‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

นอกจาก “YSL” จะเป็นแบรนด์หรูที่โด่งดังจากความแปลกใหม่ล้ำสมัยแล้ว ผู้ก่อตั้งอย่าง “Yves Saint Laurent” ก็มักแสดงออกเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมผ่านงานดีไซน์ของเขาเสมอ รวมถึงมีส่วนผลักดันสิทธิ LGBTQ+ อีกด้วย

Key Points:

  • “YSL” แบรนด์ระดับไฮเอนด์ที่เกิดจาก “Yves Saint Laurent” ดีไซเนอร์ดาวรุ่งมากความสามารถแห่งยุค 60 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงแฟชั่นได้อย่างน่าทึ่ง
  • ผลงานที่โด่งดังของ YSL คือการนำเสื้อผ้าของผู้ชายมาดัดแปลงให้ผู้หญิงใส่ได้ โดยเฉพาะชุด “Le Smoking” สูทกางเกงสำหรับผู้หญิงอันเลื่องชื่อ และทำให้ผู้หญิงเริ่มหันมาใส่กางเกงในชีวิตประจำวันมากขึ้น
  • ไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าเท่านั้น แต่โลรองต์ และอดีตคนรักของเขา ปิแอร์ แบร์เช ยังร่วมกันผลักดันสิทธิและความเท่าเทียมของ “LGBTQ+” ไปจนถึงส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์

Yves Saint Laurent” หรือ “YSL”เป็นแบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ (High-End) จากฝรั่งเศสที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย หลากหลาย มีการตลาดที่ดี โดยเฉพาะการดึงเซเลบริตี้ชื่อดังมากมายมาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปทั่วโลก

นอกจากความปังของสินค้าหรู ประวัติความเป็นมาของแบรนด์ก็ไม่ธรรมดา เพราะกว่าจะมาเป็น “YSL” อันโด่งดังได้ ตัวของ Yves Saint Laurent ผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะแห่งวงการแฟชั่น ก็ต้องฝ่าฟันมรสุมใหญ่มากมาย ทั้งโรคซึมเศร้า ยาเสพติด และการที่เขาเป็น “LGBTQ+

  • “Yves Saint Laurent” เด็กหนุ่มที่เข้ามาปฏิวัติโลกของ “แฟชั่น”

คำว่า “Yves Saint Laurent” มาจาก อีฟส์ มาติเออร์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Mathieu Saint Laurent) ชื่อของเด็กหนุ่มสัญชาติแอลจีเรีย-ฝรั่งเศส วัย 18 ปี ที่เข้าสู่วงการแฟชั่นจากเวทีการประกวด The International Wool Secretariat (IWS) และได้รับรางวัลการออกแบบสาขาเสื้อผ้าสตรียอดเยี่ยม

ความโดดเด่นจากผลงานของโลรองต์ในครั้งนั้น ก็ได้ไปเข้าตา คริสติยอง ดิออร์ (Christian Dior) ดีไซเนอร์ชื่อดังแห่งยุค และโลรองต์ก็ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของดิออร์ หลังจากนั้นไม่นานจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของโลรองต์ก็มาถึง เมื่อดิออร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 1957 ทำให้โลรองต์ก้าวขึ้นเป็นนักออกแบบหลักของดิออร์ในขณะที่มีอายุเพียง 21 ปี

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ในปี 1957 (Medium)

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

คริสติยอง ดิออร์ และ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Musee YSL Paris)

การทำงานภายใต้แบรนด์ดิออร์ของโลรองต์เป็นไปได้ด้วยดี ต่อมาในงานแฟชั่นโชว์ปี 1958 เขาได้พบกับ ปิแอร์ แบร์เช (Pierre Bergé) นักธุรกิจหนุ่มชาวฝรั่งเศสและพัฒนาความสัมพันธ์ไปในระดับคนรักที่คอยช่วยเหลือกันในหลายเรื่อง

แม้ว่าผลงานของโลรองต์ภายใต้ชายคา “ดิออร์” จะได้รับการยอมรับในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นเขาก็ต้องเผชิญกับขาลง บางคอลเลกชันถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอย่างกว้างขวาง รวมถึงความกดดันในการแข่งขันอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมแฟชั่น ประกอบกับโลรองต์ถูกทางการเรียกตัวไปเกณฑ์ทหารช่วงสงครามแอลจีเรีย ทำให้ดิออร์ใช้โอกาสนี้หาคนมาทำงานแทนเขา

