สะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ จะเปลี่ยนเมืองน่าน-อุตรดิตถ์ในรอบ 100 ปี 

สะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ จะเปลี่ยนเมืองน่าน-อุตรดิตถ์ในรอบ 100 ปี 

'สะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์' มีโครงการสร้างระหว่าง อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์-อ.นาหมื่น จ.น่าน ถ้าสร้างเสร็จจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 100 ปี ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการค้า...

โครงการสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เหนือเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปากนาย เพื่อเชื่อมจังหวัดอุตรดิตถ์-น่าน กำลังคืบหน้าเมื่อเดือนมีนาคม กรมทางหลวงได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อจะจัดทำ EIA   ตามขั้นตอน 

โครงการสะพานแห่งนี้เป็นสะพานสั้นๆ ข้ามช่องแคบของทะเลสาบเหนือเขื่อนตรงจุดนั้นไม่เกิน 500 เมตร ไม่ยาวเหมือนสะพานติณสูลานนท์ที่ข้ามทะเลสาบสงขลา หรือสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่อื่นๆ

แต่ความหมายของมันยิ่งใหญ่ทีเดียวสำหรับพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดน่านและพื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ถูกปิดมายาวนาน จนกลายเป็นเขตยากจน ห่างไกลที่สุดของทั้งสองจังหวัด 

บ้านปากนาย หมู่บ้านประมงเล็กๆ

ปัจจุบันบ้านปากนาย เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านที่มีพื้นน้ำเวิ้งว้างถึง 1 แสนไร่  จุดตรงนั้นมีแพขนานยนต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเรือโป๊ะไว้บริการผู้สัญจรข้ามฟากระหว่างอุตรดิตถ์กับจังหวัดน่าน มีแพหลายลำหมุนเวียนกันแพขนาดเล็กบรรทุกได้ครั้งละ 2 คันรถยนต์

ผู้สัญจรต้องรอคอยอย่างอดทนในบางช่วงที่แพขาดตอน เมื่อข้ามจากอุตรดิตถ์ ก็จะเข้าสู่เขตอำเภอนาหมื่น นาน้อย และ เวียงสา อันเป็นเขตสามอำเภอโซนใต้ของจังหวัดน่าน พื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างยากจนกว่าอำเภอโซนเหนือ 

ในส่วนของอุตรดิตถ์ เมื่อแยกขวาจากตัวเมืองไปยังเขื่อนสิริกิติ์เขตอำเภอท่าปลา เลยจากนั้น คือ อำเภอน้ำปาด ท่าฟาก เป็นเขตยากจนและแห้งแล้งยาวไปจนสุดเขตแดนที่ด่านภูดู่ เข้าสู่ สปป.ลาวทางแขวงไซยะบุลี 

สะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ จะเปลี่ยนเมืองน่าน-อุตรดิตถ์ในรอบ 100 ปี 

อันที่จริงรัฐบาลไทยก็มีความพยายามจะสร้างสะพานที่ปากนายนี่มาก่อนหลายรอบ แต่ก็ติดปัญหาบางประการไปเสียทุกรอบ ด้วยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นพื้นที่ทะเลสาบเขื่อน เป็นป่าอนุรักษ์ ประกอบกับในยุคโน้นพื้นที่อำเภอเหนือเขื่อนขึ้นไปจนถึงจังหวัดน่านเป็นเขตยากจนที่ไม่น่าสนใจในด้านเศรษฐกิจการค้าด้วยกระมัง 

แต่มายุคนี้น่านกำลังบูม สปป.ลาวก็เปิดกว้างขึ้น เมื่อก่อนจากไซยะบุลีเข้าไปหลวงพระบางยากมาก แต่ขณะนี้ขับรถได้สะดวก ปัจจัยทุกอย่างเป็นใจ

หากสะพานเสร็จ การสัญจรจากภาคกลางไปยังจังหวัดน่านจะไหลมาทางเส้นนี้ เพราะใกล้กว่า แทนที่จะต้องอ้อมขึ้นทางเด่นชัย-แพร่-ร้องกวาง อันเป็นถนนสายหลักที่เข้าสู่จังหวัดน่าน และด่านห้วยโก๋นต่อไป

คนที่นั่นเขาตื่นเต้นกับสะพานปากนายทีเดียว ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนของสองจังหวัดมา ชาวน้ำปาดบอกว่า ที่น้ำปาดเริ่มมีการลงทุนห้องพักโรงแรมขนาดเล็กรับคนกรุงเทพฯภาคกลางที่เดินทางไปน่าน

