"ไม่เทรวม" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

"ไม่เทรวม" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

เชื่อหรือไม่ว่า "แต่ละปี กทม. ต้องใช้งบประมาณจัดเก็บขยะถึง 8,000 ล้านบาท มากกว่างบด้านจัดการศึกษาถึง 2 เท่า" และเพื่อช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง การจัดการขยะ "เลิกเทรวม แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง" จึงสำคัญอย่างยิ่ง

จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 ไทยมี ขยะมูลฝอย รวมกว่า 24.98 ล้านตัน และกรุงเทพมหานครสร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน คิดเป็น 18% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ ปัญหาขยะเป็นเรื่องของพวกเรา "ทุกคน" ฉะนั้น หันมาร่วมมือกัน "เลิกเทรวม" กันเถอะ

จาก BKK Zero Waste ขยับสู่ "ไม่เทรวม"

"ขยะเป็นเรื่องใหญ่ กรุงเทพมหานคร เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการแยกขยะและกำจัดขยะ อย่างปีที่แล้วใช้ถึงถึง 7,000 กว่าล้านบาท"

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า คนกรุงเทพมหานครผลิตขยะเฉลี่ยแล้ววันละหนึ่งกิโลครึ่งต่อคน ขณะเดียวกันในแง่สิ่งแวดล้อม ขยะคือตัวการก่อให้เกิดก๊าซมีเทน เป็นหนึ่งในสี่แหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพมหานคร "ปีหนึ่งทุกคนจะผลิตเฉลี่ยกว่า 800 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าทุกคนไม่ร่วมมือกันสุดท้ายเราจะแก้ปัญหาไม่ได้"

การจัดงานภาคต่อเนื่อง BKK Zero Waste ภายใต้แคมเปญ "ไม่เทรวม" ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แผนงานคนไทย 4.0 และสมาคมโรงแรมไทย ร่วมกันจัดขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการประกาศจุดยืนคนกทม.

ในฐานะพ่อบ้านของมหานครเมืองหลวงแห่งนี้ ผู้ว่า กทม. ชี้แจงว่า การจัดงานครั้งนี้จะแสดงถึงพลังขององค์กรต่างๆ ที่สามารถจัดการขยะโดย ลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง และนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายวิธี ทั้งขยะรีไซเคิลและขยะเศษอาหาร ซึ่งจะช่วยลดขยะที่นำไปกำจัดได้ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดโดยองค์กรหลักของสังคม ได้แก่ โรงเรียน วัด ชุมชน อาคารสำนักงาน และโรงแรม และจะได้ขยายไปยังห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ต่อไป
\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

ขยะไม่เทรวม

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลในแง่ภาคีที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ โดยเอ่ยว่า หนึ่งในสามของอาหารที่เราผลิตได้ด้วยความยากลำบากและราคาแพง คือขยะที่เราทิ้งไปและเผชิญปัญหาการจัดการในทุกวันนี้ ทั้งไม่เพียงก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ “ขยะ” คือหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและสุขภาวะคนไทยโดยเฉพาะช่วงระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก สารพิษในสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน แหล่งน้ำ และย้อนกลับมาก่อปัญหาสุขภาพของประชาชน 

"ปัญหาเรื่องขยะเราทำมานาน มีการรณรงค์ให้ความรู้ และขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่อเนื่อง ซึ่งในบางกลุ่มหรือระดับชุมชนบางแห่งทำได้ดี แต่ในระดับสเกลใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เรามองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำ เรื่องนี้จริงจังและต้องทำอย่างเป็นระบบ คำว่า อย่างเป็นระบบ คือการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ที่มีความยั่งยืนกว่า ไม่ได้แก้ที่จุดใดจุดเดียว การ ไม่เทรวม ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการระบบกลางน้ำที่สำคัญ ซึ่งต้องเริ่มกำจัดตั้งแต่ต้นน้ำเลย คือการไม่ก่อให้เกิดขยะหรือไม่สร้างขยะ เราทุกคนควรสร้างขยะให้น้อยลง บางสิ่งไม่จำเป็นต้องกลายเป็นขยะ นอกจากนี้ หลังเกิดเป็นขยะแล้วควรแยก เพื่อให้กระบวนการปลายน้ำทำงานต่อได้"

\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

ดร.สุปรีดา ให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาในวันนี้ มีจุดน่าสังเกตคือ สิ่งที่จะต่างจากอดีตคือเรามีโครงสร้างขนาดใหญ่ระดับชาติเข้ามารองรับอย่างเป็นระบบ ไม่ได้ทำเป็นกระจุกตัวเหมือนในอดีตที่เราส่งเสริมครัวเรือนไหน ก็บ่นว่าส่งขยะไป ก็ถูกเทรวมอยู่ดี ทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่น ที่จะทำ 

สำหรับในเฟสแรกที่ทาง กทม. นำร่องในสามเขต สสส. ยังมีความร่วมมือกับภาควิชาการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีในชุมชน ไม่ว่าเป็นโรงเรียน วัด ร่วมด้วยผู้ประกอบการภาคเอกชน เช่น โรงแรม บริษัทห้างร้าน ให้ความร่วมมือ

"หากในแต่ละเขตแสดงให้เห็นว่า นโยบายนี้ทำได้จริง และสามารถขยายทั่วกทม. ในระดับประเทศก็จะเป็นโมเดลต้นแบบที่เทศบาลทั่วประเทศไทยได้นำไปใช้พัฒนาพื้นที่ตัวเองต่อไป"

เจาะลึก แยกไปก็เทรวมจริงหรือ?

หนึ่งเสียงสะท้อนจากคนแยกขยะที่ต่างบ่นอย่างทดท้อกันว่า แม้จะแยกขยะไปแล้ว แต่พอถูกเจ้าหน้าที่ขยะเก็บไป ขยะที่แยกนั้นก็ถูกนำไปรวมกันอยู่ดี  

สุธศา พรเพิ่มพูน ผอ.สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล กทม. เป็นผู้ให้คำตอบให้ว่า กทม. มีปริมาณขยะต่อวัน 10,500 ตันต่อวัน ในช่วงก่อนโควิด-19 และลดจำนวนลงไปในช่วงโควิด-19 เหลือ 8,000-9,000 ตันต่อวัน ทว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายก็ดูเหมือนปริมาณขยะกำลังจะไล่ระดับเพิ่มจำนวนขึ้นไปที่ตัวเลขเดิม ในขยะร้อยเปอร์เซ็นต์เราจะพบว่ามีขยะที่ย่อยสลายได้ประมาณ 55% ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ 35% แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ 35% ที่ว่านั้นกลับโดนปนเปื้อน เมื่อขยะเดินทางไปถึงปลายทางการจัดการ ซึ่งหากต้นทางช่วยกันแยกขยะออกมา แม้จะก่อให้เกิดปัญหาขยะปนเปื้อนในแต่ละประเทศอาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายกทม. เรื่องขยะเหลือเพียงปีละ 1,000 ล้านบาท จาก 7,000 ล้านบาท ในทุกวันนี้ 

"ปัจจุบันรถขยะของกทม. ได้มีการจัดการแบ่งแยกกลุ่มประเภทขยะในแต่ละช่องชัดเจน ที่สำคัญจะแยกส่วนขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งเป็นขยะที่มองว่ามีมูลค่าไว้ต่างหากอยู่แล้ว ไม่ปะปนรวมกัน สำหรับโครงการขยะไม่เทรวมนี้ ทางกทม. มีการดำเนินการนำร่องในสามเขต ไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ได้แก่ หนองแขม พญาไท และปทุมวัน ซึ่งผลการทำงานสามเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าและสถานประกอบการกว่า 600 ราย แต่สำหรับกลุ่มครัวเรือนอาจจะยังมีน้อยอยู่ เพื่อขยายผล กทม.จึงมีการดำเนินการในเฟสที่สอง ซึ่งได้แก่กิจกรรมในวันนี้ ที่ขยับมาเป็นการขอความร่วมมือหน่วยงานองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตขยะขนาดใหญ่ อาทิ ห้างร้าน โรงเรียน โรงแรม ตลาด เป็นต้น โดยเฟสต่อไปคือการดำเนินแผนในปี 2566 ถึง 2569 กทม.จะมีการดึงผู้เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ 36,000 กว่ารายทั่วกทม. จึงมาขอความร่วมมือให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เราต้องคิดว่ามันเป็นทรัพยากร ไม่ใช่ขยะแล้วกรุงเทพมหานครจะเป็นมหานครปลอดขยะได้"

\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

ปั้นโรงแรมใบไม้สีเขียวลดขยะยั่งยืน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากเกิน 25 ล้านคน และสร้างขยะให้กทม. จำนวนมาก นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะสร้างขยะในแต่ละวันประมาณหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งการพยายามแยกขยะและจัดการขยะเป็นสิ่งที่สมาคมโรงแรมไทยขับเคลื่อนทำมานานมาก เราก่อตั้งกลุ่มโรงแรมใบไม้สีเขียว เพื่อสนับสนุนกลุ่มโรงแรมที่มีแนวทางการลดขยะและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากว่า 25 ปี ซึ่งโจทย์ของสมาคมคือทำอย่างไรให้มีโรงแรมเหล่านี้มากขึ้น

หนึ่งในตัวอย่างที่ทางสมาคมโรงแรมขับเคลื่อนคือเรื่อง food waste โดยเริ่มจากการบริการตั้งแต่ต้นทางคือการวางแผนการผลิตอาหารให้พอดีเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีส่วนเกินเหลือทิ้ง "ถือเป็นโชคดีที่เกิดช่วงโควิด-19 ทำให้คนไม่นิยมอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ แต่เปลี่ยนรูปแบบจัดให้เป็นรายบุคคลไป ซึ่งทำให้ไม่เกิดอาหารเหลือทิ้ง นอกจากนี้เรายังมีการประสานร่วมกับโครงการ SOS ที่เขาจะมารับอาหารส่วนเกินจากโรงแรมเพื่อไปบริจาคให้กับคนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการหาซื้ออาหารบริโภค ซึ่งตอนนี้เห็นว่าทางกทม. เองก็มีโครงการที่ดำเนินงานคล้ายกันคือ โครงการ BKK Food Bank เราอยากให้เข้าใจว่าทำไมโรงแรมถึงดำเนินกระบวนการเหล่านี้ ไม่ใช่เพราะโรงแรมเขี้ยวหรือประหยัด แต่เราอยากมีส่วนที่จะรักษ์โลก ลดการใช้ทรัพยากร"

\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

ปลูกสำนึก "ต้นกล้าไร้ถัง"

ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ซีพีออลล์ มีโครงการต้นกล้าไร้ถัง เป็นโครงการที่ดำเนินกับกลุ่มเยาวชนสร้างจิตสำนึกแยกขยะ ซึ่งต่อมาขยายผลสู่โรงเรียนไร้ถังและชุมชนไร้ถังเราสอนให้เด็กเรียกว่าขยะว่า "วัสดุ" เพราะคำว่าวัสดุจะทำให้เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งมีค่า สามารถนำไปรีไซเคิล นำไปขายได้ มีมูลค่า

"เราปลูกจิตสำนึกว่า ขยะเป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จในครัวเรือนเราเอง อย่าปล่อยออกไป ส่วนวัสดุรีไซเคิล หากเปื้อนให้ล้าง เปียกให้ตาก ก็จะช่วยเบาแรงคนเก็บ"

จากการดำเนินโครงการฯ พบว่า ทำให้จำนวนขยะลดลงไปได้ถึง 90% โดยเฉพาะที่โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องสามารถลดขยะจาก 15 ตัน เหลือเพียง 4 กิโลกรัม โดยล่าสุดทางโครงการฯ ยังเดินหน้าต่อรณรงค์ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 533 แห่ง และยังตั้งเป้าจะขยายแนวคิดไปใน 400 โรงเรียน ทั่วกทม.

\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.

พัฒนา สร้าง ส่งเสริม และสนับสนุน

รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จุฬาฯ ร่วมโครงการจัดการขยะที่ต้นทางกับ กรุงเทพมหานคร และ สสส. พัฒนาเขตนำร่องจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทางอย่างยั่งยืน 3 เขต นั่นคือ ปทุมวัน พญาไท และหนองแขม ในเรื่องการพัฒนาเราต้องการพัฒนารูปแบบการจัดการขยะที่ต้นทางแบบ ไม่เทรวม ในส่วนการสร้างเราต้องการสร้างดาต้าเบสให้แก่พื้นที่นำร่องทั้งสามเขต ในด้านการส่งเสริมเรามีพื้นที่ 84 แหล่งในการที่เราจะเข้าไปจัดการขยะต้นทาง ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน วัด ชุมชน โรงแรม อาคารสำนักงาน ในเขตปทุมวันและหนองแขม ลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายต้องจัดการขยะต้นทางให้ได้ไม่น้อยกว่า 20% สุดท้ายเราสนับสนุนการจัดการขยะอินทรีย์ โครงการฯ ได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสวนต้องก้าว และบริษัท เจเนซิส เอ๊กซ์ จำกัด พัฒนาต้นแบบจัดการขยะอินทรีย์ด้วยหนอนแมลงทหารดำ หรือ Black Soldier Fly (BSF) ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กทม.” รศ.ดร.พันธวัศ กล่าวทิ้งท้าย
\"ไม่เทรวม\" ก้าวแรก (แต่) สำคัญ จุดเปลี่ยนปัญหาขยะล้นเมือง กทม.