เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​

เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​

เรื่องราววิธีคิด‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’อดีตผู้แทนการค้าไทยคนนี้ แม้ไม่หวือหวา แต่ความสามารถไม่ธรรมดา เขาตั้งเป้าไว้ว่าก่อนอายุ 70 ถ้าเลือกได้ และสมองยังเอื้ออำนวย ขอทำเรื่องเศรษฐกิจเพื่อบ้านเมือง

สำหรับบางคน ช่วงวัยที่เปลี่ยนไปดูสุขุมลุ่มลึกมากขึ้น และไม่ได้ตั้งเป้าเฉกเช่นคนหนุ่มที่ต้องการความก้าวหน้า แต่มีเป้าหมายที่เปลี่ยนไป อยากทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น

จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร​ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้แทนการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ เคยทำงานกับนายกรัฐมนตรีหลายยุค และเคยเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นอกจากนี้ยังเคยเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard 

ภายใต้บุคลิกที่อ่อนโยน ยืดหยุ่น เข้าใจผูัอื่น และเป็นนักอ่านตัวยง ในวัย 65 (ปี 2566) ดร.ปานปรีย์ มาให้สัมภาษณ์ที่สำนักข่าวเนชั่น ยินดีตอบทุกคำถามที่บรรณาธิการคนนั้นคนนีี้แวะเวียนมาพูดคุย ไม่ว่าเรื่องการเมืองหรือเศรษฐกิจ   

“ชีวิตผมตอนนี้พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรน เพื่อเป็นอะไรบางอย่าง” ประโยคปิดสนทนา ตามวิถีแห่งเต๋าที่เขานับถือมาตั้งแต่เยาว์วัย และนี่คือบทสนทนาเริ่มต้น...

  • อยากให้เล่าชีวิตครอบครัว และการทำงานบนเส้นทางการรับราชการสักนิด ? 

ครอบครัวผมเป็นข้าราชการ คุณปู่(พระพหิทธานุกร) เคยเป็นปลัดกระทรวงต่างประเทศ และเป็นทูตหลายประเทศ สมัยก่อนคุณปู่ไปต่างประเทศต้องเดินทางทางเรือ และตอนนั้นคุณปู่ให้คุณพ่อ(ปรีชา พหิทธานุกร) ไปเรียนที่อังกฤษ พ่อผมอยู่เมืองนอกมานาน จนเพื่อนๆ ตั้งชื่อว่าปีเตอร์ พ่อพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเก่งกว่าภาษาไทย 

เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร​ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

 

ท่านเรียนจนจบมหาวิทยาลัยที่สวิสเซอร์แลนด์เป็นช่วงเดียวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทับอยู่ที่นั่น ตอนนั้นพี่สาวพ่อก็เดินไปเรียนกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ส่วนคุณพ่อก็เป็นพระสหายในหลวง รัชกาลที่ 9 ตอนนั้นพ่อกลับมาทำงานกระทรวงต่างประเทศ 

ส่วนผมไปเรียนปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย อเมริกา ได้เจออาจารย์เก่งๆหลายคน อย่างวอร์เรน เบนนิส(Warren Bennis) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำ

และการเรียนแบบฝรั่งตรงกับจริตผม ไม่ชอบถูกบังคับให้ท่องจำ คุณพ่อและคุณแม่ผมเสียชีวิตเร็ว ผมก็ไปบวชให้ท่าน จากคนที่ชอบเที่ยว เมาเฮฮา จึงได้พบเส้นทางใหม่

  • เส้นทางใหม่ ? 

จะเละเทะต่อไปไม่ได้ ตอนนั้นอายุ 22 ปีไม่มีพ่อแม่แล้ว จึงไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก เพื่อนๆ ก็ตกใจ เพราะตอนเรียนเตรียมอุดมและเรียนปริญญาตรีที่จุฬาฯ ไม่เห็นเป็นแบบนี้ สนุกสนานเตะบอล พอเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก ชีวิตมีสาระมากขึ้น

  • ตอนที่กลับมาทำงานในระบบราชการ คุณตั้งคำถามกับระบบไหม

ยังเด็ก ไม่ได้คิดอะไร ผมว่าเด็กสมัยนี้เป็นผู้ใหญ่มากกว่าสมัยผม ตอนผมจบปริญญาโท เจ้านายที่เรียนปริญญาโทด้วยกันบอกว่ามาทำงานกับท่านดีกว่า ผมจะได้เข้าไปในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ด้วย ซึ่งเป็นสถานที่สูงสุดในการตัดสินใจของประเทศ ตอนนั้นมันเท่ดี

เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​ "จุดหนึ่งที่ถูกฝึกมา ก็คือ การเก็บความลับ อย่าพูดมาก ผมจะเป็นหน่วยม้าเร็ว เวลาแต่งตั้งปรับครม. ผมจะเป็นคนถือโผ..."ดร.ปานปรีย์

 

  • ถ้าวันนั้นคิดได้แบบวันนี้ จะรับราชการไหม

คงไม่รับราชการ และจะบอกลูกด้วย เพราะเป็นระบบที่ถูกครอบและตีกรอบ ถ้าเราต้องการให้ลูกมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ คงไม่แนะนำเส้นทางนี้

  • อยากให้เล่าถึงการทำงานในแวดวงการเมืองที่ได้เห็นการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีหลายยุค ? 

สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผมเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย เจ้าหน้าที่กองประสานนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อยู่ในห้องครม.ก็วิ่งรับใช้คนนั้นคนนี้ อดีตนายกฯชวน หลีกภัย ท่านบรรหาร ศิลปอาชา ผมก็รับใช้  โชคดีที่เจ้านายเมตตา ให้เราเข้าไปอยู่ในจุดที่สำคัญที่สุดของการบริหารราชการแผ่นดิน ได้เห็นกระบวนการตัดสินใจ

อาจเป็นเพราะผมจบปริญญาเอก ตอนนั้นคนไทยบ้าเรื่องยี่ห้อปริญญา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจบปริญญาเอกฉลาดกว่าคนอื่น สมัยนั้นมีคนจบปริญญาเอกไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน แค่มีใบปริญญาเอกก็เป็นที่ยอมรับ นึกว่าเก่งแล้ว จะเก่งหรือไม่เก่ง ผมไม่รู้

ผู้ใหญ่ก็เรียกใช้ในสิ่งที่ผมเรียนมา อย่างการบริหารรัฐกิจ ผมทำงานผ่านไปสองปี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ให้ผมไปอยู่ตึกไทยคู่ฟ้า ผมก็ได้เห็นการบริหารประเทศอีกมุม การแต่งตั้งโยกย้าย การนำเสนอในครม. และกระบวนการแลกเปลี่ยน

  • ในยุคนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นอย่างไรบ้าง 

เวลาท่านประชุมที่ไหน ผมต้องตามท่านไปประชุม จุดหนึ่งที่ถูกฝึกมา ก็คือ การเก็บความลับ อย่าพูดมาก ผมจะเป็นหน่วยม้าเร็ว เวลาแต่งตั้งปรับครม. ผมจะเป็นคนถือโผ ไม่มีใครรู้ว่าผมถือหนังสือแต่งตั้งครม. ต้องถือไปพบราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯเสนอ เมื่อเห็นชอบแล้ว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ประกาศให้ประชาชนทราบ

  • ตอนที่นายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชายถูกปฎิวัติ คุณจัดการกับชีวิตอย่างไร

เมื่อท่านตัดสินใจว่าจะไปอยู่ต่างประเทศ ตอนนั้นผมตัดสินใจลาออก ท่านชาติชายบอกว่า ลาออกได้ยังไง ผมก็บอกว่าไม่ต้องห่วงผม ผมและภรรยาก็ไปอยู่กับท่านที่อังกฤษ ท่านกับผมก็ไปตีกอล์ฟด้วยกัน 

  • คุณมีโอกาสรับใช้ท่านอย่างใกล้ชิด ? 

ผมมาเป็นหลานเขย ภรรยาผมเหมือนลูกท่าน ท่านเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียนจนจบปริญญาตรี  ตอนปฎิวัติปี 2534 ตอนนั้นรสช.จับพวกเราทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มบ้านพิษณุโลกไปไว้ที่สโมสรกองทัพอากาศ

ตอนแรกๆ ก็บอกว่าบ่ายๆ จะปล่อยตัว แต่สักพักยกเตียงพับเข้ามา ผมเห็นแล้วว่าคงมีบางส่วนต้องอยู่ที่นั่น มีทหารอากาศท่านหนึ่งมาถามว่า ใครชื่อดร.ปานปรีย์ให้ตามมา 

ผมก็ถามว่าจะพาไปไหน เขาก็บอกว่าไม่ต้องรู้  แล้วจับขึ้นรถ เลี้ยวไปเลี้ยวมา ไปไหนไม่รู้ สุดท้ายไปที่บ้านรับรองท่านนายกฯพลเอกชาติชาย ท่านถามว่า ทำไมนำเขามาที่นี่ เขาเป็นข้าราชการประจำ ไม่เกี่ยวกับการเมือง ทหารบอกว่า ให้ดร.ปานปรีย์มาดูแลท่าน ให้ผมนอนห้องเดียวกับท่าน

  • ตอนนั้นคุณเป็นข้าราชการซี6ต้องนอนห้องเดียวกับนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย?

ในมุมหนึ่ง ท่านเป็นตาของภรรยา แต่ในหน้าที่การงานเป็นเจ้านาย ผมบอกไปว่าไม่ขอนอนกับท่าน แต่ทหารบอกว่าไม่ได้ ผมจึงต้องอยู่ในห้องเดียวกับท่านตลอด 24 ชั่วโมงช่วง 15 วัน ท่านคุยหลายเรื่องให้ผมฟัง เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องที่ทหาร นักธุรกิจและนักการเมืองต้องการคืออะไร การเมืองแบบนี้มีมาตั้งแต่ปี 2475

เราก็ได้เห็นตัวตนของท่าน ภาพที่เป็นเพลย์บอย สนุกสนาน ไม่ซีเรียส ไม่ใช่เลย ท่านมีสาระที่เข้มข้นและประสบการณ์สูงมาก สูงขนาดที่ว่าปล่อยวางลงได้หมด

เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​

บทบาทสำคัญดร.ปานปรีย์ เคยเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC)

 

  • เมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีโอกาสรับใช้ ต่างกันอย่างไร

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นทหารที่มีระเบียบวินัยสูง แต่ผมไม่ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตส่วนตัวท่าน อยู่เฉพาะในช่วงการประชุมครม. ได้เห็นวิธีประชุมของท่าน

มายเซ็ทแบบไหน...ทำให้คุณทำงานกับนายกรัฐมนตรีแต่ละยุคได้โดยไม่เกิดความขัดแย้งในใจ

เราต้องรู้ใจตัวเองก่อนว่า ต้องการอะไร และต้องรู้ว่าเขาเป็นคนยังไง ตอนนั้นผมก็เหมือนคนหนุ่มทั่วไป ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ไม่ได้คิดอยากเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

ชีวิตการทำงานของผมที่ผ่านมา มีทั้งในระบบราชการ แวดวงธุรกิจ และทำงานกับนักการเมือง ผมรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไร เพราะปริญญาเอกผมเรียนด้านพฤติกรรมมนุษย์ ผมพอเข้าใจวิธีคิด สิ่งที่พวกเขาชอบและไม่ชอบ 

เวลาผมทำงานให้คำปรึกษา ท่านเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางของผมก็ได้ แล้วแต่เห็นสมควร ผมไม่กดดัน ไม่เคยเปรียบเทียบว่าผมใกล้เคียงกับท่าน สิ่งที่ผมสนใจมาโดยตลอดคือ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชน

  • คุณเคยกล่าวบอกว่า ปัญหาของประเทศต้องแก้ที่นโยบาย ?

ไม่ใช่แก้นโยบาย ต้องมีนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถนำนโยบายไปทำได้จริง ทั้งมุมต่างประเทศและในประเทศ

  •  ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ (ปี 2566) แค่ไหน

มีหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะสูงมาก สองเรื่องที่ผมปรารถนาคืออยากให้เศรษฐกิจเติบโต ก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ถ้าเรายังอยู่ในสภาพแบบนี้ เราไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้  ถ้าเลือกได้ ผมอยากทำงานเรื่องเศรษฐกิจ เพราะผมจับมานาน สมัยท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ สมัยท่านนายกฯชาติชาย เราก็ทำเรื่องเศรษฐกิจ 

  • จากความรู้ความสามารถ คุณตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองไหม

ผมอายุเยอะแล้ว(65 ปี) อยากทำงานให้สังคมบ้าง ผมมีความเชื่อในระบอบประชาธิปไตย จะดีหรือเลวยังไง ก็ดีกว่าระบอบการเมืองแบบอื่น อย่างน้อยๆ ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีที่ระบาย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะทำอะไรก็ต้องเหลี่ยวดูประชาชน ทำตามอำเภอใจไม่ได้ ถ้าไม่มีระบบตรวจสอบ ถ้าทำดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีสร้างความเสียหาย

  • ถ้ามีโอกาสทำงานในแวดวงการเมือง จะเลือกสังกัดพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิมไหม 

ถ้าพรรคคิดว่า เราเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและสังคม ผมยินดีช่วย ผมชอบนโยบายพรรคนี้ ผมไม่ชอบความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดง เพราะดึงประเทศไม่ให้ก้าวพ้นหลายปัญหา

อย่าเอาอดีตมาเป็นปัจจุบัน ถ้ายังแบ่งขั้วกันเหมือนเดิม ก็จะมีปัญหาไม่มีวันจบ ประเทศต้องเดินต่อ ทุกพรรคการเมืองก็มีคนหน้าใหม่เข้ามา แล้วคุณจะเอาคนใหม่เข้ามาพูดเรื่องเก่าอีกหรือ

ถ้าให้เลือกลงพรรคไหน ก็คงลงพรรคเพื่อไทย นโยบายเห็นผลตั้งแต่เป็นไทยรักไทย 30 ปีรักษาทุกโรคใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ เรื่องสุขภาพสำคัญที่สุด ผมมองในมุมนโยบาย ในเรื่องการกระจายอำนาจ ฝึกคนให้รู้จักใช้เงินในท้องถิ่น 

เปิดชีวิต‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ก่อนวัย70 : เรื่องเศรษฐกิจ คืองานที่อยากทำ​ "ผมมีเวลาแค่ 5 ปีถ้าสุขภาพยังเอื้ออำนวยในการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วและมันสมอง" ดร.ปานปรีย์ (ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566)

 

  • เรื่องความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในสังคมไทย คุณคิดเห็นอย่างไร

ผู้ใหญ่ไม่สามารถสื่อสารให้เด็กเข้าใจ เด็กก็ไม่อยากรับฟังผู้ใหญ่ ปัญหาเหลืองกับแดงและปัญหาเด็กกับผู้ใหญ่ เป็นความขัดแย้งที่แตกต่างกัน ถ้าเราวางรากฐานเรื่องของเด็กในวันนี้ไม่ดี พวกเขาก็จะลำบากในอนาคต อย่าเอาความทุกข์มาถ่ายให้คนรุ่นใหม่ เราควรทำสิ่งดีๆ ทิ้งไว้ให้พวกเขา

  • ถ้าในอนาคตไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ชีวิตจะเดินต่ออย่างไร

ผมก็เป็นกรรมการบริษัท ที่ปรึกษาบริษัทหลายแห่ง ผมมีเวลาแค่ 5 ปีถ้าสุขภาพยังเอื้ออำนวยในการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วและมันสมอง หลังจากอายุ 70 ปีแล้วไม่ว่างานภาคเอกชนหรือการเมือง ผมคงต้องบ๊ายบาย

ควรรู้จักคำว่าพอ เพราะพระเอกมีหลายคน ไม่ใช่คนเดียว ผมเองก็ไม่เคยเป็นผู้นำแต่เป็นผู้สนับสนุน และคิดว่าจะสนับสนุนจนถึงอายุ 70 

  •  คุณเองก็ไม่เคยหยุดเรียนรู้ ทั้งการอ่านและการเป็นนักฟังที่ดี ? 

ผมอยู่กับผู้ใหญ่เยอะ อ่านหนังสือเยอะ ตั้งต้นที่หนังสือปรัชญา พุทธศาสนา เชื่อในลัทธิเต๋าตั้งแต่เด็ก ในเรื่องการบริหารการงานและชีวิต ผมเคยไปเรียนกับปีเตอร์ ดรัคเกอร์ กูรูด้านการบริหารของโลก แม้จะเสียชีวิตหลายปีแล้ว แต่หนังสือของเขายังใช้ได้ ผมอ่านหนังสือหลายแนว หนังสือพัฒนาตัวเองก็อ่าน มายเซ็ทเป็นเรื่องสำคัญ และแนวคิดเจเนอเรชั่นผมก็อ่าน เมื่อเรามาช่วยทำนโยบาย คนรุ่นใหม่ไม่ควรถูกทอดทิ้ง

มีคนเคยถามผมว่า มีหนังสือเยอะ อ่านทั้งหมดหรือ...ผมบอกว่า ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด อยู่ที่ว่าเรามีโจทย์เรื่องอะไร แล้วค่อยอ่านหนังสือเล่มนั้น บางที 400 หน้า อาจอ่านแค่ 100 กว่าหน้า

 ผมคิดว่าผมเป็นนักปฎิบัติการณ์  ถ้าใครมอบหมายงานมา จะทำให้สำเร็จ อย่างผมไปเจรจาเปิดการค้าเสรีกับคนอินเดีย ซึ่งไม่มีใครอยากไปเจรจาด้วย

  • ทำไมไม่ค่อยมีใครอยากเจรจาการค้ากับคนอินเดีย 

เพราะคนไทยไม่ไว้ใจคนอินเดีย คนอินเดียเวลาขับรถบีบแตรดังๆ ท้ายรถเขาจะเขียนว่า กรุณากดแตรไล่ เพื่อให้รู้ว่า ท้ายรถมีรถขับตามมาแต่บ้านเราใครกดแตรไล่อาจถูกชักปืนยิง เราต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและวรรณะของคนอินเดีย ไม่ว่าวรรณสูงหรือต่ำ เราต้อง เข้าได้ทุกคน 

  • ต้องมีมายเซ็ทแบบไหนถึงจะเข้ากับคนได้ทุกชนชั้น

ต้องเชื่อก่อนว่า มนุษย์เกิดมาเท่ากัน ผมเชื่อแบบนั้นตั้งแต่เด็ก ผมเชื่อมาตลอดว่า มนุษย์ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน พ่อผมเป็นคนไม่นิยมทะเลาะกับใครแต่แม่ผมเป็นคนลุย อาจเป็นสิ่งที่ผมซึมซับ

ที่สำคัญคือเรื่องพุทธศาสนาถ้าเราทำให้คนอื่นมีความสุขได้ เราก็มีความสุขมากไปอีกผมจะเป็นคนแนวอินโทเวิร์ส มีโลกส่วนตัวสูง ถ้าเลือกได้ก็ชอบอยู่สงบๆ ไปป่าเขาได้ แต่สามารถเข้าสังคมได้อย่างกลมกลืน

อะไรที่ทำให้นายกรัฐมนตรีทุกยุคไว้ใจคุณ 

ผมเป็นคนไม่เรียกร้อง นี่คือ จุดหนึ่งในการลดความขัดแย้ง ผมเป็นคนง่ายๆ แบบเต๋า มีความเชื่อในธรรมชาติ  และรู้ว่าธรรมชาติของคนนั้นคนนี้เป็นแบบไหน ไม่ว่าจะดุร้ายหรือใจดี

  • ต้องมีความพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น ?

ไม่ต้องพยายาม ชีวิตผมตอนนี้พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรน เพื่อเป็นอะไรบางอย่าง

.........

เขียนโดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ  

ภาพ :ศุภกฤต คุ้มกัน