เปิด Content Lap ดันคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดังระดับโลก

เปิด Content Lap ดันคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดังระดับโลก

คอนเทนต์ไทยจะดังระดับโลก ต้องปรับตัวในโลกยุคใหม่อย่างไร เรื่องนี้คนทำงานสร้างสรรค์เปิดช่องทางใหม่ให้เรียนกับ Content Lap

ถ้าจะทำ คอนเทนต์ดีๆ  ที่เป็นงานศิลปะสร้างสรรค์จำพวก เกม แอนิเมชัน ภาพยนตร์ และซีรีส์ ให้ปังและดังในตลาดโลก ต้องสร้างสรรค์และปรับตัวอย่างไร

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน)หรือCEA ตั้งหลักใหม่หนุนคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดสากล โดยชู 4 อุตสาหกรรม และปั้นบุคลากรมืออาชีพ สร้างได้ ขายเป็น ผ่านเวที Content Lab

ล่าสุดเชิญโปรดิวเซอร์ระดับโลกเรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูลและยูยองอา นักเขียนบทชาวเกาหลี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และผลักดันพื้นที่ Virtual Media Lab เสริมทัพด้านเทคโนโลยี ร่วมกับ12 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนSoft Powerเสริมแกร่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย

4 สาขาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยที่น่าจับตามอง และมีศักยภาพส่งออกได้ ประกอบด้วย 

  • 1.สาขาซอฟท์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน)
  • 2.สาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)
  • 3.สาขาการกระจายเสียง (Broadcasting)
  • 4.สาขาการพิมพ์ (Publishing) 

งานสร้างสรรค์รูปแบบนี้ ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA  กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้ขับเคลื่อนในฐานะ Soft Power

“ภาพยนตร์เรื่อง Hunger คนหิวเกมกระหาย ทาง Netflix ยังเป็นคอนเทนต์ไทย ในหมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ (Non-English) ที่ติดอันดับ 1 ใน 88 ประเทศทั่วโลก ตอกย้ำถึงศักยภาพอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเป็นหนึ่งในSoft powerที่ส่งออกสู่ตลาดโลกได้อย่างแท้จริง”

เปิด Content Lap ดันคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดังระดับโลก เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีแนวทางพัฒนาศักยภาพองค์ประกอบของอุตสากรรมคอนเทนต์ เพื่อลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ทั้งในส่วนของบุคลากร เทคโนโลยี การตลาด ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ส่วนด้านบุคลากร ได้จัดโครงการContent Labเพื่อเป็นศูนย์กลางการบ่มเพาะ สนับสนุนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ส่งต่อตลาดในกลุ่ม OTT และ Broadcasting แบ่งเป็น 2 โปรเจ็กต์ คือ

1)กลุ่มภาพยนตร์ และซีรีส์(Film & Series)โดยเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะให้กับแกนหลักของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ประกอบด้วย โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบท ผ่านโครงการอบรม ไปจนถึงการสร้าง Project Proposal และ Teaser ให้เกิดขึ้นจริง โดยมีทุนสนับสนุน พร้อมโอกาสในการ Pitching กับ Streaming Platform และผู้ผลิตภาพยนตร์

2)กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์(Digital Content)ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้ามาอบรมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

เปิด Content Lap ดันคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดังระดับโลก ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นอกจากนี้ ดร.ชาคริต บอกว่า ประเทศไทยมี Local Content ที่เด่นชัดในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สถาปัตยกรรม อาหาร บันเทิง ดนตรี ภาพยนตร์

"สิ่งเหล่านี้นับเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรม เมื่อนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน จะเป็นหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นโมเดลที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย”

กูรูแชร์ไอเดียช่วยหนังไทย

สำหรับโครงการ Content Lab เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันได้เดินทางมาถึงช่วงการอบรมพัฒนาทักษะเพื่อสร้างผลงาน โดยล่าสุดได้เชิญบุคลากรมืออาชีพมาแบ่งปัน

เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล โปรดิวเซอร์ไทยระดับโลก ที่มีผลงานระดับสากล อาทิ Thirteen Lives (2022) ร่วมกับผู้กำกับระดับโลก Ron Howard, Tokyo Sonata (2008), Apprentice (2016)  กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยพบอุปสรรคหลายด้าน ทั้งในแง่เงินทุน การสนับสนุนจากภาครัฐ พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งอิทธิพลของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม 

“ส่งผลให้จำนวนภาพยนตร์ไทยในแต่ละปีลดลงมาก ปัจจุบันมีภาพยนตร์ไทยออกสู่ตลาดไม่ถึง 50 เรื่องจากจำนวน 100 - 200 เรื่อง ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000”

แนวทางที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เติบโตและก้าวสู่สากลได้อีกประการหนึ่ง คือ การสร้างเวทีเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย เช่นเดียวกับเวทีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล อาทิ รางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ฯลฯ ซึ่งต่อไปเวที Content Lab ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าสนใจ 

เปิด Content Lap ดันคอนเทนต์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ดังระดับโลก ยูยองอา นักเขียนบทชาวเกาหลี

ความคิดนักเขียนเกาหลี

ยูยองอา นักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ชาวเกาหลีที่มีผลงานโดดเด่น อาทิ Thirty Nine (2018), Kim Ji-yong: Born 1982 (2019), Divorce Attorney Shin (2023)  กล่าวว่า การที่ CEA มีเวที Content Lab ถือเป็นการสร้างเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และพัฒนาตัวเองในสายอาชีพนี้ ซึ่งทั้งเกาหลี หรือฮอลลีวูดก็มีเวทีแบบนี้เช่นกัน

“รู้สึกชื่นชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง Hunger และ ฮาวทูทิ้ง ที่มีบทน่าสนใจ พร้อมคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน ขณะที่หนังสยองขวัญของประเทศไทยถือว่าทำได้ดีเช่นเดียวกับซีรีส์วาย”

นอกจากนี้เธอแบ่งปันประสบการณ์การสร้างพล็อตที่ดีว่า ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ช่วง Set Up, Climax และ Ending

"่วงแรกของเรื่องถือว่าสำคัญมาก ต้องดึงความสนใจของผู้ชมไว้ให้ได้ตั้งแต่ 15 นาทีแรกการสร้างคาแรคเตอร์ของตัวละครต้องสะท้อนความคิดและการแก้ปัญหา เมื่อเจอสถานการณ์และความเสี่ยงที่เพิ่มระดับมากขึ้น 

นักเขียนบทต้องเป็นคนช่างสังเกต มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องรู้จักตัวละครอย่างละเอียด ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับฟังคำวิจารณ์เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น”

โครงการ Content Lab ในกลุ่มภาพยนตร์ และซีรีส์(Film & Series)อยู่ระหว่างการจัดเวิร์กช็อปและอบรมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 30 ทีม(เม.ย. -มิ.ย. 2566)และจะมีการคัดเลือกทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนการผลิตตัวอย่างแบบสั้น จำนวน10-15 ทีมจาก CEA และปตท.ในวันที่ 30 มิถุนายน2566

โดยจะเปิดอบรมการนำเสนอผลงาน เพื่อโอกาสการผลิตจริง(Pitching Event)ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ต่อผู้ผลิตภาพยนตร์ ผู้ผลิตซีรีส์ เพื่อต่อยอดต้นแบบคอนเทนต์ และผลักดันโปรเจ็กต์นั้นให้ไปได้ไกลในระดับสากลต่อไป