'น่าน' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น 'นักสื่อเสียงสุขภาวะ' รุ่นแรกในไทย

'น่าน' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น 'นักสื่อเสียงสุขภาวะ' รุ่นแรกในไทย

"น่าน" นอกจากเป็นเมืองน่าเที่ยวแล้ว ยังเป็นเมืองสุขภาวะต้นแบบ ที่มีทั้ง "นักสื่อเสียงสุขภาวะ" รุ่นแรกในไทย และยังมีสามเณรเป็นจิตอาสารุ่นใหม่ร่วมออกแบบเมืองให้น่าอยู่ไปด้วยกัน

หากใครมีวัยเลย GenY ค่อนไปทาง X หรือ Baby Boomer เสียงของดีเจอาจยังก้องอยู่ในหูหรือความทรงจำอยู่บ้าง ถึงแม้วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนเป็นยุคดิจิทัล แต่ในอีกหลายพื้นที่ที่ยังห่างไกลความเป็นเมือง ยังคงมีเสียงดีเจของ "วิทยุชุมชน" คลอเคล้าเช่นวันวาน เพราะความเข้าถึงแบบใกล้ชิดนี่เอง ที่ทำให้วันนี้ดีเจวิทยุชุมชนเสียงใสหลายคนกำลังยกระดับตัวเองไปเป็น "นักสื่อเสียงสุขภาวะ"

ปั้นนักสื่อเสียงสุขภาวะรุ่นแรกของไทย

เช่นกันที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน วิทยุชุมชนยังคงถูกใช้เป็นช่องทางการสื่อสารสำคัญภายในท้องถิ่น โดยเฉพาะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลัก ที่เป็นพ่อแม่ หรือตายาย โดยส่วนใหญ่ที่ยังเปิดหูรับฟังเพลงหรือข่าวสาร สาระบันเทิงต่างๆ ตามความชอบใจผ่านเสียง ซึ่งเสียงของดีเจในชุมชนอย่างสถานีวิทยุเสียงใสเรดิโอ FM 100.75 MHz จังหวัดน่านนั้น ยังคงกระหึ่มทั่วทิศ และยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านสื่อเสียงที่ผู้สูงวัยในพื้นที่ยังเปิดใจรับสารจนถึงวันนี้

จันทิมา ตรีเลิศ ผู้รับผิดชอบโครงการพลังเครือข่ายนักสื่อเสียงเพื่อขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ กลุ่มคนตัว D เปิดประเด็นว่า ได้เริ่มต้นโครงการปี 2559 เป็นการรวบรวมเครือข่ายนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่นในชุมชน ช่วงแรกเน้นการสร้างเครือข่าย และการเติมความรู้ ซึ่งประเด็นที่ทำในตอนแรกๆ คือประเด็นจิตอาสาและความรู้ด้านสุขภาพ เวลาลงพื้นที่จะเจาะเฉพาะประเด็น เช่น PM 2.5 เราก็จะเชื่อมประเด็นกับผู้ที่มีความรู้หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่อง PM 2.5 ให้ หรือเรื่อง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

จันทิมา เผยผลงานการดำเนินงานต่อเนื่องกว่า 6 ปี ว่า นักสื่อเสียงสุขภาวะ ยังถูกกระจายผ่านเครือข่ายนักจัดรายการ วิทยุชุมชน ไปใน 10 พื้นที่ ปฏิบัติการ 66 สถานี และกำลังเดินหน้าไปสู่เครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาครวม 200 กว่าสถานี ใน 42 จังหวัด ในเฟสต่อไป

