บันทึกประวัติศาสตร์วงการร็อกไทยผ่านบทเพลง ‘โป่ง ปฐมพงศ์’

บันทึกประวัติศาสตร์วงการร็อกไทยผ่านบทเพลง ‘โป่ง ปฐมพงศ์’

ย้อนประวัติศาสตร์วงการเพลงร็อกไทยในรอบ 50 ปี ผ่านคอนเสิร์ต ‘โป่ง ปฐมพงศ์’ ที่ชื่อ ‘PONG 47 ปี Rock Never Dies’ ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวและรอบเดียว ในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว

โป่ง หิน เหล็ก ไฟ, โป่ง เดอะ ซัน, โป่ง ดิ โอฬาร ทั้งหมดนี้หมายถึงผู้ชายคนเดียวกัน ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ ร็อกสตาร์ระดับตำนานของเมืองไทยที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีมาเป็นเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ ในฐานะนักร้อง นักแต่งเพลง ผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีมากมายซึ่งเป็นที่มาของสมญานามอันหลากหลายดังกล่าว

ในวาระที่ตำนานวงการเพลงไทยผู้นี้กำลังจะมีคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่ชื่อ PONG 47 ปี Rock Never Dies ในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว กรุงเทพธุรกิจพาไป Exclusive Talk พูดคุยถึงเส้นทางชีวิตของ ‘โป่ง ปฐมพงศ์’ ที่เป็นบทบันทึกหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงร็อกไทยไปด้วยพร้อมกัน

 

บันทึกประวัติศาสตร์วงการร็อกไทยผ่านบทเพลง ‘โป่ง ปฐมพงศ์’

คอนเสิร์ตกึ่งสารคดีบันทึกเส้นทางดนตรี

จุดเริ่มต้นของคอนเสิร์ต ‘PONG 47 ปี Rock Never Dies’ เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับผู้จัด Classy Records จนได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะเล่าเรื่องราวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่เข้าวงการ ทำให้คอนเสิร์ตนี้เปรียบเสมือนสารคดีบันทึกเส้นทางสายดนตรีตั้งแต่ยุคแรก เพียงแต่มีการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทเพลงของแต่ละวงที่ ‘โป่ง ปฐมพงศ์’ เคยอยู่มา

แต่ละยุคเล่นเพลงอะไร? 

ทำเพลงไทยอัลบั้มแรกกับวงไหน?

เพลงของแต่ละวงเป็นอย่างไร?

มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรมาจนถึงปัจจุบัน? 

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พลอยทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของวงการเพลงร็อกของเมืองไทยผ่านยุคสมัยต่าง ๆ ไปด้วย

 

‘โป่ง ปฐมพงศ์’ เล่าประวัติชีวิตฉบับย่นย่อให้เราฟังว่าเคยอยู่วงดนตรีมาทั้งหมด 6 วง วงแรกคือ นาอ้อน ตามมาด้วย อินเฟอร์โน สองวงนี้เล่นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน โดยจะเล่นคัฟเวอร์เพลงของวงร็อกชื่อดังในยุคนั้นอย่าง Ozzy Osbourne, Black Sabbath, Led Zeppelin, Deep Purple

ก่อนจะมาทำอัลบั้มเพลงไทยครั้งแรกกับวงโซดา ที่ออกแนวป็อปร็อก ตามมาด้วย ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ซึ่งเริ่มเป็นร็อกแบบโบราณชัดขึ้น พอออกไปได้ซัก 2 ชุดก็เกิดไอเดียอยากทำเพลงอีกแบบหนึ่งจนกลายมาเป็นวงหิน เหล็ก ไฟ หลังจากนั้น ป็อป - จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย ก็แยกออกมาตั้งวงเดอะ ซัน เป็นวงสุดท้าย ที่เหลือเป็นการทำอัลบั้ม ทำผลงานเดี่ยวของตัวเอง

“ทุกวงมีอิทธิพลต่อผมในเวลาต่อมา ส่วนผสมวงเปลี่ยน นักดนตรีเปลี่ยน คนเล่นเปลี่ยน กีตาร์เปลี่ยน มันก็จะเปลี่ยนสี ถ้าคนที่เป็นแฟนโป่งไปดู ก็จะเห็นโป่งในสีนี้ โป่งดนตรีแบบนั้นแบบนี้”

“แต่ทั้งหมดนี้ลองสังเกตดูนะ เป็นมือกีตาร์ตัวท็อปของประเทศไทยทั้งนั้น ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นโชคดีที่เราได้เล่นกับมือกีตาร์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง สร้างงานได้ด้วยตัวเอง แล้วก็เป็นเพื่อนที่ดี อันนี้ถือว่าโชคดีนะที่ในคอนเสิร์ต 47 ปีนี้ ทุกคนยังมาครบ”

แล้วโชคดีที่ว่าก็ถ่ายทอดมาถึงผู้ฟังด้วย เพราะมือกีตาร์ทั้ง 6 วงที่โป่ง ปฐมพงศ์เคยอยู่จะมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ต PONG 47 ปี Rock Never Dies กันครบทุกคน

 

บันทึกประวัติศาสตร์วงการร็อกไทยผ่านบทเพลง ‘โป่ง ปฐมพงศ์’ Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร

 

ขนเพลงฮิตมาครบทุกเพลง

ด้วยความที่มีวงดนตรีถึง 6 วง ไม่รวมแขกรับเชิญ แล้วคอนเสิร์ตจะมีความยาวกี่ชั่วโมง และเล่นเพลงกันทั้งหมดกี่เพลง?

