ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

ในวันที่เราท้อแท้หรือเศร้าโศก บางเรื่องราวอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจได้บ้าง รวมเรื่องราวดีๆ จากชัชชาติ สิทธิพันธุ์,เผ่าทอง ทองเจือ,โบกี้ ไลอ้อน,เชฟเคน-วัชรวีร์

ในห้วงปี(2565)ที่ผ่านมา ในสังคมไทยมีทั้งเรื่องร้ายและดี เป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้ อยู่ที่ว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปตามครรลองของความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

ทีมจุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ขอต้อนรับปีใหม่ด้วยแนวคิดสั้นๆ จากบทสัมภาษณ์ที่ให้โอกาสพวกเราพูดคุยเปิดเรื่องราวของพวกเขา และทุกการสนทนาที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเราได้ คือ แรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป

เริ่มตั้งแต่เรื่อง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ที่เชื่อเสมอว่า มีสิ่งเล็กๆ ที่ลงมือทำได้เลย และก็ได้ทำให้เห็นแล้ว ตามด้วยคนดังอย่างเผ่าทอง ทองเจือ ในวันที่ตัดสินใจขายทรัพย์สมบัติ เมื่อค้นพบสัจธรรมของชีวิต ,เคน-วัชรวีร์ วิเสทโภชนาทิพย์ เชฟที่รับผิดชอบต่อคนกิน จะใส่เครื่องปรุงอะไร คนกินก็น่าจะได้รู้  

ตามด้วยความฝันเล็กๆ คนทำงานเพลง โบกี้ ไลอ้อน เติบโตมากับเพลงที่แม่ร้องให้ฟัง ไม่เคยคิดว่าจะได้เป็นนักร้องดัง รวมถึง ครูแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ เพราะคิดบวก จึงมีคลองเตยดีจัง อาสาสมัครตัวเล็กๆ ที่ร่วมมือกับหลายฝ่ายแก้ปัญหาเฉพาะหน้าช่วงโควิดระบาดหนักที่ชุมชนคลองเตย และไอรีล ไตรสารศรี ผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 แม้จะป่วยก็ยังทำเพื่อคนอื่นต่อไป...

  • ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :สิ่งเล็กๆ ที่ทำได้เลย

ตื่นตี 4 ไปออกกำลังกาย...เป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เชื่อว่า ถ้าบริหารเวลาดีๆ ยุ่งแค่ไหน ก็ทำได้ ไม่ได้ยากเกินไป

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

"ผมเป็นคนชอบคุย ชอบฟังปัญหาคนอื่น และอ่านหนังสือเยอะ ทำให้เห็นหลายมุมมองในการพัฒนา เรื่องอ่านหนังสือสำคัญ ในงานสัปดาห์หนังสือ ผมว่าจะไปเลือกหนังสือ แต่ไม่ได้ไปไหนเลย ซื้อหนังสือสิบนาที อีกสี่ชั่วโมงมีคนขอถ่ายรูป

มีคนถามว่า ชอบหนังสืออะไร ผมขอแนะนำ Think Again คิดแล้ว, คิดอีก ผมเป็นคนเขียนคำนำ แนวคิดประมาณว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตได้ ต้องเริ่มจากความคิด ถ้าเปลี่ยนความคิดไม่ได้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนอย่างอื่นในชีวิต

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ปัญหาคือ เรายึดมั่นกับความคิดเดิม การสร้างสังคมก็ต้องคิดใหม่ ถ้าคิดใหม่ไม่ทัน สุดท้ายอาจตกขบวน

หนังสือเล่มนี้เขียนดีมาก Adam Grant ศาสตราจารย์ด้าน organizational psychology แห่ง Wharton เขียน ผมอ่านผลงานมาตลอด อีกอย่าง การเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง ให้ยำเกรงในความไม่รู้

และให้ถ่อมตนกับความรู้ อย่างผมก็คิดว่า ตัวเองโง่ ก็ต้องอ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่ม อีกอย่างไม่มีใครเปลี่ยนใจคนอื่นได้ นอกจากตัวเขาจะเปลี่ยนเอง

ดังนั้นเวลาเพื่อนคิดเห็นต่างจากเรา อย่าอารมณ์เสีย ถ้าจะเปลี่ยนใจเพื่อน อย่าพูดถึงจุดอ่อนเขา นั่นเหมือนการฟันดาบ ให้ทำเหมือนการเต้นรำ"

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

  • เผ่าทอง ทองเจือ : ในวันที่ตัดสินใจขายทรัพย์สมบัติ

ถึงเวลาต้องปลดปล่อยทรัพย์สมบัติ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจนถึงของรักของหวงที่สะสมมานาน เพื่อจัดการให้เรียบร้อยก่อนจะลาจากโลกนี้

เมื่อหายป่วยจากโรคมะเร็งมีความสุขกับการใช้ชีวิตผ่านมา 30 ปี อะไรทำให้ “เผ่าทอง ทองเจือ” ในวัยกว่า 65 ปี ตัดสินใจทำ Death Cleaning ปลดปล่อยทรัพย์สมบัติอันเป็นที่รักที่ได้สะสมมานาน 

"ผ่านไป 30 ปี หลังจากหายมะเร็ง คิดว่าจะให้ของกับคนที่อยากให้ บ้าน ที่ดิน ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ซึ่งพ่อแม่เคยสอนไว้ว่า อย่าเพิ่งให้อะไรใครจนกว่าเราจะตาย ให้ผ่านพินัยกรรมดีกว่า 

ถ้าให้เขาตอนเป็นๆ เกิดเขาไม่ดีกับเราในภายภาคหน้า ก็จะเสียใจ หรือให้ไปแล้วเขาไม่ดูแลเรา อันนี้เป็นโจทย์ที่พ่อแม่คิด ส่วนโจทย์เราก็คือให้ไปเลย ตอบแทนบุญคุณที่มีต่อกัน ส่วนภายภาคหน้าจะดูแลกันอยู่ไหม จะดีกับเราไหม ค่อยว่ากัน

ญาติพี่น้องก็ร่ำรวยทุกคน รวยกว่าเราเยอะแยะ ก็เลยดูแลคนที่อยู่รอบตัวที่เขาดีกับเรา ดูแลเรา คนที่เราฝากผีฝากไข้กับเขา

อันดับต้นๆ ถามความต้องการของแต่ละคนว่า ฉันมีขันเงิน มีพระพุทธรูป มีจานชามเบญจรงค์น้ำทอง มีสารพัดจะยกให้เธอก่อนตาย จะได้เอาไปขาย พวกเขาบอกว่าไม่อยากได้ ไม่รู้จะเอาไปขายใคร ขายกี่บาทไม่รู้เลย 

ทุกคนปฎิเสธ ก็เลยคิดว่า เราน่าจะเริ่มขาย แล้วเปลี่ยนเป็นเงินสด แจกจ่ายน่าจะดีกว่า แล้วก็เริ่มขายใน Facebook ตอนนั้นยังไม่กล้าไลฟ์สด ก็ขายเก้าอี้เชคโก 

ตอนไลฟ์ก็บอกว่า นี่ไม่ใช่สมบัติฉันคนเดียว ยังมีของปูเป็นพระยา ตาเป็นคุณหลวง ยายเป็นคุณนาย ยายน้อยเป็นคุณหญิง ย่าเป็นคุณท้าว มียศถาบรรดาศักดิ์ ทุกคนมีสมบัติเยอะ ส่วนใหญ่ก็ตกทอดมาอยู่ที่นี่ "

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

  • เชฟเคน-วัชรวีร์ : ช่างแกงมือหนึ่งแห่งสยาม

เชฟเคน-วัชรวีร์ วิเสทโภชนาทิพย์ เจ้าของร้านอาหาร The Kya Gastronomy ก่อนหน้านี้ไม่ได้อยากเป็น“เชฟ” เพราะรู้ว่างานหนักและเหนื่อย จึงอยากทำงานที่แต่งตัวหล่อๆ ไม่ต้องอยู่ในครัว แต่ชะตาชีวิตก็พัดพาให้กลับมาที่ “ครัว”

"ไม่ว่าจะพยายามจะไปทางไหน ก็ต้องกลับเข้ามาอยู่ในครัว อันนี้เรื่องจริงนะ ผมเกลียดอาชีพเชฟมาก ไม่อยากทำเลย มันเหนื่อย ผมโตมากับการอดหลับอดนอน

