สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ

“พราง” เป็นผลงานล่าสุดของ สุธี คุณาวิชยานนท์ นำผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนบรรยากาศของสงครามเย็นครั้งแรกที่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตรวจสอบสงครามเย็นครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

KEY

POINTS

  • สุธี คุณาวิชยานนท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2508 กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ เอกภาพพิมพ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร  และปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์จาก Sydney College of the Arts, the University of Sydney ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • แนวผลงานที่สร้างชื่อเสียง ล้วนเป็นงานศิลปะที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เช่น การบริจาคลมหายใจต่ออายุให้แก่ประติมากรรมยางรูปคน ช้าง ควาย และเสือ กิจกรรมทางศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนในการ ‘เขียน’ ‘พิมพ์’ และ ‘เป็นเจ้าของ’ ประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ในผลงานชุด ‘ห้องเรียนประวัติศาสตร์’ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543
  • “พราง” เป็นผลงานล่าสุดที่จะนำผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนบรรยากาศของสงครามเย็นครั้งแรกที่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตรวจสอบสงครามเย็นครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ผ่านแผนที่ในรูปลายพรางที่สะท้อนความตึงเครียดทางด้านทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนการซ่อนเร้นอำพรางในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

พราง : CONCEAL เป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะสื่อผสมของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ม.ศิลปากร ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 โดยมี ชลิต นาคพะวัน รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ ชลิต นาคพะวัน ภัณฑารักษ์ นิทรรศการพราง : CONCEAL

ชลิต กล่าวว่า ‘พราง’ เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อสอดคล้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย หากยังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก อันส่งผลกระทบโยงใยถึงกันไปหมด

“ผลงานของศิลปิน สะท้อนถึงความคลุมเครือที่ชัดเจน ผ่านลวดลายพรางที่มาจากเครื่องแบบของทหาร นำเสนอผ่านแผนที่ประเทศไทยและแผนที่โลกในรูปแบบใหม่ที่ชวนให้ผู้ชมฉุกคิด ตีความ ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีทั้งสงครามทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงความคิดที่แตกต่าง ตลอดจนจุดยืนบนเวทีโลกของไทยบนความขัดแย้ง ความคลุมเครือที่ไม่ชัดเจนในบางครั้งก็เป็นเรื่องที่จำเป็น

เราต้องการนำเสนอผลงานศิลปะที่มีความลึกซึ้ง ชวนคิดเป็นอาหารสมองที่สร้างสรรค์ประเทืองปัญญา ได้ทั้งสุนทรียะและประเด็นให้ขบคิดไปพร้อมกัน ”

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ (จากซ้าย) ผลงานไทยประดิษฐ์,2557  ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2,2566 และแผ่นดินแม่ ,2557

นิทรรศการ ‘พราง’ แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 1 ห้องใหญ่และอีก 2 ห้องเล็ก สุธี นำเราไปที่ห้องเล็กอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแผนที่ประเทศไทย ภายในห้องนี้จัดแสดผลงาน 3 ชิ้น ได้แก่ ไทยประดิษฐ์,2557  แผ่นดินแม่ ,2557 และ ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2, 2566

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ รายละเอียดในแผนที่ไทยประดิษฐ์

“เริ่มทำแผนที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 ในช่วงแรกเป็นการสื่อถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ไทยประดิษฐ์ เป็นผลงานภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะ ทำขึ้นเมื่อปี 2557 ภายในแผนที่ประเทศไทย ประกอบไปด้วยมรดกจาก ‘ยุคสร้างชาติไทยใหม่’ หลายอย่าง

ทั้งการปฏิวัติไปสู่ระบอบการปกครองใหม่ เปลี่ยนชื่อประเทศ เปลี่ยนเพลงชาติ ประดิษฐ์สร้างประเพณีและธรรมเนียมใหม่ ๆ  ยกเลิกจารีตเก่า ๆ และเป็นยุคบุกเบิกของการนำสื่อสมัยใหม่มารับใช้รัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจร อาทิ เพลง  ละคร วรรณกรรมและรายการวิทยุปลุกใจ สื่อสิ่งพิมพ์ช่วยประโคมข่าว  งานออกแบบกราฟิก ภาพวาด ประติมากรรม และอนุสาวรีย์ ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐและผู้นำ 

ส่วน แผ่นดินแม่ แสดงภาพแผนที่กลับด้านหรือคว่ำหน้าได้รับแรงบันดาลใจจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงปี 2553 จนถึงปีที่สร้างงาน คือ 2557 ประเทศไทยในแบบเดิมถูกท้าทายจากฝ่ายเสื้อแดง” ศิลปินกล่าวถึงที่มาของผลงานแผนที่ประเทศไทยที่พัฒนาไปสู่แผนที่ประเทศไทยลายพราง ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี 2566 – 2567

ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2 ผลงานชิ้นนี้แสดงภาพแผนที่ประเทศไทยที่ล้อมรอบไปด้วยประเทศเพื่อนบ้าน เป็นองค์ประกอบที่คนไทยเราคุ้นเคยกันแต่คนต่างชาติหลายคนที่เข้ามาดูแล้วเขาดูไม่ออกว่าเป็นตรงไหนเป็นแผนที่ของประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา หรือ มาเลเซีย 

ลายพรางในที่นี้จึงทำงานทั้งในมิติของการพรางที่มองเห็นไม่ชัดเจน รวมไปถึงพรางในมิติของสงครามเย็นที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาที่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ นั่นคือ ขั้วทุนนิยม เสรีประชาธิปไตย กับขั้วสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ โดยที่ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายทุนนิยม เสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา”

