เผยงานวิจัย 'กระท่อม - กัญชา' กับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ

เผยงานวิจัย 'กระท่อม - กัญชา' กับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ

ประเด็นการใช้ "กระท่อม" และ "กัญชา" กำลังสร้างความสับสนในสังคมไทย เนื่องจากถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่นิยมนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จนส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพตามมา

การประชุมวิทยาศาสตร์การเสพติด ปี 2566 ที่ผ่านมา จึงได้มีการนำเสนอข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับ กระท่อม และ กัญชา ในประเด็นนโยบายยาเสพติดและการนำไปสู่การปฏิบัติ (Thailand Addiction Scientific Conference 2023 : Drug Policy and Implementation) หัวข้อประเด็นเชิงสุขภาพและสังคม ภายหลังปลดล็อกกัญชาและใบกระท่อม สามารถนำมาเป็นข้อมูลพิจารณาเพิ่มอีกมุมมอง

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า กว่าสองปีที่ผ่านมา ภายหลังปลดล็อกกระท่อมและกัญชาจากการเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพืชทั้งสองเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของสรรพคุณ ประโยชน์ และโทษของกระท่อม แต่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาผลกระทบต่อร่างกายและระบบสมอง ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมุ่งเน้นการศึกษาระบบประสาท โดยพบว่า พืชกระท่อม มีสรรพคุณคล้ายกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า สารเซโรโทนินจากใบกระท่อมออกฤทธิ์ส่งผลต่อการทำงานของสมอง สามารถตอบโจทย์บำบัดรักษา ภาวะโรคอ้วน และ ภาวะซึมเศร้า รวมถึงใช้ในการลดความอยากแอลกอฮอล์ แต่การนำใบกระท่อมมาใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติด ประเภทมอร์ฟีน เฮโรอีน และยาบ้า ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ และไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนการบำบัดรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันได้ ส่วนการที่ผู้ใช้กระท่อมหลายรายต้องปรุงแต่งเพิ่ม เนื่องจากกระท่อมเองนั้น ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้ต้องเพิ่มสารประกอบอื่นเข้าไปเพิ่ม

เผยงานวิจัย \'กระท่อม - กัญชา\' กับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ

พญ.สรสพร จูวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ดูแลกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ งานสุขภาพจิต และจิตเวชชุมชน กล่าวเสริมว่า การเสพ ใบกระท่อม ในรูปแบบน้ำผสม จะได้รับสารเสพติดมากกว่าการเคี้ยวใบสด เพราะปริมาณการเสพมากกว่า มีรายงานพบผู้ป่วยไส้เน่า อาเจียนเป็นเลือดจากการเสพสี่คูณร้อยปริมาณมากเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง โดยภาคใต้ของไทยมีการใช้ใบกระท่อมสูตรค็อกเทล "สี่คูณร้อย" สูงสุดในไทยคือ 178,116 คน คิดเป็น 25.4 ต่อประชากรพันคน รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 159,296 คน คิดเป็น 37 ต่อประชากรพันคน

"สำหรับสูตร 4x100 มาจาก 100 บาท เสพได้ 4 คน ซึ่งมีเคสผู้ป่วยจำนวนมากเข้ามารักษาที่คลินิกบำบัดสารเสพติด สุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง เนื่องจากฤทธิ์ของสารเสพติดที่ไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท จึงจำเป็นต้องจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีความพร้อมในการให้บริการบำบัดสารเสพติดที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ใบกระท่อม ผลที่ได้นั้นมีทั้งด้านบวกและลบ ไม่สามารถใช้ได้ปลอดภัย 100% แต่หากมีการวิจัยรับรองประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ได้" 

เผยงานวิจัย \'กระท่อม - กัญชา\' กับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ

ศ.วิกนาสิงงาม บาราสิงงาม จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการใช้ กระท่อม และ กัญชา ในทางการแพทย์จากองค์กรในระดับนานาชาติที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงและเป็นแนวทางในการควบคุม รวมถึงใช้ใบกระท่อมและกัญชาเพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์ โดยเฉพาะงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชนที่น่าเชื่อถือพอ สำหรับในมาเลเซียได้มีกฎหมายควบคุมการใช้ใบกระท่อม เนื่องจากยังเป็นสารเสพติดอันตราย อย่างไรก็ดียังเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมปลูกเพื่อเสริมรายได้ในมาเลเซียและภาคใต้ไทย เพราะเป็นพืชที่ดูแลไม่ยาก ทางที่ดีทั้งไทยและมาเลเซียจำเป็นต้องเฝ้าระวัง ติดตามผู้ป่วย และศึกษาวิจัยผลกระทบเชิงสุขภาพจากการใช้สมุนไพรทั้งสองชนิดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างใกล้ชิดต่อไป

รศ.พญ.พิมพ์ศิริ ศรีพงศ์พันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเสริมถึงรายงานการศึกษาว่า หากใช้กระท่อมในรูปแบบค็อกเทลอย่าง "สี่คูณร้อย" สารเสพติดที่เกิดจากการนำยาน้ำแก้ไอมาผสมกับใบกระท่อมและน้ำอัดลม ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ และยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการเก็บข้อมูลของศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงปี 2553-2560 

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของกัญชาต่อระบบการทำงานของตับและทางเดินทางอาหาร พบว่า ทั้งสารออกฤทธิ์ THC และ CBD ในกัญชา ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท ทำให้การทำงานของทางเดินอาหารช้าลง ทำให้ค่าตับสูง รวมถึงยังบ่งชี้ถึงอันตรายทางสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะหลอดเลือดสมองและหัวใจวายเฉียบพลัน ความจำเสื่อมชั่วขณะ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้กัญชาและใบกระท่อมในระยะยาวต่อไป

เผยงานวิจัย \'กระท่อม - กัญชา\' กับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพ