ทุเรียนมูซังคิง ราคาไม่เป็นรอง‘หมอนทอง' ความอร่อยรอวันคว้าแชมป์

ทุเรียนมูซังคิง ราคาไม่เป็นรอง‘หมอนทอง' ความอร่อยรอวันคว้าแชมป์

มูซังคิง ทุเรียนสายพันธุ์มาเลเซียยังมาแรง ล่าสุดปลูกในจีนได้แล้ว แม้ปัจจุบันทุเรียนไทยยังเป็นแชมป์ แต่ในอนาคตไม่อาจคาดเดา ส่วนทุเรียนอร่อยต้องช่วงนี้ หลังเดือนส.ค. จะเป็นทุเรียนนอกฤดูกาล ...

ปัจจุบันไทยยังเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยล่าสุดกรมวิชาการเกษตร คาดว่าในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 จะสามารถส่งออกทุเรียนสดไปตลาดจีนได้ปริมาณไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน มูลค่ากว่าแสนล้านบาท และจีนยังเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยที่ใหญ่ที่สุด

ไทยมีพันธุ์ทุเรียนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมกว่า 20 สายพันธุ์ แต่ส่งออกมาไปยังจีน 3 สายพันธุ์ คือทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนชะนี ทุเรียนก้านยาว โดยทุเรียนหมอนทองมีสัดส่วนในตลาดจีนมากที่สุดเกือบ 90%

ความนิยมของทุเรียนหมอนทอง ไม่ต้องดูอื่นไกล กลางเดือนพฤษภาคม 2566 กระแสไวรัลในโซเชียล เมื่อซินบา ราชานักไลฟ์ชาวจีน ไลฟ์ขายทุเรียนหมอนทองมียอดสั่งซื้อไปทั้งหมด 1.62 ล้านลูก ยอดขาย 1,500 ล้านบาท และนี่คือส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่าทุเรียนหมอนทองยังติดอันดับต้นๆ ของการซื้อขาย

แม้จีนจะหันมาปลูกทุเรียนมูซังคิงและพันธุ์หนามดำ สายพันธุ์จากมาเลเซียที่เริ่มปลูกเมื่อปี 2561 เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนตุลาคม 2565 แต่ทุเรียนอร่อยๆ และครองตลาดยังอยู่ในเมืองไทย และในอนาคตถ้าจีนพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนเป็นอีกระดับ ก็ไม่แน่ว่าไทยจะเสียแชมป์หรือไม่ 

ทุเรียนหมอนทอง ยังเต็งหนึ่ง

หมอนทอง ยังเป็นทุเรียนอันดับ 1 ของไทยและคนจีน เนื่องจากกรอบนอก นุ่มใน หวานมันอร่อยกำลังดี  จึงได้รับความนิยมทั้งการบริโภคและการปลูก ประกอบกับหาซื้อง่าย กลิ่นไม่แรง ทุเรียนหมอนทองที่ดีต้องจะมีก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนเมล็ดเล็กและลีบ หนามแหลมตรง มีน้ำหนักทั้งลูกประมาณ 3 – 4 กิโลกรัม เนื้อละเอียดและแห้ง เนื้อไม่เหลวติดมือ

ทุเรียนหมอนทองเหมาะที่จะปลูกในภาคตะวันออกและภาตใต้บางจังหวัด อาทิ  จันทบุรี ระยอง ชุมพร ฯลฯ ปัจจุบันมีปลูกทั่วประเทศ แต่ไม่ได้อร่อยเหมือนกันทุกแห่ง โดยปกติทุเรียนสายพันธุ์นี้จะราคากิโลกรัมละ 200 กว่าบาท

ทุเรียนมูซังคิง ราคาไม่เป็นรอง‘หมอนทอง\' ความอร่อยรอวันคว้าแชมป์ ทุเรียนมูซังคิง สายพันธุ์มาเลเซีย

 

ทุเรียนมูซังคิง สายพันธุ์มาเลเซีย 

มูซังคิง เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเซีย เป็นราชาทุเรียนมาเลเซีย ไม่ต่างจากหมอนทอง มีรสชาติหวานหอมอร่อย ขมนิด ๆ ทำให้ทุเรียนสายพันธุ์นี้กลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนและชาวมาเลเซีย โดยทุเรียนพันธุ์นี้ ถ้าสุกคาต้นยิ่งมีรสชาติอร่อย

ในประเทศไทยมีการปลูกทุเรียนมูซังคิงที่ภาคตะวันออกคือ จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีสภาพอากาศใกล้เคียงกับมาเลเซีย ส่วนใหญ่ปลูกบนเนินเขาอำเภอเบตง และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา

เนื่องจากมีลักษณะเด่นเนื้อเยอะ เมล็ดเล็กลีบบาง ใช้เวลาปลูกประมาณ 4-5 ปีก็ออกผล  เกษตรกรจังหวัดยะลาจึงเลิกปลูกยางพารา หันมาปลูกทุเรียนแทน ขนาดของทุเรียนไม่ใหญ่เหมือนหมอนทอง ส่วนใหญ่น้ำหนักประมาณ  0.5-3.5 กิโลกรัมต่อผล ราคากิโลกรัมละ 500 – 1,000 บาท

ทุเรียนมูซังคิง ราคาไม่เป็นรอง‘หมอนทอง\' ความอร่อยรอวันคว้าแชมป์

ฤดูกาลทุเรียน

ในอดีต ประเทศไทยสามารถผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 4 เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นผลผลิตที่ผลิตได้ในภาคตะวันออก แล้วต่อช่วงฤดูการผลิตโดยผลผลิตจากภาคใต้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 9 เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม โดยแบ่งเป็นผลผลิตจากพื้นที่ต่างๆ ดังนี้

  • ทุเรียนก่อนฤดูกาลเชิงการค้า ในพื้นที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี มีการใช้สารแพกโคลบิวทราโซล เร่งให้ทุเรียนออกดอกในเดือนสิงหาคม เก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ ออกสู่ตลาดเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน
  • ทุเรียนล่า เป็นการควบคุมให้ผลทุเรียนสุกแก่เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายฤดู  เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาผลิตผลตกต่ำในช่วงที่ทุเรียนออกมาเยอะในเดือนพฤษภาคม -สิงหาคม
  • ทุเรียนทวาย คือ ทุเรียนที่ทยอยสุกแก่ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี หลีกเลี่ยงมิให้ผลผลิตออกมาในช่วงฤดูปกติเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม

...................

 อ้างอิง : https://farmchannelthailand.com/  และสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน