ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

การแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี แต่ยังสร้างความสุขให้กับตัวเองและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกด้วย

วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นวันเริ่มต้นงาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

ที่เวที Youth Stage มีการเสวนา Beta Young Success Story โดย ผดุงเดช สารรัตน์ และ ทรัพย์ทวี โกกิลารัตน์ Beta Young Entrepreneur รุ่นที่ 6 เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่

  • Beta Young Entrepreneur คืออะไร

คือ โครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อสังคม เป็นความร่วมมือระหว่าง สภาหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี มีวัตถุประสงค์พัฒนานักศึกษารุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการที่เป็นทั้ง ‘คนเก่ง’ และ ‘คนดี’ 

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

ผ่านการทดลองทำธุรกิจจริง, เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เรียนรู้การเป็นผู้ให้คืนสู่สังคม เตรียมความพร้อมออกไปประกอบธุรกิจจริงในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีทั้ง คุณธรรม จริยธรรม และ ความรับผิดชอบต่อสังคม โครงการฯนี้อยู่ใน วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาตั้งแต่ปี 2554 ปัจจุบันมีนักศึกษาในโครงการ จำนวน 250 คน

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

  • อยากทำเศรษฐกิจให้ดี ไม่อยากให้คนออกไปนอกชุมชน

ผดุงเดช สารรัตน์ ศิษย์เก่า Beta Young Entrepreneur รุ่นที่ 6 กล่าวว่า การได้มาเรียนรู้ในโครงการ Beta Young Entrepreneur ถือว่าโชคดีมากๆ

"เราได้มาเรียนรู้ การทำธุรกิจก่อนคนอื่นเขา ได้ปฏิบัติกันจริง ๆ เป็นโครงการผู้ประกอบการเพื่อสังคม จากที่ไม่เคยได้ลงมือทำอะไรจริง ๆ จัง ๆ พอเราได้ลองทำ ลองเจ๊ง ลองขาดทุน ก็เลยรู้สึกมั่นใจในตัวเองที่จะทำอะไรต่อในอนาคต

ที่บ้านทำธุรกิจรับเหมา ทำถนน เราเป็นคนอุบลฯแต่มาเรียนที่มุกดาหาร เวลาปิดเทอมกลับไปก็เห็นพ่อกับแม่ทำงาน รู้อยู่แก่ใจว่าวันหนึ่งเราก็ต้องกลับไปช่วยงานที่บ้าน 

ตอนปีสี่โปรเจ็คสุดท้ายมีวิชาหนึ่งให้เลือกทำธุรกิจกับครอบครัวหรือทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ตอนนั้นนึกไม่ออกก็ตอบว่าทำธุรกิจครอบครัว อาจารย์ถามว่ากลับไปต่อยอดยังไง

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

มันทำให้เราแอคทีฟตัวเองขึ้นมา ก็ไปศึกษาว่าธุรกิจครอบครัวเริ่มต้นมายังไง ปัญหาคืออะไร เราพบว่า ในชนบทดินแดง ดินลูกรัง เริ่มหายากแล้ว

ในอนาคตต้องเปลี่ยนเป็นถนนคอนกรีตแน่ ๆ เลยเสนออาจารย์ไปว่าผมจะขยายจากถนนดินมาเป็นถนนปูน ถนนคอนกรีต

อาจารย์ถามต่อต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง แล้วจะขายที่ไหน งานมีเยอะจริงหรือเปล่า เราก็เดินเข้าไปที่หน่วยงานรัฐในจังหวัดเลยเพื่อขอแผนพัฒนาห้าปี

ยิ่งรู้จักธุรกิจตัวเองมากขึ้น ยิ่งสนุก แล้วเห็นว่าเราจะแก้ปัญหาที่เราเจอยังไง ปัจจุบันเราได้ทำงานจริง ๆ ของที่บ้านมาหนึ่งปีแล้ว ทำมา 20-30 โครงการแล้ว ต้องขอบคุณโครงการและอาจารย์ที่กระตุ้นเรา 

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

เราเห็นว่าคนแถวบ้านจะเข้ามาทำงานในกทม.เยอะ แต่มีเงินพอที่จะดูแลตัวเองแค่นั้นแล้วยังต้องอยู่ห่างจากครอบครัว

ช่างทำถนนทุกคนที่มาทำงาน เคยไปทำงานกทม.ไปทำงานต่างประเทศ ดูไบ เกาหลี ต้องจ่ายเงินไป สุดท้ายก็ไม่เหลือเงินกลับมา

เรามีความคิดอยู่ในใจลึก ๆ ว่าอยากทำให้เศรษฐกิจหรือสภาพแวดล้อมของบ้านเรามันดี ไม่อยากให้คนออกไปนอกชุมชน

คนรุ่นใหม่เรียนจบปุ๊บเข้ากทม. หรือไปที่อื่น ซึ่งรอบ ๆ บ้านเรามีทรัพยากรมากมายทำให้เกิดประโยชน์และอยู่ในชุมชนได้

ตอนเราประกาศรับสมัครช่างที่ทำงานปูน หลายคนมาสมัคร เราดูคุณภาพงานเป็นหลัก เราอยากทำงานให้ได้มาตรฐาน เพราะถนนทำแล้วไม่ได้อยู่แค่ปีสองปี เป็นสิ่งที่ทุกคนในชุมชนได้ใช้

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

ช่างหลายคนอยากกลับมาอยู่บ้านแต่ไม่รู้ว่ากลับมาทำอะไร เราก็เหมือนเปิดโอกาสให้เขาได้มีงานทำในชุมชนของเขาเองด้วย

เราตัดสินใจถูกที่มาเรียนโครงการนี้ มันไม่ได้มีผลแค่ตัวเราเอง มันมีผลต่อชุมชนเราไม่ได้ต้องการกำไรอย่างเดียว เราอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับเราด้วย

เรามีรีสอร์ตเล็ก ๆ มีลูกค้ามาเที่ยวสามพันโบก ในหมู่บ้านมีแม่บ้านทอผ้าฝ้าย ผ้าย้อมคราม แต่เขาไม่มีที่ขาย เราก็ไปรับผ้ามาวาง เป็นจุดศูนย์กลางให้เขา

สร้างรายได้เพิ่มให้กับกลุ่มแม่บ้าน มันก็ตอบโจทย์เราแล้ว เราต้องดูตัวเราเองด้วยว่าเราเหมาะกับกับอะไร ทุกคนสามารถเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้ ทุกคนมีแนวทางของตัวเอง

น้องๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเรียน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้ให้มากที่สุด ใครอยากทำธุรกิจอะไรให้ศึกษาสิ่งนั้นให้มากที่สุด ให้เราเข้าใจมันให้มากที่สุด แล้วทุกปัญหาที่มันเข้ามา เราจะแก้ได้"

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

  • ชาวนาคือผู้มีพระคุณ

ทรัพย์ทวี โกกิลารัตน์ ศิษย์เก่า Beta Young Entrepreneur รุ่นที่ 6 กล่าวว่า ชอบหลักสูตรจำลอง ที่ทำให้นักศึกษาได้ลงมือจริงและปฏิบัติจริง

"เราเป็นคนชอบทำกิจกรรมร่วมกับสังคม พอเราได้มาเรียนรู้ ปฏิบัติจริง และสอนให้เราเป็นผู้ให้ ได้ไปสัมผัสกับชีวิตผู้คนจริง ๆ

กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ Dummy Company สนุกตรงที่มีคนมาเดิน มีพ่อค้าแม่ค้า เราดูแลเรื่องการออเดอร์น้ำแข็ง ก็ไปถามร้านค้า ร้านไหนที่เราตกหล่นก็จะโดนด่า ทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น

เราเป็นลูกชายคนโต ตอนปีหนึ่งคิดว่าเรียนจบแล้วจะไปเป็นพนักงานก่อนเพื่อเรียนรู้เหตการณ์ข้างนอก พอกลับไปที่บ้านเห็นธุรกิจที่บ้านมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ใช้ความชำนาญในการดูแล

เราเรียนมาสี่ปี ไม่ได้จับธุรกิจที่บ้านเลย กลับไปเรียนรู้ที่บ้านแล้วกัน แล้วทำให้มันดีขึ้น การจัดการคนงานยังไม่เป็นระบบ สต็อกสินค้าใช้วิธีจด เวลาเช็คสต็อกหรือเวลาจะไปส่งของ ของไม่มี

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

ที่บ้าน รับซื้อข้าวจากเกษตรกร ต้องมีความชำนาญตรวจสอบคุณภาพข้าว ไม่ใช่แค่ข้าวพันธุ์อะไรก็ตีราคาเลย มีเรื่องความชื้น ความเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปริมาณแป้ง หรือว่าเป็นโรคไหม

ข้าวที่เราซื้อมาแล้ว ราคาลง ค้างสต็อก เป็นข้าวเก่า เอาไปขายโรงสี กก.ละ 7-8 บาท เราก็เอามาเป่าฝุ่นออก คัดเมล็ด ขายได้ กก.ละ 12 บาท

หลังจากเรียนจบเราก็อยู่กับชาวนา ชาวนาบ่นปุ๋ยแพง ปุ๋ยก็ซื้อที่นี่ ข้าวก็ขายที่นี่ เราขายปุ๋ยราคาส่งต่างอำเภอ ลดราคาได้ ก็เลยไปหาผู้ใหญ่บ้านให้เขารวมกลุ่มคนจะขายราคาส่งให้

เขาก็รวมเงินลูกบ้านมาซื้อปุ๋ยกับเรารอบเดียว ดีกว่าให้ชาวนามาซื้อราคาปลีก หลังจากนั้นก็มีกลุ่มเกษตรกรมาจากหลายหมู่บ้านเลย

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป้าหมาย คือ 'ความยั่งยืน'

ชาวนาเป็นผู้มีพระคุณ ถ้าไม่มีชาวนาก็ไม่มีธุรกิจที่บ้าน เราจะขายแพงไปทำไม เขาก็เอาข้าวมาขายให้เราอยู่แล้ว ที่สำคัญปุ๋ยแพง มันขายยากด้วย ชาวนาไม่มีเงินมาซื้อปุ๋ยกระสอบละพันห้า พันสอง

เราตัดสินใจถูกมากๆ ที่กลับไปบ้าน ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ ตอนคุณพ่อป่วยเข้าห้องผ่าตัด เราก็สามารถทำงานแทนเขาได้

ทำให้ตระหนักว่าชีวิตคนเรา มันไม่แน่นอน ยิ่งกลับไปบ้านเร็ว ได้เรียนรู้เรื่องที่บ้านเร็ว เรายิ่งเก่ง ยิ่งชำนาญ ยิ่งดีมาก ๆ

เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตร เมล็ดพันธุ์ข้าว ต้องทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว รับฟังทุกอย่าง ไม่ว่าเราไปเจออะไร เรียนจบไปแล้ว แต่เราก็ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย ไม่มีวันจบ"

เราทุกคนเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเราเอง แต่เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ถ้าอยากให้ตัวเองให้รอด ก็ต้องทำสังคมให้รอด ตอบโจทย์สังคมให้ได้ และนั่นก็คือความยั่งยืน

........................

งาน Sustainability Expo 2022 หรือ SX 2022 จัดขึ้นวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

มีบริษัทชั้นนำในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 แห่ง, ผู้นำองค์กรธุรกิจกว่า 150 รายมาร่วมให้ความรู้ ให้สัมผัสนวัตกรรมเทคโนโลโลยีที่ยั่งยืน ผ่านนิทรรศการ เวทีสัมมนา เสวนา ฯลฯ