จันทิมา กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชาชนในจังหวัดน่าน ที่สำรวจโดยนักสื่อเสียงสุขภาวะสร้างคนไทยหัวใจฟู ปี 2565 ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ NCDs ถึง 50% อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่สำคัญคือ มีการแชร์ข่าวปลอม ส่งต่อโฆษณาสินค้าสุขภาพที่เกินจริงก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้การออกแบบการสื่อสารของนักสื่อเสียงสุขภาวะมุ่งเน้น 5 เรื่อง คือ 1) ส่งเสริมกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ให้ตระหนักถึงการออกกำลังกาย 2) ลดพฤติกรรมกินหวาน มัน เค็ม 3) ทุกช่วงวัยควรมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 4) รู้เท่าทันสื่อ และ 5) อันตรายของฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ เริ่มดำเนินการใน 3 พื้นที่ คือ ตำบลท่าวังผา ตำบลป่าคา และตำบลจอมพระ โดยได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กิจกรรมการเต้นออกกำลังกาย กิจกรรมรู้ทันสื่อลดข่าวลวง

นักสื่อสารแห่ง "เสียงใสเรดิโอ"

จันทิมา กล่าวถึงเครือข่ายนักสื่อเสียงใสว่า การที่มีสื่อในมือทำให้มีประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ มีเครือข่ายความรู้ ทำให้สามารถหาบุคลากรที่มีความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงสรรหาอาสาสมัคร หรือหาทรัพยากรในท้องถิ่นจัดกิจกรรมให้ได้ ทำให้เราแทบไม่ต้องเสียงบประมาณเลย แต่สามารถขยายผลไปได้ ซึ่งวันนี้ยังสามารถขยายแกนนำสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนไปได้แล้วถึง 110 คน

ปิยะฉัตร พูลทรัพย์ แกนนำเครือข่ายนักสื่อเสียงสุขภาวะจังหวัดน่าน เล่าถึงอำเภอท่าวังผาพื้นที่และชุมชนจัดรายการวิทยุชุมชนว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาผู้ป่วยความดัน เบาหวาน และภาวะซึมเศร้า ถ้าเราได้เข้าไปพูดคุย ฟังความคิดเห็น และแนะนำเรื่องสุขภาพ ก็อาจทำให้เขาปรับพฤติกรรมได้ ก่อนขยายมาทำกิจกรรมร่วมกัน เราเลือกผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านพัก ด้วยช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 มีลูกหลานส่วนใหญ่ที่ไม่ได้กลับบ้าน ผู้สูงอายุจึงมีความเครียด เงียบเหงา ก็เลยชวนมาร่วม โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรายการวิทยุ มาพบกันทำกิจกรรมพับเหรียญโปรยทาน ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ลูกประคบ ออกกำลังกายสลับกันไปบ้าง ซึ่งแรกๆ ก็มีมาแค่ 3-4 คน ต่อมาก็ชวนกันมามากขึ้น

"เริ่มที่ความอยากของเราอยากได้รายการดีๆ พวกรายการเด็กมาอยู่ในรายการ แล้วเขามาชวนเราไปทำ แรกๆ ก็งงนิดหนึ่ง แต่ก็มองว่าเป็นประโยชน์กับชุมชนเราเลยทดลอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในพื้นที่มีแต่ผู้สูงอายุทำให้เรามองปัญหาหลักของเขาก็คือเรื่องโรคเกี่ยวเบาหวาน ความดัน โรคไต หรือกลุ่ม NCDs" ปิยะฉัตร กล่าว

\'น่าน\' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น \'นักสื่อเสียงสุขภาวะ\' รุ่นแรกในไทย ดึงสามเณรเป็นพลังร่วมออกแบบน่านเมืองสุขภาวะ

อีกโครงการหนึ่ง ที่นอกจากการตอกย้ำว่า "เมืองเป็นของทุกคน" แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพของคน โดยการโน้มนำ "บุคคล" ที่ใครๆ มักหลงลืมมาเปลี่ยนเป็นพลังจิตอาสาด้านสุขภาพใจ และยังเปลี่ยนทัศนคติมุมมองของสังคมและชุมชนไปตลอดกาลคือ การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ให้เป็น Active Citizen ผ่านกิจกรรม "สามเณรน่านร่วมออกแบบเมือง" ที่ดำเนินการโดยกลุ่มสามเณร จำนวน 180 รูป ร่วมกันใช้ทักษะเท่าทันสื่อ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะความสามารถในการเข้าถึง เข้าใจและคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรู้เท่าทันตนเอง เท่าทันสังคมและเท่าทันสื่อ ทั้งออกแบบกิจกรรมและการสื่อสารโดยใช้สื่อวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมาสื่อสาร นำไปสู่บทบาทของการเป็นนักสื่อสารสุขภาวะที่เท่าทันสื่อ ที่มีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของอัตลักษณ์ที่หลากหลายในชุมชน

กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในโครงการเยาวชนพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ ร่วมสร้างเมืองของทุกคน โดยได้ดำเนินงานในโรงเรียนปริยัติธรรม 3 แห่ง ที่น่าน พัฒนากิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ สามเณร Care Giver ผู้ดูแลสุขภาพชุมชน ที่โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา อำเภอเชียงกลาง โดยร่วมกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน และจิตอาสา ดูแลผู้ป่วยติดเตียง สร้างสรรค์สื่อศิลปะ จัดทำการ์ด และตระกร้าเยี่ยมผู้ป่วย เกิดกองทุนผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน และผู้สูงอายุในชุมชน หรือที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดนิโครธาราม อำเภอท่าวังผา ได้ร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนากิจกรรม "หนองบัว-เมืองล้า แบรนด์ by สามเณร" ออกแบบตราสัญลักษณ์บนผลิตภัณฑ์ที่เคารพความหลากหลายของอัตลักษณ์ที่สืบสานมาจากไทลื้อเมืองล้า อาทิ คราฟโซดา (ลื้อซ่า) การทอผ้า เรือนไทลื้อ สร้างเศรษฐกิจบนฐานของชุมชน

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนให้ข้อมูลว่า ต้องการเน้นเมืองมีส่วนร่วม จึงพยายามเจาะไปในพื้นที่กลุ่มคนที่ขาดโอกาสไม่มีส่วนร่วมกับสังคม หรือคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมือง สังคมและชุมชน เช่นกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

โดยประสบการณ์การลงทำงานในจังหวัดน่าน "เข็มพร" ยังพบว่า เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่สังคมมักมองข้ามไปเสมอ จนอาจทำให้พวกเขาไม่รู้สึกถึงความมีตัวตน หรือแม้แต่เห็นคุณค่าในตัวเองนั่นคือเยาวชนสามเณร

"สามเณรในจังหวัดน่านและในหลายจังหวัด เรามองว่าเขาเป็นกลุ่มเยาวชนเปราะบางที่ขาดโอกาสทางสังคม เพราะโดยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองไม่มีเงินส่งเสียการเรียน หรือบางรายอาจไม่มีเอกสารในการเรียนต่อเลยต้องมาบวชเพื่อหาโอกาสเล่าเรียนแทน เราก็มองว่าเขาเป็นกลุ่มที่ถูกละเลย แทนที่จะเป็นเยาวชนที่มีส่วนร่วมในสังคม หรือชุมชน"

\'น่าน\' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น \'นักสื่อเสียงสุขภาวะ\' รุ่นแรกในไทย

เข็มพร ยังกล่าวเพิ่มว่า เราอยากให้ในชุมชนมีบทบาทเพื่อที่จะสื่อสารกันซึ่งจริงๆ แล้วในยุคนี้ เด็กกับผู้สูงวัยอยู่ห่างกันเหมือนโลกคนละใบ แต่กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่าสามเณรสามารถเชื่อมไปสู่ผู้สูงวัยได้อย่างกลมกลืน และได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกันในฐานะเยาวชน กิจกรรมนี้ยังทำให้เยาวชนสามเณรกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองก็มีบทบาทต่อสังคมนี้เหมือนกัน เขาเริ่มเห็นคุณค่าตัวเอง และอยากทำอะไรยิ่งใหญ่ในอนาคต ซึ่งทราบมาว่าช่วงแรกของการทำกิจกรรมแคร์กิฟเวอร์ยังมีพระอาจารย์พาไป แต่ตอนหลังไปกันเอง ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุก็รู้สึกกระชุ่มกระชวย สดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะเด็กมีความสดใสเป็นเสน่ห์ ทำให้นึกถึงลูกหลาน

สามเณรเกรียงไกร ยาวุธ หรือ สามเณรบอล โรงเรียนเชียงกลางปริยัติศึกษา อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน เล่าว่า ตอนแรกที่ให้ทำกิจกรรม ตนเองไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ พอไปถึงก็คุยให้เขาคลายเครียด แรกๆ ยอมรับว่าเบื่อ แต่หลังๆ รู้สึกภูมิใจที่ทำได้ ผมว่ากิจกรรมนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้ป่วยก็มีกำลังใจมากขึ้น ส่วนเราเองมีความสุขที่ได้ไปมอบความสุขให้คนอื่นๆ ทำให้จิตใจแจ่มใส เพราะแค่เห็นเขายิ้มก็มีความสุข มันเหมือนเราได้ทำอะไรให้คนอื่น ก็คิดว่าอยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ ยอมรับว่าตั้งแต่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ทำอะไรเยอะขึ้น แต่อยากทำตรงนี้ให้ดีที่สุดก่อน แล้วอยากขยายไปทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป

\'น่าน\' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น \'นักสื่อเสียงสุขภาวะ\' รุ่นแรกในไทย ยินดีจั๊ดนัก คน "น่าน" รวมพลังสานสุข

ด้วยศักยภาพความเข้มแข็งของพลเมือง "น่าน" โดยมี 2 พื้นที่ข้างต้น ที่มีผลลัพธ์เชิงรูปธรรมเป็นบทพิสูจน์ ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายจังหวัดน่าน ที่สะท้อนผลสำเร็จของผลงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสและทางเลือกให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงสื่อและองค์ความรู้ที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้สุขภาพอย่างยั่งยืน

ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวในการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ยินดีจั๊ดนักรวมพลังสานสุข ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ว่า สสส. มุ่งพัฒนาพลเมืองในด้านทักษะเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล และความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้สุขภาวะและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ทักษะการใช้สื่อ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติในการปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมสุขภาวะ

"น่าน" เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงเป็น 1 ใน 36 พื้น ที่นำร่องจากทั่วทุกภูมิภาค จุดเด่นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ความเป็นเมืองที่มีความหลากหลายวัฒนธรรม รวมถึงมีฐานวัฒนธรรมและชุมชนที่เข้มแข็ง หากสามารถสร้างพลเมืองที่มีความพร้อมที่จะออกแบบชุมชนให้กับทุกคน เป็นพลเมืองที่ใส่ใจคนรอบข้าง ทำให้ชุมชนเป็นเมืองที่รับผิดชอบสังคม พร้อมสำหรับทุกคนก็จะเป็นเมืองที่มีความสงบสุข ด้วยแนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการสนับสนุน เสริมแกนนำนักสื่อสารสุขภาวะที่มีทักษะการออกแบบ และสำนึกจิตสาธารณะ รวมถึงมีความรู้เท่าทันสื่อ ไม่เชื่อข่าวปลอม มีกระบวนการไม่ใช่แค่กลั่นกรองเป็น แต่ต้องรับรู้ เข้าใจคิดวิเคราะห์เองได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ภาคีเชื่อว่าจะทำให้เกิดพลเมืองที่รับผิดชอบสังคมของ สสส.

"สสส. คิดว่า ถ้าสามารถทำให้เกิดความเชื่อมโยงของประเด็นต่างๆ บูรณาการเข้าด้วยกันเป็นภาพรวมใหญ่ น่าจะกลายเป็นเมืองที่มีความเป็นจิตอาสาสูง ร่วมกันออกแบบเมืองของตัวเองได้ก็จะได้เห็นภาพที่น่านเป็นต้นแบบของเมืองสุขภาวะทั้งเมือง" ดร.จิรพร กล่าวทิ้งท้าย

\'น่าน\' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น \'นักสื่อเสียงสุขภาวะ\' รุ่นแรกในไทย
\'น่าน\' เมืองสุขภาวะต้นแบบ ปั้น \'นักสื่อเสียงสุขภาวะ\' รุ่นแรกในไทย