย แม้ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่มีความเป็นไปได้ รวมทั้งการผลักดันร่างพ.ร.บ.อีก 3 ฉบับ เพื่อให้มนุษย์ไม่ว่าเพศไหน มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันตามหลักสิทธิมนุษยชน

และที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่ม LGBTQ ไม่เห็นด้วยกับ ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต แม้จะรับรองสิทธิบุคคลเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ แต่สิทธิหลายอย่างไม่เทียบเท่าการสมรสแบบชาย-หญิง ยกตัวอย่าง เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล สิทธิในมรดก เป็นต้น

"เมื่อก่อน คนในสังคมบอกว่า ผู้หญิงผู้ชายมีไว้สืบพันธุ์ ส่วนความรักของ LGBTQ ไม่มีอยู่จริง นี่คือการยอมรับแบบมีเงื่อนไข นอกจากนี้มีการจำกัดพื้นที่ คนกลุ่มนี้ทำได้แค่อาชีพพนักงานบริการ ช่างแต่งหน้า ตัวตลก ถ้าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครูบาอาจารย์ ต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นคนดี" 

กิตตินันท์ ธรมธัช หรือแดนนี่ นักกฎหมายและทนายความ หนึ่งในคณะกรรมการไทยแลนด์ไพรด์(Thailand Pride) นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เล่าถึง ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQ เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว และสิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยจางหายไปจากสังคม แต่มีความเข้าใจมากขึ้น

โดยล่าสุดร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านสภาผู้แทนราษฎร วาระแรกไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 และปี 2567 เตรียมพิจารณาในวาระต่อไป

 

ปี 2567 สมรสเท่าเทียม น่าจะผ่านฉลุย

แม้ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ร่าง (ฉบับรัฐบาล ฉบับก้าวไกล ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ และฉบับภาคประชาชน )จะมีความแตกต่างในบางประเด็น แต่รายละเอียดโดยรวมไม่ต่างจากกฎหมายคู่สมรสหญิงและชาย

ส่วนร่างพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฎิบัติ,ร่างพ.ร.บ.Sex Worker และร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ GEN-ACT (เมื่ออายุ 15 ปีสามารถรับรองอัตลักษณ์ทางเพศได้เอง) คาดว่ายังรอการพิจารณาอีกยาวไกล

แดนนี่ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ผลักดันเป็นกฎหมายในสภาฯ เรื่องที่ไม่ห่วงตอนนี้คือ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 

"ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เร็วสุดร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม น่าจะผ่านเดือนมิถุนายน ปี 67 ช้าสุดน่าจะเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาอย่างเร็วเพราะนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ให้การสนับสนุน"

นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น

นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น กิตตินันท์ ธรมธัช หรือแดนนี่ นักกฎหมายและทนายความ หนึ่งในคณะกรรมการไทยแลนด์ไพรด์(Thailand Pride) 

ดูเหมือนเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ แดนนี่ บอกว่า ปี 67 กลุ่ม LGBTQ หลายจังหวัดเตรียมตัดชุดแต่งงานกันแล้ว

"ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านออกมาใช้ ใครๆ ก็อยากเป็นคู่แรกที่แต่งงาน กลุ่มหลากหลายทางเพศในหลายจังหวัดเตรียมจ่อคิวรอตามถ้าพูดถึงสถิติ ปี2566 ประเทศในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีทั้งหมด 34 ประเทศ บางประเทศมีกฎหมายคู่ชีวิตด้วย  

ในอังกฤษและฝรั่งเศส ใช้ทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมและกฎหมายคู่ชีวิต ชายหญิงรักต่างเพศชาวฝรั่งเศสหลายคู่ นิยมจดทะเบียนแบบคู่ชีวิต เพราะไม่อยากผูกมัดกันมาก"

ในฐานะนักเคลื่อนไหว LGBTQ และนักกฎหมาย แดนนี่ ยกตัวอย่างตัวเขาเป็นข้าราชการ มีแฟนเป็นผู้ชาย ถ้ากฎหมายผ่าน ต่อไปเขาก็ใช้สิทธิเบิกจ่ายตามระบบราชการเหมือนคู่สมรสชายหญิงได้ 

"หลักการง่ายๆ ตามกฎหมาย แค่เอาคำว่า "บุคคล" แทนคำว่า "ชายและหญิงในกฎหมาย" และคำว่า "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภรรยา" นอกนั้นทุกอย่างเหมือนกันหมด”

นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น

ร่างพ.ร.บ. อื่นๆ เพื่อความเท่าเทียม

ส่วนร่างพ.ร.บ.การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ก็มีรายละเอียดที่ต้องผลักดันเป็นกฎหมาย แดนนี่ ยกตัวอย่าง เพศสภาพที่เลือกได้ เมื่อใช้คำนำหน้าใหม่ นาย หรือนางสาว แล้วมีสิทธิหน้าที่ตามเพศสภาพ  

"ถ้ากฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศสภาพผ่าน คนกลุ่มนี้ก็จะได้สิทธิและหน้าที่ตามเพศที่เปลี่ยนไป แต่ห้ามผ่าตัดเลือกเพศให้เด็ก นั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อยู่ที่เจตจำนง ยกตัวอย่างเมื่อเปลี่ยนเพศจากผู้ชายเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

ที่ผ่านมามีปัญหาการเลือกปฎิบัติ ทั้งเรื่องการสมัครงาน การแต่งกายตามเพศสภาพไม่ได้ รูปติดหนังสือเดินทาง การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ฯลฯ

การเดินทางไปต่างประเทศ ก็ถูกเลือกปฎิบัติตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะคำนำหน้าไม่ตรงกับเพศสภาพที่เป็น กฎหมายไม่รับรองเพศสภาพ จึงมีปัญหา "

ร่างพ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฎิบัติระหว่างบุคคล

การทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศมานานกว่า 25 ปี แดนนี่มองว่ารากเหง้าของปัญหามีเรื่องเดียว คนมองพวกเขาว่า วิปริตผิดเพศ ไม่ใช่มนุษย์

"การยอมรับมีสองอย่างคือ มองว่าไม่ได้วิปริตผิดเพศ และไม่มีเงื่อนไข แต่ส่วนใหญ่มองอย่างมีเงื่อนไข ถ้าเป็นเกย์ต้องเป็นคนดี เรียนหนังสือเก่ง"

และบางทีคนๆ หนึ่ง มีความเปราะบางมากกว่าหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ เป็นทั้งกะเทย ผู้สูงอายุ คนพิการ มีเชื้อเอชไอวี ความเป็นจริงแบบนี้มีอยู่ในโลก จึงถูกเลือกปฎิบัติด้วยเหตุผลแบบนี้"

นักเคลื่อนไหว LGBTQ คาดปี 67 สมรสเท่าเทียมผ่านฉลุย ส่วนร่างก.ม.อื่น รอลุ้น

ร่างพ.ร.บ.Sex Worker 

ร่างพ.ร.บ. Sex Worker สำหรับคนที่ทำงานให้บริการทางเพศ เพื่อทำเป็นอาชีพโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

สำหรับแดนนี่ มองว่า อาชีพขายบริการทางเพศเป็นอาชีพหนึ่ง ถ้ามีการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี 2539 ให้กลับเป็นอาชีพโดยสุจริต 

“เรื่องนี้ถกเถียงกันเยอะ นายกรัฐมนตรีก็มองว่า เป็นธุรกิจสีเทาและมีหลายอย่างสุ่มเสี่ยง จึงเกิดความกังวล ซึ่งเรื่องนี้พรรคก้าวไกล ก็มีส่วนในการขับเคลื่อน ส่วนแกนนำหลักต้องยกให้มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) "

ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(กระทรวงพม.) มีแนวโน้มไม่ต้องการตีทะเบียน แต่เป็นการคุ้มครอง

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กฎหมายเรื่องนี้มีความสุ่มเสี่ยง มีแรงต้านจากสังคมเยอะ ส่วนตัวมองว่าเป็นอาชีพสุจริต ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการที่คุ้มครองดูแล

"แม้ร่างพ.ร.บ.เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แต่แกนนำเป็นคนหลากหลายเพศ และมีมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING)ร่วมด้วย จึงไม่ใช่ประเด็นเฉพาะ LGBTQ แต่เป็นประเด็นชายหญิงทั่วไป"