พระอาจารย์อนิลมาน “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อ...”

พระอาจารย์อนิลมาน “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อ...”

ตอนเป็นเณร 'พระอาจารย์อนิลมาน' ต้องค้นพระสูตรในพระไตรปิฎกถวาย'สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร' ประกอบกับความใฝ่รู้ จึงมีความเข้าใจพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน

Key Points :

  • ช่วงเป็นเณรต้องสนองงานสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร อย่างใกล้ชิด จึงถูกสอนให้วิเคราะห์และเข้าถึงรากศัพท์พุทธศาสนา 
  • พระรูปแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนจนจบปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ  
  • พุทธศาสนาไม่ใช่ระบบความเชื่อและไม่ได้สอนให้เชื่อ แต่สอนให้สงสัยและตั้งคำถาม 

15 ค่ำ เดือน 4 วันมาฆบูชา เวียนมาถึงอีกปี เรื่องธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และสอนผู้คน ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า แก่นคำสอนมีผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างของผู้คนแต่ละพื้นที่

เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา (6 กุมภาพันธ์ 2566) จุดประกายทอล์คฉบับนี้ ขอว่าด้วยเรื่องธรรมะ โดยครั้งนี้ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์(อนิลมาน ธมฺมสากิโย) หรือพระอาจารย์อนิลมาน  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ให้โอกาสสนทนาธรรม

พระอาจารย์อนิลมาน เป็นภิกษุสงฆ์ที่ใช้ชีวิตบนแผ่นดินไทยกว่า 48 ปีนับตั้งแต่จากเนปาลมาเป็นเณรน้อยสนองงานสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มักถูกใช้ให้ค้นพระสูตรในพระไตรปิฎกอยู่บ่อยๆ   

พระอาจารย์อนิลมาน “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อ...” พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์(อนิลมาน ธมฺมสากิโย)  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร นอกจากจะทรงสอนเรื่องทางธรรม ยังสนับสนุนให้พระอาจารย์อนิลมานเรียนในต่างประเทศ และเป็นพระรูปแรกที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้เรียนจนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาสังคม ที่ประเทศอังกฤษ  

ถ้าจะเล่าเรื่องราวชีวิตของพระอาจารย์อนิลมานคงยืดยาว ถ้าอย่างนั้นชวนอ่านเรื่อง “พุทธศาสนาไม่ใช่ระบบความเชื่อ และไม่ได้สอนให้เชื่อ”  

“อะไรๆ ก็ชาติหน้า ทั้งๆ ที่นรก สวรรค์ ไม่มีหลักการนี้ในพุทธศาสนาคำว่า สวรรค์ ก็เอาค่านิยมของคนมาตั้ง เป็นเทวดาทำไมมีเมียเยอะ(นางฟ้า) ทำไมเอาผู้หญิง(นางฟ้า)ขึ้นไปบนสวรรค์แล้วไม่มีผัวเยอะละ กลายเป็นนางฟ้าสวยๆ นี่คือค่านิยมความเชื่อของคน” 

นี่คือ คำอธิบายสั้นๆ เรื่องนรก สวรรค์ และยังไม่จบแค่นั้น ...

  • ขอย้อนไปช่วงที่สมเด็จพระสังฆราชยังมีพระชนม์ชีพ ตอนนั้นพระอาจารย์มีหน้าที่อะไรบ้าง

เวลาพระองค์จะไปเทศน์ที่ไหน ก็จะบอกว่า เณร (อาตมา)ไปหยิบพระไตรปิฎกเล่มนั้นเล่มนี้มา หาพระสูตรบทนี้ สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ อาตมาเป็นเณร จึงต้องใช้ความจำ อ่านให้พระองค์ฟังและสรุป

จากนั้นพระองค์ถามอาตมาว่าเข้าใจไหม ตอนนั้นอาตมาเป็นแค่เณรจะอธิบายยังไง พระองค์จึงบอกว่าให้อธิบายเป็นภาษาของอาตมาเอง เมื่ออาตมาอธิบายไม่เป็น พระองค์ก็อธิบายสองสามวิธีให้ฟัง แล้วถามว่าควรจะเป็นแบบไหน 

