ขุมทรัพย์เอลนีโญ : ความแล้งเปิดความลับใต้น้ำ      

ขุมทรัพย์เอลนีโญ : ความแล้งเปิดความลับใต้น้ำ       

ปรากฎการณ์เอลนีโญ แม้จะสร้างความเดือดร้อน แต่ภาวะแห้งแล้งที่ไม่ปกติ พื้นที่ใต้ผิวน้ำในเมืองไทย โบราณสถาน โบราณวัตถุที่หายไปโผล่ให้เห็น แล้วทำไมไม่เคยมีการบันทึกข้อมูล

ดังที่ทราบว่าปี 2567 จะเกิดภาวะแล้งกว่าปกติ อันเนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งมีผลกระทบด้านลบสร้างความเดือดร้อนไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามสรรพสิ่งมีสองด้านเสมอ ในลบก็มีบวก มันก็มีด้านที่ดีงามน่าสนใจภายใต้สภาวะแห้งแล้ง 

ในแง่ของนิเวศธรรมชาติ ปีแล้ง เป็นปีที่พืชพรรณไม้เร่งตนเองให้ขยายพันธุ์ เกิดลูกหลานหน่ออ่อนขึ้นกว่าปีปกติ ไม้ป่าบางประเภทต้องการไฟป่าเร่งดอกผลการแตกตัวของเมล็ดพันธุ์ไปฝังในดินไกลออกจากต้นแม่รอคอยฝนใหม่มาสืบทอดเผ่าไม้ยืนยาวไป

ธรรมชาติที่ว่ามนุษย์ดัดแปลงมาแกล้งต้นไม้ด้วยการจุดไฟเผาโคนต้น หากเป็นผักหวานก็จะเร่งออกใบอ่อนมาเยอะๆ เป็นต้น

ขุมทรัพย์เอลนีโญ : ความแล้งเปิดความลับใต้น้ำ       

ภาวะแล้งในมิติพื้นที่ใต้ผิวน้ำ 

บทความนี้จะขอนำเสนอผลด้านบวกของภาวะแห้งแล้งกว่าปกติในมิติของพื้นที่ใต้ผิวน้ำที่ถูกปกปิดโดยระดับน้ำปกติ ที่จะเผยโฉมขึ้นมาให้คนได้ยล

แน่นอนที่สุดเป้าหมายลำดับต้นเลย ก็คือ พื้นที่ใต้น้ำท่วมจากเขื่อน อย่าลืมว่าเขื่อนยุคแรกๆ สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งก่อสร้างที่งานวิศวกรรม ยังไม่มีศาสตร์ว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุเรื่องราวชุมชน  ยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวเท่ากับยุคนี้ที่ให้ทำ EHIA เสียก่อน

ดังนั้นภายใต้ทะเลสาบเหนือเขื่อนภูมิพลยาวเรื่อยไปขึ้นเหนือจนถึงอำเภอฮอด ดอยเต่า ของจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางไม่น้อยกว่า 200 กิโลเมตร 

แม่น้ำปิงเก่าเขตที่ถูกน้ำท่วมเป็นเส้นทางสัญจรโบราณระหว่างอาณาจักรหริภุญชัย (เก่ากว่าล้านนานะครับ) กับอารยธรรมอื่นทั้งละโว้ ขอม มอญ ทราวดี เรื่อยมาจนยุคล้านนาแม่น้ำปิง ก็ยังคงใช้เส้นทางน้ำปิงสัญจรจากเหนือลงมาตาก จากตากแยกไปซ้ายขวาหรือจะลงล่างเข้าปากน้ำโพไปอยุธยา ขุนช้างขุนแผนบรรยายการยกทัพขึ้นตีเชียงใหม่ ให้ผ่านเมืองตากเมืองเถินก่อนจะเข้าลำพูนเชียงใหม่ต่อไป

เส้นทางน้ำสายนี้มีความสำคัญยิ่งในยุคที่ไม่มีถนนรถไฟ หมอแมคกิลวารีเดินทางเข้าเชียงใหม่ทางน้ำ เช่นเดียวกับขบวนเรือพระราชชายาเจ้าดารารัศมี รวมไปถึงตระกูลคนจีนยุคแรกที่ค้าขายขนส่งสินค้าด้วยเรือหางแมงป่องได้ใช้เส้นทางสายน้ำท่วมที่ว่า 

ขุมทรัพย์โบราณคดีในน้ำปิง

ถามว่าแล้วเส้นทางน้ำท่วมตรงนั้นมีอะไรดี ? 