โป่ง ปฐมพงศ์ให้คำตอบว่าเบื้องต้นวางเอาไว้ว่าจะเล่นวงละ 5 เพลง เท่ากับจะได้ฟังกัน 30 เพลงเป็นอย่างต่ำ ไม่นับรวมช่วงของแขกรับเชิญ ซึ่งถือว่าเป็นการร้องเพลงมากที่สุดในคราวเดียวแล้ว เพราะปกติเขาเคยร้องเต็มที่ครั้งละประมาณ 22-23 ไม่เกิน 25 เพลง

พอได้ฟังคำตอบก็เกิดคำถามตามมา ถึงการเตรียมตัวของเขาที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 60 กว่าแล้ว

 

ร็อกเกอร์เจ้าของสมญา ‘กระเดือกทองคำ’ ผู้มีเสียงสูง ทรงพลัง แทบไม่เคยออกมาร้องเพลงในสภาพเสียงแหบให้แฟน ๆ ได้ยินกันเลยบอกว่าด้วยวัยขนาดนี้ ไม่ได้แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน เรื่องของการดูแลรักษาเสียงต้องตอบว่ายากมาก ประกอบกับตัวเขายังมีงานคอนเสิร์ตมากเหมือนเดิม ตกประมาณ 10-15 งานต่อเดือน ดังนั้น วิธีเดียวที่ทำได้คือการพักผ่อน หาเวลานอน ซึ่งคนที่บ้านก็เข้าใจ พอเสร็จงานก็จะไม่มีใครไปรบกวนเพื่อให้ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งนี้ช่วยได้เยอะ

ส่วนการรักษาเสียงร้องให้เหมือนเดิมนั้น โป่งกล่าวว่าปัจจุบันก็มีปัญหาเช่นกัน แต่ยังพอจะคงสภาพอยู่ได้บ้าง ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้เขาเป็นร็อกเกอร์ที่เส้นเสียง และคอไม่ได้พังเหมือนนักร้องหลายคนนั้นเริ่มมาตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลยคือ การแต่งเพลง การวางคีย์ วางโน้ตให้พอดีกับเสียงของนักร้อง

 

“เราไม่ได้พยายามไปเป็นอย่างอื่น ไม่ได้พยายามให้ร้องเพราะ ร้องไปตามเสียงตัวเอง ร้องจนคนคุ้นหู พอมีประสบการณ์ก็สามารถเล่นเสียงได้มากขึ้น แต่อันดับแรกคือมันพอดีอยู่แล้ว มันเริ่มต้นด้วยความพอดี บางเพลงที่สูงเราก็ปรับมาตั้งแต่แรก เพลงไหนที่หนักก็ไม่ได้เล่นทุกงาน มันต้องถนอมเสียง”

“จริง ๆ มันเป็นโชคดีตั้งแต่ตอนแรกแล้วนะ ตอนแรกเรายังไม่รู้หรอก ถ้าฟังดูดี ๆ ตอนอยู่วงโซดา เพลง ‘เห็นต่าง’ ยังไม่พอดีนะ มันต่ำไป บางคนไม่พอดีคือสูงไป พอมาตอนโอฬารค่อนข้างสูง แต่โอ้ (โอฬาร พรหมใจ) ปรับตลอด ให้ลองร้องคีย์นั้นคีย์นี้ คือวางตั้งแต่แรก แต่ว่าข้อที่ปฏิเสธไม่ได้คือพออายุเยอะมันก็จะลดลงบ้างเป็นธรรมชาติ”

 

ในส่วนของเพลงที่เลือกมาเล่นในคอนเสิร์ตนั้น เพลงฝรั่งพวก Black Sabbath, Ozzy Osborn ต้องเล่นแน่นอนเพราะจุดเริ่มต้นของเขาเป็นแบบนั้น ส่วนเพลงไทยหนีไม่พ้นพวกเพลงฮิต แต่ก็จะมีเพลงที่แต่ละวงอยากจะเล่นให้มันหนักหน่วงขึ้น และมีความพิเศษ แตกต่างจากคอนเสิร์ตอื่น ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เพลงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างถูกต้อง

 

บันทึกประวัติศาสตร์วงการร็อกไทยผ่านบทเพลง ‘โป่ง ปฐมพงศ์’ Credit : ศุกร์ภมร เฮงประภากร

 

คอนเสิร์ตที่จัดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียว

‘PONG 47 ปี Rock Never Dies’ เป็นคอนเสิร์ตที่โป่ง ปฐมพงศ์บอกว่าเป็นครั้งแรกที่รวบรวมเอาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคยร่วมงานกันมาครบหมดทุกวง “และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วย” เจ้าตัวกล่าวกลั้วเสียงหัวเราะ ก่อนจะอธิบายว่า

นอกจากจะต้องใช้พลังงานเยอะแล้ว การจัดคอนเสิร์ตที่มีศิลปินมารวมตัวกันมากแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะจัดกันได้ง่าย ๆ เพราะแค่ตามตัวสมาชิกแต่ละคนให้กลับมาเล่น มาซ้อมกันก็ยากแล้ว โดยเฉพาะสมาชิก 3 วงแรก นาอ้อน, อินเฟอร์โน, โซดา ที่บางคนไม่ได้ประกอบอาชีพนักดนตรี หรืออยู่ในประเทศไทยแล้วด้วยซ้ำ

 

คอนเสิร์ต ‘PONG 47 ปี Rock Never Dies’ จะจัดขึ้นครั้งเดียวและรอบเดียวในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว โดย Classy Records บัตรราคา 6,000 / 5,000 / 4,000 3,000 / 2,000 / 1,500 ซื้อบัตรได้ที่ Line: @classyrecords หรือทาง Ticketmelon สอบถามเพิ่มเติมโทร 063 424 1926 , 063 789 5356