เอ็ดเวิร์ด เทียน ผู้สร้างแอพ"GPTZero"ตรวจจับบทความที่เขียนโดย"ChatGPT"

เอ็ดเวิร์ด เทียน ผู้สร้างแอพ"GPTZero"ตรวจจับบทความที่เขียนโดย"ChatGPT"

แม้จะมี"ChatGPT" แชทบอทขั้นเทพเหนือกว่า AI แต่จะสู้มนุษย์ได้หรือ... ล่าสุดเอ็ดเวิร์ด เทียน ได้สร้างแอพ "GPTZero" เพื่อตรวจจับว่าบทความนี้เขียนโดย ChatGPT หรือมนุษย์เขียน

เอ็ดเวิร์ด เทียน นักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ครุ่นคิดถึงพลังของปัญญาประดิษฐ์หรือ AIมานานหลายปีแล้ว

แต่เขาเพิ่งตระหนักถึงความล้ำยุคของเทคโนโลยีดังกล่าวในการฟังบรรยายเมื่อปีที่แล้ว เมื่อที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเขาโชว์ชุดบทความหน้าชั้นเรียนและขอให้นักศึกษาแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เขียนโดยมนุษย์กับสิ่งที่ AI สร้างขึ้น 

นักศึกษาหลายคนเดาผิด เขาถึงได้ตระหนักว่าต้องหาวิธีมาแก้ปัญหาแล้ว  

“เทคโนโลยีนี้มีแต่จะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ AI จะคงอยู่ต่อไป และนี่คืออนาคต” เทียนกล่าวกับเว็บไซต์บีบีซี 

"แต่ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าเราต้องก้าวเข้าสู่อนาคตอย่างมีความรับผิดชอบ"   

 

 

  • กล่องแห่งหายนะของเทคโนโลยี

และนี่คือเหตุผลที่นักศึกษาเอกวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์วัย 22 ปีใช้เวลาช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ร้านกาแฟในโตรอนโต แคนาดา สร้างแอพพลิเคชั่น GPTZero ที่สามารถระบุได้อย่างแม่นยำว่าข้อความไหนเขียนโดยมนุษย์จริงๆ หรือโดย AI หรือบอท เขาใช้เวลาเพียง 3 วันในการสร้างแอพดังกล่าว 

เขาสร้าง GPTZero ขึ้นมาเพื่อตรวจจับบทความที่เขียนโดย ChatGPT แชทบอทอัจฉริยะขั้นเทพเหนือกว่าที่ AI เคยทำได้ มันสามารถหาคำตอบให้กับเราได้ทุกเรื่อง และสามารถเขียนข้อความได้เกือบทุกอย่างราวกับมนุษย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาเขียนเอง ตั้งแต่เรียงความภาษาอังกฤษ ข่าว ไปจนถึงแผนการกินอาหารและจ่ายตลาดและโค้ดคอมพิวเตอร์ โดยทั้งหมดนี้สามารถทำได้ง่ายๆ  

 

เอ็ดเวิร์ด เทียน ผู้สร้างแอพ\"GPTZero\"ตรวจจับบทความที่เขียนโดย\"ChatGPT\"

เอ็ดเวิร์ด เทียน 

  • ChatGPT แชทบอทอัจฉริยะ

ChatGPT เป็น AI แชทบอทหรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ห้องแล็บวิจัย AI ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน โดย แซม แอลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท และมีอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทสล่าเป็นผู้สนับสนุนในช่วงแรก ก่อนที่มัสก์จะลาออกในปี 2018 โดยอ้างเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับการพัฒนา AI ของเทสล่า  

เพียงแค่ 6 วันหลังจากเปิดตัวในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว  ChatGPT ซึ่งให้บริการฟรีมีผู้เข้าใช้งานแล้วถึง 1 ล้านคน ในบรรดาคนที่ใช้งาน ChatGPT มากที่สุดคือนักเรียนและนักศึกษาที่ใช้ประโยชน์ของมันสำหรับทำการบ้านและเขียนวิทยานิพนธ์หรือบทความหรือที่เรียกกันว่า “การคัดลอกงาน”  

เสียงตอบรับอย่างล้นหลามในแชทบอทอัจฉริยะ สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาบางแห่งถึงกับบล็อกแชทบอทดังกล่าวบนเซิร์ฟเวอร์ เพื่อป้องกันนักเรียนโกง หลายๆ คนกังวลว่าบอทจะมาแย่งงานของนักเขียนและนักสร้างสรรค์ หรือถูกแฮ็กเกอร์นำมาใช้เขียนมัลแวร์ที่เป็นอันตราย 

เทียนเชื่อว่า ChatGPT เป็น Pandora’s Box หรือกล่องแห่งหายนะของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสียเฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อื่นๆ   

“แม้มันจะเป็นนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม แต่ก็มีข้อเสียมากมายเช่นกัน” เทียนกล่าว 

เทียนซึ่งศึกษาอยู่ปีสุดท้ายที่พรินซ์ตันกล่าวว่า แอพ GPTZero ที่เขาพัฒนาขึ้นถือเป็นขั้นตอนแรกในการคลายข้อกังวลต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

เอ็ดเวิร์ด เทียน ผู้สร้างแอพ\"GPTZero\"ตรวจจับบทความที่เขียนโดย\"ChatGPT\"

ChatGPT AI แชทบอทอัจฉริยะขั้นเทพที่กำลังสร้างความสั่นสะเทือนให้แวดวงการเรียนการสอน (ภาพ เซาท์ไชน่า มอนิ่งโพสต์) 

