‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา 'งาน' ทำได้อย่างไร

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา 'งาน'  ทำได้อย่างไร

“ตอนไปสมัครงานสายการลงทุน โดนเรียกไปสัมภาษณ์ เขาพูดเลย...พี่ว่านะ อย่างน้องไม่ควรทำงานสายนี้ เพราะว่าสายนี้ต้องการความน่าเชื่อถือ"

ริสา ศิริวัฒน์ CFA รองผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน บลจ.เกียรตินาคินภัทร เป็นผู้หนึ่งที่มีประสบการณ์การหางานทำที่ไม่เหมือนใคร

ความยากลำบากนี้เอง ทำให้เธอและเพื่อนอีกสองคน ร่วมกันก่อตั้งเพจ Trans For Career Thailand ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือสาวข้ามเพศที่มีปัญหาในการสมัครงาน เช่นเดียวกับเธอ

ใหม่ ริสา เล่าถึงประสบการณ์ในการหางานทำที่ผ่านมาหลายปีว่า

"เราเป็นคนชอบเรียนเลขมาตั้งแต่สมัยมัธยม อยากทำงานด้านการเงินการลงทุน เคยเขียนในหนังสือรุ่นว่า อยากเป็นผู้ว่าแบงค์ชาติ แล้วเรามีเพื่อนสนิทอีกสองคน

ตั้งใจเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะที่นี่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ เราก็ได้เข้าไปแล้วก็เรียนจนจบได้เกียรตินิยมมา"

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร

Cr. Kanok Shokjaratkul

เมื่อเรียนจบมาแล้ว การหางานทำ เป็นขั้นตอนที่ยากลำบาก ริสา กล่าวว่า การสมัครงานของสาว‘ทรานส์’ ไม่ได้ง่ายเหมือนคนทั่วไป

"ตอนไปสมัครงานสายการลงทุน โดนเรียกไปสัมภาษณ์ เขาพูดเลย "พี่ว่านะ อย่างน้องไม่ควรทำงานสายนี้ เพราะว่าสายนี้ต้องการความน่าเชื่อถือ น้องน่าจะไปทำงานเป็นช่างแต่งหน้า หรือสายบันเทิงมากกว่า"

แต่เราไม่ได้ชอบสายนั้น เราสมัครตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ก็โดนปฏิเสธ ยื่นสมัครงานไปเป็นร้อย ๆ แห่ง ก็แทบไม่เรียกเข้าไปคุยเลย

ใบสมัครเรซูเม่ของเรา คำนำหน้านามเป็นนาย แต่รูปเป็นสาวสวย ผมยาว พอเขาเห็นปุ๊บ ก็ไม่เรียกเข้ามาคุยเลย

ตอนหลังเราเปลี่ยนรูป เป็นผู้ชายผมสั้น ก็ถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ แต่เขาตกใจนิดหนึ่งว่า น้องเป็นสาวมาเลย รูปไม่ตรง แต่เข้ามาแล้ว ก็ได้คุย ได้ช่องทางเข้าไปคุย บอกว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง

หัวหน้างานที่เป็นผู้หญิงถูกใจ ก็เลยรับเข้าทำงาน แต่ฝ่ายบุคคล (Human Resource) หันไปพูดกับหัวหน้าว่า จะรับหรือคะ เป็นสาวข้ามเพศ เข้ามาแล้วจะทำให้ภาพลักษณ์ไม่ดีหรือเปล่า

หัวหน้าตอบว่า "ไม่ พี่ฟังแล้วพี่ชอบ พี่ถูกใจคนนี้" เราก็เลยได้ทำงาน ที่ธนาคารแห่งหนึ่ง"

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร Cr. Kanok Shokjaratkul

ริสาก็เลยได้เข้าทำงานที่แรก เพราะหัวหน้างานที่มีความเข้าใจ เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ได้ทำงาน

"ใหม่อยากบอกกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของทุกแห่งว่า การทำงานของ HR คือ การหาคนให้องค์กร ที่เข้ามาแล้วทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพที่เขามี

แต่ถ้าเข้ามาแล้ว ทำไม่ได้เต็มที่ คุณก็ไม่ได้ทำหน้าที่ และกำลังทำให้เกิดผลเสียกับองค์กรอีกด้วย เราโชคดีที่ได้หัวหน้างานสนับสนุน และเข้าใจ

ในช่วงแรกของการทำงาน ฝ่ายบุคคลเอาชุดเครื่องแบบชายมาให้ หัวหน้าก็บอกว่า "ดูน้องสิ เขาจะใส่เหรอ" ซึ่งถ้าถูกบังคับให้ใส่ชุดผู้ชาย ความมั่นใจในการทำงานมันจะหายไป เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา

ทำงานที่แรกอยู่สองปี ก็อยากไปทำงานที่อื่นบ้าง เริ่มหางาน สมัครงาน แต่หาไม่ได้สักที

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร

เผอิญว่า เพื่อนสนิทชื่อกุ้งไปสมัครงานถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ในบริษัทประกันแห่งหนึ่ง ฝ่ายบุคคลกับหัวหน้างาน กำลังอธิบายลักษณะงานให้ฟังว่า จะเป็นอย่างนี้ๆๆ นะ วิเคราะห์การลงทุนโน่นนี่

