Coffee or Tea? แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร

ผลสำรวจระบุตัวเลขคนดื่มกาแฟในสหราชอาณาจักร พุ่งแซงหน้าคนดื่มชาเป็นครั้งแรก รับเทรนด์การบริโภคของกลุ่มคนรุ่นใหม่

เป็นปรากฎการณ์แรกที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรมการดื่มของอังกฤษ หลังผลสำรวจพบว่าตัวเลขการบริโภคกาแฟในสหราชอาณาจักร พุ่งแซงหน้าการดื่มชาได้เป็นครั้งแรก จนนำไปสู่การตั้งคำถามในประเด็นที่ว่า กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมขวัญใจของผู้คนในเกาะอังกฤษแทนที่ชาไปแล้วหรือ?

เหตุเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเพราะสาเหตุใดกัน? ใช่คือฝีมือคนรุ่นใหม่ ๆ หรือไม่?

นี่เป็นผลสำรวจของ 'สแตทติสต้าส์ คอนซูเมอร์ อินไซต์ส' บริษัทวิจัยข้อมูลการตลาดชั้นแนวหน้าของโลกที่เผยแพร่เอาไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกิดจากการสุ่มสำรวจประชากร 24,000 คน ในสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม 63% ดื่มกาแฟร้อนเป็นประจำ ขณะที่ 59% บอกว่าดื่มชาร้อนเป็นประจำ

ชาเป็นเครื่องดื่มที่แพร่เข้าสู่เกาะอังกฤษในเวลาใกล้เคียงกับกาแฟ นั่นหมายถึงว่าร้านขายชาร้อนเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับร้านกาแฟที่ดั้งเดิมเรียกขายกันว่าคอฟฟี่เฮ้าส์ แต่กลับเป็นชาที่ถูก 'ถักทอ' อย่างลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมการดื่มของชาวเมืองผู้ดีเป็นเวลายาวนานก่อนหน้ากาแฟ

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร ซีอีโอของคอสต้า คอฟฟี่ เชนร้านกาแฟชื่อดังของอังกฤษ บอกว่า คนรุ่นใหม่นั้นดื่มกาแฟมากกว่าชา  (ภาพ : pexels.com/Maksim Goncharenok)

พูดแล้วก็นึกถึงภาพการจิบชาชั้นเลิศอย่างหรูหราในย่ามบ่าย ท่ามกลางสวนดอกไม้ที่สวยงาม ชื่อของแบรนด์ชาเก่าแก่ดั้งเดิมอย่าง 'ทไวนิงส์' (Twinings) และ 'ยอร์คเชียร์ ที' (Yorkshire Tea) ก็พลันลอยเด่นมา

ชาวอังกฤษเป็นชาติที่ดื่มชาเป็นลำดับ 2 ของโลกรองจากจีน นิยมดื่มกันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 เข้าใจว่าเป็นชาจากจีนที่พ่อค้าชาวดัทช์นำมาขายยังยุโรป ตอนนั้นยังไม่ได้แพร่หลายโดยทั่วไป การดื่มชายังเป็น 'ประเพณี' สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น จนมาถึงจุดหักเหเมื่อศตวรรษที่ 19 หลังจากจักรวรรดิอังกฤษเข้ายึดครองอินเดียในฐานะอาณานิคม บริษัทอีสต์ อินเดีย จึงเริ่มขนชาจากแดนภารตะเข้าสู่อังกฤษแบบผูกขาด ประกอบกับมีนโยบายส่งเสริมการปลูกชาตามอาณานิคมต่าง ๆ ราคาชาจึงเริ่มถูกลง กลายเป็นประเพณีการดื่มชาที่แพร่ทั่วไปสหราชอาณาจักร

ร้านชาของโธมัส ทไวนิ่ง ที่เปิดตัวในลอนดอนเมื่อปีค.ศ.1706 ได้ชื่อว่าเป็นร้านเครื่องดื่มชาแห่งแรกในสหราชอาณาจักร จนถึงปัจจุบันนับเวลาได้กว่า 300 ปี ก็ยังคงเปิดทำการอยู่ยังสถานที่เดิม

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร เครื่องดื่มชาถูกถักทออย่างลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมการดื่มของชาวเมืองผู้ดีก่อนหน้ากาแฟ  (ภาพ : pexels.com/Robbie Chettri)

ส่วนกาแฟคู่แข่งของชา แพร่เข้าสู่เกาะอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 16 ผ่านมาทางอาณาจักรอ็อตโตมันเติร์ก ตามด้วยยุโรปตะวันออก, อิตาลี และอังกฤษในเวลาต่อมา ตอนนั้นกาแฟถูกยกอ้างให้มีสถานะเป็น 'ยารักษาโรค' ต่าง ๆ ตั้งแต่โรคเกาต์ไปจนถึงโรคนิ่วในไต ก่อนพัฒนามาเป็นเครื่องดื่มประจำการเจรจาการค้าและในสังคมของผู้ชาย จนในที่สุดปรับเปลี่ยนมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน ดื่มกันได้ในทุกชนชั้นและทุกเพศ

ร้านกาแฟแห่งแรกในอังกฤษ ตามบันทึกบอกว่า เป็นคอฟฟี่เฮ้าส์ ชื่อ 'เดอะ แกรนด์ คาเฟ่' (The Grand Café) เปิดขึ้นในปีค.ศ. 1650 ในเมืองอ๊อกฟอร์ด อีกร้านหนึ่งที่เชื่อกันมากว่าเป็นร้านแรกในกรุงลอนดอน คือ 'จาเมก้า ไวน์ เฮ้าส์' (Jamaica Wine House) เปิดในปีค.ศ. 1652 แต่ปัจจุบันกลายเป็นกึ่งคอฟฟี่ช้อปกึ่งผับเสียมากกว่าที่จะมีรูปแบบเป็นร้านกาแฟเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในเครื่องดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในศตวรรษนี้ ทำให้พร้อมจะปาดหน้าชา แซงขึ้นเป็น 'อันดับหนึ่ง' ในทำเนียบเครื่องดื่มร้อนขวัญใจมหาชนได้มาหลายปีแล้ว โดยตัวเลขของสมาคมกาแฟบริติชระบุว่า อัตราการบริโภคกาแฟของสหราชอาณาจักรสูงถึงประมาณ 98 ล้านแก้วในแต่ละวัน

เรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่มีการดื่มกาแฟมากกว่าดื่มชา แต่อาจหมายถึงเทรนด์หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว คนรุ่นกลางและรุ่นใหม่นิยมความสะดวก, รวดเร็ว และทุกอย่างต้องเป็นเรื่องง่ายทั้งการชง-การดื่ม ที่ดูเหมือนกาแฟจะตอบโจทย์ด้านนี้ได้ดีกว่า อีกประการบรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มแทบทุกประเภทก็พร้อมจะตอบสนองต่อความสะดวกสบายนี้

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร

ร้านชาทไวนิ่งส์ เปิดในลอนดอนเมื่อปีค.ศ.1706 ได้ชื่อว่าเป็นร้านเครื่องดื่มชาแห่งแรกในสหราชอาณาจักร  (ภาพ : commons.wikimedia.org/Elisa.rolle)

'วิถี' และ 'วัฒนธรรม' ในอดีต จึงมักถูกแทนที่ด้วยถ้อยคำว่า 'นวัตกรรมใหม่' ในปัจจุบัน

ในประเทศที่ยังคงดื่มชามากกว่ากาแฟอย่างจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย และรัสเซีย ก็ไม่แน่ว่าอันดับเครื่องดื่มยอดนิยมจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในอนาคตข้างหน้า จะตามรอยสหราชอาณาจักรหรือเปล่า ขณะที่ตัวเลขประชากรผู้ดื่มกาแฟของยุโรปอยู่ที่ 56% ตามด้วยชา 27% ที่เหลือเป็นเครื่องดื่มอื่น ๆ 

ส่วนฝั่งทวีปอเมริกาเหนือนั้น การบริโภคเครื่องดื่มร้อนของอเมริกันชนนั้น ชัดเจนมานานหลายปีแล้วว่า กาแฟเหนือกว่าชา ในสัดส่วน 64% ต่อ 36%

ข่าวชิ้นหนึ่งในเดอะ การ์เดี้ยน สื่อชื่อดังของอังกฤษ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมกาารดื่มในสหราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดี เมื่อนำเสนอข่าวประมาณว่า การดื่มชาและเสิร์ฟชาตามคาเฟ่ร้านรวงต่าง  ๆ หลาย ๆ แห่ง นั้นไม่เหมือนเดิม คือเดิมที เวลาสั่งออร์เดอร์ชาร้อนจะมาเป็นชุด ประกอบด้วยกาชา, ถ้วยชา, จานรองแก้ว และช้อนชา ดูค่อนข้างเป็น 'พิธีการ' แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปเสิร์ฟชาโดยใช้แก้วมัคเท่านั้น ไม่มีภาชนะอื่น ๆ มาประกอบ

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร คอฟฟี่เฮ้าส์ชื่อจาเมก้า ไวน์ เฮ้าส์ตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1652 เป็นร้านกาแฟแห่งแรกของกรุงลอนดอน  (ภาพ : commons.wikimedia.org/Christopher Hilton)

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้ช่วยประหยัดพลังงานและเซฟค่าใช้จ่ายให้ร้านค้าได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยวิถีหรือประเพณีดั้งเดิมที่อาจด้อยคุณค่าลงไปเรื่อย ๆ

เดอะ การ์เดี้ยน ยังคาดการณ์ว่า เทรนด์การบริโภคกาแฟ ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากคนรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่ชอบดื่มกาแฟมากกว่าชา

จนถึงค.ศ.นี้ ร้านกาแฟในสหราชอาณาจักรมีประมาณ 7,800 แห่ง ส่วนจำนวนร้านชาอยู่ที่ 4,700 แห่ง นี่ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่หาได้ง่ายมากกว่าชา และปรับเปลี่ยนให้ร้านกาแฟเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์กันแทนที่ร้านชา

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร ร้านกาแฟในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่  (ภาพ :  No Revisions on Unsplash)

ผลสำรวจของสแตทติสต้าส์ คอนซูเมอร์ อินไซต์ส ทำให้เกิดสงคราม 'สถิติ' ระหว่างอุตสาหกรรมชากับอุตสาหกรรมกาแฟ ที่ต่างออกโรงมาปกป้องเครื่องดื่มในธุรกิจของตัวเอง

ชารอน ฮอลล์ ประธานสมาคมคนดื่มชาแห่งสหราชอาณาจักร ให้ข้อมูลว่า ชาวอังกฤษดื่มชามากกว่า 100 ล้านแก้วในแต่ละวัน ซึ่งมากกว่าตัวเลขการดื่มกาแฟราว 2 ล้านแก้ว

ส่วนเจน เพ็ตติกรูว์ ผู้อำนวยการสถานบันชาหรือที อะคาเดมี่ ในสหราชอาณาจักร บอกว่า เป็นเรื่องยากเอามาก ๆ หากต้องการนำเสนอทำเนียบเครื่องดื่มร้อนยอดนิยมของอังกฤษให้ถูกต้องและแม่นยำ ชาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่นี่มานานกว่า 350 ปี ส่งผลกระทบต่อชีวิต, สังคม, กฎหมาย และอื่น ๆ อีกมาก ดังนั้น ชัดเจนว่าชาจะไม่ทาง 'จางหาย' ไปในเร็ววันนี้

ขณะที่ฟิลิปเป้ สเคลลี่ ซีอีโอของคอสต้า คอฟฟี่ (Costa Coffee) เชนร้านกาแฟชื่อดังของอังกฤษ ฟันธงว่า คนรุ่นใหม่นั้นดื่มกาแฟมากกว่าชา

Coffee or Tea?  แก้วไหนดี...ที่สหราชอาณาจักร ทั้งกาแฟและชายังคงเครื่องดื่มร้อนที่ได้รับความนิยมสูงในเกาะอังกฤษ  (ภาพ : pexels.com/Viktoria Alipatova)

แอนนา ลุนด์สตรอม ซีอีโอของเนสเพรสโซประจำอังกฤษและไอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์สื่อเดลี่ เมล์ว่า แวดวงกาแฟในสหราชอาณาจักรถือเป็นตลาดที่มีชีวิตชีวาและน่าตื่นเต้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นี่คือประเทศของคนรักกาแฟ

เนสเพรสโซ (Nespresso) นั้นเพิ่งแต่งตั้ง 'เดวิด เบ็คแฮม' อดีตดาวเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและทีมชาติอังกฤษ ให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ของแบรนด์ แน่นอนว่าเมื่อให้หน่วยงานประจำอังกฤษและไอร์แลนด์เป็นผู้เปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ ก็ชัดเจนว่าต้องลุยธุรกิจกาแฟในเกาะอังกฤษให้หนักขึ้นแน่ ๆ

เมื่อวัดกันในด้านมูลค่าตลาดแล้ว มูลค่าตลาดกาแฟในสหราชอาณาจักรเพิ่งพุ่งผ่านเส้น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปในปีนี้ ส่วนมูลค่าตลาดชานั้นอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลาร์สหรัฐ มากกว่ากันไม่น้อยเลยทีเดียว

แล้วสำหรับท่านผู้อ่านล่ะครับ จะรับชาหรือกาแฟ แก้วไหนดี? หรือชอบทั้ง 2 แก้ว ดื่มด่ำได้ทุกมิติในชีวิตประจำวัน

..................................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี