มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN

ทำความเข้าใจใหม่ 'ผ้าไหม' กับ 'มุสลิม' ไม่ได้ขัดแย้งกัน เปิดตัวครั้งแรก 'ฮิญาบผ้าไหม' ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม นักวิจัยและอาจารย์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี เสนอโมเดล AHSAN นำธุรกิจฮิญาบไทยสู่โลกมุสลิม

Keypoints:

  • เกื้อกูล LEs ย่อมาจาก ‘เกื้อกูล Local Enterprises Exposition’ คือโครงการพัฒนาขีดความสามารถการจัดการธุรกิจของ ‘ผู้ประกอบการในพื้นที่’ บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น 
  • จุดเด่นของ ‘เกื้อกูล LEs’ คือเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ เศรษฐกิจชุมชน เติบโตมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน แบ่งปันและโตไปด้วยกัน
  • การตัดเย็บ ฮิญาบ ด้วย ผ้าไหม ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และยังแสดงให้เห็นว่าผ้าไหมกับมุสลิมไม่ได้ขัดแย้งกัน”
  •  AHSAN เป็นภาษาอาหรับ มีความหมายว่า ‘ดีเลิศ’ นำมาออกแบบเป็นตราสัญลักษณ์ด้วยลวดลายศิลปะอิสลาม เพิ่มความหมายจาก trademark สู่ความหมาย trustmark

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN ฮิญาบ หนึ่งในเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของสตรีชาวมุสลิม

ฮิญาบ (Hijab) หนึ่งในเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของสตรีชาวมุสลิม ใช้สำหรับคลุมศีรษะสตรีตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่กล่าวไว้ว่าพระเจ้าทรงขอให้ผู้หญิงสวมฮิญาบเพื่อให้เกิดความสุภาพเรียบร้อยและเปลี่ยนทิศทางความสนใจของทั้งผู้หญิงและผู้ชายจากโลกวัตถุนิยมไปสู่โลกแห่งจิตวิญญาณของพระเจ้า

ผ้าซึ่งนำมาตัดเย็บเป็น ‘ฮิญาบ’ ไม่เคยใช้ ผ้าไหม มาก่อน เนื่องจากเชื่อว่าขัดกับคำสอนอิสลาม แต่หลังจากได้ศึกษาคำสอนอย่างลึกซึ้งจากการทำวิจัยในโครงการ ‘เกื้อกูล LEs’ ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม นักวิจัยและอาจารย์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี กล่าวว่า “เป็นความเข้าใจผิด” ความจริงแล้วผ้าไหมสามารถนำมาตัดเย็บเป็นฮิญาบได้

นั่นหมายถึงอีกหนึ่งช่องทางการนำ ผ้าไหมไทย สู่โลกมุสลิม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดขนาดใหญ่ของโลก 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม

ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม ยังได้เรียกศักดิ์ศรีและสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับ ‘กลุ่มสตรีมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ซึ่งมีฝีมือการตัดเย็บ มารวมกลุ่มกันเพื่อสร้างงานในรูปแบบ ‘ธุรกิจฮิญาบ’ ภายใต้โมเดลธุรกิจ AHSAN (อาห์ซาน) ด้วยหลักคิดจาก trademark (เครื่องหมายการค้า) สู่ trustmark สะท้อนคุณค่าผืนผ้าฮิญาบที่แฝงวิถีความเชื่อ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความเคารพในศาสนาอิสลาม

เกื้อกูล LEs  (เกื้อกูลแอลอี) ย่อมาจาก ‘เกื้อกูล Local Enterprises Exposition’ คือโครงการพัฒนาขีดความสามารถการจัดการธุรกิจของ ‘ผู้ประกอบการในพื้นที่’ บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างการจ้างงานและสร้างทักษะแรงงานในพื้นที่ เกิดการยกระดับรายได้และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมสู่กลุ่มผู้ผลิตหรือกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN งาน ‘เกื้อกูล Local Enterprises Exposition’

จุดเด่นของ ‘เกื้อกูลแอลอี’ คือเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ เศรษฐกิจชุมชน เติบโตมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน แบ่งปันและโตไปด้วยกัน

โครงการนี้ดำเนินการร่วมกันโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN สัญลักษณ์ AHSAN ออกแบบโดยนาย อัฟฟาน สาแล๊ะ

ความหมายของ AHSAN (อาห์ซาน) คืออย่างไรครับ

“อาห์ซาน เป็นภาษาอาหรับ มีความหมายว่า ‘ดีเลิศ’ เรานำมาออกแบบเป็นตราสัญลักษณ์ด้วยลวดลายศิลปะอิสลาม เพิ่มความหมายจาก trademark สู่ความหมาย trustmark บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นี้คือสินค้าท้องถิ่นที่เกิดจากการเกื้อกูลกันของผู้ประกอบการ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยความรักความเกื้อกูลกัน เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละท่านมีความถนัดไม่เหมือนกัน

ภายใต้ ‘อาห์ซาน ทรัสต์มาร์ค’ จะมีมาตรฐานของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ครบทั้ง 3P คือ People การอุดหนุนช่วยเหลือยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช้แรงงานต่างชาติ แต่ต้องเป็นแรงงานคนไทยในท้องถิ่น มีการพัฒนา 'คน' เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เราจะไม่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน แต่จะต้องพัฒนา mindset (กรอบความคิด) ของคนก่อน เพื่อให้เขาเข้าใจกระบวนการการตลาดเกิดขึ้นอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงธุรกิจที่สูญเปล่า

P ที่สองคือ Profit การค้าต้องมีกำไร แต่ต้องปราศจากการเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ว่าจะในรูปของดอกเบี้ยที่ทำให้คนเดือดร้อน แต่ต้องได้ผลกำไรที่ใสสะอาดมากกว่าเป็นกำไรจากการกดขี่ลูกจ้าง

P ที่สาม Planet คือสิ่งแวดล้อม เช่นเศษผ้าที่เกิดจากการตัดเย็บเสื้อผ้าไหม เราให้น้องๆ ยังก์ดีไซเนอร์ซึ่งเขาเก่งของเขาอยู่แล้ว มาผนวกกับเครือข่ายของเรา มาช่วยกันปักผ้า หมายถึงการสร้างขึ้นมา แชร์มูลค่าซึ่งกันและกัน นั่นคือสิ่งที่เราไม่ทำให้เศษผ้านั้นสูญไป

สัญลักษณ์อาห์ซานนี้เมื่อออกไปสู่ตลาดโลกที่ใช้ภาษาอาหรับ เขาจะรู้ความหมายทั้ง 3P เหล่านี้ทันที”

ตราสัญลักษณ์รูปอักษรภาษาอาหรับที่อ่านว่า ‘อาห์ซาน’ ออกแบบโดยนาย อัฟฟาน สาแล๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ สาขาอัลกุรอานและอัสซุนห์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN อาชีพตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม

ขณะนี้มีแบรนด์ภายใต้ ‘อาห์ซาน ทรัสต์มาร์ค’ มากน้อยแค่ไหนครับ

“ตอนนี้การสร้างตัวตนของอาห์ซานเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อช่วงที่เราทำวิจัยกันระยะแรกๆ ซึ่งวิจัยแรกของเราคือการรวบรวมผู้ประกอบการ เนื่องจากเราต้องการไปช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ ซึ่งเราพบว่าหลังโควิด อาชีพตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำให้แม่บ้านเลี้ยงมุสลิมครอบครัวได้สูญหายไป ถูกบีบด้วยภาวะทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการรุ่นเก่าเสียชีวิตไปจากโควิดและสถานการณ์ปกติ

