‘หวาดระแวง’ จาก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ กลับมาฮิตอีกครั้ง จากแฟนคลับฟันน้ำนม ?

‘หวาดระแวง’ จาก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ กลับมาฮิตอีกครั้ง จากแฟนคลับฟันน้ำนม ?

จังหวะนี้เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในหมู่วัยรุ่นฟันน้ำนมก็ว่าได้ หลังมีคลิปเด็กจากหลายโรงเรียนพากันร้องเพลง “หวาดระแวง” ของวงร็อกระดับตำนาน “หิน เหล็ก ไฟ” อย่างสนุกสนาน จนทำให้เพลงที่อายุ 29 ปี กลับมาฮิตอีกครั้ง

Key Points:

  • “หิน เหล็ก ไฟ” เป็นวงร็อกยุคเก๋า ที่ออกอัลบั้มแรกในปี พ.ศ. 2536 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแนวเพลง ดนตรี และเนื้อร้องที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งวงก็ยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
  • เพลง “หวาดระแวง” มาจากอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อ คนยุคเหล็ก ที่ปล่อยออกมาในปี พ.ศ. 2538 แต่มีเนื้อเพลงที่ทันสมัย และยังใช้ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน
  • ล่าสุดทั้งเพลงหวาดระแวงและวง หิน เหล็ก ไฟ กลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้ง หลังเด็กๆ ในหลายโรงเรียนต่างร้องเพลงนี้กันอย่างสนุกสนาน จนกลายเป็นคลิปไวรัลในโลกโซเชียล

ชื่อของวงร็อกระดับตำนาน “หิน เหล็ก ไฟ” หรือ Stone Metal Fire เรียกได้ว่าอยู่คู่วงการดนตรีของไทยมาอย่างยาวนาน มีจุดเริ่มต้นของวงตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ออกอัลบั้มเพลงชุดแรกเมื่อ พฤษพาคม 2536 และหลังจากนั้นก็มีเพลงฮิตติดหูออกมามากมาย เช่น นางแมว, ศรัทธา, พลังแห่งรัก, สู้ และ หวาดระแวง

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เพลง “หวาดระแวง” กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ในกลุ่มคอเพลงร็อกทั่วไป แต่กลับเป็นเด็กวัยอนุบาลไปจนถึงประถมศึกษาตอนต้น หลายคนอาจสงสัยว่า เพราะอะไรวงร็อกที่โลดแล่นในวงการมานาน ถึงกลับมาเป็นไวรัลในหมู่ “วัยรุ่นฟันน้ำนม

  • “หวาดระแวง” เพลงร็อกวัยเก๋า เขย่าวงการแก๊งฟันน้ำนม

จู่ๆ ก็กลายเป็นคลิปไวรัลสุดน่ารัก เมื่อผู้ใช้งาน TikTok บัญชี Namkangwp ได้แชร์คลิปนักเรียนของโรงเรียนวัดป้อมวิเชียรโชติการาม จ.สมุทรสาคร กำลังกระโดดและร้องเพลง “หวาดระแวง” กันอย่างสนุกสนาน จนทำให้คลิปดังกล่าวโด่งดังในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน มีคนดูมากถึง 3.8 ล้านวิว ก่อนจะมีคนอื่นๆ เริ่มลงคลิปเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ร้องเพลงนี้ตามออกมาเรื่อยๆ จนทำให้เพจหลักของวง “หิน เหล็ก ไฟ” นำไปแชร์ลงเพจ และจากความเห็นในเพจส่วนใหญ่มองว่านอกจากจะเป็นเรื่องที่น่ารักน่าเอ็นดูแล้ว หิน เหล็ก ไฟ จะใช้โอกาสนี้สร้างความนิยมเพิ่มได้อย่างไรบ้าง

โดยหิน เหล็ก ไฟ เอง ก็ไม่รอช้า เริ่มทยอยแชร์คลิปที่แฟนคลับตัวจิ๋วร้องเพลงลงเพจวงเรื่อยๆ และยังเริ่มทำคอนเทนท์ที่เกี่ยวกับเด็กมากขึ้น เช่น การโพสต์ภาพของ “โป่ง ปฐมพงษ์ สมบัติพิบูลย์” นักร้องนำ ยืนอยู่หน้าโรงเรียนชูมือสัญลักษณ์ชาวร็อก พร้อมคำพูด “อย่าลืมแปรงฟันนะเด็กๆ รีบนอน พรุ่งนี้ต้องไปโรงเรียน” ก่อนจะมีคอนเทนท์เอาใจวัยรุ่นฟันน้ำนมออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อต้อนรับแฟนคลับรุ่นใหม่

‘หวาดระแวง’ จาก ‘หิน เหล็ก ไฟ’ กลับมาฮิตอีกครั้ง จากแฟนคลับฟันน้ำนม ? พี่โป่ง หิน เหล็ก ไฟ (Stone Metal Fire)

  • ผ่านไป 29 ปี ทำไมเพลงนี้ถึงกลับมาดัง ?

หลายคนอาจสงสัยว่าเพลง “หวาดระแวง” ซึ่งเป็นเพลงในอัลบั้มชุดที่ 2 ในชื่อ “คนยุคเหล็ก” วางขายครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งได้อย่างไร ?

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าเพลงหวาดระแวง มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ยากที่จะหามิตรแท้ที่ไว้ใจได้ ทำให้ต้องคอยหวาดระแวงกันอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกได้ว่าแม้จะผ่านมา 29 ปี แต่ใจความสำคัญของเพลงนี้ก็ยังคงมีความทันสมัยและใช้ได้กับสภาพสังคมในปัจจุบัน

หวาดระแวง - หิน เหล็ก ไฟ (YouTube)

จุดเด่นของเพลงหวาดระแวงก็คือ แนวเพลงที่มีความหนักแน่นทั้งเรื่องของดนตรี และเนื้อร้อง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบในหมู่แฟนคลับเพลงร็อกได้ไม่ยาก แต่ปัจจุบันกลับมีแฟนคลับกลุ่มใหม่เกิดขึ้นซึ่งก็คือวัยรุ่นฟันน้ำนมนั่นเอง

จากความเห็นในโลกโซเชียลบางคนมองว่า เหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เพลงหวาดระแวงกลายเป็นที่ถูกอกถูกใจของเด็กๆ ก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง 4 Kings อาชีวะยุค 90’ ได้หยิบเพลงระดับตำนานอย่าง “หวาดระแวง” และ “คิดไปเอง” ของวงหิน เหล็ก ไฟ มาประกอบหนังนั่นเอง ก่อนจะได้รับความนิยมมากขึ้นจนไปถึงผู้ฟังรุ่นเล็ก

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือบางโรงเรียนนำเอาเพลงดังกล่าวไปเปิดในงานโรงเรียน และด้วยจังหวะของเพลงที่เด็กๆ มองว่าสนุกสนาน ทำให้หลังจากนั้น “หิน เหล็ก ไฟ” ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มเด็กน้อยเพิ่มขึ้น

ทางด้านมิวสิกวิดีโอของเพลง “หวาดระแวง” ใน YouTube ก็มีผู้ปกครองที่เป็นทั้งแฟนเพลงและคนทั่วๆ ไป เข้าไปแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งบอกว่า กลับมาฟังเพลงนี้เพราะลูกมาร้องให้ฟัง รวมถึงอยากให้ทางวงจัดคอนเสิร์ตอีกครั้ง

หลังจากนี้ต้องมาลุ้นกันว่าจากปรากฏการณ์ “หวาดระแวง” จะทำให้ “หิน เหล็ก ไฟ” วงร็อกวัยเก๋า กลายเป็นหัวหน้า “แก๊งฟันน้ำนม” ได้หรือไม่ และจะมีวิธีเข้าถึงแฟนเพลงรุ่นเล็กอย่างไรต่อไปบ้าง

อ้างอิงข้อมูล : เสียงดี, Springnews และ Stone Metal Fire