พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต 'ลุมพินีสถาน' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต 'ลุมพินีสถาน' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น

ผศ.ดร. พินัย สิริเกียรติกุล นักวิชาการสถาปัตยกรรม ย้อนอดีตจุดกำเนิด-ความสำคัญ 'ลุมพินีสถาน' ฉากละครทางการเมืองยุคสงครามเย็น หลังพ.ศ.2488 สร้างความมั่นคงชาติ

สถาปัตยกรรม นอกจากความสวยงาม ยังเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงของชาติได้อีกด้วย เหมือนดังที่อาคาร ลุมพินีสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ ‘ลุมพินี’ หรือที่เรียกกันว่า สวนลุมพินี เคยรับบทบาทนี้เมื่อแรกเริ่มก่อสร้าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงอาคาร ‘ลุมพินีสถาน’ ว่า จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ อาคารหลังนี้ก็ปรากฏอยู่ในสวนลุมพินีพร้อมสระน้ำรูปวงกลม ตั้งแต่ปีพ.ศ.2495

แต่บริเวณโดยรอบ ‘ลุมพินีสถาน’ ยังไม่ได้พัฒนาเต็มรูปแบบ สันนิษฐานว่ามีการพัฒนาช่วงใดช่วงหนึ่งหลังปี 2495 เป็นต้นมา และแล้วเสร็จก่อนปีพ.ศ.2499

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น อาคารลุมพินีสถาน ภายในสวนลุมพินี

วัฒนธรรมความบันเทิงกับ ‘สงคราม’

ผศ.ดร.พินัยกล่าวว่า หลังทศวรรษปี 2490 เป็นช่วงที่การเมืองระดับโลกเรียกว่า ยุคสงครามเย็น สถานการณ์การเมืองของโลกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจน คือ ‘โลกทุนนิยม’ นำโดยสหรัฐอเมริกา และ ‘โลกคอมมิวนิสต์’ นำโดยสหภาพโซเวียต

อย่างที่ทราบกัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อญี่ปุ่นบุก ยอมให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังพลผ่านประเทศเพื่อไปทำสงครามกับพม่าที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ

แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ด้วยการทำงานของขบวนการ ‘เสรีไทย’ ประเทศไทยจึงมิเสียเอกราช โดยได้รับการรับรองจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายทุนนิยม

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น ผศ.ดร. พินัย สิริเกียรติกุล นักวิชาการสถาปัตยกรรม

“สถานะของประเทศไทยขณะนั้น ต้องดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายนโยบายของประเทศที่ดำเนินคู่ขนานกันไปในทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน วัฒนธรรมความบันเทิง เรามีนโยบายที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมความบันเทิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงของชาติด้วย ซึ่งดำเนินการใน 2 รูปแบบด้วยกัน

หนึ่งคือ วัฒนธรรมความบันเทิงแบบจารีต เช่น โขน นาฏศิลป์ ละครดึกดำบรรพ์ รับผิดชอบโดยกองการสังคีต กรมศิลปากร

สองคือ วัฒนธรรมความบันเทิงแบบสมัยใหม่ เช่น การเต้นลีลาศ ดนตรีแจ๊ส ได้รับอิทธิพลจากอเมริกัน เป็นคุณค่าที่รัฐบาลปรารถนาได้มาครอบครอง แม้ไม่ใช่มาจากรากของเราเอง แต่ว่ามีค่านิยมแบบก้าวหน้า ที่รัฐอยากได้มา เพื่อความทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาที่กำลังก้าวขึ้นมาอยู่ในสถานะสูง และกำลังจะกำหนดระเบียบโลกใหม่”

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น อาคาร Royal Festival Hall ณ กรุงลอนดอน

สถาปัตยกรรมกับ ‘ขั้วการเมือง’

อาคาร ‘ลุมพินีสถาน’ สร้างขึ้นเพื่อรองรับวัฒนธรรมความบันเทิงสมัยใหม่ ในสถานการณ์ที่การเมืองโลกเผชิญหน้ากันในรูปแบบ ‘สงครามเย็น’