ทำให้เราหาผู้ประกอบไม่เจอ ลูกน้องของเขากระจัดกระจาย เหลือแต่เครื่องจักรห่อไว้ด้วยเสื่อกระจูด เราเห็นว่าอาชีพที่ทำให้พี่น้องเรามีรายได้กำลังจะหายไป เราเลยหยิบเรื่องนี้มาเสนอเป็นโจทย์วิจัย

อีกประการคือในมุมมองศาสนา ‘การตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม’ เป็นสิ่งจำเป็น ต้องมีในสังคมมุสลิม ไม่เช่นนั้นจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีใครสร้างชุดแต่งกายที่ดีให้กับผู้คนได้สวมใส่

เรามองว่า การตัดเย็บฮิญาบ เป็นหนึ่งในอาชีพที่เราต้องสงวนไว้ นอกเหนือจากชาวบ้านได้อยู่ดีกินดี เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของศาสนาอีกด้วย นำมาสู่โจทย์วิจัยของฮิญาบที่เรานำเสนอ บพท. เมื่อเดือนธันวาคม 2565

เราลงไปดูสภาพแท้จริงในพื้นที่ ต้องเอาตัวเองเข้าไปสู่ชุมชน ดูวิถีชีวิต ดูปัญหาที่เกิดขึ้นแท้จริง เราเจอ pain point ต่างๆ ในชุมชน แล้วนำมาสังเคราะห์เพื่อนำไปสู่การทำโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามหลักการอาห์ซาน”

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN ฮาลาเกาะห์ หรือ ‘วงล้อมแห่งการเรียนรู้’

อาจารย์ลงพื้นไหนบ้างครับ

“ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด เริ่มต้นที่ปัตตานี เราพบว่าพื้นที่ที่มีมุสลิมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัตตานี นราธิวาส ยะลา มีกระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนต่างๆ หลังจากนั้นก็มีผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

เมื่อเราห่วงว่าอาชีพนี้จะสูญหายไป คนซึ่งได้ค่าแรงวันละ 200 บาทจะไม่มีที่พึ่งพิง เราก็เลยคิดว่าต้องไปหาผู้ประกอบการเพื่อทำงานร่วมกับเขา เพราะผู้ประกอบการเป็นคนดูแลลูกจ้างในพื้นที่อยู่แล้ว เราก็เลยร่วมมือกับเขาในการจะทำยังไงให้ธุรกิจฮิญาบพัฒนาดียิ่งขึ้น

เบื้องต้นเราไม่สามารถโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์ได้ เพราะแนวคิดการพัฒนาในบริบท ‘เกื้อกูลแอลอี’ เริ่มต้นด้วยการพัฒนาคน คนต้องมีหัวใจของการแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าคุณจะทำธุรกิจเพียงตัวคุณโดยไม่สนใจผู้อื่น

เราจึงใช้กระบวนการทางศาสนาที่เรียกว่า ฮาลาเกาะห์ หรือ ‘วงล้อมแห่งการเรียนรู้’ เพื่อขัดเกลา แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการไม่รู้สึกแข่งขันชิงดีชิงเด่น เมื่อเข้าในกลุ่มนี้แล้วจะสงบ เกิดความรู้สึกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำธุรกิจ

มีผู้ประกอบการจากสงขลาเข้ามาเป็นเครือข่ายสัมพันธ์ด้านการตลาด นำผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน สั่งเป็นโออีเอ็ม ขายที่สงขลา ผู้ประกอบการอีกท่านอยู่กรุงเทพฯ ผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิม โดยใช้แรงงานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น outsource (การจ้างงานกลุ่มบุคคลซึ่งมีความเชี่ยวชาญ) ซึ่งกันและกัน”

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN

ถือเป็นการตัดเย็บฮิญาบด้วยผ้าไหมครั้งแรกของประเทศไทย?

“ใช่ค่ะ เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำผ้าไหมมาตัดเย็บให้เหมาะสมกับการสวมใส่ของชาวมุสลิม แต่ยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนา เราก็ได้เห็นแล้วว่านางแบบที่ขึ้นเวทีก็สามารถสวมใส่ผ้าไหมได้สวยงาม เพียงแต่สิ่งที่อยู่ส่วนบนของศีรษะยังไม่ได้นำขึ้นเวที เราจัดแสดงไว้ด้านล่าง เนื่องจากใส่แล้วแข็ง แต่เขาก็ทำดีมากแล้วนะคะ แต่ยังไม่สามารถปรับมาเป็นผ้าคลุมศีรษะได้

ถือเป็นการริเริ่มครั้งแรก และยังแสดงให้เห็นว่าผ้าไหมกับมุสลิมไม่ได้ขัดแย้งกัน เนื่องจากคนเข้าใจว่าเมื่อก่อนพูดถึงผ้าไหมแล้ว มุสลิมใส่ไม่ได้ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด

ในฐานะเราอยู่ในมหาวิทยาลัยอิสลาม นักวิชาการอิสลามมาอยู่กันเยอะ เราก็ได้ศึกษาพบว่าผ้าไหมไม่ได้เป็นที่ต้องห้าม แต่ผ้าไหมสามารถเป็นของขวัญที่ดีเลิศให้กับผู้หญิง ในอัลกุรอานพูดถึงรางวัลที่เป็นผ้าไหมด้วย เชื่อมโยงกับหลักศรัทธา”

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN ผศ.ดร. มัฮซูม สะตีแม

‘ผ้าไหม’ ตามความเชื่อศาสนาอิสลามเพิ่งพบว่า “ไม่เป็นข้อห้าม”

“สำหรับผู้หญิง การนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นฮิญาบ ไม่เป็นข้อห้าม ผ้าไหมเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำไป ความเข้าใจผิดตรงนี้เนื่องจากไม่มีการสื่อสาร เป็นเพราะพอห้ามผู้ชาย ก็เหมารวมว่าห้ามผู้หญิงด้วย

ก่อนเป็นผ้าไหม เป็นกระบวนการที่บริสุทธิ์มากๆ ซึ่งเราก็ได้ไปดูงานที่นราธิวาส เราไม่ทราบเลยว่าในสามจังหวัดมีที่ไหนผลิตผ้าไหมบ้าง คนต่างศาสนาซึ่งเป็นคนไทยพุทธที่นิยมใช้ผ้าไหมก็ไม่ทราบว่ามุสลิมจะสามารถใส่ผ้าไหมได้ คนมุสลิมก็ไม่ทราบว่าผ้าไหมดีอย่างไร

แต่เมื่อเราเข้าไปสู่การวิจัยแล้ว ในฐานะนักวิชาการมหาวิทยาลัย เรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไหม หลักการที่ถูกต้อง การใช้ผ้าไหมไม่ผิดหลักศาสนาอิสลามสำหรับผู้หญิง กลับถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีเกียรติ เป็นสิ่งทดแทนความรักของสามีที่จะมอบให้กับภรรยาได้ด้วย”

สำหรับชายชาวมุสลิม ‘ผ้าไหม’ เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะอาจนำไปสู่ความเย่อหยิ่ง อวดตัว และเมื่อสัมผัสร่างกายอาจทำให้ผู้ชายดูอ่อนหวาน ขัดต่อความเป็นชาย หากสวมใส่แล้วหัวใจของเขาอาจได้รับลักษณะของความเป็นผู้หญิงและนุ่มนวลอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้ชายและกล้าหาญที่สุด

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN

ผ้าไหมไทยพุทธกับช่างเย็บผ้าสตรีชาวมุสลิม

“ผ้าไหมที่ใช้ตัดเย็บฮิญาบครั้งนี้เป็นผ้าไหมโคราช คนโคราชกับคนปัตตานีไม่เคยเจอกันในเรื่องของผ้าไหม แต่พอมารอบนี้เรานำผ้าไหมจากโคราชมาทำชุดมุสลิม

