ทำความรู้จัก "Sidra Coffee" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์!

ทำความรู้จัก "Sidra Coffee" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์!

การประกวดกาแฟในเวทีชิงแชมป์ระดับโลก เริ่มเกิดปรากฎการณ์ที่ผู้เข้าแข่งขันอีเว้นท์ใหญ่ๆให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเลือกใช้สายพันธุ์กาแฟที่ "หายาก" และพันธุ์กาแฟ "น้องใหม่" ในตระกูลอาราบิก้า นอกเหนือไปจากกาแฟตัวดังๆที่ได้รับความนิยมสูง 

แม้ว่ากาแฟเกอิชา/เกสชา (Geisha /Gesha) สายพันธุ์ดาวค้างฟ้าระดับตำนานที่คว้ารางวัลใหญ่มาแล้วมากมายในเวทีระดับโลก ด้วยครองใจบาริสต้าส่วนใหญ่มาอย่างยาวนาน ทว่าในหลายปีที่ผ่านมา การประกวดกาแฟในเวทีชิงแชมป์ระดับโลก หรือ เวิลด์ คอฟฟี่ แชมเปี้ยนชิพ เริ่มเกิดปรากฎการณ์ที่ผู้เข้าแข่งขันอีเว้นท์ใหญ่ๆให้ความสำคัญมากขึ้นกับการเลือกใช้สายพันธุ์กาแฟที่ "หายาก" และพันธุ์กาแฟ "น้องใหม่" ในตระกูลอาราบิก้า นอกเหนือไปจากกาแฟตัวดังๆที่ได้รับความนิยมสูง 

การเลือกใช้เมล็ดกาแฟจากสายพันธุ์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและยังไม่คูล เริ่มกลายเป็น "เทรนด์ใหม่" ที่กระแสกำลังเติบโตเรื่อยๆในทุกๆปี  ถือเป็นอีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจและชวนติดตามอย่างยิ่งในแวดวงประชาคมตลาดกาแฟพิเศษ (Specialty coffee)

หนึ่งในพันธุ์กาแฟดาวรุ่งในตระกูลอาราบิก้าที่เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นทุกขณะก็คือ "ซิดร้า" (Sidra) หรือบางทีก็เรียกกันว่า "เบอร์บอน ซิดร้า" (Bourbon Sidra) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องของความหวานและซับซ้อนของกลิ่นรส แม้ชื่อชั้นยังไม่โด่งดังเปรี้ยงปร้าง แต่เมื่อดูจากโปรไฟล์แล้วถือว่าไม่ธรรมดาเลย  หลังเริ่มมีการนำเมล็ดกาแฟน้องใหม่สายพันธุ์นี้มาใช้กันบ่อยขึ้นในเวทีประกวดที่มีชื่อเสี่ยงและอิทธิพลอย่างอีเว้นท์ "เวิลด์ คอฟฟี่ แชมเปี้ยนชิพ"  ที่บริหารและจัดการแข่งขันโดยสมาคมกาแฟพิเศษ (SCA)  

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! กาแฟพันธุ์ซิดร้า จากไร่"ลา พัลมา & เอล ทูแคน" ในโคลอมเบีย (ภาพ : instagram.com/lapalmayeltucan)

หลายคนคงทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า มีบาริสต้าระดับแชมป์โลกถึง 2 คนด้วยกันที่นำกาแฟซิดร้าไปใช้ในการประกวด คนแรกคือ "จูยอน จอน" สาวเกาหลีใต้ เจ้าของตำแหน่งเวิลด์ บาริสต้า แชมเปี้ยน ประจำปี 2019  และล่าสุด "แอนโธนี ดักลาส" หนุ่มชาวออสเตรเลีย เจ้าของแชมป์โลกปี 2022  ถือว่าช่วยการันตีคุณภาพของซิดร้าได้เป็นอย่างดี

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! แอนโธนี ดักลาส หนุ่มออสซี่ เจ้าของแชมป์โลกบาริสต้าปี 2022 (ภาพ : facebook.com/MelbCoffeeExpo)

ย่างเข้าศักราชใหม่ปี 2023 จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะทำความรู้จักกับกาแฟพันธุ์ใหม่อย่างซิดร้า ที่เริ่มมาแรงขึ้นเรื่อยๆในแวดวงกาแฟพิเศษ โดยเฉพาะร้านและโรงคั่วกาแฟหลายแห่งในบ้านเราก็นำเข้าสารกาแฟซิดร้ามาคั่วจำหน่ายกันหลายเจ้าทีเดียว  ผู้เขียนขอนำข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศมาเรียบเรียงและนำเสนอให้ท่านผู้อ่านเพื่อทำความรู้จักเจ้าซิดร้า พันธุ์กาแฟน้องใหม่ที่เริ่มเป็นขวัญใจของคอกาแฟหลายๆคนไปพร้อมๆกัน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับเลยว่าข้อมูลของกาแฟสายพันธุ์นี้ยังมีน้อยอยู่มาก

ปูมประวัติของกาแฟพันธุ์ซิดร้าโดยทั่วๆไปบันทึกไว้ในท่วงทำนองว่า ซิดร้าเป็นพันธุ์กาแฟที่มีต้นกำเนิดจากย่าน"ปิชินชา" ของเอกวาดอร์ ประเทศในอเมริกาใต้  เป็นกาแฟพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างพันธุ์ "เรด เบอร์บอน" (Red Bourbon) กับ "ทิปปิก้า" (Typica) จึงได้มาทั้งความหวานกับบอดี้จากเรด เบอร์บอน และกลิ่นดอกไม้กับหวานซ่อนเปรี้ยวบางๆอันเป็นจุดเด่นของทิปปิก้า 

ทั้งนี้ กาแฟพันธุ์ซิดร้ามีลักษณะทางกายภาพ เช่น ใบ ,ต้น และผล คล้ายกับกาแฟพันธุ์ "ซูดาน รูเม่"  (Sudan Rume) สามารถเติบโตได้ดีในระดับความสูงระหว่าง 1,650- 1,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ก่อนที่จะได้ชื่อว่าเป็นกาแฟที่ถูกค้นพบครั้งแรกในเอกวาดอร์นั้น ก็มีข้อมูลเพิ่มเติมแทรกเข้ามาว่า กาแฟตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย "เนสท์เล่" ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

เนสท์เล่เคยเข้าไปตั้งสถานีเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟในปิชินชามาก่อน ณ สถานีแห่งนี้เองมีการนำกาแฟพื้นถิ่นจาก "เอธิโอเปีย" ซึ่งเดิมเป็นกาแฟป่ามาก่อน  มาผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อสร้างกาแฟลูกผสมตัวใหม่ๆขึ้นมา 

จากนั้นไม่นาน เนสท์เล่ก็เปิดตัวพันธุ์กาแฟตัวหนึ่งออกมาชื่อว่า "ทิปปิก้า เมโฮราโด้" (Typica Mejorado) ลูกผสมของกาแฟพันธุ์เบอร์บอนที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติจากพันธุ์ทิปปิก้า กับกาแฟดังจากเอธิโอเปียที่เชื่อกันว่าเป็น "เกอิชา/เกสชา"

เมื่อสถานีเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟในปิชินชาปิถูกดตัวลงไปขณะที่กาแฟอีกหลายตัวอยู่ระหว่างขั้นตอนการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ และยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรท้องถิ่นนำไปเพาะปลูก หนึ่งในจำนวนนั้นรวมไปถึงกาแฟลูกผสมที่ชื่อ "ซิดร้า"

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! แผนที่แสดงย่าน "ปิชินชา" แหล่งปลูกกาแฟพันธุ์ซิดร้า ในเอกวาดอร์ (ภาพ : www.google.com/maps)

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็คงอยากรู้เหมือนผู้เขียนว่า แล้วกาแฟซิดร้า "หลุด" ออกมาจากสถานีเพาะพันธุ์กาแฟของเนสท์เล่ได้อย่างไรกัน?

มีรายงานว่า "ดอน โอลเกอร์ โรเจล" เป็นบุุคคลแรกที่นำต้นอ่อนกาแฟซิดร้ามาปลูกที่ปิชินชา รวมไปถึงพันธุ์ทิปปิก้า เมโฮราโด้ ก่อนที่จะกระจายออกไปยังไร่กาแฟอื่นๆในเอกวาดอร์และข้ามฝากไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างโคลอมเบีย  ขณะที่เว็บไซต์ข่าวสารวงการกาแฟระหว่างประเทศ perfectdailygrind.com  ให้ข้อมูลว่า ดอน โอลเกอร์  เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าในห้องแล็บของเนสท์เล่มาก่อน

ปัจจุบันดอน โอลเกอร์  เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในย่านปิชินชา และเป็นเจ้าของไร่ "ฟินคา เพอร์ลา เนกรา" หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการธุรกิจกาแฟทางตอนเหนือของเอกวาดอร์

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งจาก "ลา คาบร้า" (La Cabra) เชนกาแฟชั้นนำของเดนมาร์ก  ระบุไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทว่า เป็นเนสท์เล่เองที่เสนอกาแฟพันธุ์ซิดร้าไปให้เกษตรกรเอกวาดอร์ปลูกแบบแจกฟรีเพื่อแลกกับการขอฟีดแบ็คกาแฟพันธุ์นี้  ส่งผลใหซิดร้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากเกษตรกรในตอนเหนือเอกวาดอร์

นอกจากนั้นแล้ว ในส่วนข้อมูลที่เชื่อกันว่า ซิดร้า เป็ลูกผสมของ "เรด เบอร์บอน" กับ "ทิปปิก้า" นั้น  ก็เกิดมีข้อมูลย้อนแย้งที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้น ในเฟคบุ๊คของ "พาราไดซ์ คอฟฟี่ โรสเตอร์" ในรัฐมินเนโซต้า ของสหรัฐ โพสต์ข้อความอ้างถึงการตรวจทางพันธุกรรมเมื่อเร็วๆนี้ที่พบว่า ซิดร้ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกาแฟพื้นถิ่นจากเอธิโอเปีย ไม่เกี่ยวข้องกับทิปปิก้าและเบอร์บอนแต่ประการใด

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! ลักษณะผลและใบของกาแฟพันธุ์ซิดร้า จากไร่ฟินคา ลัคมาปาต้า ของเอกวาดอร์ (ภาพ : instagram.com/lugmapata)

นี่คือ ข้อมูลที่ชัดเจนบ้างและยังไม่ชัดเจนบ้างของกาแฟซิดร้าในสายเอกวาดอร์ที่เป็นจุดกำเนิดเริ่มแรก ส่วนในสายโคลอมเบียถือเป็นจุดกระจายพันธุ์ในเวลาต่อมา มาดูเส้นทางของพันธุ์กาแฟดาวรุ่งตัวนี้ในโคลัมเบียกันบ้าง

เรื่องราวของซิดร้าในโคลอมเบียเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2016 หลังจาก "ริโกเบอร์โต้  เฮอร์เรร่า" แห่งคาเฟ่ แกรนจา ลา เอสเปรันซ่า ผู้ผลิตกาแฟพิเศษชั้นแนวหน้าจากย่านเคาคา วัลเลย์ ในโคลอมเบีย และเจ้าของฟาร์มกาแฟฟินคา โปโตซี ออกเดินทางสำรวจไร่กาแฟทางตอนเหนือของเอกวาดอร์ร่วมกับทีมงานไร่กาแฟเพื่อนบ้านอย่าง "ลาส มาร์การิตัส" ก่อนนำผลเชอรี่กาแฟซิดร้ากลับมาเพาะพันธุ์ยังโรงเรือนของไร่ฟินคา โปโตซี แล้วเริ่มลงมือปลูกอย่างจริงจังในอีกหนึ่งปีต่อมา จนปัจจุบันครอบครองต้นกาแฟพันธุ์นี้กว่า 4,000 ต้น

ต่างไปจากการปรับปรุงพัฒนาพันธ์กาแฟในอดีตที่มุ่งเน้นไปที่ความทนทานต่อโรคศัตรูพืชและให้ผลผลิตสูงเพื่่อป้อนตลาดกาแฟเชิงพาณิชย์ ในระยะหลัง สายพันธุ์กาแฟใหม่ๆ ถูกพัฒนาเพื่อสร้าง “คุณภาพทางรสชาติ” ขึ้นมาโดยเฉพาะ ตอบรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเซกเมนท์กาแฟพิเศษที่ราคากาแฟต่อแก้วค่อนข้างสูงมาก

 เรื่องนี้ "โฮเซ่ เปเป้ กิฆอน" เจ้าของไร่กาแฟฟินคา โซเลแดด จากจังหวัดอิมบาบูร่าในเอกวาดอร์ บอกว่า ซิดร้าให้ผลผลิตสูง ทนต่อแมลงศัตรูพืชและโรคต่างๆได้ดี  ยกเว้นโรคราสนิม

ปัจจุบัน ไร่กาแฟที่มีชื่อเสียงในการผลิตกาแฟซิดร้ามีอยู่หลายเจ้าด้วยกันทั้งจากเอกวาดอร์และโคลอมเบีย เช่น

"ฟินคา ลัคมาปาต้า" จากย่านชิมโบราโซ่ในเอกวาดอร์, "ฟินคา โซเลแดด" ในเอกวาดอร์, "ลา พัลมา & เอล ทูแคน" จากย่านคันดินามาคราในโคลอมเบีย และไร่ "เอล ดิวิโซ" จากโคลอมเบียที่แอนโธนี ดักลาส เลือกใช้ในการแข่งขันเวิลด์ บาริสต้า แชมเปี้ยนชิพ 2022 จนคว้าแชมป์โลกคนล่าสุดไปครอง รวมไปถึง"คาเฟ่ แกรนจา ลา เอสเปรันซ่า" ที่เชนกาแฟลา คาบร้าของเดนมาร์ค นำเข้าสารกาแฟไปคั่วจำหน่ายในเมล็ดกาแฟบรรจุถุง

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! เมล็ดกาแฟซิดร้าบรรจุถุงจำหน่ายโดยพาคามารา แบรนด์กาแฟพิเศษชั้นแนวหน้าของไทย

ทำความรู้จัก \"Sidra Coffee\" กาแฟดาวรุ่งแห่งเอกวาดอร์! เซกเมนต์กาแฟพิเศษให้ความสำคัญกับกาแฟกลิ่นรสดอกไม้&ผลไม้ เป็นตัวเลือกต้นๆ (ภาพ : Thomas Martinsen on Unsplash)

 "ซิดร้า" เป็นกาแฟสายพันธุ์ใหม่ที่คนในวงการกาแฟพิเศษของเอกวาดอร์กับโคลอมเบียกำลังช่วยปลุกปั้นให้มีชื่อเสียง ทว่าบนเส้นทางจาก"ดาวรุ่ง" มุ่งสู่ "ดาวค้างฟ้า"นั้นไม่เรียบง่าย  เพราะนอกเหนือจากคุณภาพของกลิ่นรสแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต้องถือว่าเป็นงานหินและท้าทายความสามารถสุดๆ หากจะมีกาแฟอีกสักตัวที่ทำได้เฉกเช่นปานามา เกอิชา/เกสชา ที่ปักหลักยืนหยัดอยู่แถวหน้าบนถนนสายกาแฟพิเศษมานานถึง 20 ปีเต็ม

 บูเอนาส ซูเอร์เต้ ซิดร้า!