หลังจากนั้นอาตมาจับทางถูก เวลาพระองค์ถาม เราก็ตอบ แล้วพระองค์ก็ถามว่าใช่หรือ... ทำไมไม่คิดแบบนี้ละ ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แต่จะสอนวิธี

เวลาสมเด็จพระสังฆราชเทศน์ในโบสถ์ พระองค์จะพลิกกัณฑ์เทศน์ไปมา อาตมารู้ว่าในนั้นไม่ได้เขียนอะไรเลย คัมภีร์เป็นแค่พล็อต เพราะพระองค์เข้าใจธรรมะ ไม่ต้องจำ ไม่ต้องดูแล้ว

  • ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชให้พระอาจารย์ค้นพระไตรปิฎก แล้วตั้งคำถามให้ตอบในทุกๆ วัน ?

ตอนนั้นอาตมาก็เรียนแค่นักธรรมชั้นตรี โท และเอก ถ้าไม่ได้ใช้ความรู้ก็หายไป แต่วิธีการสอนให้วิเคราะห์ อาตมาได้มาจากสมเด็จพระสังฆราช วิธีการสอนของพระองค์จะอธิบายไปถึงรากศัพท์พุทธศาสนา สมเด็จพระสังฆราชสอนเราตั้งแต่เป็นเณร ใช้ให้ไปหยิบหนังสือในห้องบรรทม บางเล่มใช้บ่อยจนขาด

  • ต้องทำความเข้าใจรากศัพท์พุทธศาสนาด้วยใช่ไหม 

ยกตัวอย่างคำว่าความสุข พระองค์สอนว่า สุขและทุกข์ คือ คำเดียวกัน สุขแปลว่าง่าย ทุกข์แปลว่ายาก อธิบายไปถึงรากศัพท์อีกว่า สุข แปลว่า ทนได้ง่าย ทุกข์แปลว่า ทนได้ยาก

ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชต้องถวายงานในหลวง รัชกาลที่ 9 ชื่อพระราชทานที่คนขอทั้งหมด ถ้าตรัสถามเรื่องไหน อาตมาก็ต้องไปค้นภาษาบาลี อย่างคำว่า technology ถ้าจะใช้คำภาษาไทย อาตมาไปค้นมา 20 คำจากรากศัพท์ อาตมาชอบคำว่า ทักษะวิทยา แต่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า อ่านไม่เข้ากับลิ้นคนไทย จึงใช้คำว่า เทคโนโลยี

พระอาจารย์อนิลมาน “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อ...”

  •  ตอนเป็นเณร...สมเด็จพระสังฆราช ทรงเรียกใช้บ่อยๆ ?

ตอนอาตมาเป็นเณร ก็เคยคิดในใจว่าอาตมาซวยเหลือเกิน เห็นเขาเล่นก็อยากเล่นบ้าง แต่พอห่างพระเนตร สมเด็จพระสังฆราชก็ให้เด็กมาตาม ตอนนั้นพระองค์ต้องทนความดื้อของเณรตัวเล็กๆ อย่างอาตมา เวลาพระองค์ไปไหน ก็ให้อาตมาไปถือย่าม เพราะเณรอื่นถูกตามแล้วไม่ไป แต่สำหรับอาตมา ผู้ใหญ่ตามแล้วต้องไป

  • ช่วงที่ตัดสินใจเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา พระอาจารย์ตั้งใจนำมาใช้กับพุทธศาสนาอย่างไร

ตอนเรียนปริญญาโท ตั้งใจจะเรียนโบราณคดี เพราะเห็นนักโบราณคดีที่เป็นแขกฮินดู ไม่มีนักโบราณคดีชาวพุทธเลย ตอนนั้นจะสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต เพราะปีนั้นมีพระไทยถูกฆ่าทั้งวัด อาตมาเป็นคนแปลเอกสารทั้งหมดประสานระหว่างอเมริกากับมหาเถรสมาคม ก็เลยอยากไปสืบว่าเกิดอะไรขึ้น อยากเป็นเชอร์ล็อก โฮมส์