ผ้าไหมโคราชดีอยู่แล้ว ที่ปัตตานีมีผ้าไหมอยู่ไม่กี่เจ้า เรื่องการดูดซับทรัพยากรท้องถิ่น เราอยากได้คนในปัตตานี แต่ก็ไม่ได้ความว่าเราจะไม่ส่งเสริมธุรกิจต่างถิ่น โคราชก็เข้มแข็งของเขาอยู่แล้ว แต่เราต้องการให้ผ้าไหมไทยไปสู่สายตาของชาวโลก(มุสลิม) คนปัตตานีก็ต้องเรียนรู้จากคนโคราช คนโคราชก็มาเกื้อกูลเชิงนวัตกรรมผ้าไหม

พอดีนักวิจัยของเราแนะนำผ้าไหมโคราช จริงๆ ผ้าไหมที่ไหนก็ได้นะคะ เพียงแต่เป็นวัตถุดิบในประเทศไทย เพราะคำว่า ‘แอลอี’ คือเราส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น เราอยากให้ธุรกิจระดับหมู่บ้านหรือระดับจังหวัดเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่เราต้องช่วยกันดูแล”

 

มัฮซูม สะตีแม ‘ฮิญาบผ้าไหม’ จุดเชื่อมวัฒนธรรมต่างความเชื่อ ผ่านโมเดล AHSAN

ตลาดฮิญาบไทยในโลกมุสลิมยังมีโอกาส?

“มันเป็นโอกาสที่ถูกปล่อยทิ้งตลอดเวลาเลยค่ะ มีแต่จะมาแทรกแซงบ้านเราทุกที สินค้าฮิญาบในตลาดโลกเท่าที่เราเคยเก็บข้อมูล เราครองแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อินโดนีเซียเขาครองตลาด

สามเปอร์เซ็นต์ที่เราทำวิจัยใหม่ๆ ก็จะกลายเป็นของจีนไปแล้ว เพราะจีนเข้ามาตีตลาดในไทยเยอะมาก แต่ถ้าดูคุณภาพ คนท้องถิ่นยังนิยมตัดเย็บฮิญาบกับคนในท้องถิ่น ตัดเย็บได้ดีกว่า ฝีมือแข็งแรง คงทน ปราณีตกว่า

แต่เนื่องจากช่างตัดเสื้อไม่ค่อยมีเยอะ บางทีแช่(งาน)เป็นปี จนกระทั่งสูญหายไปเลย เป็นความขาดแคลนจริงๆ เราสูญเสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจตรงนี้จากการที่เราไม่ได้พัฒนาคนของเรา

เห็นๆ อยู่ว่าตลาดจีน ฝีมือยังสู้คนบ้านเราไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยให้ตลาดเขามาแทรกแซง คือคนของเราไปซื้อของเขามา เพราะเราไม่สามารถผลิตได้ทัน

ถามว่าจะให้ผู้ประกอบการมานั่งว่ายน้ำคนเดียวหรือ ผู้ประกอบการไม่ควรโดดเดี่ยว น้องดีไซเนอร์ (นาพี พีรีซี) ขอบคุณที่ทำให้เขาไม่โดดเดี่ยว เขาทำอาชีพนี้มา 13 ปี เขาอยากไปให้ไกลกว่านี้ แต่ไม่มีใครมาดึงเขา อย่าปล่อยให้เขาต้องมานั่งหาตลาดคคนเดียว

นักวิจัยเองก็ไม่ได้มีความสามารถในการตลาด นักวิจัยก็ต้องใช้ stakeholder หลายคนมาช่วย เพียงแต่เราเป็นนักวิชาการในท้องที่ รู้ว่าเขามี ‘จุดเจ็บ’ อะไร”

credit photo : FB/ธุรกิจปันกัน , Public Hit