มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

ถอดหลักการและแนวคิด "หลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต" อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ "มหิดล - สสส." ร่วมมือกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ มุ่งเน้นระบบการเรียนที่ยืดหยุ่น และทันสมัย

ว่ากันว่า ระบบการจัดการศึกษายุคใหม่ ควรตอบโจทย์ความท้าทายในยุคปัจจุบัน เป็นโลกการเรียนรู้เพื่อยกระดับการดำรงชีวิต มีความทันสมัย และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 

เมื่อโลกความรู้เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของกระแสโลก เมื่อลักษณะการทำงานในปัจจุบัน เน้นการให้คุณค่าของประสบการณ์มากกว่าปริญญาเหมือนในสมัยก่อน ระบบการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต จึงเป็นแนวคิดการเรียนรู้ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอีกมากโลกในศตวรรษที่ 21 

องค์การสหประชาชาติ ยังมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในข้อที่ 4 คือ การมุ่งส่งเสริมให้ประชากรโลกเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม และข้อที่ 10 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี 2573 ยิ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โลกการเรียนรู้กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) 

วันนี้จึงได้เห็นการปรับตัวของหลายสถาบันการศึกษาวางทิศทางระบบการเรียนการสอนใหม่ไปสู่ความรู้แบบก้าวกระโดด ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทบาทสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้วางบทบาทใหม่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของประเทศและโลกในอนาคต โดยล่าสุด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกันด้านสุขภาพ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา และการเรียนรู้เพื่อยกระดับการดำรงชีวิต

ระบบการเรียนที่ยืดหยุ่น

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และมุ่งให้มีการขยายผล ผลักดันให้เกิดความเป็นเลิศทางการศึกษา ถือเป็นก้าวสำคัญ ในการร่วมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ ด้านการสร้างเสริมศักยภาพของบุคคล 

มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

"หลักสูตรดังกล่าวคือ การนำความเข้มแข็ง ศักยภาพที่มีในแต่ละส่วน สสส. เองมีบุคลากร คนที่อยู่หน้างานที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องทฤษฎี รวมถึงความเข้มแข็งในแง่การวิจัยมากกว่า เราจึงนำระบบการศึกษาเรียนรู้มาผนวกกัน และสามารถมาเติมเต็มกันและกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียนที่จะได้ความครบถ้วนในเรื่องเนื้อหาและประสบการณ์ ที่สำคัญคือ จะได้เรื่องวิธีการแก้ปัญหา" ศ.นพ.บรรจง กล่าว

อีกจุดเด่นของระบบการเรียนนี้คือ ระบบการเรียนที่มีความยืดหยุ่น การเรียนที่เป็นอิสระทั้งเวลา รูปแบบ ความรู้ ทักษะ และระบบการเรียนรู้ เนื่องจากผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสาขาอื่นๆ ที่มีความถนัด และต้องการศึกษามากกว่า 1 สาขา ผ่านระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองสนใจและเก็บหน่วยกิตเข้าในระบบดังกล่าว 

ขณะเดียวกัน บางรายวิชา ยังสามารถให้ผู้ที่สนใจที่ไม่จำกัดเฉพาะระดับปริญญามาเรียน แต่อาจเป็นนักเรียนในระดับมัธยมปลาย หรือบุคคลอื่นๆ สามารถเข้าสู่ระบบการเรียนได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอจบ ม.6 แล้ว แต่สามารถเก็บรายวิชาเมื่อไรก็ได้ เมื่อเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาก็จะช่วยย่นระยะเวลาปริญญาตรีสั้นลง 

"สองปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์วิกฤติโควิด ทำให้เราพบว่า การจัดการเรียนการสอนที่เป็นแบบ Virtual นั้นสามารถต่อยอดให้เกิดรูปแบบการเรียนแบบ Anyplace Anywhere เป็นรูปแบบการเรียนที่ออกแบบตามความเหมาะสมและความยืดหยุ่นตอบโจทย์ความต้องการผู้เรียน ที่ไม่จำเป็นต้องลางานมาเรียนสองถึงสามปี หรือผู้เรียนที่มีความต้องการเติมเต็มความรู้ คนที่คิดว่าไม่เพียงพอก็สามารถมาเรียนได้ เพราะแม้เรียนจบไปแล้วก็ต้องมาอัปเดตเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ซึ่งเกิดขึ้นตลอด หลักสูตรเหล่านี้จะมาช่วยอัปสกิล ซึ่งโลกการทำงานยุคใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องได้ปริญญา แต่ให้ความสำคัญต่อความสามารถเฉพาะในด้านนั้นๆ" ศ.นพ.บรรจง กล่าว

อย่างไรก็ตาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำว่า บทบาทของฝ่ายการศึกษาคือ การให้ความใส่ใจบททดสอบ ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาที่ผู้เรียนได้ไปว่ามีความครบถ้วน ซึ่งบัณทิตที่จบมา เราก็จะมีความคาดหวังว่า Outcome Base เขาต้องมีความรู้อะไรบ้าง ทักษะอะไรบ้างที่เป็นมาตรฐาน จะทำให้หลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์คือบุคลากรที่อยู่หน้างานที่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศแท้จริงในการช่วยแก้โจทย์ปัญหาประเทศ

หลักสูตรสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี

สำหรับแนวคิดการพัฒนารายวิชาแบบ Micro-Credentials นั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ สนับสนุนให้ส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำรายวิชา Microcredit ที่แบ่งย่อยหน่วยกิตให้เล็กลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งบุคคลในวัยเรียน วัยทำงาน และผู้สูงวัย สามารถสะสมหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต แล้วนำมาเทียบโอน เพื่อร่นระยะเวลาในการสำเร็จการศึกษา และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยยังคงคุณภาพขององค์ความรู้ที่คัดสรรจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับโลก

โดยการจัดทำ Microcredit เริ่มจากหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพเป็นสาขาแรก สำหรับระยะต่อไปจะจัดทำ Training course รายวิชาอื่นๆ ในรูปแบบ Microcredit และความร่วมมือด้านการฝึกภาคสนาม (Field internship หรือ Field study) ด้านส่งเสริมสุขภาพ สำหรับนักศึกษาของหลักสูตร และระยะต่อไปจะมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันที่ตอบโจทย์ความต้องการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีหลายภาควิชา/หลักสูตร ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาร่วมกันได้

สำหรับความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ สสส. ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านการสร้างเสริมสุขภาพ นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป รวมทั้งร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะที่สำคัญของศตวรรษที่ 21

มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นด้านการแพทย์และสาธารณสุข และยังเป็นภาคีสำคัญด้านวิชาการในการจัดการความรู้หลายด้าน ทั้งการวิจัยและการส่งเสริมป้องกันโรค อาทิ โครงการการจัดการด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของอาหารริมบาทวิถี โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล องค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายของคนไทยผ่านศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล 

Health Promotion มิติใหม่ความรู้ระบบสาธารณสุข 

รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์ของภาควิชาการด้านสาธารณสุข ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลกต่างพยายามมุ่งเน้นไปที่ด้านงานส่งเสริมสุขภาพ หรือ Health Promotion ขึ้นเป็นงานหลักของสาธารณสุข เพราะมองว่า หลังจากโควิด19 การจัดการด้านสาธารณสุขในปัจจุบันไม่ได้แค่มีมิติการจัดการที่ครอบคลุมในการดูแลสุขภาพ แต่ต้องมีจัดหาในเรื่องคุณภาพด้วย

มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

"ตอนที่ได้รับการติดต่อตอนแรกจาก สสส. มีการเสนอเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นมิติหนึ่งในสามของคณะสาธารณสุข ซึ่งการส่งเสริมสุขภาพไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน ต้องเรียนรู้จากบุคคลภายนอกจากประสบการณ์จริงด้วย จึงมองว่ามีความน่าสนใจมาก ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีความรู้ในเชิงทฤษฎี แต่ สสส. มีประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติ ท้ายสุดผู้เรียนจะได้มีโอกาส discuss กัน ได้เจอสถานการณ์จริง มี Case study เกิดขึ้น ได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน ดีกว่าการเรียนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว ผมมองว่าการร่วมสอนจะเป็นประโยชน์กับอาจารย์ที่จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้โอกาสความร่วมมือ ได้ประสบการณ์แท้จริง" รศ.ดร.สราวุธ กล่าว

รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ผลิตหลักสูตรออกมา เพื่อพัฒนาศักยภาพคนที่ทำงานด้านสุขภาวะ ซึ่งมีหลักสูตรหลากหลายที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมความเป็นมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองได้เรื่อยๆ ได้แก่ หลักสูตร Health Promotion การสร้างเสริมสุขภาพ และหลักสูตรการทำนโยบายด้านสาธารณสุข เป็นหลักสูตรที่ สสส. ได้สอนให้กับภาคี หรือคนที่มารับทุน สสส. อยู่แล้ว แต่มาปรับให้มีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น มีการประเมินเป็นรูปแบบ คนที่สนใจหรือชอบทดลองมาเรียนได้ และต่อยอดเป็นปริญญาได้

มหิดล - สสส. จับมือร่างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาศักยภาพบุคลากร

"สสส. มีจุดเด่นคือเรามีหน้างานเยอะ มีพื้นที่ดูงาน มีต้นแบบมากมาย แต่ทำอย่างไรที่จะให้สิ่งที่ดีสองโลกมาต่อยอดเจอกันได้ มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยและองค์ความรู้ที่ช่วยพัฒนางานให้ดีขึ้น ผมว่า Outcome Base Learning ต้องมีมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยยอมรับ และเชื่อมกันได้ ซึ่งเป้าหมายของ สสส. คือทำให้เกิดอินฟลูเอนเซอร์ด้านสุขภาพ ทำให้เกิดบุคคลสังคมสุขภาวะ ซึ่งเรามองว่า ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมกันตรงนี้ได้" รศ.ดร.นพ.นันทวัช ทิ้งท้าย