เหล้ารัม พลานุภาพของอ้อย ต้นทางของตำนานสุรากลั่นของโลก

อ้อย เป็นต้นทางของ 'เหล้ารัม' (Rum) เป็นสุรากลั่นตระกูลหนึ่งที่มีชื่อเสียง และมีตำนานความเป็นมาอันยาวนาน ไม่แพ้เหล้ากลั่นชั้นยอดเยี่ยมตระกูลอื่นใดในโลก
ปลดล็อกน้ำเมา ! กฎหมายสุราชุมชนผ่านฉลุย ฟังเสียงคนกล้า ผลักดันสุราเสรี เปิดทางคนตัวเล็กเป็นผู้ผลิต ไม่จำกัดขั้นต่ำ เสริมเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก...
ข่าวพาดหัวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา แน่นอนมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านเป็นธรรมดา
ทำให้ผมนึกถึงผลผลิตทางการเกษตรของไทยอย่างหนึ่งที่มีศักยภาพสามารถสู้กับนานาชาติได้ ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง รวมทั้งได้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นั่นคือ อ้อย ซึ่งเป็นต้นทาง สุรากลั่น เหล้ารัม (Rum)
กำเนิดของ เหล้ารัม ผู้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หลายตำนาน แต่ที่ได้รับการเชื่อถือก็คือ รัม มาจากพวกอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองในหมู่เกาะอินดีส ตะวันตก (West Indies) เริ่มจากพวกพ่อมดหมอผีทำน้ำเชื่อมผลไม้ ให้เป็นเหล้าซึ่งหมักกลั่นจากน้ำศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาสูง เพื่อไว้ดื่มและใช้ในวันสำคัญต่าง ๆ
จากบันทึกของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เมื่อครั้งที่ออกแล่นเรือแสวงหาดินแดนใหม่ครั้งที่ 2 เขาและเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสลิ้มลองเหล้ารัมของพวกอินเดียนแดงที่เมืองอโซเรส (Azores) บนเกาะบาร์บาโดส (Barbados) ในปี 1600 นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่ชาวตะวันตกได้รู้จักรสชาติของเหล้ารัม
หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงเป็นที่รู้กันดีว่าชาติที่ผลิตรัมได้คุณภาพดีอยู่ในอเมริกาใต้ และประเทศแถบแคริบเบี้ยน
ต่อมาจึงมีการค้นพบว่า Rum อาจจะเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองหรือภาษาถิ่นของดินแดนต่าง ๆ เช่น Roum หรือ Rhum ขณะที่ภาษาอาระบิกออกเสียงว่า อาร์-รัม (Ar-Rum) และยังมีคำอื่น ๆ อีกหลายคำ แตกต่างกันทั้งในโลกของอิสลาม ยุโรป จักรวรรดิไบเซนไทน์ และ Seljuk empire ในเอเชียไมเนอร์ กรีก และออตโตมาน เป็นต้น
จอร์จ วอชิงตัน ต้อนรับแขกด้วยเหล้ารัม
หลังจากนั้นรัมก็ระบาดไปในอเมริกาและยุโรป แม้แต่ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาก็ยังชอบดื่มรัม โดยเฉพาะในช่วงกินอาหารกลางวัน นอกจากนั้นยังเก็บรัมไว้ที่บ้านในเวอร์จิเนียอีกนับ 100 แกลลอน ใครไปเยือนบ้านพักหลังดังกล่าว เจ้าของบ้านมักจะนำรัมมาเลี้ยงแขกเสมอจนเป็นที่รู้กันดี
จอห์น อดัมส์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง และมีเหตุการณ์กองทัพอังกฤษบุกสหรัฐฯ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับ "กากนํ้าตาล" อันเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตรัมว่า "เราไม่จำเป็นต้องอายเลยที่กากนํ้าตาล จะมีส่วนผลักดันให้อเมริกาเป็นเอกราชได้ และยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ มากมายที่มาจากสาเหตุที่ปลีกย่อยกว่านั้นเสียอีก"
กากน้ำตาลก้บอ้อยสด
รัมอาจทำจากการหมักจาก นํ้าตาลอ้อยโดยตรง หรือ กากนํ้าตาล (Molasses) ที่เหลือจากการทำนํ้าตาลทรายมาแล้วนำมากลั่น รสชาติของรัมที่ได้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการหมักนํ้าตาล หรือการเติมหัวเชื้อเหล้าที่เหลือจากการกลั่นครั้งแรก
ขณะที่สีสันจะเกิดจากการบ่มหรือเติมด้วยคาราเมล ถ้าต้องการแบบธรรมดาหรืออ่อน ๆ ก็ไม่ต้องบ่มนาน แต่ถ้าชอบรสเข้มข้น สีดูเข้มขึงขัง อาจจะมีสูตรที่บ่มนาน ๆ หรือไม่ก็บ่มในถังไม้โอ๊คเผาเป็นเวลาตั้งแต่ 3 ปีจนถึง 15 ปี
รัมเป็นจุดกำเนิดของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา จากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ยุคนั้นเหล้ารัมเป็นที่นิยมมากในอเมริกา ผู้กลั่นเหล้ารัมที่นิวพอร์ต ซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคตะวันออก จึงนิยมกลั่นเหล้ารัมที่มีดีกรีสูงกว่าปกติเพื่อใช้ในการค้าทาส แต่ทางการอังกฤษไม่ยินยอม ผู้กลั่นจึงหันมาสั่งกากน้ำตาลจากฝรั่งเศสแทน อังกฤษตอบโต้ด้วยการออกกฎหมายควบคุมการนำเข้ากากน้ำตาลในปี 2276 แต่ชาวอาณานิคมไม่สนใจ ที่สำคัญการฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ กลายเป็นต้นแบบของการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ๆ ด้วย
ดาร์ก รัม ปี 1870
ชาวอาณานิคมเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่พวกเขาต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษ ที่อยู่ห่างไกลโดยไม่มีตัวแทนของพวกเขาในสภา นอกจากนั้นยังเห็นว่ากฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่อังกฤษกำหนดให้พวกเขาต้องปฏิบัติตามไม่ยุติธรรมต่อพวกเขาด้วย ชาวอาณานิคมจึงประกาศอิสรภาพจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษในเวลาต่อมา...
รัมกับทหารเรืออังกฤษ
เรื่องเล่าว่ารัมนั้นเป็นเหล้าประจำวันของราชนาวีอังกฤษ ลูกประดู่เมืองผู้ดีทุกคนถือคติประจำใจว่า "ไม่อยากเมาคลื่นจะต้องเมารัมเข้าไว้" ในปี 1609 เรืออังกฤษลำหนึ่งมีเซอร์จอห์น ซัมเมอร์ เป็นกัปตันต้องเจอกับพายุเฮอริเคนที่เกาะเมอร์มูดาจนลูกเรือเมาคลื่นตาม ๆ กัน แต่เมื่อดื่มเหล้ารัมแทนน้ำก็สามารถพาเรือกลับอังกฤษได้ ครั้งนั้นหมดเหล้ารัมเป็นพัน ๆ แกลลอน จากนั้นเป็นต้นมาจึงเป็นธรรมเนียมว่าเลือดประดู่ทั้งหลายต้องดื่มเหล้ารัม
รัมที่มีส่วนผสมของกาแฟ
การผลิตเหล้ารัม เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 17 เนื่องจากตอนนั้นหมู่เกาะเวสต์ อินดีส ซึ่งมีโรงผลิตน้ำตาลกำลังเฟื่องฟู มาวันหนึ่งอ้อยได้ถูกหัวผักกาดหวานโจมตี มีการผลิตน้ำตาลจากหัวผักกาดหวานกันมากขึ้น ทั้งในยุโรปและอเมริกา โรงงานน้ำตาลจึงหาวิธีรักษาตัวให้รอด ด้วยการผลิตรัมออกมาขาย เพื่อหาเงินช่วยอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกทางหนึ่ง ถ้าใครเคยไปดูโรงงานทำน้ำตาลในประเทศดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่ในบริเวณเดียวกับโรงงานผลิตน้ำตาล จะมีถังหมักเหล้า โรงกลั่น และโรงเก็บเหล้าอยู่ด้วย จะว่าไปแล้ว รัมคือเหล้ากู้ชาติก็คงไม่ผิดนัก
รัมฝรั่งเศส
การทำรัมในอดีต ถือเป็นเคล็ดวิชาอย่างหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นเจ้าของสูตรต้องสั่งสมประสบการณ์มาหลายสิบปี การผลิตก็ใช้ฝีมือล้วน ๆ ไม่เหมือนสมัยนี้มีเทคโนโลยีเข้าไปช่วยมากมาย จนแทบไม่ต้องใช้ฝีมือ เพียงแต่นั่งกดปุ่มเท่านั้น สมัยนั้นประสบการณ์ของผู้ผลิตแต่ละรายคือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพได้อย่างหนึ่ง และประสบการณ์ดังกล่าวจะไม่มีการเปิดเผยต่อบุคคลอื่นนอกเหนือจากลูกหลานในวงศ์ตระกูล ลูกจ้างหรือคนงานที่เข้าไปเพื่อจะเรียนรู้สูตรเด็ดเคล็ดลับแทบไม่มีทางเลย
รัมตรินิแดด
มีเรื่องเล่าว่าสูตรเด็ดเคล็ดลับนั้นเจ้าของสามารถทำได้สารพัดรูปแบบ แม้กระทั่งวิธีการสกปรก อย่างเช่นในช่วงที่คนงานกำลังทำงานกันนั้น กระบวนการทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ แต่เมื่อคนงานกลับบ้านหมด เจ้าของก็จะเอาซากสัตว์ตายบางอย่าง หรือพวกเนื้อวัว เนื้อหมู จระเข้ ฯลฯ โยนลงไปในถังหมัก เพื่อหยุดปฏิกริยาของยีสต์ ที่สำคัญว่ากันว่านี่เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้รัมแต่ละยี่ห้อมีรสชาติที่แตกต่างกัน คนงานที่คิดจะเรียนรู้สูตรลับเมื่อลาออกไปทำของตัวเอง จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่รู้แทกติกตอนโยนซากสัตว์นี่แหละ
กรรมวิธีการผลิตเหล้ารัม (Rum) มี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
1 วิธีของจาไมกา (Jamaica) ใช้น้ำเชื่อมหรือกากน้ำตาลของอ้อยเป็นวัตถุดิบหลัก ผสมฟองน้ำตาลที่ได้จากทำน้ำตาล ผสมผสานกับตามกรรมวิธีของเขา จากนั้นนำไปหมักประมาณ 10-12 วัน แล้วนำไปกลั่นในหม้อกลั่นหลาย ๆ ครั้งที่เรียกว่า Pot Stills
2 วิธีของเดเมอรารา (Demerara) จะใช้กากน้ำตาลทรายละลายน้ำ และกรดเกลือ หมักส่าด้วยแอมโมเนียม ซัลเฟตในเวลา 35-45 ชั่วโมง จึงนำไปกลั่นซึ่งมีทั้งแบบหลาย ๆ ครั้ง และการกลั่นแบบต่อเนื่องจนได้ดีกรีสูง ๆ (Contineous Pantent Stills)
สิ่งที่เหมือนกันก็คือเมื่อกลั่นเสร็จแล้วต้องมาลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เหลือประมาณ 40 - 60 ดีกรี แล้วนำไปบ่มในถังไม้โอ๊ค ทำให้รัมมีสีเหลืองอ่อน ๆ และการจะมีสีเหลืองอ่อนหรือแก่ ขึ้นอยู่กับภาชนะที่บ่ม แต่ไม่มีข้อบังคับหรือหลักแน่นอนตายตัวว่าต้องบ่มหรือไม่
บุคลิกส่วนตัวของรัม แบ่งแยกออกเป็นหลายอย่าง เช่น ประเภทสีขาวสดใสไร้รส หรือไวท์ รัม (Whith Rum) รัมสีทอง (Gold Rum) นํ้าสีทองสดใส และแบล็ค รัม (Black Rum) ซึ่งรสชาติเข้มข้น ถูกใจคอเมรัยประเภทดุดัน ว่ากันว่าแบล็ค รัมนั้นเข้มข้นยิ่งกว่าสก็อตวิสกี้ที่เพิ่งเทออกมาจากถังบ่มเสียอีก นอกจากนั้นบางบริษัทยังมีการทำสไปซ์ รัม (Spice Rum) รสชาติเผ็ดร้อนออกมาด้วย
รัมเคยสร้างสถิติโลก ไม่แพ้เครื่องดื่มอื่น ๆ โดย “ดาร์ก รัม” (Dark Rum) ขวดหนึ่ง ที่ผลิตเมื่อปี 1780 ที่บาร์บาโดส (Barbados) ถูกแพลตฟอร์ม Old Liquors Inc.ในไมอามี, สหรัฐ ขายไปในราคา 29,999 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 คนซื้อเป็นนักสะสมชาวสวิตเซอร์แลนด์ บันทึกไว้ใน Guinness World Record