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ สุธี คุณาวิชยานนท์ กับแผนที่ประเทศไทยลายพราง จาก ERDL Pattern

ด้วยเหตุนี้ศิลปินจึงนำ ‘ลายพราง’ ERDL Pattern สำหรับชุดทหารที่สหรัฐอเมริกาออกแบบและนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนาม โดยต่อมาทางการทหารอเมริกันได้มอบให้แก่ทหารไทย มาใช้เป็นสื่อในงานศิลปะ

“ลายพราง ชื่อ ERDL Pattern  ยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่เพิ่มเติมคือ ลายพรางของทหารได้แพร่หลายออกจากกรมกองมาสู่สตรีทแฟชั่น เสื้อผ้าลายพรางมีขายกันตั้งแต่ตลาดนัดไปจนถึงตลาดไฮเอนด์ ทุกวันที่ออกจากบ้านเราจะเห็นคนใส่ลายพราง ถ้าไม่ใช่เสื้อก็จะเป็นกางเกง  ERDL Pattern  ถือได้ว่าเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก”

จากแผนที่ประเทศไทยลายพราง ศิลปินพาเราย้อนกลับมาชมผลงานในห้องจัดแสดงหลักที่ประกอบไปด้วยแผนที่ประเทศไทยลายพรางหลากสี ได้แก่ ส้ม เหลือง แดง และเขียว

“เป็นผลงานที่ตั้งคำถามว่า คุณอยากจะได้ประเทศไทยสีอะไร ?” 

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ (จากซ้าย) ผลงานประเทศไทยลายพรางสีส้ม ประเทศไทยลายพรางสีเหลือง ประเทศไทยลายพรางสีแดง ประเทศไทยลายอีอาร์ดีแอล (สงครามเย็น) และ ระเบียบโลกใหม่

ศิลปินตั้งคำถาม โดยการเขียนแผนที่ลายพรางหลากหลายสี ที่มีทั้งการทับซ้อน พรางตา คลุมเครือ บ้างก็เปิดเผย และบ้างก็แอบแฝงอย่างมิดชิด สะท้อนยุทธวิธีการต่อสู้ทางแนวคิดที่มีทั้งการหลบซ่อนรอซุ่มโจมตี และรอเวลาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ให้เป็นของตน

จากสถานการณ์ในบ้านเรา ศิลปินพาเราออกไปมองความขัดแย้งในระดับโลกผ่านแผนที่โลกลายพรางที่ไม่เพียงแสดงขอบเขตที่คลุมเครือด้วยแพทเทิร์นลายพรางแล้ว ศิลปินยังเปลี่ยนตำแหน่งของแผนที่แต่ละประเทศในโลกให้กระจัดกระจายออกไปในผลงานที่มีชื่อว่า ระเบียบโลกใหม่,2567

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ ผลงาน ระเบียบโลกใหม่, 2567

“แผนที่โลกในรูปของลายพรางทางการทหาร แสดงถึงสภาวะตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่าง 2 ขั้วตรงข้ามในทางภูมิรัฐศาสตร์ นั่นคือ ระหว่างขั้วที่นำโดย จีนและรัสเซีย กับ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในตะวันตก

ผลงานชื่อ ระเบียบโลกใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยความอลหม่าน วุ่นวาย รุนแรง เป็นการนำแผนที่ของประเทศต่างๆที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้า ตลอดจนคู่สงครามระหว่าง 2 ขั้วมาจัดวางตำแหน่งใหม่ สะท้อนสภาวะการตึงเครียดของโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้” สุธีอธิบายถึงที่มาและความคิดในการสร้างผลงาน “ระเบียบโลกใหม่” ก่อนพามาถึงนิทรรศการในห้องสุดท้าย

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ ห้องจัดแสดงแม่พิมพ์ลายที่แยกออกมาจากลายพราง ERDL Pattern  

ในพื้นที่เล็กๆ นี้จัดแสดงแม่พิมพ์พลาสติกที่แกะลายมาจาก ‘ลายพราง’ ERDL Pattern ที่ชวนให้คิดถึงรูปร่างของแผนที่ พื้นที่ของภูเขา แม่น้ำ ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วกลายเป็นลายพรางในเครื่องแบบทหารที่ช่วยในการอำพราง ซ่อนเร้น ดักรอโอกาสในการโจมตี

“ลายพราง เวลาที่อยู่ในป่ามันกลมกลืนไปกับธรรมชาตินะ แต่พอมาอยู่ในเมืองมันกลับเป็นลายที่โดดเด่นกลายเป็นแฟชั่นที่สะดุดตาเลยทีเดียว

ในนิทรรศการ ‘พราง’ จึงมีทั้งความพรางที่มองเห็นได้ชัดเจน  ในความชัดเจนก็แอบแฝงไปด้วยอันตราย ในขณะเดียวกันความพรางที่แสดงความไม่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงสัญชาตญานของการอยู่รอด ความพยายามในการรักษาสมดุล ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับ

‘พราง’ จึงมีทั้งความชัดเจนในความไม่ชัดเจน และความไม่ชัดเจนที่แอบแฝงอยู่ และ เป็นสิ่งที่เราอยากชวนให้ผู้ชมสนุกไปกับการฉุกคิดและตีความไปกับผลงานในนิทรรศการชุดนี้”

ภาพ : ละลานตา ไฟน์อาร์ต

 

สุธี คุณาวิชยานนท์ ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน นิทรรศการ ‘พราง’ ที่ละลานตาฯ

นิทรรศการ ‘พราง’ โดย สุธี คุณาวิชยานนท์  จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 19 มิถุนายน 2567

  • ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 
  • อังคาร - เสาร์ เวลา 10.00 น. - 19.00 น.โทร. 0 2050 7882