ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น 'ทวงคืนลมหายใจสะอาด'

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น 'ทวงคืนลมหายใจสะอาด'

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทุกวัยมานานหลายปี ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเดินหน้ารวมพลังสู้ฝุ่นอย่าง "เอาจริง" ก่อนที่ "ลมหายใจ" จะเข้าสู่วิกฤติ และรุนแรงไปมากกว่านี้

กว่า 20 ปี ที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาเรื่อง มลพิษทางอากาศ และทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตมหาศาล โดยเฉพาะความรุนแรงของ ฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพประชาชน ยิ่งสะท้อนปัญหาได้อย่างชัดเจน

หลายคนอาจยังไม่ตระหนักว่า เราทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจเอาอากาศดีๆ เข้าไป โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้รับรองว่า "การมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนเป็นสิทธิมนุษยชน" หากแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวอันน่าใจหาย เมื่อ "นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล" อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือเจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" ผู้เผชิญกับ โรคมะเร็งปอด และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 29 ปี หลังพยายามต่อสู้อย่างเข้มแข็งจนวินาทีสุดท้าย 

เรื่องราวของ หมอกฤตไท ไม่เพียงแค่ความสูญเสียบุคลากรคุณภาพก่อนวัยอันควร หากแต่ยังเป็นการตอกย้ำสถานการณ์วิกฤติที่เราคนไทยทุกคนกำลังเผชิญเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเฉลี่ยกว่า 7 ล้านคนต่อปี

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น \'ทวงคืนลมหายใจสะอาด\'

เปลี่ยนความสูญเสีย เป็นพลัง

วันนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สังคมไทยควรสร้างกระแสความตระหนักรู้เรื่อง "ปัญหาฝุ่น" และมีส่วนรับผิดชอบปัญหาด้วยกัน โดยเป็นครั้งแรกที่หลากหลายหน่วยงานจากทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กร ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือภาคประชาสังคม ที่ตระหนักถึงปัญหา ฝุ่น PM 2.5 นำโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ร่วมกันผลักดันงานต้านฝุ่นระดับชาติ ผ่านการประชุมระดับชาติเรื่อง มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม" จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็นการปักหมุดหน้าประวัติศาสตร์ด้านสุขภาพของไทยครั้งสำคัญกับการเดินหน้าลุยปัญหาฝุ่นอย่าง "เอาจริง"

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น \'ทวงคืนลมหายใจสะอาด\'

ผลักดันร่าง พ.ร.บ. สู้ฝุ่น

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ที่ทุกคนเรียกขานว่า "พ.ร.บ.อากาศสะอาด" นี้ มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ และบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง เผาป่า เผาในพื้นที่เกษตรกรรม ก่อสร้าง และหมอกควันข้ามแดน ตลอดจนมีเครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมครั้งนี้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการวางแผนรับมือ ป้องกันและแก้ไขวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" และ "มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ประจำปี 2567" และเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือบอร์ดฝุ่นชาติ เพื่อเป็นกลไกเร่งรัดจัดทำแผนและดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ และบูรณาการหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ ปัญหาหมอกควัน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น \'ทวงคืนลมหายใจสะอาด\'

ก่อน "ลมหายใจ" เข้าสู่วิกฤติ

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เชียงใหม่และภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว และช่วงที่ประสบปัญหาก็ยาวนานขึ้นจาก 2-3 เดือน ขยายเป็น 4 เดือน และส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม สำหรับในการประชุมวิชาการฯ ระดับชาติ ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวของความร่วมมือแก้ปัญหาที่ทำให้คนในภาคเหนือ 17 จังหวัดและภูมิภาคอื่นได้มาร่วมกันคิดทำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นำไปแก้ไขระดับพื้นที่

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น \'ทวงคืนลมหายใจสะอาด\'

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 พบว่า เฉพาะปีนี้ ทั้ง 13 เขตสุขภาพคนป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากกว่า 9 ล้านคน โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่อง "ลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม" เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยพลังปัญญา สังคม และนโยบาย ผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ จัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) เพื่อสนับสนุนงานวิชาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ 9 จังหวัด สานพลังความร่วมมือ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม

พญ.นงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกระบุชัดว่า PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก โดยยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็ง และเป็น 1 ใน 5 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค NCDs ผู้ป่วยหลายโรคที่อยู่ในสภาพแวดล้อม PM 2.5 มีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูง สำคัญมีคนเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับข้อง PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วปีละ 7 ล้านคน

ผนึกพลังไทย เดินหน้าสู้ฝุ่น \'ทวงคืนลมหายใจสะอาด\'

ฝุ่นจางๆ หรือควัน?

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวในปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อากาศสะอาด ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม" ว่า ในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่นในประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ได้มีการแยกแยะคือ PM 10 หรือ PM 2.5 ในช่วงต้น กว่าจะรู้จักฝุ่น PM 2.5 ก็หลายปีผ่านมา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด กระทั่งวันนี้หลายคนยังคงมองว่าปัญหาเรื่อง PM 2.5 เป็นเรื่อง "เล็ก" จนมองไม่เห็น พอๆ กับขนาดของฝุ่นเอง ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นใหญ่หลวงเกินกว่าระดับประเทศ แต่ขยายสู่ระดับภูมิภาคไปแล้ว

"การจัดการกับปัญหาที่มีขนาดใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้การสื่อสารจึงสำคัญมาก ที่ผ่านมาแม้มีการเชิญมาประชุมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่พบว่าทุกหน่วยมีเป้าหมาย พยายามตั้งค่าชี้วัดการทำงานที่ไม่เหมือนกัน หรือบางเรื่องไม่ทำร่วมกัน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ยิ่งทำให้ปัญหาฝุ่นนั้นไม่เคยสลายหายไปเสียที"

ปลาตัวใหญ่ที่แท้จริงของ PM 2.5

หากไม่นับรวมภาคขนส่งคมนาคม อีกแหล่งผลิต ฝุ่น PM 2.5 สำคัญที่มาจากควันไอเสียรถ เช่น จากรถบรรทุกที่อายุเกิน 20 ปี ที่มีอยู่สี่แสนคัน หรือคิดเป็น 34% ของรถบรรทุกในปัจจุบัน และเมื่อพิจารณาสัดส่วนการเกิดพื้นที่เผาไหม้รายภาค จะเห็นว่า "ภาคเหนือ" มีสัดส่วนก่อฝุ่นควันเกินครึ่งกว่า 60% ด้วยปัญหาการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนมีถึง 44% ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสีเขียวเป็นหลัก ที่ลดหลั่นมาคือ การเผาเพื่อการเกษตร ที่มีมากในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประกอบอาชีพปลูกข้าวและอ้อย เป็นหลัก

หากดูจากดาวเทียมย้อนหลังจะพบพื้นที่เผาประจำคือภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยเฉพาะบริเวณตะเข็บชายแดนไทย วีระศักดิ์มองว่า การแก้ปัญหาที่เป็นสเกลเล็กไม่อาจช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ แต่ "การสื่อสาร" มีความสำคัญยิ่งไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่มวลชน การสื่อสารกับผู้เผา ซึ่งควรเป็นภาษาที่สื่อสารกับเขาเข้าใจ เช่น ภาษาถิ่นของเขา ไปจนถึงการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันของคนทำงาน โดยสื่อสารถึงกันสม่ำเสมอ เพื่อให้มีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ไม่สู้กับฝุ่น แต่สู้กับคนก่อฝุ่น

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวในเสวนาฝ่าฝุ่นควัน EP.1 "การบริหารจัดการอากาศสะอาดอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน" โดยเชื่อว่า ถ้าร่วมกัน เราทำได้ กรมควบคุมมลพิษไม่ได้สู่กับฝุ่น แต่เราสู้กับกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น มาตรการที่เกิดขึ้นไปสู่ผู้ที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือแหล่งกำเนิดฝุ่น ซึ่งล้วนเป็นฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น ทุกคนต้องยอมเปลี่ยนหรือมีส่วนร่วมในการปรับตัว เกี่ยวกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นและร่วมกันจัดการ ตามบริบทที่เหมาะสม

สกัด 11 ข้อเสนอยื่นรัฐบาล

ท้ายสุดจากที่ประชุมระดับชาติเรื่อง "มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ครั้งที่ 1" ได้ร่วมกันสกัดข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 11 ข้อ ที่จะถูกส่งต่อไปยังภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น ปกป้องสุขภาพของประชาชนและผู้มาเยือนอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย PPP (Polluter Pays Principle) มากำหนดความรับผิดชอบต่อผู้ก่อปัญหาและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย
  2. คุ้มครอง ส่งเสริมชุมชนจัดการทรัพยากร และกำหนดมาตรการที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรัฐในการจัดการ บำรุง รักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
  3. ส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา R&D เทคโนโลยีด้านการเตือนภัย
  4. จัดทำฐานข้อมูลโดยการมส่วนร่วมให้เป็นปัจจุบัน จำแนกให้เป็นไปตามประเภทของปัญหา การเปิดเผย และเข้าถึงฐานข้อมูลอย่างทั่วถึง
  5. ปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ก่อมลพิษสู่การเกษตรที่ยั่งยืน
  6. สร้างข้อตกลง กลไกกำกับร่วมในระดับอาเซียน
  7. สร้างระบบธรรมาภิบาลกำกับการลงทุนของเอกชนข้ามพรมแดน
  8. สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล
  9. ติดตาม ตรวจสอบที่มา ความร้ายแรงและผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นของภาคอุตสาหกรรม
  10. เน้นการจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยหลักสหวิทยาการ (Transdisciplinary)
  11. เร่งรัดออกกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) และสิทธิจัดการทรัพยากรของชุมชน

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวทิ้งท้ายว่า การ แก้ปัญหาฝุ่น ไม่สามารถรอการแก้ปัญหาจากภาครัฐเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ เอกชน ประชาสังคม มีการประสานเชื่อมโยงให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ เพื่อคลี่คลายข้อจำกัดในการทำงาน สนับสนุนนโยบายแก้ปัญหา และร่วมผลักดันกฎหมายบริหารในภาพรวม