ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

สรุปที่มาที่ไปว่าทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ พร้อมกระแสวิพากษณ์วิจารณ์อย่างดุเดือดจากผู้กำกับ นักวิจารณ์ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการหนังไทย กระหึ่มโซเชียลมีเดียอยู่ในขณะนี้

เกิดอะไรขึ้นกับวงการภาพยนตร์ไทยกันหนอ?

 

เรามองเห็นหนังเกาหลีไปเฉิดฉายในระดับโลกได้อย่างภาคภูมิใจแล้วก็พากันพูดว่า ‘หนังไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก’ เสียอย่างเดียวคือขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ

 

แต่แทนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวของในทุกภาคส่วนจะช่วยกันคนละไม้ละมือในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ สิ่งที่เราเห็นกันในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมากลับกลายเป็นการ ‘ขัดแข้งขัดขากันเอง’ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์ไทยทั้งสิ้น

ไล่มาตั้งแต่กรณีที่คุณ ‘ไพโรจน์ สังวริบุตร’ ออกมาอัดคลิปขอความช่วยเหลือ เพราะภาพยนตร์ ‘วัยอลวน 5’ ที่ตนเองควักเงินร่วม 30 ล้านบาทมาสร้าง ถูกแบ่งโรงฉายให้น้อยมาก คือตั้งแต่เข้าโรงฉายวันแรกก็ได้รอบฉายเพียงวันละ 1 โรง 1 รอบ แถมเป็นรอบเช้าเกือบทั้งหมด ตามมาด้วยการถูกลดรอบภายในไม่กี่วัน

หลังจากนั้นก็มีสงครามระหว่างเครือโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ที่ทำให้ ‘ขุนพันธ์ 3’ ตกเป็นเหยื่อ ถูกลดรอบจนแทบไม่เหลือ (ในบางภูมิภาค) ทั้งที่เพิ่งเข้าฉาย และเป็นช่วงที่จะเก็บเกี่ยวรายได้ดีที่สุด

 

ตามมาด้วยการถอด ‘หุ่นพยนต์’ ออกจากโปรแกรมเพื่อพิจารณาปรับเรตติงกันอีกครั้ง (ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไฟเขียวให้ฉายไปแล้ว) ก่อให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาอีกครั้งถึงหลักเกณฑ์ในการเซนเซอร์ภาพยนตร์ในบ้านเราว่า ล้าหลังไปแล้วหรือไม่

 

ปรับเกณฑ์การพิจารณาผู้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์

ส่วนประเด็นล่าสุดที่เปรียบเสมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ทำให้คนในวงการหนังไทยยอมไม่ได้แล้วก็คือ การประกาศปรับกฎเกณฑ์ภาพยนตร์ที่เข้าชิง ‘รางวัลสุพรรณหงส์’ ใหม่ว่าต้องเป็นภาพยนตร์ที่มียอดผู้ชม 50,000 คนขึ้นไป และต้องเข้าฉายครบทั้ง 5 ภูมิภาคของไทย

 

เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของหนังอิสระหรือหนังฟอร์มเล็กไปโดยปริยาย จึงไม่แปลกใจเลยที่จะเกิดแฮชแท็กร้อนแรงอย่าง #แบนสุพรรณหงส์ ขึ้นในโลกโซเชียล

 

ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

 

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ Anatomy of Time หรือ เวลา หนังไทยนอกกระแสที่ได้ไปฉาย และได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังต่างประเทศมาแล้วหลายเทศกาล ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลจากเวทีคมชัดลึกอวอร์ด 19 ไป 2 รางวัลเมื่อวันก่อน คือ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

แต่ Anatomy of Time หนังที่ได้รางวัลระดับโลกมาแล้ว ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะได้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ที่ประกาศตัวว่าเป็น  'รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ' เพราะกฎเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่งประกาศออกมา!!!

 

ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

 

ผู้กำกับหนังไทย-คนในวงการประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม

เรื่องนี้ทำให้เหล่าคนรักภาพยนตร์ไทยพากันออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด พร้อมติดแฮชแทก #แบนสุพรรณหงส์ กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้กำกับอย่าง คงเดช จาตุรันต์รัศมี, คุณชายอดัม (ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล), ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ฯลฯ รวมไปถึง อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง, คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

รวมไปถึงคุณ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้บริหารเครือเนชั่น ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นรองประธานสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ เพราะไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์การคัดเลือกภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลสุพรรณพงส์ในครั้งนี้

"ขอแจ้งให้สาธารณะทราบโดยทั่วกัน
ผมขอลาออกจากการเป็นรองประธานสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติด้วยเหตุผลตามหนังสือลาออก
ขอขอบคุณท่านเลขา​สมาพันธ์ฯ พรชัย ว่องศรีอุดมพร ที่ชวนให้มาร่วมทำงานเพื่อวงการภาพยนตร์ไทย​ หลังจากงาน​ World​ Film​ Festival​ of Bangkok ครั้งที่15เมื่อต้นธันวาคม2565ที่มีจุดมุ่งหมายเปิดพื้นที่สำหรับภาพยนตร์ไทยอิสระ
#แบนสุพรรณหงส์

- รู้สึกคับข้องใจ"

 

ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

 

 

 

ล่าสุด ณฐพล บุญประกอบ ในฐานะทีมเขียนบท/ผู้กำกับร่วมในภาพยนตร์ One for the Road ประกาศถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ปีนี้ จนกว่าทางสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติจะมีมติเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในการคัดเลือกหนังและเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ และทีมงานไทยทุกคน

 

ทำไมเกิดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ กระหึ่มโซเชียล

 

ในขณะที่ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับ Faces of Anne บอกว่าสิทธิ์ในการส่งหนังเรื่องนี้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์เป็นของค่าย แต่ตัวเองขอใช้สิทธิส่วนตัว ไม่ร่วมสังฆกรรมกับรางวัลนี้อีกเพราะกติกาสกปรกที่พยายามลักลอบทำมาหลายปีแล้ว พร้อมปิดท้ายด้วยประโยคที่แสบสันต์ว่า

                “ลำพังหนังไทยทุกวันนี้ก็โดนด้อยค่ามากพอแล้ว แต่การด้อยค่ากันเองนี่ทุเรศเกินทนจ้ะ”

               

สำหรับตัวผู้เขียน ในฐานะนักข่าวที่อยากเห็นภาพยนตร์ไทยเติบโต และพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอมีส่วนร่วมด้วยการตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมอบรางวัลสุพรรณหงส์ ไม่ว่าจะเป็น สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ, คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย (หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี) และกรมประชาสัมพันธ์ว่า

 

"การปรับกฎเกณฑ์ครั้งนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมภาพยนตร์ไทยอย่างไร พร้อมขอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อข้อกังขานี้ของคนในสังคมด้วยค่ะ"