เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง

เปิดความหมายเสื้อสเวตเตอร์ของประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี พร้อมตรีศูลยูเครน ชุดทางการเมืองที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

การเยือนประเทศอย่างเป็นทางการในระดับผู้นำประเทศฝ่ายบริหาร การแต่งกายมีรูปแบบและธรรมเนียมนิยมการสวมใส่ เพื่อแสดงการให้เกียรติบุคคลหรือไม่ก็สถานที่ หากไม่ใช่ชุดแต่งกายประจำชาติ โดยธรรมเนียมปฏิบัติฝ่ายชายมักสวมสูทตามแบบสากลนิยม

แต่ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) แห่ง ยูเครน กลับสวมเพียง เสื้อสเวตเตอร์สีเขียวมะกอก กับ กางเกงทรงคาร์โก (cargo pants) กางเกงที่ออกแบบมาสำหรับทหารพลร่มที่มีมากถึง 6 กระเป๋า ในการเยือนนานาประเทศอย่างเป็นทางการเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางการทูตต่อปัญหาสงครามที่ถูกกองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง เซเลนสกีในเสื้อสเวตเตอร์ กับ ไบเดนในชุดสูท (credit: AFP)

ประธานาธิบดียูเครน เดินทางออกนอกประเทศบ้านเกิดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การรุกรานของรัสเซียเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยบินไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2565 เพื่อพบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และกล่าวคำปราศรัยต่อสภาคองเกรส

เซเลนสกี เดินเข้าทำเนียบขาวด้วย เสื้อสเวตเตอร์สีเขียวมะกอก กางเกงคาร์โกสีกากี รองเท้าบู๊ต ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนรอต้อนรับในชุดสูทสีกรมท่า เนคไทลายทางสีน้ำตาลสลับเหลืองบนเชิ้ตขาว สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสวมเทรนช์โค้ตแขนยาวเป็นทางการสีฟ้าพาสเทล

ทวิตเตอร์บางบัญชีแสดงความเห็นว่า ประธานาธิบดียูเครนเดินทางเยือนทำเนียบขาวแต่เหมือนแต่งตัวไปแคมปิ้ง

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง คิงชาร์ลส์ที่ 3 กับ ประธานาธิบดียูเครน (credit: AFP)

เช่นเดียวกับการเข้าเฝ้า กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ณ ห้อง 1844 ของพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ประธานาธิบดียูเครนยังคงสวมเสื้อสเวตเตอร์ขนแกะสีเขียวมะกอก

ตลอดจนการเข้าเฝ้า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่นครวาติกัน และเข้าพบ จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เซเลนสกีก็สวม สเวตเตอร์ แต่เปลี่ยนเป็นสีดำ

รวมทั้งการเข้าพบผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 ในการประชุมสุดยอดที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2566 ประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ยังคงสวมแจ๊กเก็ตฟลีซสีเขียวมะกอกกับกางเกงคาร์โก

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง เซเลนสกีเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (credit: Vatican News)

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง เซเลนสกีกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี

 

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี สร้างกระแสด้วยการสวมชุดโทนสีเขียวมะกอกและสีกากีในทุกสถานที่ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มการรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เขาละทิ้งลุคสูทสีดำทั่วไปที่เคยใส่บ่อยๆ และเปลี่ยนลุคเป็นลุคทหารที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว เสื้อสเวตเตอร์คอกลมผ้าฟลีซ (ขนแกะทอ) และเสื้อยืด จับคู่กับกางเกงคาร์โกสีเข้ม

ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพของยูเครน เซเลนสกีสามารถสวมเครื่องแบบทหารประจำชาติได้ แต่เขาเปลี่ยนชุดของเขาเป็นชุดพลเรือนที่ผ่อนคลายมากขึ้นด้วยโทนสีทหาร

ตั้งแต่วันแรกของสงคราม เขาสวมเสื้อยืดแขนสั้นสลับกับสเวตเตอร์สีเขียวมะกอก ทับด้วยแจ๊คเก็ตผ้าทอขนแกะสีกากีในวันที่อากาศหนาวเย็น พร้อมกับกางเกงคาร์โก้และรองเท้าผ้าใบในโทนสีเดียวกัน

“นี่คือรองเท้าผ้าใบราคาถูกมาก บ่งบอกถึงความเรียบง่าย” Tanya Solovey นักวิจัยประวัติศาสตร์แฟชั่นและอดีตนักข่าวของ Vogue กล่าวกับ AFP ถึงรองเท้าผ้าใบของเซเลนสกี

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง เซเลนสกีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่การประชุม G-7 ฮิโรชิมา

สำหรับเสื้อยืด สเวตเตอร์ และแจ๊คเก็ตที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีเลือกสวมใส่นี้เมดอินยูเครน เป็นของ M-Tac แบรนด์เสื้อผ้าในประเทศยูเครนซึ่งก่อตั้งในปี 2548 และเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้ายุทธวิธีทางทหาร อุปกรณ์การต่อสู้ ชุดลำลอง ให้กับกองทัพยูเครนติดต่อกันถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปี

ในช่วงแปดเดือนแรกของสงคราม ประชาชนชาวยูเครนได้ติดตามการแต่งกายในตัวผู้นำของเขา แม้แต่พลเรือนที่อยู่ห่างไกลจากแนวหน้าก็ยังนำการแต่งกายสีกากีของประธานาธิบดีเซเลนสกีมาใช้เป็นอาวุธในการสื่อสาร

ชาวยูเครนพูดกันว่า 'ประเทศของฉันกำลังต่อสู้ และฉันก็สวมชุดที่เรียบง่ายและสะดวกแบบเดียวกับคนที่ลงไปหลบภัยใต้ดิน'

“หลายคนเริ่มสวมชุดสีกากีซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพของเรา วิธีนี้ทำให้เราไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นและให้ความสนับสนุนในสิ่งที่เราทำได้” เดนิส วัย 30 ปีกล่าวกับ AFP เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ขณะเดินในเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ด้วยแจ๊คเก็ตดีไซเนอร์สีกากี

เทรนด์สีเขียวมะกอกได้รุกรานแฟชั่นของผู้หญิงเช่นกัน ตั้งแต่ปลายนิ้วที่ตกแต่งอย่างสวยงามไปจนถึงเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ

เสื้อสเวตเตอร์ประธานาธิบดียูเครน อาวุธการสื่อสาร คำแถลงการณ์ทางการเมือง สัญลักษณ์ตรีศูลยูเครน

บนเสื้อยืดและเสื้อสเวตเตอร์สีเขียวมะกอกของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ยังประดับไว้ด้วยตราสัญลักษณ์เล็กๆ เรียกว่า ตรีศูลยูเครน ซึ่งเป็นตราแผ่นดินของยูเครน ตรานี้มีประวัติอันยาวนานกว่าพันปีหรือมากกว่านั้น มีความหมายและรำลึกถึงเหตุการณ์ที่กล้าหาญในอดีตของนักรบยูเครนที่ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 รัฐสภายูเครน Verkhovna Rada ได้อนุมัติตราสัญลักษณ์ ตรีศูลยูเครน ให้เป็นหนึ่งในสามสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของรัฐยูเครน นั่นก็คือ ธงชาติยูเครน เพลงชาติยูเครน และ ตรีศูลยูเครน ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ตราสัญลักษณ์นี้ได้รับการประดิษฐานไว้ในรัฐธรรมนูญ

การให้สัมภาษณ์กับ Financial Times เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า เขาตั้งใจสวมเครื่องแต่งกายลักษณะนี้ต่อไปจนกว่าสงครามจะสิ้นสุดลง