บันทึกเก่าๆ บรรยายลักษณะภูมิประเทศระหว่างเมืองฮอด เชียงใหม่ ไปจนถึงตำบลบ้านนา เมืองตาก ว่าเป็นเขตป่าเขา สูงชัน รกเรื้อ และเต็มไปด้วยแก่งหิน บางช่วงต้องลงเข็น มีโจรผู้ร้ายดักปล้นด้วย พ่อค้าชาวจีนต้องจ้างคนคุ้มกันมีกำลังที่เข้มแข็งพอจะปกป้องขบวนสินค้าของตน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะเป็นแต่ป่าเขาแก่งหินไปตลอด 200 กิโลเมตร เพราะจะมีชุมชน หมู่บ้าน และเมืองรายทาง นั่นล่ะครับคือขุมทรัพย์ ! 

ขุมทรัพย์น้ำปิงเหนือเขื่อนในยุคแรกก่อนที่น้ำจะท่วม คือ โบราณวัตถุ พระพุทธรูป จารึกต่างๆ ตามวัดวา แม้กระทั่งในถ้ำหน้าผา คนที่สนใจงานด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในยุคโน้นก็มีคนที่เสียดายเที่ยวขี่เรือไล่เก็บก่อนจะจมหาย มีถึงขนาดเสียงร่ำลือถึงลายแทงขุมทรัพย์ที่เป็นแก้วแหวนเงินทองจริงๆ คนที่เที่ยวตามหาลายแทงสมบัติก่อนน้ำท่วมก็มี 

แต่ก็ยังมีสมบัติที่เป็นขุมทรัพย์อีกชนิดหนึ่งที่สูญหายจมไปไปด้วย นั้นคือ ความรู้ว่าด้วยชุมชน ชนเผ่า วัฒนธรรม อันมีความหมายเชิงโบราณคดี เขตละแวกที่ว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนลัวะ (ละว้า) ที่ใหญ่มากของภาคเหนือคุมพื้นที่ลุ่มน้ำปิงระหว่างตากกับฮอด ขึ้นน้ำแม่ตื่นไปถึงเขตอำเภออมก๋อย

ชาวลัวะเป็นชนถิ่นเดิมอาศัยอยู่ก่อนคนพูดภาษาไท/ไต พญามังรายมาถึงเป็นชนที่อยู่ร่วมกับชาวมอญ (เม็ง) หริภุญชัย ชุมชนบ้านถิ่นที่ตั้งระหว่างเส้นทางมีความหมายในเชิงโบราณคดีเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคก่อนพ.ศ.1800 ก็พลอยสูญไปด้วย

เหนือทะเลสาบเขื่อนภูมิพล มีเมืองโบราณเรียกว่า “เมืองสร้อย” ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.บ้านนา อ.สามเงา จังหวัดตาก เป็นเมืองใหญ่แต่ดั้งเดิมที่ถูกจมหายไป ปัจจุบันมีวัดและพระธาตุสร้างขึ้นใหม่

ขุมทรัพย์เอลนีโญ : ความแล้งเปิดความลับใต้น้ำ       

แต่ก็ยังไม่สามารถสะท้อนภาพความเป็นเมืองใหญ่ริมแม่น้ำปิงดั้งเดิมที่ว่ากันว่ามีวัดวาอารามเป็นร้อยๆ  ละก็เชื่อว่าเมืองสร้อยคือเมืองเอกของชนเผ่าลัวะที่คุมน้ำปิงจุดนั้นก่อนจะขึ้นลึกเข้าป่าเขาเกาะแก่งอันตราย เรายังรู้จักเมืองสร้อยสามารถนั่งเรือจาก อ.ลี้ เดินทางร่วม 2 ชั่วโมงไปถึงเมืองสร้อย แต่ความรู้ความเข้าใจที่ไปกว่านั้นเราไม่มีหลักฐานข้อมูลมากพอเพราะไม่ได้เก็บรวบรวมไว้ก่อนน้ำจะท่วม 

ความเป็นศูนย์กลางชาวลัวะของเมืองสร้อยย่อมเกี่ยวพันกับชื่อบ้านนามเมืองสถานที่ต่างๆ ด้วย อย่างเช่น ชื่อยันฮี อันเป็นที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล มีความเป็นมาอย่างไร คนไม่รู้กัน จนกลายเป็นโจ๊กใต้สะดือของพวกสร้างเขื่อนยุคแรกๆ ที่แปลงตำนานพระนางจามเทวีอาบน้ำปิง เกิดเป็นผาอาบนาง อันมีสถานที่จริงกับเรื่องแต่งขึ้นใหม่มาสวมว่า ระดับน้ำปริ่มๆ ไปยันที่ตรงอวัยวะนั้น

ขอย้ำนะครับว่านี่เป็นโจ๊กสัปดนของพวกสร้างเขื่อน ส่วนข้อสันนิษฐานทางภาษา มีบางแหล่งบอกว่ามาจาก ย่าน+รี  คนเหนือออกเสียง ร เรือ ไม่ชัด กลายเป็น ฮี  สำหรับผู้เขียนคิดว่าไม่ใช่ สันนิษฐาน ย่าน+รี คือความพยายามลากคำแบบตัดเท้าใส่เกือก ยันฮี เป็นภาษาถิ่นชนเผ่ามากกว่า

ขุมทรัพย์ชุมชนที่หายไป

นอกจากเมืองสร้อยแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรทำเพื่อเป็นประโยชน์ทางวิชาการต่อชนรุ่นหลังที่ถูกน้ำทะเลสาบท่วมปิดซ่อนไว้ เช่น สภาพภูมิประเทศของเส้นทางเรือแม่น้ำปิง เส้นทางสายหลักเชื่อมเชียงใหม่ล้านนากับอารยธรรมตอนล่าง ก่อนน้ำท่วมมีหลักฐานหลายชิ้นพรรณนาเส้นทางเดินทาง จากเมืองฮอดผ่านสถานที่ใด ชื่อแก่ง ชื่อภูเขา ชื่อหน้าผา

บางจุดมีเรื่องเล่าตำนาน บางจุด มีความเชื่อคนเดินเรือต้องเตรียมของเซ่นไหว้ เพื่อให้ผ่านทางได้ปลอดภัย หรือแม้กระทั่งซากวัด ซากชุมชนโบราณ ปริมาณน้ำลดลงในบางปี เผยโฉมซากปรักพังใต้น้ำอายุเกิน 50 ปีมาให้เห็น แต่เสียดายที่เราไม่มีการเตรียมการรับเพื่อบันทึกวิจัยชุมชนและที่ตั้งโบราณที่ว่าไว้ก่อน จึงมีแค่การถ่ายรูปไว้เท่านั้น 

อีกประการเส้นทางน้ำจากฮอด เชียงใหม่ หรือจากลี้ เมืองลำพูน ไปถึงเขื่อนภูมิพลนั้นไปมายาก ต้องใช้เรือเท่านั้น และไกลเดินทางเกิน 5 ชั่วโมง คนทั่วไปไม่สัญจรกัน การจะเข้าถึงขุมทรัพย์ความรู้และหลักฐานโบราณคดีใต้น้ำจึงต้องวางแผน และเตรียมการล่วงหน้าจริงจัง และต้องรอปีที่น้ำแล้งลงถึงที่สุด ซึ่งบัดนี้ยังไม่มีการเตรียมวิจัยแบบที่ว่า มันคงยุ่งยากไป 

และไม่ใช่แค่ทะเลสาบเขื่อนภูมิพลเท่านั้นหรอกที่มีขุมทรัพย์ความรู้ความเข้าใจแบบนี้ ทางฟากตะวันออกน้ำน่านที่เขื่อนสิริกิติ์ก็มีหลายสิ่งอย่างที่หายไปพร้อมกับน้ำ เส้นทางสัญจรโบราณระหว่างสยามกับหลวงพระบางขึ้นไปสิบสองจุไทต้องผ่านบริเวณเขื่อนพอดี

มีบันทึกการยกทัพปราบฮ่อหลวงพระบางของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จากพิชัยมาเมืองฝางอุตรดิตถ์ เลียบน้ำน่าน ข้ามน้ำน่าน เฉียงขึ้นไปเมืองน่านโดยผ่านเมืองหิน (นาหมื่น) นาน้อย เวียงสา

คำถามคือ ตรงไหนคือท่าข้ามฟากสำคัญที่คนโบราณใช้สัญจร ตรงนั้นล่ะคือแหล่งโบราณคดีสำคัญของน่าน /อุตรดิตถ์