  • GPTZero ทำงานอย่างไร 

GPTZero ใช้ตัวแปร 2 ตัวคือ ความสับสนและความผันแปรในการตรวจบทความว่าเขียนโดยมนุษย์หรือโดยบอท โดยในขั้นแรกแอพจะวัดความไม่มีแบบแผนของข้อความ โดยข้อความที่เขียนโดยมนุษย์ มีแนวโน้มที่คาดเดาไม่ได้มากกว่างานที่เขียนโดยบอท 

“หากข้อความนั้นๆ มีความไม่เป็นแบบแผนและแปลกๆ หรือไม่คุ้นเคย และ GPTZero มีความสงสัยในข้อความนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ข้อความนั้นจะถูกเขียนโดยมนุษย์” เทียนอธิบายกับ เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์  

ในทางกลับกัน หาก GPTZero มีความคุ้นเคยกับข้อความนั้นๆ เป็นอย่างดี และมีระดับ "ความสงสัย" ต่ำ มันเป็นไปได้ว่าข้อความนั้นถูกสร้างโดยบอท 

อัลกอริธึ่มของ GPTZero ยังตรวจสอบ "ความผันแปร" ซึ่งใช้วัดความไม่สอดคล้องกันภายในข้อความ โดยการสแกนข้อความดูว่า มีความผันแปรเพียงใด ตัวอย่างเช่น ข้อความมีการผสมผสานระหว่างประโยคสั้นและประโยคยาวหรือไม่ หรือการเขียนนั้นดูเหมือนจะมีระดับหรือความสม่ำเสมอมากเกินไปหรือไม่   

"บทความที่เขียนโดยมนุษย์จะมีความแปรปรวนมาก  เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง" เทียน กล่าว  

เทียนยังคงเดินหน้าปรับปรุง GPTZero ให้ดีขึ้น ล่าสุดเขาได้เปิดตัวเวอร์ชั่นเบต้าให้คนทั่วไปใช้งานได้ ในทวิตเตอร์ของเขาแสดงให้เห็นว่า แอพสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารนิวยอร์คเกอร์กับจดหมายที่เขียนโดย ChatGPT ได้อย่างไร  

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นมกราคม ตอนนี้แอพ  GPTZero มีผู้ใช้งานกว่า 80,000 คนแล้ว เทียนบอกว่าเขาได้รับการติดต่อจากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฝ่ายรับสมัครเรียนจากทั่วโลกที่สนใจวิธีการทำงานของแอพ  

  • AI มีทั้งคุณและโทษ 

ในขณะที่ GPTZero ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านการคัดลอกผลงานทางวิชาการ เทียนกล่าวว่า เขาเห็นแอพประเภทเดียวกับที่เขาทำกำลัง ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ เช่น แคมเปญการให้ข้อมูลเท็จทางออนไลน์ 

อย่างไรก็ตาม เทียนไม่ได้ต่อต้านปัญญาประดิษฐ์ อันที่จริงแล้วเขาตื่นเต้นมากกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีดังกล่าว และพบว่ามันมีประโยชน์ในการช่วยเขาเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์และแก้ปัญหาอื่นๆ แต่เขาบอกว่า การพัฒนาระบบการป้องกันสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้การใช้งานมีความน่าเชื่อถือ 

แต่เขาบอกว่า เหนือสิ่งอื่นใด ความนิยมของแอพของเขาบ่งบอกถึง "ความอยากรู้ความจริงของมนุษย์"   

  • ความงดงามของงานเขียนโดยมนุษย์ 

เทียนเกิดที่โตเกียว แต่ไปโตที่ปักกิ่งและโตรอนโต ปัจจุบันเขาทำงานเป็นนักข่าวนักศึกษาให้กับหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชื่อ เดอะเดลี่ พรินซ์โตเนียน ช่วงปิดเทอมเขาไปฝึกงานด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่บริษัทไมโครซอฟท์  

เทียนมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และสื่อสารมวลชน เขาสนใจว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงและหนุนเสริมศิลปะของการเล่าเรื่องด้วยสื่อมัลติมีเดียในสื่อสารมวลชนได้อย่างไร  

ตอนที่เทียนสาธิตวิธีการทำงานของ GPTZero เขาใช้บทความที่เขียนโดย จอห์น แมคฟี่ ในนิตยสารนิวยอร์คเกอร์ฉบับเดือนมีนาคม 2015 เพื่อเป็นการยกย่องนักเขียนชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้บุกเบิกการเขียนสารคดีเชิงสร้างสรรค์ และเป็นอาจารย์ที่สอนวิชาการเขียนเพื่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เทียนเกี่ยวกับความงดงามของงานเขียน 

“ความสามารถในการเขียนหรือการเขียนงานที่เป็นต้นฉบับของตัวเอง จะยังคงเป็นทักษะที่สำคัญ ดังนั้น (นักเขียน) ก็จะยิ่งมีคุณค่ามากกว่า” เทียนกล่าว พร้อมเสริมว่าสังคมจะยังคงมีความต้องการงานเขียนที่เป็นต้นฉบับ แม้ว่า AI จะมีความเทพขึ้นในการสร้างบทความ 

“มีบางสิ่งที่สวยงามอย่างแน่แท้ในงานเขียนที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์” เทียนกล่าว 

...............

  • ที่มา : เว็บไซต์บีบีซี ซีบีเอสนิวส์ และ เซาท์ไชน่า มอนิ่งโพสต์ 
  • บทความแปล : โดยลิเวอร์เวิร์ด คอลัมน์สอดเห็นประเด็นโลก กรุงเทพธุรกิจ


...