‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คาดเดาไม่ได้ และโรคระบาด เราจะต้องทำอย่างไรเพื่ออยู่ให้ได้อย่างสงบสุข

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดูแล อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี ที่มี Rooftop Farm พื้นที่การเรียนรู้ เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกให้เป็นอาหารปลอดภัย แปลงผักบนหลังคาอาคาร เป็นสวนสาธารณะกินได้

ล่าสุด อาคารป๋วย 100 ปี ได้รับรางวัล ชนะเลิศ เหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ถึง 2 ประเภท คือ เหรียญทองประเภทอาคารสถาบัน และเหรียญทองประเภทอาคารวัฒนธรรม

  • โลกร้อนทำฤดูกาลเปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ปัจจุบัน โลกของเรากำลังประสบปัญหา สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และ ขยะล้นโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ เมื่อฝนตกหนัก ๆ น้ำก็จะท่วมทันที ‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

“น้ำจากหลังคาลงมาพร้อมกัน มันก็ไหลไม่ทัน แต่ถ้าเราดึงเอาน้ำฝนทั้งหมดไว้ใช้ อย่าไปพึ่งน้ำประปาอย่างเดียว เหมือนคนไทยสมัยก่อน น้ำรอระบายก็จะน้อยลง น้ำจะท่วมกรุงเทพก็น้อยลง” อาจารย์ปริญญาแสดงความคิดเห็น และกล่าวต่อว่า

“ในส่วนของ การจัดการขยะ ผมยังเชื่อ เรื่องการศึกษา อยู่นะครับ เพียงแต่ว่าต้องพูดให้ชัดเรื่องเป้าหมายของการศึกษา คืออะไร ไม่ใช่แค่การเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ อันนี้มันผิดอยู่แล้ว

การศึกษาคือการสร้างคน เราคาดหวังให้สมาชิกในสังคมเราเขารู้เรื่องอะไร มีทักษะฝีมือความสามารถด้านไหน ก็สอนสิ่งนั้น ในห้องเรียน แต่เราไม่ได้ออกแบบแบบนั้น เรามีแต่คำขวัญให้เด็ก เด็กมีหน้าที่...  มีแยกขยะสักข้อหนึ่งไหม ไม่มี

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

เรื่องการศึกษาเราก็ต้องทำ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เรามีวิชา TU 100 วิชาพลเมืองกับการลงมือแก้ปัญหา เรียนรู้ที่จะลงมือทำ เอาปัญหาจริง ๆ มาดูกัน พาไปดูโรงขยะ พาไปดูชุมชน แล้วมาช่วยกันหาทางแก้

การเปลี่ยนพฤติกรรมคน เปลี่ยนได้ 3 วิธี วิธีแรกคือ การบังคับ ออกกฎหมายมาแล้วมีโทษหนักๆ เป็นวิธีที่สำเร็จน้อย ทำให้คนติดคุกมากขึ้น นักโทษล้นคุก ต้องหาตำรวจมาบังคับใช้กฎหมาย วิธีนี้ไม่สำเร็จ

วิธีที่สอง คิดคำขวัญ ทำหนังสั้น สโลแกนต่างๆ อันนี้ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายมีแต่แข่งคำขวัญกัน แข่งกันคิด แต่ไม่ลงมือทำสักที ประเทศไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยคำขวัญ

ประเทศไหนคำขวัญยิ่งมาก แสดงว่าปัญหายิ่งเยอะ แล้วแก้ไขไม่เป็น

ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาแบบคนไทยคือ กฎหมายมากขึ้น คำขวัญมากขึ้น แต่ปัญหาเหมือนเดิม 

วิธีที่ดีสุดคืออันที่สาม สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาตร์ ถ้าเราทำสำเร็จในเรื่องนี้ คนจะทำเอง

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

อย่าง ขยะรีไซเคิล มันมีราคา ต่อให้เราไม่แยก ก็จะมีคนรายได้น้อยเขามาแยกมาเก็บไว้ให้เรา นี่คือ แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ แต่รัฐบาลกลับให้นำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาได้อีก

ทำให้ขยะรีไซเคิลที่เคยราคาดีมาก ลดลงไป 3-4 เท่า แรงจูงใจของคนแยกขยะหายไป แล้วกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังอนุญาตต่อไปอีกสองปี เราพูดกันเราวิจารณ์กันขนาดนี้ ต้องเลิกทันทีแล้ว แต่นี่กลับให้ทำต่อไป

เรื่องสำคัญที่ต้องมีคือ นโยบายสาธารณะ ต้องผลักดันก่อนวันเลือกตั้ง เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เราต้องเลือกเอง คนที่มาบริหารบ้านเมือง

ผู้ว่าฯชัชชาติมีนโยบาย 214 มาจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาลงไปคุยกับชุมชน ไปดูปัญหา เป็นนโยบายที่มาจากสาธารณะของจริง ไม่ได้มโนเอาในห้องแอร์แล้วประกาศหาเสียง”

