มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป

หลายคนพูดถึงอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและเอไอ แต่ยังมีอาชีพที่ขาดแคลนและต้องเร่งผลิตป้อนให้สังคม อีกเรื่องเล่าจากผู้บริหาร'มูลนิธิเอสซีจี'

อาชีพมาแรงที่ใครๆ ต้องพูดถึง คงเป็นอาชีพด้านไอทีและดิจิทัล อาทิ นักพัฒนาซอฟต์แวร์, ผู้ดูแลระบบ, เว็บดีไซเนอร์, นักพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์,วิศวกรรมซอฟต์แวร์, วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ฯลฯ

ส่วนอาชีพที่ขาดแคลนและจำเป็น เป็นอีกเรื่องที่น่าจะมีการกล่าวถึงมากกว่านี้ บางอาชีพไม่ได้ใช้ทักษะซับซ้อน แต่ต้องมีความละเอียดและความอดทน  อาทิ อาชีพนักบริบาลชุมชน ผู้ดูแลผู้สูงวัย ช่างอเนกประสงค์ ผู้ช่วยพยาบาล  ฯลฯ และบางอาชีพต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง อาทิ นักระบาดวิทยา 

เหล่านี้คือ ที่มาของการให้ทุนการศึกษา Sharing the Dream เพื่อช่วยสร้างอาชีพ หนึ่งในโครงการ มูลนิธิเอสซีจี ที่ดำเนินมานานกว่าสี่ทศวรรษ

 

 

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้ แต่เป็นอาชีพที่จำเป็นสำหรับคนในสังคม   หนึ่งในทุนการศึกษาของมูลนิธิเอสซีจี 

"เราอยากมีส่วนเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset)คนในสังคม ยกตัวอย่างในอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีกลุ่มผู้หญิงทำงานกลางคืน เชียร์เบียร์ และทำร้านอาหาร เราร่วมกับองค์กรที่ถนัดด้านนี้สอนเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยติดเตียง อบรมระยะสั้น 6 เดือน ทำเหมือนธุรกิจเพื่อสังคม 

บางทีเราก็ให้ทุนการศึกษาผลิตช่างที่ตลาดขาดแคลน อย่าง ช่างโซล่าเซลล์ ช่างรถอีวี ช่างซ่อมแบตเตอรี่ เพราะมีรถไฟฟ้าเข้ามาขายในเมืองไทยเยอะ และยังไม่มีช่างที่เชี่ยวชาญด้านนี้

หรือช่างอเนกประสงค์ เมื่อคอนโดสร้างมาเยอะ เวลาน้ำประปา ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศมีปัญหา คิวช่างยาวมากๆ ” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี เล่าในวันที่ลงชุมชน จ.ขอนแก่น

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป ฝีมือคนไทยไม่แพ้ใครในโลก สายอาชีวะยังเป็นอาชีพที่คนต้องการ

อาชีพแบบไหนที่สังคมต้องการ

ย้อนไปช่วงโควิดระบาดหนัก คนทั้งโลกไม่อาจรู้ได้ว่า จะจบอย่างไร และใช่ว่าโรคระบาดจะหยุดแค่นี้ เรื่องนี้สุวิมล ยกตัวอย่างเรื่องการระบาดของโรคว่า หากคนใต้ที่ออกไปตัดยางเป็นโรคเท้าช้าง แล้วไปอยู่ทางภาคเหนือ ก็จะนำโรคระบาดแพร่ไปในแหล่งที่ไม่เคยเกิดได้ ถ้ามีนักระบาดวิทยาทำงานป้องกันโรคแต่ละเขต ตรวจก่อนย้ายคนต่างถิ่นเข้ามา ก็จะป้องกันได้ 

"แม้จะมีกลุ่มแพทย์พยาบาลที่ทำงานด้านสาธารณสุข แต่บางคนไม่มีองค์ความรู้เรื่องระบาดวิทยา เมื่อมีการเปิดปริญญาโทหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เราร่วมกับมูลนิธิป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง คัดคนที่มีความตั้งใจมาเรียนปีละ 10 คน เพื่อตอบโจทย์เรื่องนี้"

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป นักจัดดอกไม้ อีกอาชีพ ขึ้นอยู่กับฝีมือและการออกแบบ ถ้าทำได้ดีรายได้หลักล้าน

สังคมเปลี่ยน วิธีให้ทุนต้องเปลี่ยน

ถ้ามองบริบทโลกที่เปลี่ยนไป การให้ทุนในสังคมไทยอาจต้องเปลี่ยนบ้าง ไม่ควรจำกัดแค่ทุนเรียนดี ฐานะยากจน เพราะยังมีเยาวชนอีกมากมายความประพฤติดี เรียนไม่เก่ง แต่ฐานะยากจน

พวกเขาควรมีโอกาสได้รับทุน หากมีศักยภาพบนเส้นทางอาชีพนั้นๆ เนื่องจากทุนมีทั้งระยะสั้น ทุนสายอาชีวะ และทุนอาชีพระดับปริญญา 

สุวิมล เล่าถึงการเรียนรู้ระยะสั้นว่า อาสาสมัครในโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ในเครือเรา เคยสอนขับรถให้คนตกงานฟรีในช่วงโควิด 

"คนกลุ่มนี้เมื่อขับรถเป็น ก็ไปขับรถขนส่งสาธารณะ ขับรถส่งของ ไปสมัครงานที่ไหนก็ได้ หรืออาชีพผู้จัดการฟาร์ม หลักสูตรการดูแลที่ดินให้กลุ่มทุน บริหารจัดการพื้นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อาชีพกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการ ใครๆ ก็อยากจ้าง เราร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรในจังหวัดบุรีรัมย์ และคูโบต้าทำหลักสูตรเรื่องนี้

ในสังคมไทยมีคนเก่งๆ สายอาชีพเยอะ แต่ไม่มีคนเชื่อมต่อ อย่างอาชีพผู้จัดการฟาร์มเรื่องนี้น่าสนใจ ส่วนสายอาชีวะ คนก็จะมองว่าต้องไปเป็นลูกน้องคนจบปริญญาตรี จริงๆ แล้วคนที่เรียนวิศวะ เวลามีเครื่องจักรเสีย ก็ซ่อมไม่ได้ สายอาชีวะทำได้ แต่ขาดการยอมรับจากสังคม ทั้งๆ ที่ฝีมือเด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก แข่งขันก็ได้เหรียญ"

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป ในครัวไม่ได้มีแค่เชฟ การเรียนรู้เรื่องอาหารไม่มีวันจบสิ้น

ไม่เว้นแม้กระทั่งอาชีพนักจัดดอกไม้ บางคนมีศักยภาพสูง สามารถสร้างรายได้เดือนหนึ่งหลักล้าน  

"โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทุนที่ให้ต้องหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ทุนต้นกล้าชุมชน ทุนด้านศิลปะ ทุนอีสปอร์ตสำหรับเด็กเล่นเกมเป็นอาชีพก็ทำ ทุนช่างที่ตลาดขาดแคลน"

หากถามว่า ทุนที่ให้ไป มีการวัดผลมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารมูลนิธิฯบอกว่า ส่วนใหญ่คนเรียนด้านนี้มีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ แบบนี้เรียกว่าสูญเปล่าไหม...

"ตอนนี้เรื่องผู้สูงอายุมาแน่ๆ คนทำงานด้านสาธารณสุข คนดูแลผู้สูงอายุ นักกายภาพ เป็นที่ต้องการ คนทำงานเพื่อสังคมต้องเปลี่ยนมายเซ็ทไม่ใช่ว่าทำไปเถอะทำความดีทุกวัน เมื่อเราทำแล้ว ต้องเห็นผล

กรณีผู้สูงอายุ เราไปดูเรื่องนักบริบาลชุมชน ผู้หญิงวัย 40 -50 ปียังมีแรงดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เราทำงานร่วมกับมูลนิธิแพทย์ชนบท ประสานกับวิทยาลัยพยาบาลในพื้นที่และโรงพยาบาลเครือข่าย

และเคยร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ทำเรื่องหุ่นที่ใช้เรียนการปฐมพยาบาล ปั๊มหัวใจ เด็กที่เรียนนำทักษะกลับไปดูแลพ่อแม่และคนใกล้ตัวได้"

มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป อาชีพแบบนี้ผู้หญิงก็ทำได้  

ทุนไม่เงื่อนไขผูกพัน

เพราะระบบการศึกษาไม่ได้สร้างโอกาสให้เด็กได้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน จึงมีเด็กจบมัธยมปีที่ 6 จำนวนมากหลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่มีหนี้สิน ฐานะยากจนไม่มีเงินส่งลูกเรียน 

"ปัจจุบันจึงมีทุนสนับสนุนทั้งวิชาชีพและระดับปริญญาโท จากที่เคยให้ทุนเรียนปริญญาตรี 500 ทุน ก็เปลี่ยนเป็นทุนอาชีพระยะสั้นมากขึ้น  เราเปลี่ยนวิธีคิดในการให้ ไม่ได้ให้ทุนครั้งเดียว 100-200 ทุนแล้วจบ

อยากให้คนที่มาเรียน มีงานทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ปีๆ หนึ่งเรามีทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในสังคมเยอะมาก ไม่ใช่เงินทุนที่มาจากการบริจาค” สุวิมล เล่า

โครงการ Sharing the Dream ของมูลนิธิฯ

  • ทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ 
  • ทุนบุตรผู้บำเพ็ญประโยชน์
  • ทุนนักเรียนที่มาความสามารถเป็นเลิศ เชี่ยวชาญพิเศษ อาทิ ความสามารถกีฬา ด้านแพทย์ พยาบาล ฯลฯ
  • ทุนนักเรียนด้อยโอกาส 
  • ทุนความร่วมมือสำหรับการเรียนระยะสั้นที่มุ่งสร้างทักษะในการประกอบอาชีพ  มูลนิธิเอสซีจีร่วมสร้างอาชีพที่ขาดแคลน : ทางเลือกในโลกที่เปลี่ยนไป ชีวิตก็เหมือนการต่อเลโก้ ค่อยๆ เรียนรู้ สักวันก็เกิดผล