กุ้งก็บอกว่า "พี่คะ ที่พี่พูดมานี่มันอาจจะไม่ตรงกับที่หนูอยากได้ แต่มีเพื่อนหนูคนหนึ่ง เขาสนใจงานนี้มาก ๆ เลย"

พูดจบก็หยิบเรซูเม่ของใหม่ออกมาจากกระเป๋า มาวางตรงหน้าเลยค่ะ กุ้งเขาพกเรซูเม่ของใหม่ไปด้วย ฝ่ายบุคคลกับหัวหน้างานเห็นแล้ว ก็หยิบขึ้นมาอ่าน

HR บอกว่า คนนี้เคยโทรคุยแล้ว รู้ว่าใหม่เป็นสตรีข้ามเพศ เลยไม่เรียกเข้าไปคุย พี่หัวหน้างานหันไปหา HR บอกว่า แล้วทำไมไม่เรียกมา

เพราะว่าคุณสมบัติของใหม่ตรงกับเนื้องานมากกว่ากุ้งด้วยซ้ำ พี่หัวหน้างานก็เรียกใหม่เข้ามาคุย แล้วก็ได้ทำงาน"

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร

ใหม่บอกว่า วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ บางทีฝ่ายบุคคลอาจจะไม่ได้มีอคติกับสาวข้ามเพศ แต่คิดไปเองว่า หัวหน้าอาจจะไม่เอา อาจจะไม่ชอบ ก็เลยไม่เรียกมาคุย

“จากประสบการณ์ของใหม่ พบว่า หัวหน้างานไม่ค่อยสนใจเรื่องเพศเท่าไร ดูแค่คุณสมบัติว่าตรงไหม แต่ส่วนมากเรามักจะโดนฝ่ายบุคคล สกัดตั้งแต่แรกมากกว่า

ซึ่งองค์กรไหนที่เปิดกว้าง เรียกสตรีข้ามเพศเข้ามาคุย เข้ามาสัมภาษณ์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อย่างบริษัทเกียรตินาคินภัทรที่ใหม่ทำอยู่ ตอนที่อยากทำเรื่องนี้ เขาเข้ามาคุยกับใหม่โดยตรงเลย  บอกว่าพี่ไม่มีความรู้ แต่พี่อยากจะทำ ใหม่มีอะไรแนะนำบ้างไหม ใหม่บอกเลย มันควรจะมีอย่างนั้นอย่างนี้

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร Cr. Kanok Shokjaratkul

ท้ายที่สุด ตอนนี้เกียรตินาคินภัทรมีนโยบาย มีสวัสดิการ มีลาไปการแต่งงานกับเพศเดียวกัน ทำได้แล้ว และไม่ต้องกลัวว่าจะแต่งบ่อย เพราะเราให้แต่งครั้งเดียว แล้วก็เป็นกับทุกเพศ

ไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะเพศเดียวกัน ซึ่งการสร้างนโยบายหรือสวัสดิการแบบนี้ มันทำได้ อยากให้ฝ่ายบุคคลทุกแห่งลองไปทำดู"

ยังมีสตรีข้ามเพศอีกมากมาย ที่เจอปัญหาการสมัครงานเช่นเดียวกับใหม่ การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดรับความแตกต่าง

จะทำให้องค์กรเกิดความเข้มแข็ง มีการปกป้องซึ่งกันและกัน สุดท้ายเราจะรักองค์กรของเรามาก ๆ และอยากทำงานที่นี่ต่อไป

‘ริสา ศิริวัฒน์’ สาวข้ามเพศ หา \'งาน\'  ทำได้อย่างไร

เป็นที่มาของพวกเราสามคนรวมตัวกันตั้งกลุ่มและเพจชื่อว่า Trans For Career Thailand เริ่มจากตั้งคำถามว่า ทำไมไม่เห็นสตรีข้ามเพศทำงานในส่วนอื่น ๆ บ้าง 

"ถ้าถามว่า สตรีข้ามเพศอยากเป็นนางโชว์อย่างเดียวเหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะ มีเพื่อนหลายคนที่เรียนจบสายที่ชอบแล้ว แต่ไม่ได้ทำงานต่อ เราโชคดีที่หางานทำตรงกับสายที่เราชอบได้

ยังมีอีกหลายคน ที่จบเศรษฐศาสตร์ บัญชี นิติศาสตร์ แต่ไม่สามารถทำงานตรงกับสายที่อยากทำ เราอยากเป็นสื่อกลาง

เปิดการสื่อสาร ให้คำแนะนำน้อง ๆ ในการสมัครงาน เพื่อให้สังคมรู้ว่าสตรีข้ามเพศมีความสามารถทำงานได้มากหลากหลาย

หลังจากเปิดเพจแล้วทำมาเรื่อย ๆ ก็มีฟีดแบคกลับมาว่า ขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ อยากปรับเรซูเม่ หรือเวลาไปสัมภาษณ์ต้องสื่อสารอย่างไร ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง"