คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

คุณใหม่-ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ชวนประชาชนย้อนประวัติศาสตร์สยาม ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม การพระกุศลพระชนมพรรษา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ครบ 65 พรรษา เสมอด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระชนก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2466

 

กลับมาอีกครั้ง สำหรับนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก โดยสำนักหดจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการพิเศษ ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ชุด หอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3 Glass Plate Negatives: Circles of Centres  ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมศิลปากร

ในงานนิทรรศการดังกล่าว ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการโครงการ ผู้อำนวยการโครงการฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ: หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 3 พุทธศักราช 2568

โครงการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3 (Glass Plate Negative: Circle of Centres เริ่มต้นจากการอนุรักษ์ฟิล์มกระจก โดยการแปลงภาพจากฟิล์มกระจกสู่ไฟล์ดิจิตอล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลดการจับต้องฟิล์มกระจกที่มีความบอบบางให้น้อยลง 

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสรงมูรธาภิเษกสนาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2448 ณ มณฑปพระกระยาสนาน ที่ชาลาข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

 

ภายหลังจากปี พ.ศ.2560 องค์การยูเนสโก ประกาศให้ภาพถ่ายฟิล์มกระจกและภาพถ่ายของต้นฉบับจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำโลก (Memory of the World) จากคุณลักษณะเฉพาะที่มีความโดดเด่น มีคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นของแท้ดั้งเดิมและมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถหาสิ่งอื่นใดมาทดแทนได้ ประกอบกับมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่การจัดเก็บ การอนุรักษ์ และการบริหารความเสี่ยง นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ 

อีกทั้งยังเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งมรดกโลก เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป โดยมีผู้สนใจเจ้าร่วมชมงานเป็นอย่างมาก  

จากผลสำเร็จการจัดนิทรรศการครั้งที่หนึ่ง จึงมีการจัดงานนิทรรศการฟิล์มกระจกครั้งที่สอง ในชื่อนิทรรศการฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2563  

 

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการในพระราชสำนัก แต่งกายเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม  

ส่วนครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ของการจัดนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก โดยคัดเลือกฟิล์มกระจกต้นฉบับ ชุดหอสมุดพระวชิราญาณ กล่องที่ 53-78 มาจัดนิทรรศการพิเศษ ซึ่งท่านผู้หญิงสิริกิติยา มุ่งมั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ ที่เก็บรักษาไว้ ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นำออกไปสู่การเผยแพร่เรื่องราวที่น่าสนใจในวงกว้าง 

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า   
“นิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ครั้งที่ 3 (Glass Plate Negative: Circle of Centres ไม่อยากให้พลาดชม มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ขณะทรงดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เมื่อร้อยกว่าปี 

การที่กษัตริย์พระองค์หนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดาร เป็นเรื่องไม่ง่าย ทุกรอยพระบาทที่ย่างไปถึง นำมาซึ่งความสุขสู่พสกนิกร เพราะฉะนั้นหนึ่งภาพที่ท่านจะได้เห็นในนิทรรศการฯ แฝงไว้ซึ่งพระเมตตา เหนือจรดใต้ ตะวันตกจรดตะวันออก แม้แต่ในต่างประเทศที่เสด็จฯ ไป 
ผมเชื่อเหลือเกินว่า บางภาพช่วยรักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้ ดังเช่นภาพที่ทรงฉายกับพระเจ้านิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นอารยประเทศ ที่มิใช่ใครจะเหยียบย่ำก็ได้ นี่จึงเป็นที่มาของคำว่าหนึ่งภาพดี มีค่ามากกว่าพันคำพูด” 

นิติกร กรัยวิเชียร ผู้แทนมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เผยว่า

“เรื่องถ่ายภาพเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนทุกคน เมื่อมองเรื่องรากฐานก่อนจะมาเป็นภาพถ่ายในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพถ่ายเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สาม แต่ยังโชคไม่ดี เรายังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ว่าเรามีภาพถ่ายยุครัชกาลที่สามหรือเปล่า  

แต่ที่แน่ชัดคือภาพถ่าย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีมากมาย ทรงให้ความสำคัญกับภาพถ่าย ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในประเทศไทย ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคนั้น 

ถ้าเรานับวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนถึงปัจจุบัน พุทธศักราช 2411 ผ่านมาแล้ว 157 ปี แปลว่าภาพถ่ายที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ภาพที่มีอายุเก่ามากที่สุดมีอายุมากกว่า 150-160 ปี ขึ้นไปถือว่าเป็นเวลาอันยาวนาน 

อีกทั้งจากที่ได้ทำงานร่วมกันมา เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ภาพต่างๆ เหล่านั้น นับวันมีแต่เสื่อมถอยลง ทำยังไงให้ภาพถ่ายคงอยู่และสืบทอดไปถึงลูกหลานของเราได้อย่างดีที่สุด โดยที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เอื้อประโยชน์ 

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

ช้างพระที่นั่งของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ระหว่างเสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้

ด้านหลังเห็นวอของหม่อมและพระธิดาที่ตามเสด็จ ถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2449

 

เราสามารถแปลงภาพเหล่านั้นเป็นดิจิตอล ทำให้เราไม่ต้องไปแตะต้องต้นฉบับ เท่าที่ผมทราบเจ้าหน้าที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำการสแกนแปลงภาพทั้งหมด เป็นไฟล์ดิจิตอลราว 40,000 กว่าภาพจากที่อยู่ในคลัง 

ปัญหาใหญ่คือ ภาพเหล่านั้นเราจะทราบได้อย่างไรว่า แต่ละภาพเป็นภาพอะไร มีคณะกรรมการและคณะเจ้าหน้าที่ คอยชำระปีหนึ่งทำได้จำกัด โดยตั้งเป้าหมายปีละ 1,000 ภาพ ก็คงใช้เวลาอีก 40 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ส่งมอบให้คนรุ่นหลานรับภาระนี้สืบไป” 

คุณใหม่-ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ภัณฑารักษ์ และผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าวว่า ภาพถ่ายฟิล์มกระจกเป็นภาพถ่ายที่เกิดจากการหมักแผ่นเปียก ส่งผลต่อภาพ บ่งบอกฝีมือคนถ่ายภาพ เป็นศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการนำวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน   

“โดยส่วนตัวเป็นคนชอบถ่ายภาพเก็บเสี้ยววินาที ที่แสงกระทบกับวัตถุ หรือคน สถานที่อย่างน่าสนใจ ภาพมีอะไรบางอย่างดึงดูดให้เราเข้าไปดูในภาพ แล้วนึกถึงการสะท้อนของแสง ความมีชีวิต นึกถึงคนที่อยู่ในนั้น เป็นเสน่ห์ของภาพถ่าย   

เมื่อเรากลับไปดูภาพถ่ายฟิล์มจากกระจก ทำให้เราเห็นโมเมนต์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทั้งคนที่อยู่ในภาพ ช่วงเวลาที่อยู่ในภาพ เป็นอมตะที่ล่องลอยอยู่ในห้วงเวลาไม่สิ้นสุด” 

สำหรับการจัดนิทรรศการครั้งที่สามนี้ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือนวนิยายที่มีชื่อว่า Camera Lucida เขียนโดยโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับมาจากเพื่อนคนหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน 

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

ปากถ้ำพระพุทธโฆษาจารย์ ถ้ำที่อยู่สูงขึ้นไปเหนือหมู่กุฏิวัดมหาสมณาราม พระนครคีรี เมืองเพชรบุรี

ถ่ายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี วันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2452

 

“ตอนทำนิทรรศการภาพถ่ายฟิล์มกระจก เรานึกถึงเรื่องราวในนิยายเรื่อง Camera Lucida เขียนถึงความโศกเศร้าจากการสูญเสียแม่ และค้นหาภาพเพื่อตามหาแม่ตลอด แล้วยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับกำลังใจ แรงบันดาลใจแก่คนเป็นช่างภาพ คนรักศิลปะ และยังพูดถึงเทคนิคของภาพ ไม่ใช่พูดถึงมุมมองของการเป็นช่างภาพ ผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่อยู่ในภาพเพียงอย่างเดียว  

เมื่อเราอ่านแล้ว ก็พยายามวิเคราะห์ศิลปะในภาพถ่าย ว่าทำไมคนถึงถูกดึงดูดให้เข้าไปอยู่ในภาพนี้ได้ เหตุผลคืออะไร เชื่อมโยงมาถึงงานนิทรรศการในครั้งนี้ เราคิดว่าจะเปลี่ยนวิธีการมองศิลปวัฒนธรรม ศิลปะภาพถ่ายที่ไม่ใช่แค่เป็นการมอง แต่เป็นการมองให้เห็นสิ่งที่อยู่ภายในได้อย่างไร”

“เราเลือกภาพจากจำนวน 1,000 ภาพเป็นเวลาหลายเดือน คัดออกมาพิมพ์เบื้องต้น 300 ภาพ แล้ววางบนพื้นที่วัง ทุกคนในบ้านกลัวกันหมดเลย 
โดยที่เราไม่คิดเลยว่า ประวัติศาสตร์คืออะไร ไม่สนใจว่าไทม์ไลน์เกิดขึ้นเมื่อไหร่  คิดแค่ว่าคนเราในฐานะศิลปิน เรามีเหตุผลในการทำงาน แต่เราอาจบอกไม่ได้ว่า นี่คือคอนเซ็ปต์อะไร เราต้องให้เวลากับมัน 

ทุกวันที่ตื่นขึ้นมา เราจะเรียงภาพไปเรื่อยๆ มีบางภาพที่คัดออกแล้ว นำภาพใหม่ไปแทนที่เดิม มหาดเล็กหรือชาวที่กลัวกันมาก จะมีเสียง...แอ๊ะ เพราะบางทีไปโดนภาพ เป็นเรื่องที่ตลกมาก” คุณใหม่เล่าไปยิ้มไป 

คุณใหม่ ชวนชมนิทรรศการภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก บันทึกประวัติศาสตร์สยาม

กระบวนวอของหม่อมและพระธิดาที่ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กำลังข้ามแม่น้ำปัตตานี

นอกเมืองยะลา ระหว่างเสด็จตรวจราชการมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2449  

 

จากภาพถ่ายรับพันภาพที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก จนกระทั่งเหลือเพียง 84 ภาพที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าว

“ภาพที่คัดออกมาจาก 1,000 ภาพ ทุกคนอาจตกใจว่า เหลือแค่ 84 ภาพเอง ซึ่งภาพทุกภาพสำคัญหมด เรามีภาพที่เป็นแกนหลัก แล้วนำภาพอื่นมาประกอบเป็นบรรยากาศเพื่อให้คนดูเข้าใจในเรื่องราว ซึ่งภาพที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยาม มีช่วงของการล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสเข้ามาทางตะวันออก ในขณะที่อังกฤษส่งอิทธิพลต่อตะวันตกของไทยไปลงถึงสถานที่เป็นหมู่เกาะต่างๆ 

นับว่าเป็นช่วงตึงเครียดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพยายามหาหนทางทุกอย่าง ในการรักษาเอกราชของไทย เป็นช่วงเวลาที่สยามเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมณฑลตามการปกครองดั้งเดิม มาสู่การเป็นรัฐชาติ

ภาพเหล่านี้จะดึงดูดให้คนเข้าไปดูภาพ บ่งบอกเรื่องเทคนิคเยอะ มีภาพที่เกิดปฏิกิริยาทางแสง การทำโฟโต้ช็อปและภาพสามมิติ มีภาพเสด็จพระประพาสต้นที่เมืองกาญจนบุรีและราชบุรี ภาพเสด็จพระราชดำเนินทางใต้จากจังหวัดประจวบไปสงขลา ปัตตานี ตรังกานู กลันตันและอินโดนีเซีย” คุณใหม่กล่าวเชิญชวนชมนิทรรศการฯ

นิทรรศการพิเศษ Circles of Centres จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม-27 กรกฎาคม 2568 (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.nat.go.th หรือโทรศัพท์ 0 2281 1599 ต่อ 228