คิวบา ลิเบอ
รัมเป็นส่วนผสมหลักของค็อกเทลหลายอย่าง ที่โด่งดังคือ คิวบา ลิเบอ (Cuba Libre) เป็นค็อกเทลแห่งตำนานที่สุดคลาสสิก คิดค้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1900 ที่ Havana ประเทศคิวบา ปัจจุบันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะค็อกเทลที่ผสมด้วยบาคาร์ดี รัม, โคลา และน้ำมะนาว จึงเรียกกันอีกอย่างว่า BACARDI and Coke
รัมฟิลิปปินส์
ปี 1900 เป็นปีสิ้นสุดสงครามประกาศอิสรภาพคิวบา หรือสงครามสเปน-อเมริกัน ระหว่างสงครามมีชาวอเมริกันจำนวนมากเดินทางมายังคิวบา รวมทั้ง ธีโอดอร์ รูสเวลท์ ประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งตอนนั้นเป็นพันเอกคุมกองทหารอาสาชื่อดังรู้จักกันในนาม “รูจ ไรเดอร์ส” (Rough Riders) ชาวอเมริกันได้นำโคคา-โคลา เข้ามาในคิวบา ไม่นานก็กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม
รัมจาเมก้า
เมื่อสงครามยุติลง ได้มีการฉลองชัยชนะของคิวบาที่ ดิ อเมริกัน บาร์ ในอาบานา หัวหน้าหน่วยสื่อสารของกองทัพสหรัฐได้ผสมรัมบาคาร์ดีของคิวบากับโคคา-โคลา และบีบมะนาวสดเพิ่มเข้าไป กลายเป็นจุดสนใจของนักดื่มคนอื่นในบาร์ หัวหน้าหน่วยสื่อสารชูแก้วขึ้นแล้วตะโกนว่า "Por Cuba libre" หมายถึง...แด่อิสรภาพของคิวบา.. เป็นวลีที่กองกำลังปฏิวัติคิวบาและทหารสหรัฐมักตะโกนเมื่อออกรบ ก่อนจะกลายเป็นค็อกเทลชื่อดัง Cuba Libre ในที่สุด
แสงโสม
ในประเทศไทย แสงโสม ได้ชื่อว่าเป็นรัมสัญชาติไทยอย่างจริงจังเจ้าแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยการปรุงของนายจุล กาญจนลักษณ์ จากโรงงานสุราแสงโสม จังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดบริษัท แสงโสม จำกัด
แสงโสมเกิดจากกระบวนการหมัก กลั่น และเก็บบ่มแอลกอฮอล์ในถังไม้โอ๊คนาน 3 ปี, 5 ปี และ 10 ปี แล้วปรุงแต่งรสด้วยหัวเชื้อพิเศษที่ปรุงขึ้นจากส่วนผสมของเครื่องเทศ และสมุนไพรนับร้อยชนิด ในช่วงนั้นในไทยขายได้กว่า 70 ล้านลิตรต่อปี และครองตลาด 70% ของเหล้าประเภทนี้
แสงโสมได้รับรางวัลเหรียญทอง รางวัล Golden Award 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี 2525 ปี 2526 และปี 2549 และชนะรางวัลการประกวด สุรา ณ เมืองดุซเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ในปี พ.ศ.2526 แต่อย่างไรก็ตามการแข่งขันส่วนใหญ่ตัดสินจากความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ จึงเป็นที่มาของชื่อ แสงโสมเหรียญทอง
ผมเป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ OTOP มาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน จากยุคแรก ๆ ที่ไม่มีเหล้ารัมส่งมาให้คัดเลือกเลย ปัจจุบันมีผู้ผลิตรัมน่าจะมากกว่า 50 ราย บางรายเคยได้ระดับ 4-5 ดาวมาแล้ว รวมทั้งครั้งล่าสุดที่คัดเลือกเมื่อปีที่แล้ว น่าจะมีรัมได้ 5 ดาว 4-5 ราย
เหล้ารัม สุรากลั่นจากอ้อยพืชผลทางการเกษตรที่มีมากในเมืองไทย น่าจะเป็นสุรากลั่นที่เหมาะกับเมืองไทยที่สุดในยุคนี้