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้โลรองต์รู้สึกแตกสลายเป็นอย่างมากจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจิตเวช (สื่อนอกบางสำนักอ้างว่าเขาได้รับการรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า ร่วมกับการใช้ยากล่อมประสาท)

แต่ในยามวิกฤติโลรองต์ก็ยังมีแบร์เชอยู่เคียงข้าง หลังจากเขาออกจากโรงพยาบาล พวกเขาก็ร่วมกันเปิดตัวแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาในชื่อ “YSL” ที่ย่อมาจากชื่อของโลรองต์ และมีโลโก้แบรนด์ที่โดดเด่นด้วยการนำตัวหนังสือมาเรียงเป็นแนวตั้ง ในปี 1961

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+ โลโก้ดั้งเดิมของ YSL (Medium)

กระแสตอบรับการเปิดตัวคอลเลกชันแรกของ “YSL” ในปี 1962 แม้จะอยู่ในระดับปานกลางไม่หวือหวามากนัก แต่หลังจากนั้นไม่นานโลรองต์ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของแฟชั่นด้วยไอเดียที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ชุดโมนดรียาน (Mondriaan) และ แจ็กเกตซาฟารี (Saharienne) ในปี 1965 ที่นำเสนอภาพลักษณ์เรียบหรูของผู้หญิงสมัยใหม่ แต่สิ่งที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ การทำลายกรอบทางเพศที่ถูกจำกัดด้วยเครื่องแต่งกาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับผู้หญิงในยุคนั้น

  • “YSL” ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม และสิทธิทางเพศ

ชุดที่สร้างความฮือฮาที่สุดของ “YSL” ก็คือ “Le Smoking” หรือ เลอ สโมกิง ในปี 1966 เป็นการนำชุดทักซิโด้ของผู้ชายมาดัดแปลงให้เป็นสูทแบบกางเกงสำหรับผู้หญิง (Pants Suit) ที่ถือว่าเป็นขบถต่อขนบแนวคิดเรื่องเพศในวงการแฟชั่น ก่อนจะมีคอลเลกชันในลักษณะเดียวกันตามออกมาอีกมากมาย

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

ภาพชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงในยุคแรกของ YSL (VOGUE)

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมในยุคนั้นจะมองว่าผู้หญิงควรสวมกางเกงออกจากบ้าน เพราะถือว่าเป็นการแต่งกายที่ไม่สุภาพ และเกิดเป็นกระแสตีกลับ สถานที่ทำงานหลายแห่งถึงกับออกกฎระเบียบว่า “ห้ามผู้หญิงใส่กางเกงมาทำงาน” ลามไปถึงภัตตาคารและโรงแรมหรูหลายแห่งในนิวยอร์กก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงที่สวมกางเกงเข้ามาใช้บริการ (แม้จะเป็นกางเกงขายาว)

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

ภาพ Le Smoking ที่ถูกถ่ายโดยช่างภาพของ VOGUE ฝรั่งเศส (VOGUE)

YSL ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นยังออกคอลเลกชันเสื้อผ้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผู้หญิงขายบริการ และแจ็กเกตหนังที่ผู้ชายใช้สวมเวลาขี่มอเตอร์ไซค์ ที่ค่อยๆ ปลดล็อกความหลากหลายในการแต่งตัวของผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้หญิงมองเห็นสิทธิของตัวเองมากขึ้น เสื้อผ้าของโลรองต์จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้มีรองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ค่อยๆ ทยอยเปิดตัวตามมา

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

คอลเลกชัน โมนดรียาน ในปี 1966 (Show Studio)

นอกจากการปฏิวัติเสื้อผ้าผู้หญิงได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งประเด็นที่ โลรองต์ กับ แบร์เช ผลักดันก็คือ สิทธิเกย์ หรือ Gay Rights (ในยุคนั้นยังไม่ใช้คำว่า LGBTQ+) ด้วยการก่อตั้ง “Sidaction” องค์กรระดมทุนที่อุทิศให้กับการวิจัยและการรักษาโรคเอดส์ในปี 1994 โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เพราะพวกเขาเชื่อว่ายังมีคู่รักเพศเดียวกันอีกมากมายที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน และต้องการที่จะแต่งงานเช่นเดียวกับคู่รักชาย-หญิง

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ และ ปิแอร์ แบร์เช (The New York Times)

แม้ว่าโลรองต์จะเป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่นสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ และยืนอยู่บนยอดพีระมิดในอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความที่เขาทุ่มเทให้การทำงานแบบเกินร้อยทุกครั้ง นอกจากจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว “โรคซึมเศร้า” ที่เคยแอบซ่อนอยู่ในอดีตก็เริ่มกลับมาหลอกหลอน ทำให้ชีวิตของเขาเริ่มจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ และทำให้เขายอมแพ้ในอาชีพของตัวเองไปในที่สุด

  • แม้ยุคเรืองรองของ โลรองต์ จะหมดไป แต่ YSL อาจคงอยู่ตลอดไปในโลกแฟชั่น

เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1970 เริ่มมีผู้คนจากหลายแวดวงเข้าหาโลรองต์มากขึ้น (ภายหลังเขามองว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผลประโยชน์) หนึ่งในนั้นก็คือ ฌากส์ เดอ บาสแชร์ (Jacques de Bascher) ที่พาเขาเข้าสู่วังวนของยาเสพติด แอลกอฮอล์ ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้ามากมาย จนเกิดรอยบาดหมางในความสัมพันธ์กับแบร์เช และเลิกรากันไปในที่สุด แต่พวกเขายังคงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ต่อมาในปี 2017 มีหนังสือที่ชื่อว่า Saint Laurent et Moi - Une Histoire Intime ที่เขียนจากประสบการณ์ของคนใกล้ตัวโลรองต์ในช่วง ปี 1990-1992 โดยอ้างว่า บ่อยครั้งที่โลรองต์ตกอยู่ในสภาพเมายาเสพติด เมาเหล้า และมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง รวมถึงมีอาการซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัญหาในช่วงวัยรุ่นที่เคยพบเจอ และความเครียดในการทำงาน

ในที่สุดโลรองต์ก็ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากวงการแฟชั่นในปี 2002 เพื่อไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่คฤหาสน์ในปารีส ซึ่งเขาได้ขอขอบคุณทุกคนที่คอยอยู่เคียงข้างและสนับสนุนเขาเสมอมา และเขาจะไม่มีวันลืมใครไปแน่นอน ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสมองในปี 2008 ในวัย 71 ปี

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

แฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ปี 2002 (SCPM)

สุดท้ายนี้แม้ว่า “Yves Saint Laurent” หรือ “YSL” จะมีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2012 โดย เอดี สลิมาน (Hedi Slimane) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์ในตอนนั้น มาใช้ชื่อว่า “Saint Laurent Paris” ที่แม้ว่าจะถูกวิจารณ์แต่ก็ยังประสบความสำเร็จและยังคงอัตลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้

‘Yves Saint Laurent’ แบรนด์แห่งการปฏิวัติแฟชั่น และผลักดันสิทธิ LGBTQ+

หนึ่งในกระเป๋า YSL จากคอลเลกชัน Fall 2023 (YSL)

ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การบริหารของ ฟรานเชสกา เบลเลตตินี (Francesca Bellettini) และมี แอนโทนี วัคคาเรลโล (Anthony Vaccarello) เป็นดีไซเนอร์หัวเรือใหญ่ของแบรนด์ แต่ด้วยกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างมั่นคงสร้างรากฐานที่แข็งแรงมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งแบรนด์ ทำให้หลายคนยังมั่นใจว่า YSL จะยังเติบโตต่อไปในศตวรรษที่ 21 ด้วยความชัดเจนของภาพลักษณ์ที่โลรองต์สร้างสรรค์ไว้ เหมือนกับประโยคสุดคลาสสิกที่เขาเคยพูดไว้ว่า “Fashions fade. Style is eternal.”

อ้างอิงข้อมูล : BBC (1), BBC (2), VOGUE, Kering, Lovehappens, The Guardian (1)The Guardian (2)SCPMThe New York Times, Independent, Archive Avenue และ Medium