กฎหมาย‘สมรสเท่าเทียม’ไทย และปีเฮง(2568)อุตสาหกรรมบันเทิงซีรีส์วาย

ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้กฎหมาย‘สมรสเท่าเทียม’ เปิดกว้างสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ และปี 68 ยังเป็นปีเฮงของอุตสาหกรรมบันเทิงซีรีส์วาย
“ได้แต่งงานกันซะที...” คู่รัก LGBTQ+ บอกในวันจดทะเบียนสมรส เมื่อ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 หลังจากต่อสู้เรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี ซึ่งมีทั้งฝ่ายเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่ออกความเห็น
ไทยจัดเป็นประเทศลำดับที่ 37 ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศที่สองในทวีปเอเชีย รองจากไต้หวัน ปี 2019 (เอเชียตะวันออก) ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในแถบนี้ พวกเขาก็ต่อสู้เรื่องนี้มานานเช่นกัน
ส่วนประเทศแรกในโลกที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ คือ เนเธอร์แลนด์ ปี 2001 ตามด้วยเบลเยี่ยมในปี 2003 สเปนผลักดันให้มีกฎหมายนี้ในปี 2005 และอเมริกา ใช้กฎหมายทั้งประเทศในปี 2015 รวมถึงอีกหลายประเทศ
ในจังหวะที่ประเทศไทยเปิดกว้างเรื่อง LGBTQ+ และประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ประจวบเหมาะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยบุกตลาดผลิตซีรีส์และภาพยนตร์วายจนกลายเป็นผู้นำระดับโลก
อุตสาหกรรมบันเทิงแนวนี้ ไม่ว่าหญิงรักหญิง ชายรักชาย ซีรีส์วายไทยทำเงินระดับต้นๆ ของโลก หลายค่ายเห็นโอกาสและเม็ดเงินในตลาดระดับพันล้านบาท โดยเฉพาะในปีนี้ ซีรีส์แนว Girls’s Love หลายค่ายเข้ามาแจม เพราะคนดูทั้งไทยและต่างชาติชื่นชอบมาก
ไม่ต้องดูอื่นไกล ในงานเคาท์ดาวน์ปลายปี 2567 ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เลือกใช้นักแสดงแถวหน้าคู่จิ้นซีรีส์เกือบทั้งหมด ไม่ว่าฟรีน-เบค
จากซีรีส์ทฤษฎีสีชมพู(GAP The series) เรื่องแรกจากค่าย Idol Factory ซึ่งประสบความสำเร็จมาก,หลิง-ออม ซีรีส์ใจซ่อนรัก 8 ตอน ทำให้สองสาวโด่งดังมาก ทั้งเป็นพรีเซ็นเตอร์แบรนด์ต่างๆ และจัดแฟนมีตต่างประเทศ ,บิวกิ้น-พีพี และซี-นุนิว ฯลฯ
ว่ากันว่า นักแสดงคู่จิ้นในซีรีส์วาย ไม่ได้ดังเฉพาะกลุ่มวาย แต่ดังในทุกวงการ เจ้าของแบรนด์ระดับโลก ยังเลือกคู่จิ้นเหล่านี้เป็นพรีเซ็นเตอร์เดินบนพรมแดงในงานภาพยนตร์และแฟชั่นระดับโลก
นี่คงเป็นเสน่ห์ของนักแสดงไทยรุ่นใหม่ ไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าเคมีเข้ากัน แสดงเป็นธรรมชาติ มีความน่ารัก ขี้เล่น ยิ้มง่าย และฝีมือการแสดง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักแสดงชาติอื่นไม่มีหรือมีน้อย กลุ่มที่เป็นติ่งซีรีส์เกาหลี จึงหันมาจิ้นนักแสดงไทยมากขึ้น
นอกจากช่องวัน แกรมมี่ ที่บุกตลาดด้านนี้มานาน ผู้บริหารสถานีช่อง 3 ก็ลงมาเล่นเกมนี้ด้วย เพื่อเอาส่วนแบ่งตลาดซีรีย์วายและประสบความสำเร็จกับแบรนด์หลิงออม ปีนี้จึงมีนักแสดงแซฟฟิคคู่ใหม่เสริมทัพ
และยังได้กลิ่นมาว่า ทางสถานีช่อง 7 สีก็สนใจที่จะทำซีรีีส์แนวนี้แข่งในตลาด เพราะซีรีส์แนวนี้ไม่ได้จำกัดแค่แนวรักๆ ถ้าทำถึง ทั้งฝีมือนักแสดงและโปรดักชั่นดี ไม่ว่าจะย้อนยุคหรือสืบสวน แฟนคลับพวกเขามีอยู่
ปี 2568 แม้เศรษฐกิจบ้านเราจะอยู่ในช่วงขาลง แต่อุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยกำลังรุ่งเรือง แฟนคลับทั่วโลกพร้อมจะจ่ายเงินทุกบาทกับนักแสดงซีรีส์วายที่พวกเขาชื่นชอบ
ส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็มาถูกจังหวะ ทำให้คู่สมรส LGBTQ+ ปลาบปลื้ม เพราะได้รับสิทธิเท่าเทียม ทั้งเรื่องการรับมรดกคู่สมรส,การรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิอื่นๆ ฯลฯ แม้บางเรื่องยังรอแก้ไขกฎหมายอย่างกฎหมายการอุ้มบุญ แต่ภาพรวมเป็นที่ยอมรับ
สมรสเท่าเทียมยังเป็นเรื่องใหม่ในหลายประเทศ เพราะยังมีเรื่องที่ผูกโยงกับความเชื่อ วัฒนธรรม สังคมและครอบครัว ถ้าเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ครอบครัวจีนรุ่นเก่ายังมีความเชื่อแบบดั้งเดิม ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว หญิงชายต้องแต่งงานเพื่อสืบสกุล การแต่งงานในเพศเดียวกันจึงไม่ใช่คำตอบ
แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว ก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะยอมรับความรักของเพศเดียวกัน จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่เชื่อว่า เมื่อโลกเปลี่ยน คนก็ต้องปรับจูนความคิด.