คนที่รู้ทางที่เดินทางบ่อยๆ พวกเซล หรือ รถส่งของจะมาพักที่น้ำปาดก่อนค่อยข้ามแพไปน่านในวันถัดไป นี่ขนาดยังไม่ได้สร้างสะพานปริมาณผู้คนก็เริ่มมากขึ้น เพราะจังหวัดน่านกำลังบูม

  • สะพานปากนายจุดเชื่อมเส้นทางหลายสาย

ในมิติของประวัติศาสตร์ แท้จริงแล้วเส้นทางอุตรดิตถ์-น้ำปาด-ข้ามปากนาย-นาหมื่น-นาน้อย-เวียงสา-น่าน คือเส้นทางหลักที่กรุงรัตนโกสินทร์ใช้สัญจรติดต่อกับน่าน-หลวงพระบางมาก่อน

สมัยรัชกาลที่ 5 ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียกทัพไปปราบฮ่อเมืองหลวงพระบาง ก็มาทางเส้นนี้ เมืองพิชัย-เมืองฝาง(อุตรดิตถ์)-ข้ามแม่น้ำขึ้นไปเขตเมืองน่าน ผ่านเมืองหิน (นาหมื่น) เมืองศรีษะเกษ (นาน้อย) เข้าเวียงสา จนไปถึงน่าน แล้วค่อยข้ามไปหลวงพระบางต่อ

สะพานปากนาย ข้ามเขื่อนสิริกิติ์ จะเปลี่ยนเมืองน่าน-อุตรดิตถ์ในรอบ 100 ปี  สมัยโบราณเขาใช้เส้นทางนี้กันทั้งนั้น จนเมื่อราว 100 ปีก่อน เส้นทางประวัติศาสตร์ที่ว่าก็ถูกทางรถไฟสายเหนือไปเด่นชัยแย่งชิงความเป็นทางสายหลัก สำทับด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ขึ้นไปเด่นชัย ลำปาง เชียงใหม่ ตอกย้ำอีกให้ดินแดนนี้เป็นเมืองปิดเข้าไปอีก

พื้นที่น่านใต้และอุตรดิตถ์ตะวันออกโซนนี้ จึงกลายเป็นดินแดนถูกปิดซ้ำแล้วซ้ำอีกจากทั้งทางรถไฟ ทางหลวงแผ่นดิน ตะปูดอกสุดท้ายที่ตอกปิดก็คือ การสร้างเขื่อนสิริกิติ์ก่อให้เกิดทะเลสาบใหญ่ขวางเส้นทางสัญจรเดิม พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นอำเภอแห้งแล้งห่างไกล ส่วนน่านใต้ก็ไม่มีถนนสายหลักสัญจรผ่าน

หลายปีก่อนเป็นเขตภูเขาหัวล้าน เพราะไม่รู้จะทำอะไรกินเพิ่งจะมีการพยายามปรับเปลี่ยนพัฒนาเปลี่ยนเป็นพืชอื่นแซมบ้าง เช่น ยางพารา มะม่วงหิมพานต์ ในระยะ 6-7 ปีมานี้เอง

การจะพัฒนาพื้นที่โซนยากจนที่ถูกปิดชนิดให้ผลเร็วทันตา ก็น่าจะเป็นสะพานข้ามเขื่อนสิริกิตติ์ที่ปากนายนี่ล่ะ เพราะทันทีที่สะพานสร้างเสร็จ การสัญจรจากภาคกลางจะเปลี่ยนมาเป็นสายนี้ และไม่ใช่แค่นั้น สะพานปากนายจะเป็นจุดเชื่อมต่อ ภาคเหนือ-ภาคกลาง-แขวงไซยะบุลี และ ภาคอีสานทางด้านจังหวัดเลย ซึ่งมีถนนเชื่อมโยงจาก ปากนาย น้ำปาด ถึงเขตจังหวัดเลยด้านอำเภอนาแห้วระยะทางไม่ถึง 100 กิโลเมตรเท่านั้น

สะพานปากนายจึงเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ต่อเชื่อมเพื่อเปิดโลกภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ตรงหัวมุมแผนที่ภาคเหนือภาคอีสานและการเปิดประตูน่านใต้ที่น่าสนใจต่อสิ่งที่จะตามมาจากนี้ไป 
ถือว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในรอบ 100 ปีของพื้นที่ลุ่มน้ำน่านโซนใต้ก็ว่าได้ !   

หมายเหตุ : สามารถเข้าไปดูรายละเอียดโครงการสะพานปากนายได้ที่ www.สะพานข้ามเขื่อนสิริกิติ์.com