Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก

Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก

ในสังคมที่ทุกคนสามารถมีสิทธิ์และมีเสียงเท่าเทียมกัน เสียงของเด็กจึง "มีค่า" แต่บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่มักละเลยที่จะฟังเสียงเด็ก จึงนำมาสู่โครงการ Youth Policy Lab 2023 เพื่อให้เด็กสามารถออกแบบนโยบายเพื่อเด็กได้

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เด็กและเยาวชนเองก็มีเสียงและมีโอกาสในการแก้ปัญหาของพวกเขาเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือรอรับฟังแต่เสียงคำสั่งของผู้ใหญ่? แนวคิดดังกล่าวนี้เอง นำมาสู่โครงการดีๆ อีกหนึ่งโครงการ "Youth Policy Lab 2023 ห้องทดลองออกแบบนโยบายโดยเด็กและเยาวชนเพื่อเด็กและเยาวชน" ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายเด็ก-ครอบครัว (คิด for คิดส์) 101PUB และ LUKKID จัดขึ้นโดยหวังเปิดเวทีเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้ "มีส่วนร่วม" ออกแบบนโยบายแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการฝึกประสบการณ์ด้วยสองเครื่องมือกระบวนการคิดสร้างคนอย่าง Design Thinking และ System Thinking

Youth Policy Lab 2023 เกิดขึ้นจากมุมมองในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก-เยาวชน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครเข้าใจได้ดีกว่าตัวเด็ก-เยาวชน โดยเด็ก-เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 คน แบ่งเป็น 6 ทีม ร่วมออกแบบนโยบายที่ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนกับผู้ชำนาญ และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน จนทำให้ได้ข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาโจทย์ ทั้งเรื่องสุขภาพจิต ทำอย่างไรให้สังคมกรุงเทพฯ เป็นมิตรต่อสุขภาพจิต ออกแบบระบบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก ให้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพทั่วถึง เท่าเทียม และอนาคตการทำงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ ความท้าทายใหม่ๆ ในตลาดแรงงานที่พวกเขาต้องเผชิญ

Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก

แม้ว่า Youth Policy Lab 2023 จะเป็นห้องปฏิบัติการนโยบายหน่วยเล็กๆ ของสังคม แต่หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ การนำแนวคิดการรับฟังเสียงของประชาชน "ตัวเล็ก" มาใช้ออกแบบนโยบาย

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า เริ่มจากที่คิด for คิดส์ เป็นศูนย์วิชาการของสำนัก 4 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สภาเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นเด็กเยาวชนอายุ 15-25 ปี กว่า 20,000 คน จากทุกภูมิภาค พบ 3 ประเด็นที่กระทบความสุขของเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) การศึกษาที่มองว่ายังเข้าถึงยาก เฉพาะในกรุงเทพฯ มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษากว่า 2,500 คน จากเหตุไม่มีเงิน โรงเรียนอยู่ไกล มีความสามารถไม่พอ 2) ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี เผชิญปัญหาสุขภาพจิต เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย และพบว่าโรคซึมเศร้าบั่นทอนชีวิตเยาวชนมากกว่าช่วงวัยอื่น 3) งานหายากโดยเฉพาะงานที่ถูกใจ โดยปัจจัยเรื่องทักษะ เส้นสาย และเงิน เป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จด้านการทำงาน โดย 3 ประเด็น ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในห้องปฏิบัติการนโยบาย ซึ่งทาง สสส. และภาคียังเปิดโอกาส ให้เด็กและเยาวชนได้ทดลองออกแบบนโยบายและนำร่องปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเปิดรับโครงการเมื่อก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 84 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ 30 คน ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้คิด ทดลองทำ

Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก

ล่าสุดเยาวชนทั้ง 6 ทีม ยังได้มีโอกาสมานำเสนอนโยบายที่ได้ออกแบบมา ให้บรรดาผู้ใหญ่ร่วมรับข้อเสนอนโยบายและร่วมแสดงความคิดเห็นใน Demo day ซึ่งงานนี้ยังได้ทีมผู้ใหญ่จากทีมผู้บริหาร กทม. มาร่วมรับฟังและรับข้อเสนอของเด็ก-เยาวชนที่น่าสนใจ เพื่อนำสู่การขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไปด้วย

"โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากวัตถุประสงค์ที่เห็นว่า ที่ผ่านมาโครงการแนวแก้ปัญหาให้กับเยาวชนมีคนทำเยอะแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือ เยาวชนเองเขาคิดอย่างไร มองปัญหาของเขาอย่างไร และอยากได้ความช่วยเหลือ หรือควรทำแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ที่ป้องกันปัญหาเขาได้จริง ซึ่งเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่คนอื่นคิดแทนเยาวชนไม่ได้ เราเลยอยากให้เป็นจุดเด่นของงานนี้ จึงใช้ชื่อโครงการว่าห้องทดลองนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนโดยเยาวชน" ณัฐยา กล่าว

Youth Policy Lab 2023 จึงเป็นการนำแนวทางหรือแนวนโยบายแก้ปัญหาและความต้องการของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง ซึ่งณัฐยาเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยเติมเต็มโครงการแก้ปัญหาหรือนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาเยาวชนโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่เยอะแล้ว

"เราจะมีเครื่องมือสำคัญสองตัวคือ Design Thinking กับ System Thinking มาอบรมให้ความรู้แก่เขา สำหรับ System Thinking เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้น้องๆ วิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมด ทั้งระบบได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่เขาต้องไปสัมภาษณ์ ศึกษาข้อมูลจากคนหลายคน ขณะที่ Design Thinking คือกระบวนการที่เขาต้องไปเก็บข้อมูลโดยตรงจากเยาวชนที่เผชิญปัญหานั้น Design Thinking จึงช่วยให้เขาขุดลึกว่า ในแต่ละบุคคลพบเจอ pain point อะไรและอยากได้อะไรมาเป็นตัวช่วย"

Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก

ณัฐยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ทำให้กลุ่มเยาวชนนักคิดเรียนรู้สองวิธีการนี้ จะช่วยให้น้องๆ สามารถเห็นภาพมุมมองที่กว้างขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมความต้องการระดับบุคคลด้วย

"แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของงานนี้คือ ความต้องการของระดับบุคคล เพราะเวลาที่น้องๆ เขาคิดสร้างสรรค์นโยบายหรือคิดไอเดียออกมา ก็ควรจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาระดับบุคคล ส่วนในเรื่องนโยบายนั้นมองว่าอย่าง กทม.เองก็มีคณะทำงานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตความปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งเป็นการมองภาพใหญ่ในเชิงระบบอยู่แล้ว โดยในท้ายที่สุดอยากให้เยาวชนเหล่านี้มาเป็นคณะทำงานร่วมกับกทม. โดยใช้มุมมองจากมุมมองเยาวชนที่ประสบปัญหาแล้วเขาก็จะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ โดยร่วมมือกับผู้ใหญ่ในหน่วยงานอื่นๆ ต่อ"

อีกหนึ่งหัวใจของโครงการนี้คือ การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ณัฐยาอธิบายว่า การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายแตกต่างและไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมเฉยๆ หรือ Meaningful Participation

"เรามองว่าการมีส่วนร่วมอย่างเฉยๆ ไม่สามารถนำไปสู่อะไรเลย เช่น การเชิญเยาวชนสองคนมาเป็นตัวแทนฝ่ายเยาวชนในที่ประชุมผู้ใหญ่ ซึ่งอาจแค่ถามความเห็นของเขา เขาอาจตอบคำถามด้วยความไม่เข้าใจลึกซึ้งพอ แต่สุดท้ายข้อสรุปการประชุมที่ได้ก็ยังคงเป็นมุมมองจากผู้ใหญ่เหมือนเดิม ไม่ได้มีเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ"

การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของเยาวชน จึงเป็นมากกว่าแค่การที่เยาวชนมาบอกว่าตนเองต้องการอะไร หรือต้องการมาส่งเสียงเท่านั้น หากได้มีส่วนร่วมในการออกแบบแก้ปัญหาของเขาด้วยตัวเอง

"สสส. เชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ได้มีส่วนร่วม จะช่วยลดความอึดอัดและความขัดแย้งได้ โดย สสส. จะนำบทเรียนที่ได้รับจากโครงการในครั้งนี้มาต่อยอดดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆ หลังจากจบการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว จะได้จัดทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาผลักดันร่วมกันต่อไป" ณัฐยา กล่าว

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ร่วมขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกับ สสส. มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการนี้ เน้น 3 ประเด็นปัญหาที่กทม.ให้ความสำคัญเร่งด่วนเช่นกัน รวมถึงการศึกษาที่ยังเหลื่อมล้ำ

"กทม. กำลังเดินหน้าขยายโอกาสให้ครอบคลุมเด็ก-เยาวชนอย่างเท่าเทียม พัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการประกอบอาชีพในฝันของเด็ก ส่วนเรื่องสุขภาพจิต เน้นป้องกันมากกว่าเยียวยาส่งเสริมการปกป้องสิทธิ เช่น การแต่งกาย ทรงผม จะช่วยลดภัยคุกคามทางใจของเยาวชน สำหรับการเปิดพื้นที่ให้เจ้าของปัญหาได้มาออกแบบนโยบายแก้ไข จะตอบโจทย์เยาวชนมากที่สุด ทางกทม.มาร่วมรับฟังทั้งฝ่ายราชการ-ฝ่ายการเมืองจะรับข้อเสนอไปปรับ สู่การขับเคลื่อนจริงในพื้นที่ กทม."

Youth Policy Lab 2023 เมื่อเด็กออกแบบนโยบายเพื่อเด็ก