'อมก๋อย' โอเอซิสภาคเหนือกับการจัดการ'ฝุ่นควัน'ที่ดี

'อมก๋อย' โอเอซิสภาคเหนือกับการจัดการ'ฝุ่นควัน'ที่ดี

การเผาเพื่อทำการเกษตร ก่อให้เกิดมลพิษ'ฝุ่นควัน'ในภาคเหนือ จนน่าเป็นห่วง แต่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่นควันต่ำมาก เพราะชุมชนเน้นใช้ไฟน้อยที่สุด ถ้าไม่จำเป็นไม่เผาข้ามคืน

ฤดูแล้งของทุกปี นับจากกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจนถึงเมษายน คือฤดูฝุ่นควันไฟ pm2.5 ถล่มภาคเหนือ อันเนื่องมาจากการเผาที่โล่ง ทั้งการเผาในป่าและแปลงเกษตร จนฝรั่งเรียกว่า burning season ทุกจังหวัดประสบปัญหานี้ถ้วนหน้า เพราะฝุ่นขนาดเล็กมันลอยไปมาตามลมได้เป็นระยะไกลๆ ต่อให้ไม่เผาในพื้นที่ตัวเองก็ได้รับ pm2.5 หอบมาจากพื้นที่อื่นอยู่ดี 

ระดับความเข้มข้นของ ฝุ่นpm2.5 ในภาคเหนือช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม เฉลี่ยเกินค่ามาตรฐานไทย 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม.แทบทุกวัน หลายพื้นที่ขึ้นไปหลักร้อย

ส่วนเขตที่มีไฟป่าขนาดใหญ่เช่น อ.ฮอด เชียงใหม่ มีไฟในอุทยานออบหลวง ขึ้นไปแตะ 300-400 ไมโครกรัม ซึ่งมันสูงสาหัสมาก มีบางครั้งที่เลย 500 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สหรัฐอเมริกาจัดให้เป็นระดับร้ายแรงเกินมาตรวัดที่เกินจะรับไหว คือ Beyond AQI 

แต่อมก๋อยไม่ได้เป็นเช่นนั้น !   
อมก๋อย เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ห่างไกลตัวจังหวัดที่สุด กันดารที่สุด ขึ้นดอยขึ้นเขาด้วยทางเล็กๆโขยกเขยกขนาดคนเชียงใหม่ที่เคยไปถึงมีน้อยกว่าคนไม่ได้ไป เพราะไม่รู้จะทนลำบากตรากตรำไปถึงแถวนั้นทำไม ตัวอำเภอพอมีที่พักแรมอยู่ แต่เลยขึ้นไปในเขตตำบลที่ต้องไต่ดอยไปอีก ตำบลแรก ๆ ใช้เวลา 40-50 นาที ระยะทางแค่ 30-40 กิโลเมตร

แต่พอตำบลเขตบ้านท้าย ๆ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง ที่พักไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่ถึง ด้วยมันเป็นเขตแดนที่ต่อกับป่าเขากันดารของจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน  ซึ่งหากมีคนนึกอยากเดินทางจากศาลากลางแม่ฮ่องสอน/ตาก ไปยังพรมแดนที่ติดกับอมก๋อย มันก็ยิ่งสาหัสกว่า อาจจะใช้เวลามากกว่าหนึ่งวัน 

  • การเผาในพื้นที่ป่าอมก๋อย 

อมก๋อยเป็นพื้นที่มีป่าไม้มาก ชุมชนอยู่ในเขตป่า สิทธิทำกินรุงรังอยู่พอสมควร และมีการทำไร่หมุนเวียนมากชนเผ่าพื้นเมืองที่สูงไม่ได้ทำเกษตรแปลงใหญ่แบบพื้นราบ ดังนั้นวิธีการทำกินแบบนี้ยังต้องใช้ไฟ
 

เกริ่นมาแบบนี้ท่านอาจจะจินตนาการว่าที่นั่นคงเผากันมากมายเป็นต้นตอมลพิษฝุ่นควันสำคัญ สถิติการเกิดจุดความร้อนของเชียงใหม่ตั้งแต่ต้นปีมาถึง 22 กุมภาพันธ์ 2,791 จุด อมก๋อยมาเป็นลำดับ 6 จาก 25 อำเภอ

ฮอด 606 จุด, แม่แจ่ม 456 จุด, จอมทอง 405 จุด, เชียงดาว 306 จุด, ดอยเต่า 275 จุด และอมก๋อย 268 จุด ในจำนวนอำเภอที่เผาเกิน 100 จุด ก็ 6 อำเภอนี่แหละ !!

\'อมก๋อย\' โอเอซิสภาคเหนือกับการจัดการ\'ฝุ่นควัน\'ที่ดี

แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดการเผา พบว่า อมก๋อยมีการเผากลางคืนน้อยที่สุด ไฟที่เกิดส่วนใหญ่เป็นไฟในแปลงเกษตร ซึ่งกันแนวกันไฟเอาไว้ มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก เผาจบเร็วเสร็จภายในวันเดียว hotspot กลางคืนมีน้อยมาก ต่างจากเหตุไฟไหม้พื้นที่อื่น

ซึ่งหากเป็นไฟในป่าจะมีพฤติกรรมไหม้ลาม เป็นไฟกลางวันต่อกลางคืน หรือ ไฟป่า เช่นที่เกิดในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวง ฮอดและจอมทอง มีลักษณะเป็นไฟลามทั้งวันทั้งคืนอย่างชัดเจน 

ไฟอมก๋อย เป็นไฟควบคุมได้ ต่างจากไฟไม่สามารถควบคุม !   

ค่าอากาศของอมก๋อยสีสวยดูดีกว่าอำเภอโซนใต้ใกล้เคียง โดยเฉพาะในช่วงไฟไหม้ลามจังหวัดต้องใช้ยุทธการใหญ่ส่งกำลังมากมายไปดับไฟป่าออบหลวง แต่พื้นที่อมก๋อยค่าฝุ่นยังต่ำมาก บางอำเภอแค่ราว 30-40 ไมโครกรัม/ลบ.ม.เท่านั้น 

ปัจจัยมาจากการเผากลางวัน ระบายเร็ว ค่าฝุ่นอาจจะสูงในช่วงกลางวันไม่นาน แล้วก็ระบายขึ้นไม่สะสม ประกอบกับภูมิประเทศของอมก๋อยเป็นที่สูง ตัวอำเภอต่ำสุดยังสูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 800 เมตร

ส่วนตำบลห่างไกลสูงขึ้นเป็นระดับพันเมตร  ยิ่งสูงหากไม่มีการเผากลางคืนในเขตของตัวเอง อากาศจะดีกว่าพื้นราบ ดังนั้นตำบลต่างๆ เช่น นาเกียน ยางเปียง ซึ่งมีเครื่องเซนเซอร์วัดส่วนใหญ่ค่าอากาศจะดีกว่าอำเภอพื้นราบ ทั้งๆ ที่สถิติการเผาของอมก๋อยสูงเป็นลำดับ 6 จาก 25 อำเภอก็ตาม

  • เผาแบบไหนไม่ก่อมลพิษ

นับจากต้นปีมาพฤติกรรมการเผาของอมก๋อยคือเผาในแปลงเกษตรเป็นส่วนใหญ่และเป็นการเผาจบในกลางวัน คือพฤติกรรมการใช้ไฟในไร่ที่สูงหรือไร่หมุนเวียน แตกต่างจากพื้นที่สูงอำเภออื่นที่มีแปลงเกษตรอุตสาหกรรมแปลงใหญ่ เช่นข้าวโพด ซึ่งก็ต้องใช้ไฟเช่นเดียวกัน แต่ใช้มากกว่ากันอย่างเทียบไม่ติด 

แปลงข้าวโพดใช้พื้นที่จำนวนมาก ทำลายป่าให้เป็นเขาหัวโล้น ต่างจากไร่หมุนเวียนที่กันเขตไม่ได้ใช้ให้งอกงามเป็นป่าสีเขียวหมุนเวียนไป การทำไร่จึงต้องระวังแนวเขตไม่ให้ลามไปยังแปลงอื่นที่เป็นป่าอยู่และจำเป็นต้องหมุนมาใช้งานปีต่อไป

หากไฟเข้าแปลงที่จะหมุนมาใช้ปีหน้าจะเสียหาย เผาเองเสียหายเองเขาจึงระวังไฟลาม...  แต่การเผาแปลงเกษตรไร่ข้าวโพดมักจะลามเข้าป่าเสมอๆ เพราะคนไม่ระวังความเสียหายต่อป่าส่วนรวม

\'อมก๋อย\' โอเอซิสภาคเหนือกับการจัดการ\'ฝุ่นควัน\'ที่ดี

อมก๋อยไม่มีข้าวโพดแม้แต่แปลงเดียว ! นี่เป็นอะเมซิ่งไม่น้อย เพราะอำเภอใกล้เคียงติดกันล้วนแต่ปลูกข้าวโพด สอบถามชาวบ้านได้ความว่า มันเป็นมติร่วมกันของชาวบ้านทุกตำบลไม่เอาข้าวโพด

เพราะเคยทดลองแล้วมันเสียหายเยอะ ข้าวโพดต้องใช้พื้นที่ขยายออก แปลงมาเป็นข้าวโพดแล้วเขาจะโล้น ไม่สามารถกลับไปเป็นภูเขาหมุนเวียนทำไร่ คือยังมีสีเขียวปกคลุมหมุนกันไป เขามีมติแล้วยังมีกฎบ้านบังคับกันเองเพื่อไม่ให้มีใครดื้อปลูก ไม่ใช้แปลงเกษตรใช้ไฟมาก ยังคงรักษาวิถีเกษตรใช้ไฟน้อย ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนเสริมให้อมก๋อยเป็นพื้นที่คุณภาพอากาศดี ทั้งๆ ที่มีการเผาแปลงเกษตรมากพอสมควรมากกว่าอีกหลายอำเภอ 

  • ปัจจัยทำให้อมก๋อยมีคุณภาพอากาศดี

ปัจจัยแวดล้อมของอมก๋อยดังที่กล่าวมา สามารถเป็นกรณีศึกษาต่อการวางแผนระยะยาวเพื่อแก้วิกฤตมลพิษอากาศภาคเหนือ โดยเฉพาะในประเด็นการเผากลางวัน กับ เผากลางคืน ด้วยเพราะสภาพอากาศแบบแอ่งภูเขาหากมีการเผากลางคืน อากาศกดปิด ไม่ระบาย  และการวางแผนการผลิตการเกษตรชนิดใช้ไฟน้อย กับต้องใช้ไฟมาก เปรียบเทียบกัน

จริงอยู่ที่หากไม่ให้เกิดมีไฟเลยสักกองจะเป็นการดี เพราะไม่ว่าจะไฟแบบไหน ล้วนแต่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่อย่างไรก็ตามในโลกของความเป็นจริง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามไม่ให้มีไฟได้เด็ดขาด ดังนั้นการผลิตและการใช้ไฟที่เกิดผลกระทบน้อย จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 

การที่อมก๋อยยังเป็นอำเภอที่มีคุณภาพอากาศดีสีสวย ระดับ 30-50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในวันที่อำเภอใกล้เคียงม่วงสาหัสจากไฟป่า และเชียงใหม่ทั้งเชียงใหม่ แดงส้มค่าฝุ่นเกิน 70-80 ไมโครกรัมถ้วนหน้า มาจากปัจจัยทั้งภูมิประเทศและสภาพอากาศทิศทางลม

และยังมาจากบริบทการทำมาหากินของชาวอมก๋อยที่ใช้ไฟแต่พอประมาณ ไม่เยอะ ไม่ลาม เป็นไฟที่ควบคุมได้ เรื่องที่ว่าเป็นประเด็นชวนขบคิดที่น่าจะพิจารณาต่อไป