ในฐานะผู้ศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ผศ.ดร.พินัยสันนิษฐานว่า ‘ลุมพินีสถาน’ อาจได้รับอิทธิพลจากอาคาร Royal Festival Hall ในประเทศอังกฤษ สร้างขึ้นในปีค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) 7 ปีก่อนหน้าอาคารลุมพินีสถาน

“ข้อสังเกตของผมคือ Royal Festival Hall เป็นอาคารพิเศษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รัฐบาลอังกฤษต้องการใช้เป็นโครงการขับเคลื่อนเยียวยาประชาชนที่ประสบความยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใช้โปรแกรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์เยียวยาจิตใจประชาชน”

Royal Festival Hall เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตขนาด 2,700 ที่นั่ง จัดงานเต้นรำ งานเสวนา ปัจจุบันตัวอาคารขึ้นทะเบียนอนุรักษ์

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น อาคารลุมพินีสถาน

ลุมพินีสถาน เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นที่ใช้สอยภายในราว 5,500 ตารางเมตร พื้นที่ชั้น 1 ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นฟลอร์เต้นรำลีลาศและจัดกิจกรรมต่างๆ มีขนาดพื้นที่ราว 764 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่ชั้น 2 ออกแบบเป็นลักษณะชั้นลอยยาวตลอดโดยรอบอาคาร ปัจจุบันตัวอาคารอยู่ในสภาพร้าง

“การที่เราหยิบยืมรูปแบบลักษณะอย่างนี้จากอังกฤษ ช่วยแสดงจุดยืน แทนที่คุณจะไปหยิบยืมสถาปัตยกรรมจากขั้วคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีงานสถาปัตยกรรมสมัยเช่นกัน แม้ไม่ใช่จากอเมริกาโดยตรง แต่ในเรื่องความก้าวหน้าทางความคิดก็ใช้แทนกันได้”

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น เวทีดนตรีภายในอาคารลุมพินีสถาน

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น ด้านหลังของเวทีดนตรีภายในอาคารลุมพินีสถาน

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น กลไกชั้นใต้ดิน ทำหน้าที่หมุนพื้นเวทีดนตรีด้านบน

อีกหนึ่งความโดดเด่นของลุมพินีสถานคือ ‘เวทีดนตรี’ ที่ดูเหมือนมีเพียงครึ่งวงกลม แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกครึ่งวงกลมซ่อนอยู่หลังฉาก และสามารถหมุนเข้าออกได้

เมื่อวงดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่หน้าฟลอร์เต้นรำ วงดนตรีอีกวงสามารถเตรียมความพร้อมอยู่ด้านหลังของฉาก เมื่อวงดนตรีหน้าฉากทำหน้าที่ใกล้เสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถบังคับกลไกที่ติดตั้งอยู่ใต้เวทีลึกลงไปยังชั้นใต้ดิน เพื่อหมุนวงดนตรีหลังฉากออกมาหน้าฉากได้ทันที

การเล่นดนตรีจึงทำได้ต่อเนื่องไม่ขาดตอน ไม่ต้องเสียเวลาหยุดเพื่อเตรียมและทดสอบเสียงเครื่องดนตรีเมื่อจะเปลี่ยนวง การเต้นรำก็กระทำได้ต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลงเช่นกัน

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น เบนนี่ กู๊ดแมน เป่าคลาริเน็ตประชันเสียงขลุ่ยของครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์

วัฒนธรรมบันเทิง ‘ฉากละครการเมือง’

เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ อาคาร ลุมพินีสถาน คือการมาเยือนของราชาเพลงแจ๊สชาวอเมริกัน เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) เมื่อปีพ.ศ.2499 และได้รับการบันทึกไว้โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน

ในปีนั้น เบนนี่ กู๊ดแมน เดินทางบรรเลงเพลงกับ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ (วงสุนทราภรณ์) ควบคุมวงโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยเบนนี่เป่าคลาริเน็ตประชันกับเสียงขลุ่ยของครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์