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

  • แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์คืออะไร

อาจารย์ปริญญา กล่าวว่า วิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนพฤติกรรม คือ การสร้างแรงจูงใจ

“การดูแลต้นไม้เป็น คาร์บอนเครดิต (สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) การแยกขยะเศษอาหารมันลด มีเทน (CH4) มี คาร์บอนเครดิต ทำให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน เกิดการสร้างงาน แล้วมันจะเกิดการหมุนไปเอง เพราะทำแล้วเกิดรายได้  

ยกตัวอย่าง เรื่อง กระบอกน้ำ พกกระบอกน้ำมาเองลดราคา มันได้ผลไม่มาก แต่ถ้าไม่พกมาต้องซื้อแก้วเองได้ผลมากกว่า นี่คือตัวอย่างของ การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์

ต้องมุ่งไปที่ผู้ผลิต ถ้าคุณใช้อะไรที่มันรีไซเคิลไม่ได้ เก็บภาษีให้หนัก เพราะมันต้องมาจัดการในภายหลัง นี่คือ วิธีการเปลี่ยนโลก

ปัญหาไม่มีทางเปลี่ยน เราต้องพูดถึง เป้าหมาย ระหว่างการคิดคำขวัญกับการสร้างแรงจูงใจ อย่างหลังพิสูจน์แล้วว่ามันได้ผลมากกว่า

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

แล้วต้องมีเรื่อง นโยบายสาธารณะ เช่น การจัดการขยะพลาสติกที่ทิ้ง ถ้ามาจัดการที่ผู้บริโภคมันยาก ต้องจัดการที่ร้านสะดวกซื้อ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต

อย่างถุงในห้างมีแต่ขายหมด ทุกคนก็พกถุงผ้ามาเอง ช้อนส้อมพลาสติกมีแต่ไม่ให้ อยากได้ต้องซื้อ มันก็จะเกิดการพกมากขึ้น นี่คือการทำน้อยได้มาก

สินค้าที่วางขายทั่วโลก มาถึงมือผู้บริโภค 30 เปอร์เซนต์ อีก 70 ขายไม่ออก เราทำกับโลกอย่างโหดร้ายมาก ขุดเอาทรัพยากรมาแล้วใช้พลังงานไป ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำแบบนี้มา 100 กว่าปี เรากำลังรับผลจากการกระทำ เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนไลฟ์สไตล์

เรื่อง เศรษฐศาสตร์วัดการเติบโต ยิ่งผลิตมาก ยิ่งบริโภคมาก เศรษฐกิจยิ่งโต มันต้องเปลี่ยน เพราะการผลิตมากแปลว่าโลกยิ่งถูกทำลายมาก โลกยิ่งร้อนมาก ต้องเปลี่ยนวิธีวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นแบบใหม่ ไม่ใช่เหมือนเดิม

70 เปอร์เซนต์ของขยะที่ไปเผา เท่าที่เห็นมันรีไซเคิลได้ แต่ที่เขาไม่รีไซเคิลเพราะมันปนเปื้อนเศษอาหาร

ข้อแรก เราต้องแยกเศษอาหารก่อน แล้วขยะจะไม่บูดเน่าไม่เหม็น ไม่น่ารังเกียจ เราก็จะมีเวลาแยกขยะ

‘โลกยังมีความหวัง ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม’ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

  • ทางแก้คือ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม

คนไทยไม่ค่อยมีวินัย ไม่เคารพกฎจราจร แต่พอไปอยู่ต่างประเทศ คนไทยทุกคนเคารพกฎจราจรกันหมด ในทางกลับกัน พอคนเยอรมันมาอยู่เมืองไทยก็ไม่เคารพ

ซึ่งถ้าคนในสังคม 20-30 เปอร์เซนต์ หรือ 3 ใน 10 คนมีพฤติกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม พกถุงผ้า พกกระบอกน้ำ สังคมก็จะเปลี่ยน

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มีประชากร 60 ปีขึ้นไป 20 เปอร์เซนต์ มีคนเกิดน้อยกว่าคนตาย ประเทศไทยมาถึงจุดนี้เมื่อปีที่แล้ว

เราต้องรักษาโลกเอาไว้ให้ได้อีก 50 ปี อีกไม่นานเราจะมีประชากรสูงสุด 10,000 ล้านคน จากนั้นประชากรโลกก็จะเหลือครึ่งหนึ่งในระยะยาว เราจะดูแลโลกทันไหม

ต้องชักชวนกันให้ เปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอีก 40-50 ปีเมื่อประชากรโลกลดลง ก็จะเอาอยู่ เราต้องเริ่มจากเรื่องที่ง่าย ๆ ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำเพื่อทำเท่านั้น