อีกอย่างความรับผิดชอบของคนทำอาหาร เมื่อไหร่คนกินแล้วตาย คุณติดคุกนะจะบอกให้ คุณต้องรับผิดชอบ การทำอาหารให้คนกินเป็นความยิ่งใหญ่ของชีวิต

ถ้าคนกินแพ้อาหารแล้วเป็นอะไรไป คุณต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ใครเรียนจบมาก็เป็นเชฟได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนทำอาหารชุ่ยๆ ไม่แคร์คนกินเลยก็มี คนกินเองก็ไม่ได้แคร์อะไรเลย แค่เชฟคนนี้มีชื่อเสียงโดงดัง มีคนติดตามเยอะ ได้ออกทีวีหน่อยก็มีคนแห่ไปกิน 

การที่คุณจะออกอาหารให้ใครสักจาน ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่คุณทำด้วย ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ถามว่าคนกินแพ้อะไรหรือเปล่า เขาอาจจะแพ้กระเทียมก็ได้ มีฝรั่งบางคนแพ้รากผักชี

ความรับผิดชอบคุณต้องมี บางคนมาถามว่า เชฟเคน ทำไมไม่เปิดร้านรับลูกค้า ผมตอบเลยว่า รับเฉพาะลูกค้าที่เชื่อใจผม ถ้าไม่คิดว่าผมเป็นแค่ร้านอาหาร ที่แค่คุณมากินอาหารแล้วก็จากไป คิดแบบนั้นก็จงอย่ามาร้านผม

คือผม...อยากให้คนกินเข้าใจว่านี่คือรสชาติของอาหารจริงๆ ลิ้มรสอาหารอย่างถูกต้อง และให้ความสำคัญกับอาหารที่คุณกิน ทุกครั้งผมจะอธิบายว่าผมใช้อะไร เค้าจะได้รู้ว่าได้กินอะไร ใครเป็นคนปรุง ถ้าเขาเป็นอะไรตาย จะได้รู้ว่าคนไหนทำให้เขาตาย"

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

  • โบกี้ ไลอ้อน :เติบโตมากับเพลงที่แม่ร้องให้ฟัง

ไม่เคยคิดว่า สิ่งนี้จะทำเป็นอาชีพได้  โบกี้ ไลอ้อน รู้แค่ว่าชอบร้องเพลงและมีความสุขกับสิ่งนี้

"ไม่กล้าฝันหรอกค่ะว่าจะเป็นนักร้อง เราใช้ชีวิตกับดนตรีมาตลอด จนไม่ได้คิดแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ทำเป็นอาชีพ มันคือความรัก เราเกิดมาเราก็ร้องเพลง แม่ก็สอนเพลงโน้นนี่นั่น เราดูดิสนีย์ ก่อนนอนก็ร้องเพลงกล่อมกัน

อยู่อย่างนี้จนเป็นชีวิต เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเรา ไม่ได้คิดว่าอวัยวะชิ้นนี้จะทำหน้าที่หาเงินให้เราได้แต่อย่างใด เราแค่ทำมันไปเรื่อยๆ พอมาเรียนดนตรี ก็ไม่ได้มีความฝันอยู่ดี

พอเราได้เรียนวิชาหนึ่ง เกี่ยวกับการดูแลศิลปิน ก็รู้สึกว่า อันนี้มันใช่มากเลย มีความคิดว่าอยากเป็นผู้จัดการศิลปิน เพราะนักดนตรีมีหลายแบบ แต่พอจบมา เราดันเป็นศิลปินซะเอง

ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่คนสาธารณะจำเป็นจะต้องเป็นต้นแบบให้คนอื่น เพราะเขาก็จะมองเรา มองการใช้ชีวิตของเรา เอาจริงๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราทำได้ดีขนาดนั้น

ถ้าคิดแต่เรื่องศิลปะอย่างเดียว มันคงจะดี ถามว่าเป็นไปได้ไหม เป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังต้องกินข้าวอยู่ไง นี่คือสิ่งที่รัก คือสิ่งที่ใช่ คืออาชีพ เพราะฉะนั้นเงินจึงเป็นส่วนหนึ่ง

ถ้าถามว่าเราทำเพื่อเงินร้อยเปอร์เซนต์เลยไหม ก็ไม่นะคะ เหมือนการได้ทำสิ่งที่เรารัก แล้วสิ่งนี้ก็รักเราด้วย มันคือความสุขของชีวิต แม้จะได้เงินมาเท่าไร มันก็เทียบไม่ได้กับความสุขที่เราได้"

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

  • ครูแอ๋ม-ศิริพร  :คลองเตยดีจัง 

แม้จะจบพยาบาล แต่ ครูแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ เลือกไปเป็นครูอาสาสมัครคลองเตย ทำไปทำมาจนตัั้งกลุ่มคลองเตยดีจัง และต้องมาจัดการปัญหาการระบาดโควิดอย่างหนักในชุมชนใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วทำได้อย่างไร

"ใช้สัญชาติญาณในการแก้ปัญหา เพราะเวลาทำโครงการต่างๆ เราก็ทำแบบนี้ เราเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ ไม่มีหัวหน้า เป็นองค์กรแนวราบ ไม่เหมือนระบบบริหารแบบบนลงล่าง เราตัดสินใจได้เลย ใช้ความเห็นที่ประชุม ทุกคนเท่าเทียมกัน เราไม่ได้มีวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า เราเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ซึ่งต่อไปคนรุ่นใหม่จะบริหารแบบแนวราบมากขึ้น

ตอนนั้นคลองเตยดีจัง เป็นจุดเชื่อมกับองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือคนคลองเตย ทำงานกับเครือข่ายเป็นพันๆ คน เราแค่เป็นตัวเชื่อมในการแก้ปัญหา ข้อสำคัญคือ มีคนเก่งๆ แต่ละเครือข่ายเข้ามาช่วย เราก็ประสานภายในกับภายนอก ทำให้จัดการปัญหาโควิดได้อย่างรวดเร็ว"

ความฝันและแรงบันดาลใจจากคนดัง ต้อนรับปี 2023

  • ไอรีล ไตรสารศรี : หัวใจ“ผู้ป่วยมะเร็ง”ระยะ 4 

ผู้หญิงคนนี้ยังต้องรักษาตัวจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะที่ 4 ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาของการทำเคมีบำบัดอย่างหนัก ออย-ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้งโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล(Art for Cancerby Ireal)ยังคงสานต่อความตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งผู้ยากไร้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามสภาพ ผ่านการทำงานของโครงการอาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ฯ อย่างต่อเนื่อง

ถ้าถามว่า สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งอยากฟังในการให้กำลังใจจากคนในครอบครัวหรือจากเพื่อน ควรเป็นข้อความแบบไหน 

“ภาษาไม่ได้มีแค่ภาษาพูด แต่มีภาษาความรู้สึก ภาษากาย การแสดงออกบางทีคำพูดก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่บางทีผู้ป่วยจะรับรู้ได้ในหลายๆ อย่าง การใส่ใจ กินข้าวหรือยัง อยากกินอะไร วันนี้เป็นยังไงบ้าง อยากให้ช่วยอะไรไหม อาจไม่ต้องเป็นแบบ ‘สู้สู้นะ เป็นกำลังใจ เธอเก่งอยู่แล้วนะ’ เป็นแค่เราแสดงความห่วงใย แสดงความรักกับเขาได้ทุกภาษา

อย่างออยมีช่วงหนึ่งให้เคมีแล้วปวดเจ็บกระดูก นั่งกินข้าวอยู่ แม่เดินมาลูบหลัง เป็นไงลูก แค่สัมผัสที่เขาลูบเรา ก็รู้สึกแล้ว เขาส่งความรักให้เรา ส่งพลังให้เรา

บางทีอาจไม่ต้องหาคำที่สวยงามแค่เป็นการแสดงออกที่ทำให้เขารู้สึกว่าเราอยู่ข้างๆ ในเวลาที่เขารู้สึกแย่ เราซัพพอร์ตเขา บางทีเราอาจไม่ต้องเข้าใจเขาก็ได้นะ ความหวังดีบางอย่างก็เป็นความกดดัน

มันต้องหาให้เจอว่าสมดุลอยู่ตรงไหน เพียงให้ความสังเกต มองเขา วันนี้สีหน้าเป็นยังไง ตื่นนอนมาดูยิ้มไหม ถามเขาว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ปวดหัวไหม แค่นี้ ผู้ป่วยก็รู้สึกได้ค่ะ”