เข้าสู่'สังคมสูงวัย'เต็มรูปแบบ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมพร้อมหรือยัง ?

เข้าสู่'สังคมสูงวัย'เต็มรูปแบบ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมพร้อมหรือยัง ?

ประเทศไทยได้เข้าสู่'สังคมสูงวัย' อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว และไม่มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับคนสูงวัย

ปี 2560 เป็นครั้งแรกในประเทศไทยมีประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ เนื่องจากเข้าสู่สภาวะลดการเจริญพันธุ์อย่างรวดเร็ว 

ปี 2565 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 20-30

ปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีสัดส่วนจะเพิ่มสูงถึงร้อยละ 28 มีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 
 

นี่คือปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ  และส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องสภาพแวดล้อมที่อยู่เพื่อผู้สูงอายุ ?

ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นึกถึง อาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิก กรรมการอำนวยการของบริษัท Inter PAC ผู้ริเริ่มและพิธีกรปกิณกะทางโทรทัศน์ รายการ "หมอบ้าน"

เขาเคยจัดตั้งกลุ่มสถาปนิกอาสา-วิศวกรใจดี ออกแบบดีไซน์ในเรื่องการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็ก ปรับปรุงจากมาตรฐานที่ทำไว้หลายครั้ง เตรียมความพร้อมไว้หลายปี โดยผ่านการศึกษา วิจัย ดูงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และทีมงานหลายครั้ง เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ปรับปรุงบ้านเรือน  โดยเอกสารที่เขาทำขึ้น ไม่มีลิขสิทธิ์ใดๆ 

  

เข้าสู่\'สังคมสูงวัย\'เต็มรูปแบบ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมพร้อมหรือยัง ?

ออกแบบให้เหมาะกับช่วงวัย

เขาเชื่อว่า การออกแบบที่ดีต้องเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตของคนแต่ละช่วงวัย ถ้าจะออกแบบสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาล สถาปนิก ต้องมีหน้าที่ออกแบบ เพื่อทำให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่มีความปลอดภัยมากที่สุด คิดและดีไซน์ตั้งแต่หมอพยาบาลเดินเข้ามาหาคนไข้ จะเดินเข้ามาด้านไหน 

"ทำไมหมอพยายามต้องเข้ามาทางด้านขวาคนไข้ เพราะแขนซ้ายของคนไข้จะให้น้ำเกลือ" 

การออกแบบบ้านในอนาคต เมื่อสังคมเปลี่ยน บ้านก็ต้องเปลี่ยนด้วย ปัจจัยรอบด้านเปลี่ยนคนจะกลับเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น 
"คนไทยมีนิสัยชอบซื้อ ไม่ชอบทิ้ง บ้านส่วนใหญ่ของคนไทยข้างนอกสวย ข้างในรกหมด เพราะฉะนั้นการบริหารห้องเก็บของจะสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นลักษณะบ้านทศวรรษหน้า"

ในยุคสมัยที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น จึงจำเป็นต้องออกแบบที่พัก เตรียมความพร้อมเพื่อผู้สูงอายุ เนื่องจากจะมีผู้สูงอายุหลายประเภทที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่ว่ากรณี

  • 1 สมองมีความเชื่องช้าลง
  • 2 ประสาทสัมผัสมีปัญหาหูหนวก ตึง หรือตาแพ้แสง จมูกหายใจขัด
  • 3 ระบบหมุนเวียนโลหิต มีปัญหาจาก stroke หรือเป็นโรคหัวใจ
  • 4 มีปัญหาเรื่องกระดูก ทั้งเรื่อง เข่า ข้อ สะโพก รวมถึงการทรงตัว

เรื่องจำเป็นสำหรับสังคมสูงวัย

หากผู้สูงอายุเหล่านั้น ไม่สามารถดูแลตัวเองได้  การออกแบบที่พักอาศัยจำต้องให้ได้มาตรฐาน หากไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดีไซน์ ก็มีมาตรฐานที่สถาปนิกได้ศึกษา และดีไซน์ออกมาให้คนทั่วไปได้ใช้

ยกตัวอย่าง ภายในห้องน้ำต้องมีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 1.50 คูณ 1.50 เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นกลับตัว โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง ,พื้นห้องน้ำต้องใช้วัสดุไม่ลื่น โดยเฉพาะเมื่อเปียกน้ำ อาจเสริมด้วยแผ่นยาง สติกเกอร์กันลื่น หรือทาน้ำยากันลื่น

ในห้องนอนต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับวีลแชร์ สามารถหมุนตัวกลับแบบวงกลมได้ กรณีที่ไม่สามารถทำได้ มีข้อแนะนำว่า ต้องจัดให้มีพื้นที่หมุนตัวกลับแบบตัวที 

ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องนอนต้ องสามารถควบคุมได้ในระยะที่มือเอื้อมถึงจากเตียง หรือติดตั้งในระดับที่สามารถใช้งานได้ทั้งขณะยืนและนั่งวีลแชร์ เช่น มีโทรศัพท์และกริ่งขอความช่วยเหลืออยู่ใกล้เตียงให้สามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องลุกจากเตียง

มีข้อแนะนำอีกมากมายจากสถาปนิกอาสาในการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุ ไม่ว่าการลบมุมเครื่องเรือนทุกชิ้น ,เครื่องเรือนประเภทตู้เตี้ย ตู้ลอย โซฟา ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงได้และควรหลีกเลี่ยงเครื่องเรือนที่มีล้อเลื่อน

เข้าสู่\'สังคมสูงวัย\'เต็มรูปแบบ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมพร้อมหรือยัง ?

สัญญาณขอความช่วยเหลือ

แม้กระทั่งสัญญาณเตือนภัย นอกจากเตือนด้วยเสียงแล้ว ต้องมีสัญญาณไฟกระพริบด้วย เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสามารถรับรู้ได้

ในห้องส้วมหรือห้องน้ำ ควรติดตั้งระบบสัญญาณเสียงและแสงเตือนเหตุฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือจากภายในห้องสู่ภายนอก โดยเป็นปุ่มกดหรือปุ่มสัมผัส เพื่อให้สัญญาทำงานให้ ติดตั้งในตำแหน่งที่ผู้ใช้เก้าอี้ล้อสามารถเอื้อมถึง และควรติดตั้ง 2 ตำแหน่งที่ความสูง 25 เซนติเมตร และ 95 เซนติเมตร 

ส่วนระดับความดังของเสียงสัญญาณเตือนเหตุฉุกเฉิน ควรดังกว่าค่าเฉลี่ยของระดับเสียงโดยรอบห้อง แต่ไม่ควรเกิน 120 เดซิเบล 

นี่คือหลักการคร่าวๆ ที่ยังมีรายละเอียดอีกมาก เพื่อให้คนไทยได้เตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีผลทางกายภาพโดยตรง เพื่อลดอันตรายที่เกิดขึ้น