อยากรู้สาเหตุที่พระไทยถูกฆ่า นั่นเพราะปัญหาวัฒนธรรมหรือภาษา ตอนนั้นมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตตก็รับรองความปลอดภัย แต่อาตมามานึกอีกที เป็นนักโบราณคดีต้องไปขุดดิน ขุดนั่นนี่ เป็นการผิดวินัย ก็เลยหันมาเรียนวิชากลุ่มเดียวกันคือ มานุษยวิทยา

ครูบาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทุกคน ก็มาถามว่าทำไมคุณมาเรียนวิชานี้ นั่นจะทำให้คุณตั้งข้อสงสัยทุกเรื่อง ความเชื่อทั้งหมดก็จะถูกท้าทาย และความเชื่อในพุทธศาสนาไม่เสถียร  

อาตมาตอบว่า คุณเข้าใจพุทธศาสนาผิดแล้ว พุทธไม่ใช่ระบบความเชื่อและไม่ได้สอนให้เชื่อ แต่สอนให้สงสัยและตั้งคำถาม ในกาลามสูตรไม่ได้สอนให้เชื่ออะไรทั้งสิ้น

อาจารย์ที่นั่นบอกว่า ตั้งแต่คุณเข้ามาเรียน ทุกคนมีคำถามว่า เป็นพระมาเรียนมานุษยวิทยาได้ยังไง อาตมาก็เลยตั้งหัวข้อสัมมนานี้ให้ถกกัน ชั่วโมงแรกอาตมาคุยให้พวกเขาฟังว่า พวกคุณเข้าใจพุทธศาสนาผิด

มานุษยวิทยาก็คือ หลักการเดียวกับพุทธศาสนา แต่มานุษยวิทยาไปไม่สุด ถ้ามองในอริยสัจ 4 มานุษยวิทยาแสวงหาแค่สองข้อ คือ รู้ว่าเรื่องไหนมีปัญหา และพยายามหาสาเหตุของปัญหา เมื่อหาสาเหตุได้แล้วก็จบ นักพัฒนา นักนโยบายก็เอาความรู้ไปพัฒนาต่อ

แต่พุทธศาสนา เมื่อคุณหาสาเหตุเจอ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า คุณสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเหนือว่ามนุษยวิทยาอีกสองขั้น ดังนั้นการเป็นพระนักมานุษยวิทยาไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการเรียน

  • พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้คนเชื่อ แต่คนมากมายเลือกที่จะเชื่อตามๆ กัน พระอาจารย์มีคำอธิบายอย่างไร

พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่เก่าแก่ มีคัมภีร์โบราณรักษาและถ่ายทอดมาตลอด พุทธศาสนาทางเหนือและใต้ก็ตีความตามความคิดความเชื่อของคนที่นั่น พุทธศาสนาที่ศรีลังกา พระมีความเชื่อว่าเป็นเถรวาทที่แท้จริง อาตมาว่าไม่ใช่

หน้าวัดยังมีเทวาลัย ซึ่งรูปแบบนี้กลับมาอธิบายพุทธเมืองไทยได้ การไปกราบไหว้อ้อนวอนขอความร่ำรวยหน้าวัด ทำแบบนี้ไม่สงบหรอก ต้องเข้าไปในวัดเข้าหาพระพุทธเจ้า(สวดมนต์เรียนรู้ธรรม) ในวัดไทยจึงทั้งความเชื่อฮินดูและพราหมณ์ปะปนอยู่

ส่วนพิธีกรรมทั้งหลายก็ตอบสนองความต้องการของคน ทางญี่ปุ่นนับถือชินโต มาทางทิเบตก็มีเรื่องผี คนพุทธไปที่ไหนก็ไปเติมสิ่งที่ไม่มี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลบล้างสิ่งเก่า ศาสนาอื่นๆ แตกแขนงเป็นร้อยๆ นิกาย แต่พุทธศาสนาอย่างมากก็สองนิกาย

  • ยกตัวอย่างความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนาผิดๆ สักนิด?  

อะไรๆ ก็ชาติหน้า ทั้งๆ ที่นรก สวรรค์ ไม่มีหลักการนี้ในพุทธศาสนา คำว่า สวรรค์ ก็เอาค่านิยมของคนมาตั้ง เป็นเทวดาทำไมมีเมียเยอะ(นางฟ้า) ทำไมเอาผู้หญิง(นางฟ้า)ขึ้นไปบนสวรรค์แล้วไม่มีผัวเยอะละ กลายเป็นนางฟ้าสวยๆ นี่คือค่านิยมความเชื่อของคน

แล้วทำไมอายตนะทั้งหมด...หู ตา จมูก ลิ้น และกาย มาบอกว่าเป็นอาหารทิพย์ ถ้าเข้าใจภาษาบาลี ไม่มีความหมายพวกนี้เลย ผู้หลงระเริงอยู่ในกาม เรียกว่าเทวดา ยังมีกิเลสหนา ไม่ได้ประเสริฐ

พระสอนเรื่องสวรรค์ นรก มากเกินไป ในพระไตรปิฎกไม่ได้อธิบายแบบที่หลายคนเข้าใจ ถ้าเราเจอความทุกข์ร้อน จนทนไม่ได้ นั่นคือนรก ถ้าเจอสิ่งที่ชอบมีความสุข นั่นก็คือสวรรค์ พื้นฐานง่ายๆ ในพระไตรปิฎก 

สมเด็จพระสังฆราช อธิบายไว้ว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนเรื่องราวสังคมสมัยนั้น เพราะไม่เข้าใจพระไตรปิฎก จึงมีคนรวบรวมพระไตรปิฎกแยกเป็นเล่มๆ

อย่างสวรรค์ชั้นดุสิต ดุสิตแปลว่า ความยินดีพอเพียง ใครที่มีชีวิตพอเพียง ก็เรียกว่าชาวดุสิต นี่คือธรรมะในพระไตรปิฎก แต่พวกเราเอามาแบ่งเป็นชั้น ไม่รู้ว่าเทวดา นางฟ้า อยู่เมฆก้อนไหน

พระอาจารย์อนิลมาน “พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่อ...”

  • แล้วคำสอนเรื่องเวรกรรมแต่ชาติปางก่อน มีคำอธิบายอย่างไร 

ถ้าเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นผลของกรรมเก่า นั่นไม่ใช่ พระพุทธเจ้าพูดไว้ชัดเจนว่าไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าเป็นผลของกรรมเก่า อาตมาทำกรรมอะไรต้องมานั่งให้สัมภาษณ์ตรงนี้ จริงๆ แล้วเป็นกรรมที่เราสร้างเอง ตัวเราสร้างกรรม ไม่ใช่กรรมเก่า

มันคือปัจจุบันทุกอย่างที่เรากำลังทำ มีอำนาจที่จะเปลี่ยนทุกอย่าง พุทธศาสนาสามารถเปลี่ยนทุกเสี้ยววินาทีได้ สมเด็จพระสังฆราช ตรัสว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก” เพราะสามารถเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการกำหนดอะไรก็ได้

  • ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่มนุษย์กระทำในอดีต ก็ไม่มีผลในปัจจุบัน ? 

