กว๊านพะเยา เกิดจากแนวคิดฝรั่ง เก็บเงินอากรน้ำ

กว๊านพะเยา เกิดจากแนวคิดฝรั่ง เก็บเงินอากรน้ำ

ในอดีตคนใช้น้ำและทำการประมงที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่'กว๊านพะเยา' หากจะจับสัตว์น้ำต้องไปแจ้งขอประทานบัตรเสียภาษีก่อน ทั้งหมดเป็นแนวคิดฝรั่ง

เรารู้มานานแล้วว่ากว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่สุดของภาคเหนือนั้น เกิดจากน้ำมือมนุษย์กำหนด โดยการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้นทางไหลของน้ำอิง ให้มันเอ่อท้นที่ลุ่ม หนอง บวก แอ่ง ดั้งเดิมทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอิง มันก็กลายเป็นทะเลสาบผืนใหญ่ที่กลืนแนวแม่น้ำอิงสายเดิมขึ้นมาเมื่อราวปี 2484 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการประมง

บทความนี้ประสงค์ที่จะขยายมุมมองการก่อเกิดของกว๊านพะเยาฉบับที่แพร่หลาย (โดยกรมประมง) ให้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้น

โดยจะขอย้อนให้เห็นถึงแนวคิดการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในยุคนั้น ว่ามันเป็นแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจปากท้องทำกินของฝรั่งตะวันตก ที่สยามประเทศรับเข้ามาระหว่างช่วงปฏิรูปการปกครอง

กว๊านพะเยา เกิดจากแนวคิดฝรั่ง เก็บเงินอากรน้ำ

การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่

สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดกระทรวงเกษตราธิการ  จัดการขุดคูคลองพัฒนาที่นา จัดการเหมืองแร่การพัฒนาการทำกินด้านต่างๆ และต่อมาเกิดมีกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7  กรมรักษาสัตว์น้ำที่ว่าเป็นต้นทางของกรมประมงในเวลาต่อมา และเป็นหน่วยที่ออกแบบแนวคิดให้เกิดกว๊านพะเยา ซึ่งจะนำเสนอในท้ายจากนี้ต่อไป

การปฏิรูปสยามในครั้งนั้นอิงตามแนวคิดของตะวันตก ด้านการป่าไม้ก็มีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการตามแบบฝรั่ง หรือแม้กระทั่งการขุดคูคลองพัฒนาที่ดิน เพื่อปลูกข้าวด้านเหนือของพระนครบริเวณทุ่งรังสิตก็เช่นกัน มีการพัฒนาการคลังและการเก็บภาษี

ซึ่งก็มีฝรั่งเช่นกันที่มาวางระบบกรมสรรพากร บนฐานคิดที่ว่า ทรัพยากรเป็นของรัฐ หากมีผู้ใช้ประโยชน์ก็ต้องจ่ายภาษี/อากร หรือค่าตอบแทนให้กับรัฐ

ซึ่งก็รวมไปถึง การใช้น้ำและการทำประมง ก็ต้องจ่ายให้กับรัฐ เพราะแหล่งน้ำและปลาเป็นสมบัติของรัฐ

จึงให้เกิดมีพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทร์ศก 120 (ตรงกับ พ.ศ. 2444) สาระสำคัญให้ราษฎรที่จับปลา ให้ไปแจ้งขออนุญาตหรือขอประทานบัตรจากกำนันผู้ใหญ่บ้านเสียก่อน  ขาใหญ่ขึ้นก็ต้องมาประมูลจับสัตว์น้ำ

แปลง่ายๆ คือ ห้ามจับปลาในบ่อ ในหนองคลองบึง นอกเสียจากได้รับอนุญาต  แม้กระทั่งบ่อเอกชนส่วนตัวที่มีปลา หากจะจับก็ต้องไปแจ้งขอประทานบัตรเสียก่อน ทั้งนี้รวมทั้งน้ำจืด และน้ำเค็มเมืองชายทะเลก็รวมอยู่ในกฎหมายนี้เช่นกัน

แรกทีเดียวผู้ใช้อำนาจนี้คือ กระทรวงพระคลัง และ มหาดไทยเจ้าเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และแน่นอนมันต้องเกิดมีปัญหาขึ้นมา เพราะแนวคิดฝรั่งมาเก็บภาษีจากการทำมาหากินทอดอวนโพงพางดักลอบจับปลาตามปกติประจำวัน กลายมาเป็นต้องไปขออนุญาตและเสียเงินให้หลวง บางเมืองมีความเดือดร้อนตามมา

มหาดไทยในยุคกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงเกิดมีประกาศผ่อนผันอนุโลมมากมายตามมากมาย บ้างก็ขอให้ลดราคาค่าจัดเก็บ บ้างก็อ้างแห้งแล้งเดือดร้อนของด ฯลฯ ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในราชกิจจานุเบกษา

กว๊านพะเยา เกิดจากแนวคิดฝรั่ง เก็บเงินอากรน้ำ

กฎหมายอากรค่าน้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม การทำประมงจับปลาของชาวบ้านยังถือเป็นภาระของประชาชนต้องจ่ายภาษีให้หลวง แบบเดียวกับหมากพลูต้นไม้ก็ต้องจ่ายเช่นกัน  กฎหมายอากรค่าน้ำยังถูกใช้เรื่อยมา

จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ยังเรียกเก็บ เพิ่งมายกเลิกไปเมื่อเกิดมีพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดมีแนวคิดให้สามารถจับปลาในที่สาธารณะได้ ภายใต้การควบคุมเครื่องมือให้เหมาะสมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตทุกครั้งไปเช่นแต่ก่อน

นั่นแสดงว่า แนวความคิดเรื่องอากรค่าน้ำ การควบคุมเก็บภาษีจากการประมงรายย่อย เป็นแนวทางหลักของรัฐสยามในช่วงที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำจืดกว๊านพะเยาด้วย ราชการได้เวนคืนที่ดินรอบกว๊านพะเยา

และก่อสร้างประตูน้ำเมื่อพ.ศ. 2482 ก่อนสงครามโลก  เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ อนุรักษ์พันธุ์ปลา และ ส่งเสริมการประมงในแบบที่คนมาจับปลาต้องจ่ายภาษี

กว๊านพะเยา เกิดจากแนวคิดฝรั่ง เก็บเงินอากรน้ำ

เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก

บุคคลผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด รวบรวมผืนน้ำกว้างใหญ่ พัฒนาผืนน้ำให้เป็นผืนเดียว เป็นฝรั่งอเมริกัน นามว่า ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ  เจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก ดำรงตำแหน่งเมื่อพ.ศ.2469

ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงของสหรัฐอเมริกา มีบทบาทสูงในการสำรวจพันธุ์สัตว์น้ำ ก่อนมาสยามเขาเคยเดินทางรอบโลกไปยังฟิลิปปินส์สนใจสัตว์น้ำของเอเชีย ต่อมาได้เดินทางมาสยาม เพราะสนใจพันธุ์ปลาท้องถิ่นเอเชียอาคเนย์ ประเหมาะทางราชการต้องการบุคลากรด้านนี้

แต่ ดร.ฮิว ก็อยู่ในสยามไม่นาน รอให้ทางการส่งคนไปเรียนด้านประมงที่อเมริกากลับมาก็เปลี่ยนมือให้คนไทยดำรงตำแหน่งแทน ตนก็ขึ้นเป็นที่ปรึกษาและก็ช่วยงานประมงสยามเรื่อยมาจนถึงพ.ศ.2478

ดร.ฮิว เคยเดินทางไปพะเยาร่วมกับเจ้าพระยาพลเทพ( เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และก็มีแนวคิดพัฒนาแหล่งน้ำจืดตรงนั้นให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยให้กั้นประตูน้ำอิง กั้นน้ำให้เอ่อท้นละแวกที่ลุ่มหนองบึงบวกแต่เดิม ดังที่ทราบกัน

ประมงยุคแรกของสยาม

อันว่าการกั้นน้ำ ดันน้ำ ประตูน้ำนั้นเป็นเรื่องใหม่ของสยามที่ฝรั่งนำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาการเศรษฐกิจ  ทั้งในกิจการเหมืองแร่ และการเกษตรที่ทุ่งรังสิต หรือการประมงที่บึงบอระเพ็ด ใช้เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนภูมิประเทศ

ดังนั้นแค่การทำประตูน้ำดันน้ำที่พะเยา จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาด แผนการพัฒนาจึงค่อยก่อรูปเรื่อยมาจาก พ.ศ. 2477-2478 ข้ามมาจนสามารถเริ่มก่อสร้างได้เมื่อปี 2482 ส่งเสริมแหล่งน้ำ สร้างแหล่งปลา ทำแหล่งอาชีพ

และรัฐได้ประโยชน์ด้านภาษีอากรอาชีพประมง เป็นแนวคิดพื้นฐานของการพัฒนางานด้านประมงในยุคแรกของสยาม

ในปี 2482 รัฐบาลได้ประกาศเวนคืนที่ดินรอบๆ กว๊านพะเยา คือที่น้ำจะท่วมถึง ซึ่งรวมไปถึงวัดวาอารามชุมชนดั้งเดิม และเริ่มก่อสร้าง ในยุคนั้นไม่มีแนวคิดด้านการอนุรักษ์ที่เข้มข้น จะก่อสร้างอะไรแค่มุ่งประโยชน์ใดประโยชน์หนึ่งเป็นพอ

และไม่มีการเก็บข้อมูลผลกระทบที่จะสูญเสียไปเป็นเรื่องเป็นราว จึงเกิดน้ำท่วมชุมชนโบราณ วัดโบราณที่คาดว่าเป็นโบราณสถานยุคดั้งเดิมไปไม่น้อย

กว๊านพะเยาที่หวังจะให้เป็นแหล่งประมง อนุรักษ์พันธุ์และส่งเสริมการจับสัตว์น้ำไปด้วยและรัฐได้ประโยชน์จากอากรค่าประทานบัตรไปด้วย ค่อยๆ สูญไปบ้าง ยกเลิกไปบ้าง เปลี่ยนแปลงไปบ้าง จนถึงปัจจุบัน

............             

  • อ้างอิง : ชีวประวัติ  ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ  
  • http://people.wku.edu/charles.smith/chronob/SMIT1865.htm