'ซีไรต์' ปี 65 'ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์' คว้าไป 'จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้'

การประกาศผลรางวัล 'ซีไรต์' ประจำปี 2565 ประเภทกวีนิพนธ์ ออกมาแล้ว ปรากฎว่าเล่มที่ได้รับรางวัล ได้แก่ 'จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้' ของ 'ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์'
รางวัล 'ซีไรต์' ประจำปี 2565 ประเภทกวีนิพนธ์ ประกาศแล้ว นั่นคือ 'จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้' โดย 'ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์'
วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้แถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ
ชมัยภร บางคมบาง ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2565
พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า กวีนิพนธ์ เรื่อง 'จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้' ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์
นำเสนอภาพชีวิตของผู้คนในยุคสังคมพลิกผันที่เผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่ ปัญหาอาชญกรรม สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมสื่อ บทกวีแต่ละบทนำเสนอฉากชีวิตและพฤติการณ์ของคนธรรมดาสามัญ
ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชายขอบ ผู้คนในเมือง และในชนบทที่ยากจน และถูกเบียดขับกดทับ ตลอดจนตั้งคำถามกับโลกยุคเก่า และวิพากษ์โลกยุคใหม่อย่างแยบยล
กวีมุ่งเสนอสารสำคัญว่า แม้ชีวิตจะต้องเผชิญกับความโหดร้าย ความรุนแรง ความพลิกผันและความล่มสลาย ขอเพียงเรายังมีความเอื้ออาทรต่อกัน โอบกอดกันด้วยความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจกัน
กวีเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนอย่างละคร แบ่งบทตอนอย่างมีสัมพันธภาพ ใช้ท่วงทำนองโรแมนติกตัดกับสัจนิยมด้วยน้ำเสียงประชดเสียดสีเพื่อเร้าอารมณ์และกระตุ้นความนึกคิด
ถ้อยคำในบทกวีน้อยแต่มาก ง่ายแต่งาม ลึกซึ้งทั้งความหมายและอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งยังใช้ศิลปะสองแขนง คือบทกวีกับภาพวาดมาสอดประสานกันเพื่อนำเสนอความคิดร่วมสมัยและสากล
สื่อน้ำเสียงที่มีความหวัง มุ่งยกระดับจิตใจให้ใคร่ครวญถึงความอ่อนโยนที่โลกพึงมีต่อเราและเราพึงมีต่อโลก
คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กวีนิพนธ์ เรื่อง จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปีพุทธศักราช 2565
ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2565 โดย ชมัยภร บางคมบาง ประธานคณะกรรมการตัดสิน และกรรมการตัดสิน สกุล บุณยทัต, ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา, รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร, กิตติศักดิ์ มีสมสืบ, รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์, รศ.ดร. สายวรุณ สุนทโรทก
- หลากหลายความเห็นของคณะกรรมการ
ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา กล่าวว่า ขอบอกว่าเอกฉันท์จริง ๆ ยิ่งอ่านหลาย ๆ ครั้ง ทั้งที่ตัดสินไปแล้วก็กลับมาย้อนอ่านอีก
"กวีได้ทำหน้าที่บันทึกสังคมและร่วมสมัย เผชิญหน้ากับสังคมพลิกผัน ที่พลิกผันเร็วมาก หลายคนถูกเบียดขับกดทับ เป็นคนชายขอบที่มีปัญหา ตามอะไรไม่ทัน
ปาลิตา พูดถึงโควิดในภาพที่มันสะเทือนใจ บันทึกภาพคนเล็ก ๆ ในสังคมที่ถูกกระทบ และจริยธรรมสื่อ พรสวรรค์วาไรตี้ ที่เอาเด็กมาประกวดร้องเพลง หรือแสดงความสามารถ
น้อยคนที่จะพูดถึงปัญหาของสื่อ หรือเกมโชว์ เล่มนี้ได้บันทึกภาพสังคมนี้ไว้ทุกด้าน ปัญหาอาชญากรรม ความอ้างว้าง ชื่อเรื่องที่เข้มข้น คำว่าโอบกอด ทุกคนต้องการให้โลกโอบกอดเรา มันจรรโลงใจ
ไม่ได้โรแมนติกมาก ไม่ได้เศร้าซึม แต่ได้ความรู้สึกที่เราอยากจะเอื้ออาทรกับคนอื่น ให้ได้อย่างที่กวีพูดว่า โลกจะโอบกอดเราเท่า ๆ กัน
ทุกคนก็ต้องการอ้อมกอดอันนี้ วิธีการเขียนใช้ภาษาสมัยใหม่ กวีนิพนธ์มันไม่ได้พูดเยอะอยู่แล้ว มันน้อยแต่มาก ชวนให้คิดอะไรต่าง ๆ ได้มากมายจากหนังสือเล่มนี้"
รศ.ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร กล่าวว่า ในรอบ 45 ปีของซีไรต์ คุณปาลิตาเป็นกวีหญิงคนที่สองต่อจากคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา
"ในท่ามกลางวิกฤติโควิดที่เจ็บปวด เรามีดอกไม้เบ่งบาน บุปผาที่งดงามดอกนี้คือ จนกว่าโลกจะโอบกอดเราไว้ ท่ามกลางความป่วยไข้ ความทุกข์ยากของคนในสังคม
กวีไทยหลายท่านได้บันทึกเหตุการณ์นี้เอาไว้ แต่ผลงานของคุณปาลิตาชิ้นนี้ แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ก็เข้มข้นมาก มีพลัง เล็กแต่งาม ที่สวยงามมากคือ ท่าทีของความเป็นแม่
เรื่องที่เธอเล่า พูดถึงเยาวชนหลายมุม ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่เข้ามาทำงานในเมือง การต่อสู้ชีวิตหลาย ๆ มิติของสังคม
ท่ามกลางความเลวร้าย เธอให้ความหวัง กำลังใจ โอบกอดกันไว้ เข้าใจกันไว้ ชีวิตยังเดินต่อไปได้ นี่คือข้อดีเด่นมาก ๆ ของงานชิ้นนี้
มีท่าทีเอื้ออาทร มองไปในสังคมทุกจุด ในสายตาของแม่ต่อลูกว่า อนาคตลูกจะเป็นอย่างไร แม้จะมีปัญหาเยอะ แต่เราก็น่าจะได้เข้าใจกันเอาไว้
โอบกอดเอาไว้ พลังมันก็จะต่อสู้ไปได้ เป็นบันทึกของสังคมในช่วงนี้อย่างเรียบง่าย มีคนวิจารณ์ว่างานซีไรต์อ่านยาก เล่มนี้จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย
คนที่ไม่คุ้นชินกับกวีนิพนธ์ อ่านแล้วจะได้เห็นพลังของการเล่าเรื่อง โศกนาฏกรรมชีวิตที่หลากหลาย เล่าได้อย่างทรงพลัง หลายเรื่องเราคุ้นชินจากสื่อต่าง ๆ แต่นำมาเล่าใหม่ด้วยมุมมองของเธออย่างเฉียบคม"
หนังสือกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบซีไรต์ Short List ทั้ง 7 เล่ม ดูที่นี่
ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 ที่แม่กลอง เติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี
การศึกษา ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโท คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 8 ปี ปัจจุบันอยู่กับครอบครัวที่ ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ กับลูกชายฝาแฝด อายุ 3 ขวบ
ตีพิมพ์บทกวีเล่มแรกของตัวเองหลังลาออกได้ 10 เดือน มีผลงานที่ได้รับรางวัลมากมาย
‘ดำเนินทราย’ รางวัลรองชนะเลิศ วรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 2 ปี 2561
‘มิได้อุทธรณ์’ รางวัลรองชนะเลิศ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว ครั้งที่ 1 ปี 2561
‘แล้วเธอล่ะเป็นใครในเมืองนี้’ รางวัลชมเชย พานแว่นฟ้า ปี 2561
‘จนกว่าชีวิตจะนิทรา’ รางวัลชนะเลิศ วรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 3 ปี 2562
‘คนถางทาง’ รางวัลรองชนะเลิศ พานแว่นฟ้า ปี 2562
‘เราอยู่ตรงนี้นานเกินไปแล้ว’ รางวัลชมเชย พานแว่นฟ้า ปี 2563
......................
เปิดใจกวี 'ซีไรต์' ปี 65 'ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร' ดูได้ที่นี่