 ฆ่าคนแล้วไม่ติดคุกก็เยอะแยะ ในแง่พุทธศาสนาอาจไม่ได้สำคัญตรงนั้น แต่สิ่งเหล่านี้จะตามหลอกหลอนเรา ตกนรกตั้งแต่ตอนทำ ถ้าสอนแบบชาวบ้านก็เวรกรรมตามทัน เป็นกุศโลบายในการสอน

  • พระอาจารย์มีหลักการสอนอย่างไร

อาตมาไม่ต้องการเอาใจญาติโยม ไม่ต้องการมีลูกศิษย์เยอะๆ พระพุทธเจ้าบอกว่าเพื่อประโยชน์ของมหาชน ยกตัวอย่างทุกวันนี้คนไปกราบไหว้ท้าวเวสสุวรรณ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วไม่มีคนรู้จักเลย เป็นแค่รูปปั้นเฝ้าประตูวัด

สงสัยคนคงเข้าไม่ถึงพระพุทธเจ้า จึงเอายามรักษาความปลอดภัยมากราบไหว้แทน อะไรๆ ก็ขอท้าวเวสสุวรรณ มีที่ไหนในโลกนี้ที่เอาชีวิตไปแขวนไว้กับการเล่นหวย ไม่ต้องทำมาหากินหรือ

เวลาพระให้พรญาติโยม แล้วบอกว่าร่ำรวยๆ นั่นเป็นการให้พรที่ถูกหรือ เป้าหมายพุทธศาสนาคือ ลดโลภ โกรธ หลง และเป้าหมายพุทธศาสนาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนโลก 

  • คนสมัยนี้มีปัญหาความเครียด พุทธศาสนาช่วยได้อย่างไร

พุทธศาสนามีเหตุ และผลในการอธิบาย ส่วนจะช่วยคนเครียดได้ไหมอยู่ที่ผู้สอน และผู้รับ องค์การอนามัย กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2020 โรคที่ร้ายแรงที่สุดคือ โรคความเครียด ซึมเศร้า พวกฝรั่งก็พยายามหาทางป้องกัน พยายามพัฒนายา แต่วิจัยออกมาแล้วไม่สามารถแก้ได้เต็มร้อย

 มีฝรั่งบางคนสนใจพุทธศาสนากลับมาดูที่ต้นเหตุ เพราะคนหลงอยู่กับอดีต และอนาคตตลอดเวลา จึงเอาหลักพุทธศาสนามาใช้ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ความเครียดก็จะลดลง

ตามหลักพุทธ ถ้าเรารู้เท่าทันความกลัว ความกังวลจะหายไป จึงเอากระบวนการนี้มารวมกับจิตวิทยา ในต่างประเทศวิชาจิตวิทยาจะไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่ได้มาเรียนทางพุทธศาสนา 

เมื่อไม่นาน มีคนนิมนต์อาตมาไปบรรยายให้คนทำงานด้านดิจิทัล ระบบเอไอทั้งหลาย คนรุ่นใหม่ที่เรียนจบจากสถาบันดังๆ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และเอ็มไอที คนพวกนี้ไม่เชื่อในศาสนา อาตมาก็อธิบายให้ฟังว่า เอไอมีผิดพลาดตรงไหน

อะไรที่เป็นจริง พวกคุณมองว่า เอไอคือเทวดา แล้วเรื่องอะไรที่จริงๆ คุณไม่เอาหรือ จะอยู่กับโลกปลอมๆ หรือ อาตมาก็เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม บางคนก็สรุปออกมาได้ดี บางคนก็ตั้งคำถามต้องการความชัดเจนมากขึ้น

  • คนมากมายทุกข์เพราะความคิด ทุกข์เพราะไม่พอใจทุกสิ่งในโลกนี้ พระอาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ต้องเปลี่ยนมายเซ็ตให้อยู่กับปัจจุบัน ถ้าอยู่กับอดีตและอนาคตชีวิตไม่มีความสุข ดึงอดีตมาเป็นบทเรียน สร้างเหตุให้ดี ได้หรือไม่ได้ไม่รู้ ถ้าไม่ได้ช่างมัน ปัจจัยกำหนดไม่ได้ แม้แต่ตัวเราเองยังกำหนดไม่ได้ แล้วจะไปกำหนดโลกได้ยังไง

ถ้าเรายอมรับสภาพแล้วทำให้ดีที่สุด ชีวิตก็หาความสุขได้ง่ายๆ คนไม่รู้ก็แสวงหาบุญที่ไหนไม่รู้  สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ แก่นของพุทธศาสนา