ถอดปม'มาตาลดา' ละครฮีลใจ การคิดบวกของพ่อที่ถ่ายทอดถึงลูก(มาตา)

ถอดปม'มาตาลดา' ละครฮีลใจ การคิดบวกของพ่อที่ถ่ายทอดถึงลูก(มาตา)

พ่อที่มีความเป็นแม่ใน'มาตาลดา' ละครครอบครัวที่เหมาะกับยุคสมัย เรื่องเล่าการคิดบวกที่มีคำอธิบาย และปมของตัวละครที่ดูแล้วใช่เลย ตอบโจทย์ให้บางคนได้

เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่ ณัฐณรา (ชลธิดา ยาโนยะ) คนเขียนบทเล่าถึง มาตาลดา ก็ยิ่งเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ทำไมเป็นละครที่คนทั้งครอบครัวดูร่วมกันได้ และกลายเป็นละครฟีลกู๊ดแห่งปี ดูแล้วดีต่อใจ

มาตาลดา เป็นละครของสถานีช่อง 3 กำกับการแสดงโดย“ปวันรัตน์ นาคสุริยะ” โดยผู้จัดละคร จ๋า-ยศสินี ลูกสาวมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช บริษัท เมคเกอร์ วาย จำกัด ตอนนี้เรตติ้งพุ่งกระฉูด อีกไม่กี่ตอนก็อวสานแล้ว เป็นละครที่ดูแล้วรู้สึกว่า การคิดแง่บวกไม่ได้เลื่อนลอย มีคำอธิบายเชิงเหตุผล

และปมของหลายตัวละครมีวิธีการคลี่ปมและพยายามหาทางออกให้ ไม่ปล่อยให้ค้างคาใจโดยเฉพาะบทพ่อเกรซ(ชาย ชาตโยดม) ที่คนเขียนบทสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพศทางเลือก แล้วใส่ความเป็นพ่อแม่ที่อยากให้มีในชีวิตจริงลงไป 

 

ถอดปม\'มาตาลดา\' ละครฮีลใจ การคิดบวกของพ่อที่ถ่ายทอดถึงลูก(มาตา) เมื่อพ่อคิดบวก ลูกก็คิดบวก

ส่วนบทที่ทีมเขียนบทโทรทัศน์“สคริปต์ เมคเกอร์” เติมแต่งเข้ามา ก็คือ ทีมเพื่อนหมอปุรินและพยาบาล ถือว่าทำได้ลงตัว และมีสีสันทีเดียว ไม่ว่าบทหมอหมอก หมออั๋น ฯลฯ 

ณัฐณรา บอกไว้ในเว็บเด็กดี (https://www.dek-d.com/writer/62682/) ว่า "ทุกอย่างมันมีเวลาของมัน ถ้ามาตาลดามาก่อนหน้านี้สัก 3 ปี บางทีผลตอบรับที่ได้ อาจจะไม่ใช่แบบนี้ก็ได้"

ด้วยสภาพสังคมในปี 2566 ที่เปิดรับและยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ประกอบกับตัวละครอย่าง พ่อเกรซ ,วีนัส(โกโก้ กกกร) และคิตตี้ (ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร)ฯลฯ แสดงได้ดี จนทำให้เห็นว่า ครอบครัวที่อบอุ่นคิดบวก และบ้านที่เป็นเซฟโซนของทุกคนเป็นอย่างไร 

 

ถอดปม\'มาตาลดา\' ละครฮีลใจ การคิดบวกของพ่อที่ถ่ายทอดถึงลูก(มาตา)

ผู้เขียนชอบฉากที่พ่อเกรซ เล่าถึงตัวเองที่เป็นกะเทยให้อาก๋งอาม่าฟัง เพื่อให้เห็นว่าต่างจากวีนัสที่เป็นผู้ชาย แต่อยากเป็นผู้หญิงอย่างไร

ฉากนี้ฉากเดียวสามารถอธิบายให้ผู้ใหญ่(คนดู)ที่สงสัยความเป็น LGBTQ ที่แตกต่างหลากหลายเข้าใจได้ง่ายขึ้นม เป็นฉากที่อาก๋งพยายามจะจับคู่พ่อเกรซกับวีนัส เพราะเห็นสนิทสนมเข้ากันได้ดี 

พ่อเกรซ จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า “เราทุกคนแค่อยากเป็นตัวเอง เราอยากส่องกระจกแล้วก็...เห็นตัวเราในแบบที่มันเข้ากับจิตใจเรา”

แค่ประโยคเดียวตอบโจทย์ได้หมดว่า ความเป็นกะเทยของเกรซ ไม่เหมือนกับวีนัสที่อยากเห็นตัวเองเป็นผู้หญิงอย่างไร

ในสายตาของคนทั่วไป พ่อเกรซอาจไม่ใช่พ่อที่สมบูรณ์แบบ แต่ด้วยจิตใจที่ดีงาม อยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จึงให้อิสระกับลูกและอนุญาตให้มาตามีความสุขในแบบของเธอ ไม่จำเป็นต้องเก่ง พ่อเกรซเลือกที่จะให้มาตาพบนักจิตวิทยาตั้งแต่เด็ก เพราะมองแล้วว่า สังคมไม่น่าจะยอมรับที่มาตามีพ่อเป็นคนหลากหลายทางเพศ 

และมีฉากหนึ่งที่หมอหมอกถามมาตาว่า เวลามีเรื่องไม่สบายใจ มาตาทำยังไง และนั่นทำให้มาตาย้อนไปถึงวัยเด็กที่เพื่อนไม่อยากคบ เพราะพ่อเป็นกะเทย และเธอก็ผ่านห้วงเวลานั้นมาได้เพราะนักจิตวิทยา จนกลายเป็นมาตาที่คิดบวก

ฉากนี้มาตาตอบหมอหมอกว่า “ก็หาสาเหตุของมัน ยอมรับมัน อยู่กับมัน แล้วก็ปล่อยมันไป”

“มาตารู้อย่างหนึ่งนะคะว่า คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะทำร้ายกัน คนที่เขาทำร้ายเรา เพราะเขาก็โดนทำร้ายมาเหมือนกัน”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายฉากชวนคิด มาตาบอกว่า ไม่อยากให้ใครเป็นเหมือนพ่อเกรซที่อาก๋งไม่เข้าใจ ซึ่งก็ไม่ต่างจากพ่อของเป็นหนึ่งที่รักลูก จึงพยายามผลักดันให้ลูกเป็นที่หนึ่ง 

แต่ทำให้ลูกไม่มีความสุขเลยที่พ่อทำแบบนั้น ก็เหมือนหลายคนในสังคมที่พยายามหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดในมุมพ่อแม่ให้ลูก โดยไม่ถามว่า ลูกต้องการแบบนั้นหรือเปล่า

พ่อเกรซของมาตาที่คนในสังคมตัดสินไปแล้วว่า ไม่ใช่คนที่น่าจะเลี้ยงลูกได้ดี กลับเข้าใจคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อน เป็นพ่อที่มีความเป็นแม่ ทำให้มาตาไม่รู้สึกว่า ขาดสิ่งใดในชีวิต

"พ่อแม่ก็แปลกนะคะ ไม่มีวันพูดหรอกว่าคาดหวังอยากจะให้ลูกมีความสุข ได้แต่พูดว่า อยากให้เรียนสูงๆ  อยากให้มีการงานที่ดีๆ "พ่อเกรซ พูด

ถอดปม\'มาตาลดา\' ละครฮีลใจ การคิดบวกของพ่อที่ถ่ายทอดถึงลูก(มาตา)

ปมของแพงและไตรฉัตร 

มาตาจึงเป็นเสมือนตัวละครที่ประสานรอยร้าวให้ทุกคน และทำให้เห็นว่า การมีความสุขไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าอาก๋ง อาม่า พ่อแม่ของเป็นหนึ่ง และไตรฉัตรที่ตอนท้ายๆ เริ่มรู้สึกว่า บ้านมาตาเป็นเสมือนเซฟโซนสำหรับเขา

ส่วนตัวละครที่ไม่รู้จะผ่านเรื่องร้ายๆ  ในชีวิตไปได้อย่างไร...

คงเป็นแพง ผู้หญิงที่สวยและดูเหมือนจะเป็นเฟมินิสต์ แต่ไม่ใช่ แพงมีปมที่พ่อมีเมียน้อย ไม่ใส่ใจแม่ของเธอ และแม่ของแพงก็ยังทนอยู่กับพ่อ ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่พยายามใฝ่คว้าหาผู้ชายที่ดีที่สุด

แต่ที่สุดแล้วไม่มีผู้ชายที่สมบูรณ์ในแบบที่เธอคิดหรอก และเมื่อรู้ว่าเธอกำลังจะตกเป็นเมียน้อยอย่างไม่ตั้งใจ เธอเลือกที่จะเดินออกมาด้วยความเจ็บปวด เพราะไม่อยากเป็นแบบแม่ 

“อย่างน้อยพ่อกับแม่ก็ต้องภูมิใจในตัวแพงนะคะ เพราะเมื่อแพงรู้ว่า แพงกำลังจะเป็นเมียน้อย แพงก็เลือกที่จะเดินออกมาทันที”

ส่วนไตรฉัตร ผู้ชายเจ้าชู้ที่พยายามปกปิดปมบางอย่างในใจ โดนเปรียบเทียบกับเป็นหนึ่งตั้งแต่เด็ก ครอบครัวมาตาก็ได้ช่วยถอดปมบางอย่างให้เขารู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง

“มาตาอยากให้มีคนรักเขาเยอะๆ ให้ความรักนี้ มันแทนที่ความเกลียดไปเลย” 

ว่ากันถึงแกนหลักของเรื่องนี้ เป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้เห็นว่า พ่อและแม่มีผลต่อการหล่อหลอมชีวิตของลูกอย่างไม่ต้องสงสัย