ระหว่างพำนักในกรุงเทพฯ เบนนี่และคณะได้เล่นดนตรีการกุศลเพื่อหาเงินสมทบทุนการก่อสร้างโรงพยาบาล และยังบรรเลงไทยสากลหลายเพลงในงานลีลาศการกุศล ณ อาคารลุมพินีสถาน ซึ่งมีผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น พื้นที่ฟลอร์เต้นรำขนาดใหญ่ภายในอาคารลุมพินีสถาน

“ความจริงก็เหมือนกับเหตุการณ์ทั่วไปที่มีนักดนตรีมีชื่อเสียงมาเปิดการแสดง แต่ผมคิดว่านัยของการเยือนของเบนนี่ กู๊ดแมน มีมากกว่านั้น คือมีความเป็นฉากละครทางการเมือง” ผศ.ดร.พินัย กล่าว

ในเชิงวิชาการระบุว่า ยุคสงครามเย็น เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขั้วอำนาจมีความเป็น ฉากละครทางการเมือง มากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่คนซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐจะต้องระแวดระวังในการแสดงท่าทีซึ่งมีนัยทางการเมืองอยู่เสมอ

“ผมอยากให้เราไปดูเหตุการณ์ที่เป็นฉากละครทางการเมืองคลาสสิก เป็นเหตุการณ์ในงานแสดงนิทรรศการของสหรัฐ รองประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (ค.ศ.1959) เป็นผู้นำชมให้แก่นายกรัฐมนตรีโซเวียต นิกิตา ครุชชอฟ”

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น เหตุการณ์ Kitchen Debate (credit : Nixon Presidential Library and Museum)

อาจารย์พินัยเล่าว่า นิทรรศการครั้งนั้นแสดงเกี่ยวกับบ้านในชนบทที่นิกสันอ้างว่าชนชั้นกลางของอเมริกาทุกคนเข้าถึงได้ และนิกสันจงใจนำครุซซอฟไปยังพื้นที่ครัวของอเมริกัน ซึ่งมีการจัดแสดงแบบผ่าครึ่ง และมีช่างภาพอยู่ตรงนั้น

พอไปถึงก็ debate (แลกเปลี่ยนความเห็น) กันเรื่องเครื่องซักผ้าของอเมริกันและโซเวียต ทั้งสองคนก็รู้ว่าตัวเองอยู่ต่อหน้ากล้อง

เมื่อดีเบตกันเสร็จ ครุซซอฟก็บอกว่าวิดีโอเมื่อสักครู่ขอให้แปลเป็นภาษารัสเซีย เพื่อเอาไปออกอากาศให้ประชาชนโซเวียตได้ดู นิกสันก็บอกจะทำเช่นเดียวกัน

เหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่จะต้องแสดงความชิงไหวชิงพริบในหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อใหม่ มีความสำคัญมากในยุคสงครามเย็น การดีเบตครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือในประวัติศาสตร์ มีบันทึกไว้ด้วยคำว่า Kitchen Debate

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนอดีต \'ลุมพินีสถาน\' ฉากละครการเมืองยุคสงครามเย็น อาคาร 'ลุมพินีสถาน' ภายในสวนลุมพินี

“โทรทัศน์เข้ามาในประเทศไทยปี 2498 ก่อนหน้า เบนนี่ กู๊ดแมน มาเยือน 1 ปี ภาพที่เบนนี่มาเยือนลุมพินีสถานและรวมถึงได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักดนตรีชาวไทยไม่ใช่การเดินเฉยๆ แต่มีนัยทางการเมืองช่วงสงครามเย็นด้วย แต่ละมุนละม่อมกว่าคิทเช่นดีเบตตรงที่ว่า ไม่ใช่เป็นขั้วอำนาจสองขั้วมาเจอกัน แต่เป็นไทยกับมหามิตรอย่างอเมริกา

และสาสน์หนึ่งที่สำนักข่าวอเมริกันต้องการจะสื่อคือ ถ้าคุณคบกับอเมริกา นี่คือความทันสมัย ความก้าวหน้า ที่คุณจะได้”