เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! 'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้'

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! 'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้'

ตลาดกาแฟยักษ์ใหญ่อย่างยุโรปและอเมริกา เดินหน้าเร่งผลิตแคปซูลกาแฟแบบย่อยสลายได้ หลังหลายประเทศทั่วโลกประกาศแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

นับจากถูกปล่อยเข้าสู่ตลาดกาแฟเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 เครื่องชงกาแฟแคปซูลและ 'แคปซูลกาแฟ' (coffee capsules) ก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกและต่อเนื่อง ในฐานะอุปกรณ์ทำเครื่องดื่มกาแฟที่โดดเด่นในด้านความสะดวกสบาย ตามออฟฟิศและบ้านเรือนผู้คนมักพบเห็นเครื่องชงชนิดนี้ประจำการอยู่ กลายเป็นตลาดกาแฟเซ็กเมนท์ใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟใหญ่น้อยต่างปรารถนาที่จะกระโดดเข้าไปเล่นในสนามแข่งขันนี้

ประมาณการกันว่าเซ็กเมนท์กาแฟแคปซูลทั่วโลก มี 'มูลค่า' ตลาดอยู่ที่ 25,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7.3% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการเติบโตนี้มีปัจจัยผลักดันมาจากการบริโภคกาแฟตามบ้านเรือนที่เพิ่มขึ้น และความพึงพอใจต่อรูปแบบการชงกาแฟที่ง่ายขึ้นแต่ให้ประสบการณ์ทางรสชาติไม่ต่างไปจากนั่งดื่มตามร้านกาแฟ

นี่...เป็นตัวเลขและข้อมูลที่บริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลกอย่าง ไอเอ็มเออาร์ซี กรุ๊ป ระบุเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งตลาดกาแฟแคปซูลป็อปปูล่าร์มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งถูกบรรดานักอนุรักษ์สายกรีนวิจารณ์ว่าเป็นตัวสร้างปัญหา'ขยะล้นโลก' ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น จากแคปซูลแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\' แคปซูลกาแฟรุ่นแรกๆทำจากพลาสติก ก่อนปรับไปใช้อะลูมิเนียม ขณะนี้เริ่มเข้าสู่เทรนด์ใหม่คือ แคปซูลกาแฟแบบย่อยสลายได้  (ภาพ : KOUS9 STUDIO on Unsplash)

เดอะ การ์เดี้ยน สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ รายงานเมื่อต้นปีนี้ว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่ากาแฟแคปซูลนั้นให้ความสะดวกสบาย แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วย 'ต้นทุน' ด้านสิ่งแวดล้อม แคปซูลเหล่านี้สร้างขยะได้ถึง 576,000 ตันทั่วโลก และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่แคปซูลส่วนใหญ่ทำขึ้นจากส่วนผสมของพลาสติกและอะลูมิเนียม ซึ่งใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย

เพื่อแก้ปัญหาที่เปรียบเสมือน 'หนามตำใจ' นี้ การพัฒนารูปแบบวัสดุที่ใช้ผลิตแคปซูลกาแฟจึงเกิดขึ้นเสมอมามิได้ขาด จากเดิมอยู่ในรูปพลาสติกแข็ง ปรับไปใช้เป็นอะลูมิเนียม และขณะนี้เริ่มเข้าสู่เทรนด์ใหม่นั่นคือ ผลิต 'แคปซูลย่อยสลายได้' (compostable capsules) ที่ทำขึ้นจาก 'พลาสติกชีวภาพ' (Bioplastic) ให้สามารถใช้งานได้กับเครื่องชงกาแฟแบบแคปซูล โดยไม่มีผลต่อรสชาติกาแฟ ถือเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุดแล้วสำหรับเครื่องชงกาแฟแบบซิงเกิ้ลยูส ณ ขณะนี้

พลาสติกชีวภาพ หรือพอลิเมอร์ฐานชีวภาพ หมายถึงพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติที่ส่วนใหญ่เป็นพืช เช่น แป้งข้าวโพด, แป้งมันสำปะหลัง, ชานอ้อย และ ฯลฯ มีคุณสมบัติย่อยสลายเองได้ในธรรมชาติ จึงช่วยลดปัญหาขยะมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\' มูลค่าเซกเม้นต์กาแฟแคปซูลทั่วโลกอยู่ที่ 25,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 7.3% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า  (ภาพ :  Nadia Storm on Unsplash)

ในตลาดกาแฟแคปซูลใหญ่ ๆ ของโลกอย่างยุโรปและอเมริกา มีความเคลื่อนไหวคึกคักยิ่งนักต่อการผลิตแคปซูลกาแฟแบบย่อยสลายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศเริ่มประกาศแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แน่นอนว่าส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงธุรกิจกาแฟที่ยังคงใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ดูเหมือนว่าปัจจัยที่ช่วยเร่งเร้าสุด ๆ เห็นจะไม่พ้นไปจากกรณีสหภาพยุโรป (อียู) เสนอกฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่อง 'บรรจุภัณฑ์' เพื่อลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ มุ่งเน้น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle

สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อ 23 พฤศจิกายนมานี้เอง มีรายงานข่าวว่า รัฐสภาสหภาพยุโรปลงมติรับรองกฎหมายบรรจุภัณฑ์ เริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำมารีไซเคิลได้ภายในปีค.ศ. 2030  แม้จะมีการล็อบบี้อย่างเข้มข้นมาจากภาคธุรกิจต่าง ๆ

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\' กฎหมายว่าด้วยเรื่องบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปโฟกัส 3 R คือ Reduce, Reuse และ Recycle  (ภาพ : Christian Lue on Unsplash)

ยุโรปนั้นถือเป็นตลาดกาแฟขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ มีอัตราส่วนการบริโภคกาแฟถึง 30% ในปีค.ศ. 2021 คิดเป็นปริมาณกาแฟก็ตกราว 3.25 ล้านตัน ก็ตลาดใหญ่ขนาดนี้ถ้าขืนใครพลาด ไม่ปรับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ มีสิทธิที่สินค้าจะหายไปจากชั้นวางของตามซูเปอร์มาร์เก็ต

เดือนกันยายนปีที่แล้ว 'มิโกรส์' (Migros) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวแคปซูลกาแฟทรงกลมเล็ก ๆ ใช้แผ่นสาหร่ายมาทำเปลือกห่อหุ้มผงกาแฟสด โดยไม่มีผลต่อกลิ่นรสกาแฟ เพราะสาหร่ายดังกล่าวไม่มีสี,ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส พร้อมโฆษณาว่า เป็นผลิตภัณฑ์แคปซูลกาแฟเจ้าแรกของโลกที่สามารถย่อยสลายได้เอง ออกแบบมาเพื่อแทนที่แคปซูลพลาสติกเดิม ๆ และไม่มีขยะหลงเหลืออยู่หลังจบการชง 

ช่วงเดียวกันนั้นเอง บิ๊กแบรนด์อย่าง 'เนสเพรสโซ' (Nespresso) ผู้ผลิตระบบเครื่องชงกาแฟแคปซูลเจ้าแรกของโลก ประกาศเปิดตัวแคปซูลกาแฟแบบย่อยสลายได้เองเช่นกัน ทำมาจากเยื่อกระดาษ 82% และมีส่วนผสมของไบโอพอลีเมอร์ เพื่อรักษาคุณภาพ, กลิ่น และรสชาติของกาแฟเอาไว้ เริ่มออกจำหน่ายแบบทดลองตลาดในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์เป็น 2 ประเทศแรก หลังจากทุ่มเวลาพัฒนามานานถึง 3 ปีด้วยกัน

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\' เนสเพรสโซ ผู้บุกเบิกตลาดเครื่องชงกาแฟแคปซูล กับแคปซูลแบบย่อยสลายได้ตัวแรกของแบรนด์  (ภาพ : nestle.com)

ก่อนหน้านี้เพื่อลดเสียงวิจารณ์เรื่องขยะพลาสติก เนสเพรสโซเริ่มผลิตแคปซูลที่ใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล รณรงค์ให้ลูกค้าส่งคืนแคปซูลใช้แล้วเพื่อนำกลับมารีไซเคิลต่อ บอกว่าเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนหลังการบริโภคแล้ว

ด้วยตัวเลขยอดจำหน่ายแคปซูลกาแฟในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านแคปซูล ส่งผลให้เนสเพรสโซกลายเป็น 'ผู้นำตลาด' แบบฉายเดี่ยว มีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน แคปซูลของค่าย ๆ อื่นก็สามารถใช้ได้กับเครื่องชงกาแฟเนสเพรสโซ ยิ่งไปกว่านั้นผู้เล่นรายเล็กในตลาดเริ่มเปิดตัวแคปซูลกาแฟที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

การเคลื่อนไหวของมิโกรส์และเนสเพรสโซ เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งในส่วนผู้ผลิตแคปซูลและผู้จัดจำหน่ายกาแฟ เริ่มให้ความสำคัญกับแคปซูลกาแฟย่อยสลายได้เอง เพื่อแทนที่แคปซูลพลาสติกที่เริ่มกลายเป็น 'โจทย์ใหญ่' ในการดำเนินธุรกิจไปเสียแล้ว จากอุปสรรคทางข้อกฎหมายทื่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\'

แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้ จากแบรนด์โซลินาทรา เริ่มมีการนำร่องใช้ไปแล้วในสหราชอาณาจักร  (ภาพ : instagram.com/solinatra)

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 'บลู ไซเคิล' (Blue Circle) แบรนด์ผลิตแคปซูลกาแฟ ในเครือแอลพลา กรุุ๊ป ยักษ์ใหญ่วงการแพคเกจจิ้งสัญชาติออสเตรีย เปิดตัวแคปซูลที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพรุ่นใหม่ เคลมว่ามีคุณสมบัติดีขึ้นในการป้องกันผลกระทบต่อกลิ่นรสกาแฟ

เวลาไล่เลี่ยกัน 'โซลินาทรา' (Solinatra) จากอังกฤษ ประกาศเปิดตัวแคปซูลกาแฟย่อยสลายได้ มีร้านกาแฟชื่อกอร์ดอน สตรีท คอฟฟี่ นำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบแคปซูลย่อยสลายได้ เป็นแห่งแรกของสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว

'เจดีอี พีตส์' (JDE Peet's) บริษัทธุรกิจกาแฟชั้นนำซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ก็มีข่าวทำนองว่าเตรียมประกาศเปิดตัวแคปซูลกาแฟแบบย่อยสลายด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนสำหรับการปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด เข้าใจว่าอาจยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา

ทางฝั่งอเมริกานั้น ถึงกับมีการจัดอันดับและ 'รีวิว' แคปซูลกาแฟที่ย่อยสลายได้เองตามเว็บไซต์ต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์กาแฟขนาดกลางและขนาดเล็ก

เทรนด์ใหม่(เริ่ม)ร้อนแรง! \'แคปซูลกาแฟย่อยสลายได้\'

แคปซูลกาแฟสลายตัวได้ทางชีวภาพ ผลิตโดยพีทีที โกลบอล เคมิคอล บริษัทในเครือกลุ่มปตท.  (ภาพ : pttgcgroup.com/th/home)

นวัตกรรมใหม่ด้านแคปซูลกาแฟนี้ บ้านเราก็ไม่ได้ล้าหลัง แถมออกจะล้ำสมัยนำหน้าเสียด้วยซ้ำไป หลังจาก 'พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)' หรือ GC กลุ่มบริษัทในเครือปตท.ได้ผลิตแคปซูลกาแฟสลายตัวได้ทางชีวภาพออกมาแล้วเช่นกัน ทำมาจากสารชีวภาพบางส่วน สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ 100% กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และสารปรับปรุงดิน ใช้วัสดุชนิดฟู้ดเกรด (Food Grade) สามารถสัมผัสอาหารได้

อย่างไรก็ดี หนึ่งใน 'อุปสรรค' สำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพนั้น ซึ่งส่งผลให้การทำตลาดเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า ไม่สอดรับกับกฎกติกาใหม่ด้านแพคเกจจิ้งในหลายประเทศ ก็น่าจะอยู่ที่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับพลาสติกสังเคราะห์อื่น ๆ นั่นเอง

แต่ไหน ๆ  ก็ไหน  ๆ แล้ว ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน 'คาเฟ่ อเมซอน' เชนร้านกาแฟชั้นนำของกลุ่มปตท. ได้ประกาศใช้แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ มาบรรจุเครื่องดื่มร้อน ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ 100% ผู้เขียนจึงขอส่งเสียงเชียร์ให้ร้านอเมซอน เป็นแบรนด์กาแฟแห่งแรกในประเทศหรือในเอเชียด้วยซ้ำไป ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้แคปซูลแบบย่อยสลายได้เอง

รับรองว่าได้ทั้งใจลูกค้า-ได้ทั้งกล่อง(รางวัล)ไปเต็มๆ!

...........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี